ตอนที่ ๓ กระบวนการทำงานแบบห้าคูณหกคูณหก


การทำงานแบบนี้ เน้นที่ “ผู้มีปัญหาสถานะ” เป็นศูนย์กลางของการทำงาน โดยมีคนหกแถวทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในขั้นตอนต่างๆ ของการทำงาน ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่ให้ ผู้มีปัญหาสถานะ สามารถรู้และเข้าใจถึง “สถานะปัจจุบันของตนเอง” รวมทั้งเรียนรู้ ข้อกฎหมาย นโยบายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถใช้ความรู้นั้นในการดำเนินการต่างๆ เพื่อบรรลุถึง “ทางออกในการแก้ไขปัญหาสถานะของตน”

บันทึกแนวคิดการทำงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล * 

ตอนที่ ๓ กระบวนการทำงานแบบห้าคูณหกคูณหก

 

กลับมาอีกครั้งหลังจากที่หายไปเสียนาน ต้องขอโทษด้วยที่ทำให้หลายๆ คนต้องรอ เพราะในคราวที่แล้ว ผมได้บอกว่าในการเขียนครั้งต่อไปจะนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับ คนทำงานและกระบวนการทำงานแบบ ห้าคูณหกคูณหก มาเล่าสู่กันฟัง

 

ก่อนอื่นก็ต้องให้ข้อมูลสำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสได้อ่านบันทึกฉบับก่อนหน้านี้ ว่า แนวคิดการทำงานแบบ “ห้าคูณหกคูณหก” นี้ ประกอบด้วยองค์ประกอบสามส่วน โดยที่

 “ห้า” หมายถึง คนห้ากลุ่มแบ่งตามสถานะทางทะเบียนราษฎร

 “หก” ตัวแรกหมายถึง ขั้นตอนหกขั้นตอน (หรือวิธีคิดหกวิธี) ในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล และ “หก” ตัวที่สองหมายถึง กระบวนการทำงานของคนหกแถว ซึ่งในบันทึกฉบับนี้ ผมจะมาพูดถึง หก ตัวที่สองนี่เอง

 “หก” ตัวที่สอง หมายถึง คนทำงานหกแถว คือ คนแถว ๑ ทำงานด้านการทบทวน พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ คนแถว ๒ ทำงานด้านการสำรวจข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ คนแถว ๓ ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย คนแถว ๔ ทำงานด้านการปฏิรูปกฎหมายและนโยบาย คนแถว ๕ ทำงานด้านการสื่อสารสาธารณะ คนแถว ๖ ทำงานด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคนทั้งหกแถวจะต้องทำงานประสานสอดคล้องซึ่งกันและ “ตามกระบวนการทำงาน” ที่ได้คิดและตกลงกันเอาไว้

 

ประเด็นที่สำคัญที่สุด ที่ต้องเน้นก่อนจะได้กล่าวถึงกระบวนการทำงานก็คือ การทำงานแบบนี้ เน้นที่ “ผู้มีปัญหาสถานะ” เป็นศูนย์กลางของการทำงาน โดยมีคนหกแถวทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในขั้นตอนต่างๆ ของการทำงาน ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่ให้ ผู้มีปัญหาสถานะ สามารถรู้และเข้าใจถึง “สถานะปัจจุบันของตนเอง” รวมทั้งเรียนรู้ ข้อกฎหมาย นโยบายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถใช้ความรู้นั้นในการดำเนินการต่างๆ เพื่อบรรลุถึง “ทางออกในการแก้ไขปัญหาสถานะของตน” และในขณะเดียวกันก็ใช้กระบวนการทำงานดังกล่าวในการค้นคว้าข้อติดขัดหรืออุปสรรคทั้งในส่วนของปัญหาความไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปัญหาที่จำเป็นต้องมีการผลักดันให้มีการแก้ไขหรือบัญญัติกฎหมายหรือนโยบายเพิ่มเติม

 

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาดูกันดีกว่าว่ากระบวนการทำงานแบบนี้มีรายละเอียดขั้นตอนอย่างไรบ้าง

 

สืบค้นข้อเท็จจริงเบื้องต้น - กระบวนการทำงาน เริ่มต้น จากการที่คนแถวสองพบปะกับผู้มีปัญหาสถานะ เพื่อที่จะสอบถามข้อมูลประวัติ รวบรวมข้อเท็จจริง พยานบุคคล และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดสถานะ ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลในระดับหนึ่งแล้ว คนแถวสองก็จะสามารถบอกได้ว่า ผู้มีปัญหาสถานะคนนั้นอยู่ในกลุ่มไหน ใน ๕ กลุ่ม ของการแบ่งกลุ่มตามสถานะบุคคล (ซึ่งก็คือ “ห้า” ตัวแรก นั่นเอง) จุดเน้นของการทำงานขั้นตอนนี้ก็คือ การช่วยให้เจ้าของปัญหาเข้าใจสถานะในปัจจุบันของตัวเอง โดยดูจากข้อมูลประวัติชีวิตของตนและเอกสารของทางราชการที่ตนได้รับมา

 

การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง – เมื่อคนแถวสองได้ข้อมูลมาแล้ว ก็จะส่งต่อให้กับคนแถวหนึ่ง ซึ่งจะต้องค้นคว้าหากฎหมาย นโยบาย และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น และทำการวิเคราะห์ออกมาว่า ในกรณีดังกล่าวจะมีทางออกในการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ในขั้นตอนนี้ คนแถวหนึ่งก็อาจต้องขอข้อมูลหรือคำแนะนำจากคนแถวสี่ (ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง) ในการค้นคว้าและวิเคราะห์กรณีศึกษา

 

เมื่อได้บทวิเคราะห์ออกมาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในขั้นตอนต่อไปจะแตกต่างจากการให้ความช่วยเหลือโดยปกติทั่วไป ที่ผู้ให้ความช่วยเหลืออาจอธิบายให้เจ้าของปัญหาเข้าใจถึงทางออก หรือดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเลย แต่ในกระบวนการทำงานแบบนี้ คนแถวหนึ่งก็จะต้องส่งบทวิเคราะห์สำหรับกรณีนั้นให้กับคนแถวสาม เพื่อให้คนแถวสามศึกษาและทำความเข้าใจบทวิเคราะห์ดังกล่าว

 

การเตรียมการสอน – เมื่อคนแถวสามได้ทำการศึกษาบทวิเคราะห์แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ การเตรียมการสอนให้กับ ผู้มีปัญหาสถานะ ซึ่งความยากจะอยู่ที่ ทำอย่างไรถึงจะคุยเรื่องกฎหมายให้กับชาวบ้านธรรมดารู้เรื่องและเข้าใจ เพราะหลายครั้งที่เราจะเจอนักกฎหมายที่เก่ง แต่คุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง หรือคนที่คุยกับชาวบ้านรู้เรื่องแต่ไม่ค่อยสันทัดด้านกฎหมาย หรือขาดทักษะในการสอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่คนแถวสามจะต้องมีติดตัวถึงจะทำงานได้ดี

 

ยิ่งเขียนก็ยิ่งมีเนื้อหายาวมากขึ้น ผมว่าเราพักกันสักก่อนนิดหนึ่ง แล้วผมจะมาเล่ากันต่อในบันทึกครั้งต่อไป ซึ่งจะพูดถึงขั้นตอนก็ไปคือ การให้ความรู้แก่ผู้มีปัญหาสถานะ

 


* โดย กานต์ เสริมชัยวงค์, นำเนื้อหาที่ได้พูดในเวที การถอดประสบการณ์การทำงานเพื่อจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน 2552 มาเขียนเป็นบันทึกฉบับนี้ (ขออุทิศให้กับใหญ่ กฤษฎา ยาสมุทร ผู้ล่วงลับ)

หมายเลขบันทึก: 301148เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2009 00:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท