ระบบสารนสเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา


ความสำคัญของสารสนเทศ

ระบบสารสนเทศที่จำเป็นต่อการบริหารคุณภาพสถานศึกษา

 

                      ระบบสารสนเทศ (Information System)  หมายถึง กระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผลข้อมูลให้อยู่ในรูปสารสนเทศที่เป็นประโยชน์สูงสุด  และการจัดเก็บรักษาอย่างมีระบบสะดวกต่อการนำไปใช้  สารสนเทศที่ถูกจัดเก็บเป็นระบบจะสามารถนำไปใช้สนับสนุนการบริหารและการตัดสินใจได้ในทุกระดับ

 

ความสำคัญของระบบสารสนเทศ

                      ข้อมูลสารสนเทศเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวางแผนการตัดสินใจดำเนินการ         สิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ไม่ว่างานนั้นจะปฏิบัติภาครัฐหรือเอกชน  งานธุรกิจหรืองานสงเคราะห์  และไม่จำกัดเฉพาะงานหรือธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น  แต่จำเป็นสำหรับงานธุรกิจขนาดย่อม  ธุรกิจในครอบครัว  แม้แต่งานส่วนตัว  ข้อมูลสารสนเทศมีส่วนช่วยในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผล  ในทางตรงกันข้าม  หากผู้ปฏิบัติงานหรือผู้บริหารไม่สนใจนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจ  การปฏิบัติงานจะไม่แตกต่างจากการลองถูกลองผิดและต้องเสี่ยงต่อความผิดพลาดสูง  ในบางเรื่องที่มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ในวงจำกัดความเสียหายจะไม่รุนแรง  แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนเป็นจำนวนมาก ความเสียหายต่อสังคม และต่อประเทศชาติที่เกิดขึ้นจะขยายวงกว้างขึ้นด้วย (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ.  2541 : 2) 

                      สถานศึกษาที่มีระบบสารสนเทศที่สมบูรณ์  ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน เรียกใช้ได้สะดวกและตรงตามความต้องการ  ช่วยให้สถานศึกษาสามารถดำเนินงานพัฒนาคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลักวิชา หลักฐานข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้  มีกระบวนการวิเคราะห์และประมวลผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ หลักตรรกศาสตร์และความสมเหตุสมผล  เพราะสารสนเทศนอกจากจะใช้ในการวางแผนการดำเนินงานและประกอบการตัดสินใจแล้ว  ยังนำไปสู่การพัฒนาแนวความคิด และสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการดำเนินการต่างๆ (กรมวิชาการ.  2545 : 8)

วัตถุประสงค์ของการจัดทำข้อมูลสารสนเทศ

                      1.  เพื่อแสดงความรับผิดชอบในผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษาต่อหน่วยงาน ต้นสังกัด สาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อสิ้นปีการศึกษา

                      2.  เพื่อให้สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาในปีต่อไป

                      3.  เพื่อให้สถานศึกษามีข้อมูลสารสนเทศ  เตรียมความพร้อมรอรับการประเมินคุณภาพภายนอก ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)

องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ

องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ (กรมวิชาการ.  2545 : 20)  ประกอบด้วย

                      1.  ข้อมูล  เป็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ ภายในสถานศึกษาและในบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่ง  เป็นปัจจัยนำเข้าของระบบสารสนเทศ

                     2.   การจัดเก็บข้อมูล  เป็นการรวบรวมและจัดเก็บรักษาข้อมูล  และสารสนเทศที่มีอยู่หรือที่ได้มาอย่างมีระบบ  สะดวกต่อการนำมาประมวลผล  หรือนำมาใช้ประโยชน์ และสามารถแก้ไข ปรับปรุง ให้เป็นปัจจุบันได้ง่าย

                     3.  การประมวลผลหรือการวิเคราะห์  เป็นการกำหนดความสัมพันธ์ของข้อมูล  จัดกระทำเพื่อให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้  ซึ่งวิธีการประมวลผลข้อมูลเพื่อให้ได้สารสนเทศมีอยู่มากมาย  เช่น  การจัดหมวดหมู่ การเรียงลำดับ การแจงนับ การทำตารางแจกแจงข้อมูลตัวเลขแบบหมายประเภท (Cross tabulation)  ตลอดจนถึงการใช้สูตรคณิตศาสตร์ต่าง ๆ (คำนวณค่าร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ค่าความแปรปรวน ฯลฯ)

                   4.  สารสนเทศ  เป็นข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลหรือการวิเคราะห์แล้ว  เป็นผลผลิตของระบบที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

 

ลักษณะข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพ

      ข้อมูลและสารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นเครื่องชี้นำในการพัฒนาและดำเนินงานทางการศึกษา  ดังนั้นการสร้างระบบสารสนเทศให้มีคุณภาพจึงควรคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้         (กรมวิชาการ.  2545 : 9)

                      1.  มีการตรวจสอบความถูกต้อง (Verifiability)

                      2.  มีความถูกต้องแม่นยำ (Accuracy)

                      3.  มีความสมบูรณ์และครอบคลุม (Comprehensiveness) เพียงพอที่จะใช้ตัดสินใจ

                      4.  มีความชัดเจน (Clarity) ไม่ต้องตีความ แต่มีความกะทัดรัดได้ใจความ

                      5.  มีความเกี่ยวข้องตรงต่อความต้องการของผู้ใช้ (Relevance)

                      6.  มีความยืดหยุ่น (Flexibility) ปรับใช้ได้ในหลายสถานการณ์

                      7.  ใช้ได้ง่าย รวดเร็ว (Accessibility)

                      8.  สามารถจัดระบบตั้งแต่การเตรียมข้อมูลนำเข้า การประมวลผลและนำผลรายงานในเวลาที่ทันต่อเหตุการณ์ (Timeliness)

 

 

 

   สารสนเทศของสถานศึกษา

 

                      พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2545  มาตรา 47  กำหนดให้สถานศึกษามีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรา 50 ให้สถานศึกษาให้ความร่วมมือในการจัดเตรียมเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับสถานศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมรอรับการประเมินคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา  ดังนั้นสถานศึกษาจำเป็นต้องเตรียมสารสนเทศของสถานศึกษา  ซึ่งสารสนเทศที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จำแนกได้ ดังนี้

 

                   1.   สารสนเทศพื้นฐานของสถานศึกษา

 1.1    ข้อมูลทั่วไปของสถานศึกษา

1.2      สภาพการบริหารและการจัดการตามโครงสร้างการบริหารและภารกิจ

1.3      ศักยภาพของสถานศึกษา

1.4      ความต้องการของสถานศึกษา

1.5      แนวโน้มการพัฒนาท้องถิ่น

1.6      แนวทางการจัดการศึกษา

1.7      การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษา / คณะกรรมการนักเรียน

                      2.  สารสนเทศที่เกี่ยวกับผู้เรียน

2.1       ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน

2.2       คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน

2.3       ผลงานและการแสดงออกของผู้เรียน

2.4       รูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน

                      3.  สารสนเทศเพื่อการบริหารงานวิชาการ

                                3.1  หลักสูตรและการเรียนการสอน

                            3.2  การวัดและการประเมินผลการเรียน

                            3.3  การพัฒนากิจกรรมแนะแนว

                            3.4  การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

                         3.5  การวิจัยในชั้นเรียน

                       4.  สารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ

4.1     สภาพและบรรยากาศการเรียนรู้

4.2     ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก

4.3     การพัฒนาบุคลากร

4.4     ความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครองและชุมชน

4.5     สารสนเทศเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนา

 

การนำระบบสารสนเทศไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา

 

                      การนำสารสนเทศไปใช้ต้องประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศจากหลายๆ ส่วน  ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องทั้งสารสนเทศพื้นฐาน  สารสนเทศที่เกี่ยวกับผู้เรียน  สารสนเทศด้านการบริหารจัดการ และ   ด้านวิชาการ  แต่จะต้องมีการสรุปผลและเปรียบเทียบข้อมูลจากแหล่งอื่นทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา เพื่อช่วยในการตัดสินใจ เช่น งานสัมพันธ์ชุมชน  การตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา งานประเมินตนเอง เป็นต้น

                      หลักสำคัญในการใช้ข้อมูลและสารสนเทศ  คือ  การตัดสินใจ  ผู้บริหารต้องตัดสินใจใช้ข้อมูลสารสนเทศที่เที่ยงตรงเชื่อถือได้ ประกอบการตัดสินใจวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพ

                      1.  ระบบสารสนเทศพื้นฐานของสถานศึกษา  ประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมของสถานศึกษา  สภาพเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคม ความต้องการของชุมชน  สภาพการบริหารและการจัดการตามโครงสร้างและภารกิจ  เช่น ปฏิทินปฏิบัติงานของสถานศึกษา  กิจกรรมประจำวันของสถานศึกษา  ระบบเอกสารที่จำเป็นในสถานศึกษา เป็นต้น

                      2.  ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับผู้เรียน  เป็นระบบสารสนเทศที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนทั้งหมด  เช่น ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน จำแนกเป็นรายชั้น รายปี ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน รายงานความก้าวหน้าของผู้เรียน  รายงานความประพฤติ / พฤติกรรมผู้เรียน ผลงานของผู้เรียน เทคนิคการเรียนรู้ของผู้เรียน

                      3.  ระบบสารสนเทศการบริหารวิชาการ  เป็นการจัดระบบสารสนเทศเกี่ยวกับหลักสูตรและการเรียนการสอน  การวัดและการประเมินผลการพัฒนากิจกรรม  แนะแนวและ การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  เช่น  การมีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตรและการเรียนการสอน  บรรยากาศการเรียนการสอน  ความหลากหลายในวิธีการและการใช้เครื่องมือประเมิน              การจัดบริการแนะแนว  ผลการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

                      4.  ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ  สารสนเทศประเภทนี้ต้องมีการประมวลผลรวม  มีการเปรียบเทียบข้อมูลอย่างถูกต้องและทันสมัยจึงจะมีความหมายต่อการจัดการและการบริหารงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ  ตัวอย่างสารสนเทศเพื่อการบริหาร  เช่น  งานธุรการ  การเงิน  งานบุคลากร  งานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน งานพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก งานอาคารสถานที่ เป็นต้น

 

 

 

บรรณานุกรม

 

คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์. ทักษะการรู้สารสนเทศ. กรุงเทพฯ :

               คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2548.

รัถพร  ซังธาดา. สารนิเทศและการศึกษาค้นคว้า. พิมพ์ครั้งที่  2.  มหาสารคาม  :  ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์

               และสารสนเทศศาสตร์, 2539. 

นันทา  วิทาวุฒิศักดิ์.  “ เส้นทางการจัดการสารสนเทศสู่การจัดการความรู้,”   สารสนเทศ.  3(2) ; 

               กันยายน –  ธันวาคม, 2545.

น้ำทิพย์  วิภาวิน.  ทักษะการใช้ห้องสมุดยุคใหม่. กรุงเทพ ฯ  : เอส อาร์ พริ้นติ้ง, 2546.

สมาน  ลอยฟ้า. “ การรู้สารสนเทศ :  ทักษะที่จำเป็นสำหรับสังคมสารสนเทศ Information  Literacy

สามัญศึกษา, กรม. (2538).  การจัดระบบสารสนเทศของโรงเรียนมัธยมศึกษา   สังกัดกรม

                สามัญศึกษา.  กรุงเทพฯ : กรมสามัญศึกษา.

 

หมายเลขบันทึก: 300816เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2009 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท