ตอนที่ ๓ กระบวนการทำงานแบบห้าคูณหกคูณหก (ต่อ)


การทำงานแบบนี้ เน้นที่ “ผู้มีปัญหาสถานะ” เป็นศูนย์กลางของการทำงาน โดยมีคนหกแถวทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในขั้นตอนต่างๆ ของการทำงาน ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่ให้ ผู้มีปัญหาสถานะ สามารถรู้และเข้าใจถึง “สถานะปัจจุบันของตนเอง” รวมทั้งเรียนรู้ ข้อกฎหมาย นโยบายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถใช้ความรู้นั้นในการดำเนินการต่างๆ เพื่อบรรลุถึง “ทางออกในการแก้ไขปัญหาสถานะของตน”

บันทึกแนวคิดการทำงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล * 

ตอนที่ ๓ กระบวนการทำงานแบบห้าคูณหกคูณหก (ต่อ)

 

มาเล่าต่อนะครับถึงกระบวนการทำงานแบบห้าคูณหกคูณหก ซึ่งคราวที่แล้วผมเขียนถึง การเตรียมการสอน มาคราวนี้ก็มาต่อกันด้วยการเรียนรู้ร่วมกันของคนแถวสาม คนแถวสอง และผู้มีปัญหาสถานะ

 

การให้ความรู้แก่ผู้มีปัญหาสถานะ – เมื่อเตรียมการสอนแล้ว ในขั้นตอนต่อมา คนแถวสามก็จะต้องใช้เวลาร่วมกับ คนแถวสองและผู้มีปัญหาสถานะ (รวมทั้งคนแถวหนึ่งที่มีเวลามาเข้าร่วม โดยจะทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับคนแถวสาม) เพื่อที่จะช่วยให้ผู้มีปัญหาสถานะได้เข้าใจถึงสถานะในปัจจุบัน และทางออกในการแก้ไขปัญหาสถานะของตนเอง ซึ่งในการทดลองทำงานที่ผ่าน เวลาดังกล่าวได้ถูกใช้ในรูปแบบของการจัดห้องเรียน ๓ ครั้ง โดยที่ในครั้งที่ ๑ จะเป็นช่วยให้ผู้มีปัญหาสถานะเข้าใจถึงจุดเกาะเกี่ยวของข้อเท็จจริงของตนเอง เช่น วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด สัญชาติของพ่อแม่ การได้รับการสำรวจ เป็นต้น รวมทั้งนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าตนเองนั้น มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร ในปัจจุบัน ต่อมาในห้องเรียนครั้งที่ ๒ คนแถวสามก็จะต้องช่วยให้ผู้มีปัญหาสถานะเข้าใจถึงกฎหมาย นโยบาย ที่มีอยู่ ที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น สิทธิตามกฎหมายที่ได้รับเอกสารทางทะเบียนราษฎรที่เกี่ยวข้อง เช่น การได้รับการจดทะเบียนการเกิด การขอหนังสือรับรองสถานที่เกิด การได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร หรือสิทธิในการได้รับสถานะที่ดีขึ้น เช่น การได้รับสถานะเป็นคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการได้รับสัญชาติไทย หรือสิทธิในการขอสัญชาติไทยตามสามีหรือการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย เป็นต้น และในห้องเรียนครั้งที่ ๓ หากผู้มีปัญหาสถานะเข้าใจถึงทางออกของตนเองดีแล้ว ก็จะเป็นการช่วยให้เรียนรู้ถึง วิธีการและขั้นตอนในการพัฒนาสถานะของตนเอง ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจว่าในกรณีของตนเองนั้น จะต้องใช้แบบคำร้องแบบไหน ต้องเตรียมพยานบุคคลหรือเอกสารอะไรบ้าง และต้องไปยื่นเรื่องต่อใครที่ไหน เป็นต้น เพื่อที่จะได้ดำเนินการได้โดยถูกต้อง

 

สำหรับกรณีของผู้มีปัญหาสถานะที่ยังไม่มีทางออก หรือพอจะเห็นทางออกแล้ว แต่ยังดำเนินการไม่ได้ เช่น มีนโยบายให้สถานะเป็นคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องออกมา จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ คนแถวสามก็จะต้องช่วยให้ผู้มีปัญหาสถานะเข้าใจ และคิดว่ามีอะไรที่ตนเองจะทำได้บ้าง ในเรื่องดังกล่าว ตัวอย่างที่ผมเห็นก็คือ ผู้มีปัญหาสถานะได้เขียนจดหมายถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้มีการกำหนดแนวทางในการดำเนินการออกมา เป็นต้น ซึ่งผู้มีปัญหาสถานะก็จะได้เริ่มคิดถึงบทบาทของตัวเองในด้านการรณรงค์ผลักดันเชิงนโยบาย

 

จะเห็นได้ว่าในขั้นตอนของการเรียนรู้ผ่านห้องเรียนนั้น ไม่ใช่แค่ผู้มีปัญหาสถานะเท่านั้นที่จะต้องเข้าใจกฎหมาย แต่ผู้ที่เป็นคนแถวสองก็จะต้องเข้าใจในปัญหาและทางออกของกรณีดังกล่าวนั้นอย่างถ่องแท้ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้สามารถทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของผู้มีปัญหาสถานะได้ เนื่องจากคนแถวสามเมื่อสอนแล้วก็ต้องแยกย้ายกันไปทำงานของตัวเอง แต่คนแถวสองเป็นคนที่อยู่กับชาวบ้านในพื้นที่ ตรงนี้กระมังที่ทำให้คนแถวสองถูกเรียกว่าเป็น “ทนายตีนเปล่า” เพราะไม่ได้จบกฎหมาย แต่ได้เรียนรู้กฎหมายนอกห้องเรียน และทำงานเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนของตน (หวังว่าเวลาทำงานคงไม่ต้องถึงกับถอดรองเท้านะครับ)

 

การเตรียมความพร้อม – ตรงนี้เองที่เราจะได้เห็นบทบาทของทนายตีนเปล่าได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะจะต้องเป็นคนที่คอยติดตามงานหลังห้องเรียน เพื่อดูว่าผู้มีปัญหาสถานะได้รวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหรือเอกสารครบถ้วนหรือยัง กรอกแบบคำร้องต่างๆ ถูกต้องหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบว่าผู้มีปัญหาสถานะยังจำขั้นตอนและสิ่งที่ต้องทำในการพัฒนาสถานะของตัวเองได้อยู่หรือไม่ ซึ่งในหลายกรณีคนแถวสอง ก็ต้องทำหน้าที่ทนายตีนเปล่า ในการทบทวนสิ่งที่ ครูคนที่หนึ่ง (คนแถวสาม) ได้สอนในห้องเรียน รวมทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาสถานะ ถ้าเปรียบไปแล้วในขั้นตอนนี้ คนแถวสอง ก็ต้องทำหน้าที่เป็น “ครูคนที่สอง” ที่จะต้องใช้ความรู้ที่ตนเองได้รับจากคนแถวสามมาถ่ายทอดให้กับเจ้าของปัญหา ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ในขณะที่คนแถวสองทำหน้าที่เป็นครูและพี่เลี้ยงช่วยเตรียมคำร้องและเอกสารนี้ ครูคนที่สอง ก็อาจต้องขอคำแนะนำจากครูคนที่หนึ่ง (คนแถวสาม) และที่ปรึกษา (คนแถวหนึ่ง) สิ่งที่จะเป็นคุณค่าอย่างยิ่งเมื่อทำงานมาถึงขั้นตอนนี้ก็คือ ความพร้อมของผู้มีปัญหาสถานะในการช่วยตัวเอง เพราะได้ผ่านกระบวนการติดอาวุธทางความรู้และปัญญามาแล้ว ประกอบกับความมั่นใจและความมุ่งมั่นในการใช้ความรู้ดังกล่าวในการแก้ไขปัญหาของคนเอง

 

การติดตามความคืบหน้า เมื่อผู้มีปัญหาสถานะไปทำการยื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คนแถวสองก็จะทำหน้าที่ในการติดตามความคืบหน้า ว่ายื่นเรื่องไปเมื่อใด ทางอำเภอรับคำร้องหรือไม่ เจ้าหน้าที่ได้อธิบายหรือให้ข้อมูลอะไรบ้าง มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร ผู้มีปัญหาสถานะได้ใช้ความรู้ที่ได้รับในการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่หรือไม่ (โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง) เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อคนที่มีปัญหาสถานะไปยื่นเรื่องต่อทางอำเภอแล้ว ก็จะกลับมาเล่าให้คนแถวสามฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ในบางกรณีคนแถวสองก็จะต้องเข้าไปช่วยเหลือในการประสานงานหรือทำความเข้าใจกับทางเจ้าหน้าที่อำเภอ ซึ่งก็เป็นงานที่ท้าทาย เพราะเจ้าหน้าที่อำเภอมักจะไม่คุ้นชินกับการต้องอธิบายกฎหมายโดยละเอียด หรือการถูกโต้แย้งทางกฎหมายจากชาวบ้านธรรมดา อันจะนำไปสู่สภาพการเผชิญหน้าระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ ดังนี้ ความเข้าใจในกฎหมายอย่างถ่องแท้ และทักษะในการเจรจา จึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะช่วยให้งานของคนแถวสามสำเร็จลุล่วงลงได้ด้วยดี

 

         และแล้วก็ยังไม่สามารถที่จะจบความได้ เอาเป็นว่าผมขอยกไปบันทึกฉบับหน้า (อีกครั้งหนึ่ง) ก็แล้วกันนะครับ โดยในคราวต่อไป ผมจะมาเล่าถึงขั้นตอนต่อทั้งในกรณีที่ การยื่นเรื่องของผู้มีปัญหาสถานะได้รับการตอบรับด้วยดีจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และในกรณีที่ประสบอุปสรรค พบกันเร็วๆ นี้ครับ

 


* โดย กานต์ เสริมชัยวงค์, นำเนื้อหาที่ได้พูดในเวที การถอดประสบการณ์การทำงานเพื่อจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้ สัญชาติในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน 2552 มาเขียนเป็นบันทึกฉบับนี้ (ขออุทิศให้กับใหญ่ กฤษฎา ยาสมุทร ผู้ล่วงลับ)

หมายเลขบันทึก: 301149เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2009 01:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท