ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

ร่าง ข้อบัญญัติท้องถิ่น บทเรียนที่น่าเรียนรู้


พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา เป็นแหล่งระบบนิเวศน์ที่สำคัญ เนื่องจากมีป่าชายเลน ตะกอนเลน ที่เป็นแหล่งอาหาร หลบซ่อน วางไข่ และอาศัย ทำให้อ่าวของตำบลท่าศาลาคงความอุดมสมบูรณ์มาโดยตลอด แต่จะมีการทำการประมงผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุนที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำบางแห่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ โดยการตรวจตราและเฝ้าระวังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประจำการที่อำเภอขนอม อำเภอสิชล และอำเภอปากพนังเป็นหลัก พื้นที่อำเภอท่าศาลาจึงเป็นช่องว่างในการตรวจตราและเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลามักได้รับเรื่องร้องเรียนจากราษฎรในพื้นที่จากปัญหานี้มาโดยตลอด ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนี้ขึ้นใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตามแผนที่แนบท้ายประกาศ

 

   ร่าง -

ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา 

 เรื่อง

การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน  

พ.ศ. ๒๕๕๒ 

 

หลักการและเหตุผล

ประกอบร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา 

เรื่อง การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

พ.ศ. ๒๕๕๒

           

หลักการ

            พื้นที่ชายหาดและชายฝั่ง ถือ เป็นพื้นที่สาธารณะ และเป็นพื้นที่ประกอบอาชีพของชาวประมง ตามตามหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อบังคับใช้ในพื้นที่โดยจัดทำแผนที่แนบท้ายประกาศ และต้องไม่ขัดกับกฎหมายหลัก ทั้งนี้เป็นไปตามกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล

 

 เหตุผล

            พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา เป็นแหล่งระบบนิเวศน์ที่สำคัญ เนื่องจากมีป่าชายเลน ตะกอนเลน ที่เป็นแหล่งอาหาร หลบซ่อน วางไข่ และอาศัย ทำให้อ่าวของตำบลท่าศาลาคงความอุดมสมบูรณ์มาโดยตลอด แต่จะมีการทำการประมงผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุนที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำบางแห่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ โดยการตรวจตราและเฝ้าระวังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประจำการที่อำเภอขนอม อำเภอสิชล และอำเภอปากพนังเป็นหลัก พื้นที่อำเภอท่าศาลาจึงเป็นช่องว่างในการตรวจตราและเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลามักได้รับเรื่องร้องเรียนจากราษฎรในพื้นที่จากปัญหานี้มาโดยตลอด ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนี้ขึ้นใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตามแผนที่แนบท้ายประกาศ

 

ร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา

เรื่อง การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

พ.ศ. ๒๕๕๒

           โดยที่ประชาชนในตำบลท่าศาลา สภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา เห็นร่วมกันว่า ควรจะได้มีการตราข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา เรื่อง “การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน” ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา

อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๖ กำหนดให้ องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ในท้องถิ่นของตนเอง (๒๔) การจัดการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (๒๗) การดูแลรักษาที่สาธารณะ

และพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๖๙/๑ บัญญัติให้ การปฎิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและการมีส่วนร่วมของประชาชน มาตรา ๗๑ องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบัญญัติเพื่อใช้ในเขตองค์กรบริหารส่วนตำบลเพื่อปฎิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล

ข้อบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพของบุคคล รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๓ บัญญัติให้กระทำได้เพื่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม และเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ

โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๗๑ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาโดยความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา จึงตราข้อบัญญัตินี้ไว้ดังต่อไปนี้

               ข้อ ๑ ข้อบัญญัตินี้เรียกว่า  “ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา ว่าด้วย “การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน พ.ศ. ๒๕๕๒”

            ข้อ ๒ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนี้ให้ใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาตั้งแต่เมื่อได้ประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาแล้ว สิบห้าวัน

               ข้อ ๓ บรรดาข้อบัญญัติ ประกาศ  ระเบียบ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่ได้ตราไว้แล้วใน   ข้อบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อบัญญัตินี้ให้ใช้ข้อบัญญัตินี้แทน

               ข้อ ๔ ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา รักษาการตามข้อบัญญัตินี้ให้มีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อบัญญัตินี้

 

หมวด ๑

บททั่วไป

 ข้อ ๕ ในข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนี้

           เขตอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่ง หมายความว่า พื้นที่ชายหาด ทะเล ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาเขตที่ ๑ เขตที่ และ เขตที่ ๒  ตามแผนที่ท้ายข้อบัญญัตินี้

            คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการบริหารเขตอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งตำบลท่าศาลาตามข้อบัญญัตินี้

          ทำการประมง หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่าหรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใด ๆเครื่องมือทำการประมง หมายความว่า เครื่องกลไกเครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสาหลัก หรือเรือบรรดาที่ใช้ทำการประมง 

         เรือ หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด 

        ใบอนุญาต หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่บุคคลใดใช้ทำการประมงหรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต 

       ผู้รับอนุญาต หมายความว่า บุคคลผู้ได้ใบอนุญาต ให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อบัญญัตินี้ 

     เครื่องมือประจำที่ หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งใช้วิธีลงหลักปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง 

   เจ้าพนักงานท้องถิ่น หมายความว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา คณะกรรมการบริหารเขตอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่ง และผู้ซึ่งนายกได้แต่งตั้งให้มีหน้าที่ดำเนินการตามข้อบัญญัตินี้ 

  นายก หมายความว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา  

 หมวด ๒

เขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

            ข้อ ๖ โดยที่ปรากฎว่ามีการใช้เครื่องมือการประมงบางชนิดทำการประมงทะเลส่งผลต่อการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน ทรัพยากรหน้าดินใต้ท้องทะเล และทำให้เกิดสิ่งกีดขวางทางทะเล เพื่อประโยชน์ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม และเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพการประมงในทะเลและชายฝั่งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา ให้แบ่งเขตทะเลและชายฝั่งเป็น ๒ เขต ประกอบด้วย    เขตอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่ง เขตที่ ๑ ระยะทาง ๑,๕๐๐ เมตร จากขอบน้ำชายฝั่งออกไปในทะเล    และ เขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเขตที่ ๒ ระยะทาง ๕,๔๐๐ เมตร จากขอบน้ำชายฝั่งออกไปในทะเล ตามแผนที่แนบท้ายข้อบัญญัตินี้

        ข้อ ๗ ในเขตอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งเขตที่ ๑ บุคคลสามารถทำการประมงด้วยเครื่องมือการประมงที่ไม่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และห้ามทำการประมงดังต่อไปนี้

(๑)  การทำการประมงด้วยเครื่องมือประจำที่ทุกชนิด

(๒)  การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด

(๓)  การใช้โพงพาง รั้วไซมาน หรือกั้นซู่รั้วไซมาน ลี่ หรือเครื่องมือที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน ทำการประมง

            คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของนายก อาจอนุญาตให้กลุ่มองค์กรชุมชนซึ่งประกอบด้วยสมาชิก  ที่มีภูมิลำเนาในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือทำการประมงด้วยเครื่องมือประจำที่ได้เท่าที่ไม่ขัดขวางการทำการประมงของชาวประมงอื่นๆ หรือเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ หรือเพื่อการอนุรักษ์

            การอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือทำการประมงด้วยเครื่องมือประจำที่ ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มีส่วนได้เสียในพื้นที่ที่จะอนุญาต และต้องจัดทำเป็นใบอนุญาตโดยระบุตำแหน่ง เนื้อที่ ระยะเวลา และบุคคลที่รับผิดชอบในนามกลุ่มองค์กรชุมชนที่ชัดเจน  บุคคลหรือกลุ่มองค์กรที่ได้ดำเนินการก่อนออกข้อบัญญัตินี้ให้ขออนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ วัน หลังประกาศมีผลบังคับใช้

            การอนุญาตเป็นการอนุญาตเฉพาะกลุ่มองค์กรชุมชนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ไม่สามารถเช่าช่วง หรือโอนสิทธิแก่บุคคลหรือกลุ่มองค์กรชุมชนอื่นได้

            ข้อ ๘ ในเขตอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งเขตที่ ๒ บุคคลสามารถทำการประมงด้วยเครื่องมือการประมงที่ไม่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ และห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือการประมงดังต่อไปนี้

(๑)  การประมงโดยใช้เครื่องมืออวนประกอบคันรุนประกอบเรือยนต์

(๒)   การประมงโดยอวนลากคู่เป็นการทำประมงโดยใช้เรือยนต์ 2 ลำในการลากอวนและถ่างปากอวน

(๓)  การประมงโดยใช้อวนทุกชนิดที่มีขนาดตาอวนต่ำกว่า ๒.๕ เซนติเมตรประกอบแสงไฟ ทำการประมงในเวลากลางคืน

(๔)  การประมงโดยใช้เครื่องมือคราดหน้าดินประกอบเรือยนต์ทุกชนิด

คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของนายก อาจอนุญาตให้มีการทำการประมงตาม (๑) (๒) (๓) (๔)

ได้  เพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ ทั้งนี้ ต้องกระทำโดยเปิดเผยและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มีส่วนได้เสียในพื้นที่ที่จะอนุญาต และต้องจัดทำเป็นใบอนุญาตโดยระบุตำแหน่ง เนื้อที่ ระยะเวลา และบุคคลที่รับผิดชอบที่ชัดเจน

 

หมวด ๓

คณะกรรมการบริหารเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตำบลท่าศาลา

 

ข้อ ๙ ให้มีคณะกรรมการบริหารเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำนวนไม่เกิน ๓๕ คน

ประกอบด้วย

(๑)  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา             เป็นประธานคณะกรรมการ 

(๒)   กำนันตำบลท่าศาลา                                    รองประธาน

(๓)  ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา    รองประธาน

(๔)  สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา

จากหมู่บ้านอยู่ติดชายทะเลหมู่บ้านละ๑ คน              กรรมการ

(๕)  ผู้ใหญ่บ้านที่พื้นที่หมู่บ้านอยู่ติดชายทะเล         กรรมการ

(๖)  ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา                                    กรรมการ

(๗)  ผู้แทนกลุ่มองค์กรชุมชนในตำบลท่าศาลาที่มีวัตถุประสงค์และการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์

     ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นที่ประจักษ์ จำนวน ๘ คน        กรรมการ

(๘)  ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกเห็นสมควรจำนวน ๓ คน                          กรรมการ

            กรรมการตาม (๔ )ให้เลือกโดยที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กรรมการตาม (๖) และ (๗)ให้นายกแต่งตั้งโดยปรึกษาหารือกับประชาคมตำบล 

            คระกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง และให้คณะกรรมการตาม(๔) (๕) (๖) มีวาระคราวละ ๒ ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้แต่ต้องไม่เกิน ๒ วาระติดต่อกัน   

           

ข้อ ๑๐ ให้คณะกรรมการบริหารเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑)   บริหารเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เป็นไปตามข้อบัญญัตินี้

(๒)  จัดทำแผนงานเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระยะ ๓ ปี เสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา

(๓)   ดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานใน (๒)

(๔)   จัดให้มีอาสามัครจากราษฎรอาสาตรวจตรา เฝ้าระวัง การกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบัญญัตินี้และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(๕)  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฎิบัติหน้าที่ตามข้อบัญญัตินี้ และให้นำความในข้อ ๑๑ ข้อ ๑๒ และข้อ ๑๓ มาใช้บังคับกับคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

(๖)   จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และประชาชนในตำบลท่าศาลา

 

ข้อ ๑๑ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการที่ได้รับเลือกหรือแต่งตั้งจะเข้ารับหน้าที่

ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการเลือกหรือแต่งตั้งกรรมการแทนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งกรรมการนั้นว่างลง และให้ผู้ที่ได้รับเลือก หรือแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

ในกรณีที่วาระของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยยี่สิบวัน จะไม่ดำเนินการเลือกหรือแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นก็ได้ และในกรณีนี้ให้คณะกรรมการ ประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่

 

ข้อ ๑๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการตามข้อ ๘ (๔) (๖) (๗) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด

เท่าที่มีอยู่ให้ออกเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือมีความประพฤติ

เสื่อมเสีย

(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่โทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำ โดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๗)   กรรมการตามข้อ ๙ (๔)  พ้นจากการเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา

 

ข้อ ๑๓ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน กรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมครั้งใด ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ใช้กระบวนการปรึกษาหารือจนได้ข้อยุติ กรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้  ที่ประชุมอาจมีมติให้ใช้วิธีลงคะแนนได้ โดยใช้เสียงข้างมากของกรรมการที่เข้าร่วมประชุม  กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ ๑๔ ให้ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ ตามความเหมาะสม และเพียงพอกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ข้อ ๑๕  ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา แต่งตั้งให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และราษฎรอาสาสมัครตามข้อบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานส่วนตำบล

 

หมวด ๔

บทลงโทษ

ข้อ ๑๖ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบัญญัติข้อ ๗ และ ๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท และในกรณีที่ผู้นั้นกระทำผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๙๐ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือกฎหมายอื่น ให้เจ้าพนักงานส่วนตำบลดำเนินการกล่าวโทษร้องทุกข์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย  

 

 

ประกาศ ณ วันที่      เดือน       พ.ศ.

 

(ลงชื่อ)

 

(นายอภินันท์  เชาวลิต)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา

 

 

(ลงชื่อ)

            (นายเสรี  ทวีพันธ์)

           นายอำเภอท่าศาลา 

 

หมายเลขบันทึก: 301018เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2009 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

น่าสนใจ น่าติดตาม และเสนอแนะให้ อปท.อีกหลายที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้

เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่องค์กรระดับตำบล

ผลักดัน ภายใต้การมีสวนร่วมกับทุกฝ่ายครับ

ไม่เห็นมีแผนที่แนบท้ายเลย

อยากเห็นจะไดรู้ว่าบริเวณไดบ้าง

เรื่องแผนที่ ยังอัพโหดไม่เป็นครับ หลักการ คือ ขอบตำบลทั้งสองข้าง

ยื่นออกไปในทะเล 1.5 และ 5.4 กม.ครับ

ขอเรียนถามว่า การจัดทำร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นนี้ จะต้องดุอะไรเป็นเกณฑ์ว่าควรทำเรื่องไหนดีค่ะ หากได้เรื่องแล้ว มีขั้นตอนการทำอย่างไรค่ะ พอดีเป็นที่ทำงานใหม่ค่ะ ขอคำแนะนำด้วยนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท