จริยธรรมของนักปกครอง


หลักปฏิบัติ หรือคุณธรรมในการปกครองทั่วๆไปซึ่งเป็นคุณธรรมของฝ่ายปกครองที่ต้องยึดถือปฏิบัติ ให้แก่ฝ่ายรับการปกครองทำงานได้อย่างปกติสุข

 

ความหมายของจริยธรรมของนักปกครอง

            จริยธรรม ( Ethical Rules) คือ ประมวลกฎเกณฑ์ความประพฤติ คำว่าจริยธรรมนั้น ในบางครั้งก็ใช้แทนคำว่า คุณธรรม หรือศีลธรรม

            จริยธรรม คือ หลักแห่งความประพฤติที่ชอบธรรมหรือเป็นหลักปฏิบัติที่ได้รับการยกย่องจากสังคมว่าเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรเราสามารถศึกษาจริยธรรมของสังคมหนึ่งๆ ได้จากขนบประเพณีวัฒนธรรม หลักศีลธรรม เป็นต้น

            ส่วนการเมืองการปกครองนั้น เป็นเรื่องของการใช้อำนาจบังคับ ให้เป็นไปตามข้อบัญญัติของรัฐ การเมืองการปกครองเป็นเรื่องของการตัดสินใจตกลงใจ หรือกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสังคมหรือจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆ ให้แก่สังคม เช่น อำนาจหน้าที่ตำแหน่ง เศรษฐกิจ ฐานะทางสังคม ตลอดจนการใช้ทรัพยากร

            จริยธรรมทางการเมืองการปกครอง โดยทั่วไปมีความหมายแบ่งออกเป็นสองนัยคือ

          1. จริยธรรมทางการเมืองการปกครอง หมายถึง หลักปฏิบัติ หรือคุณธรรมในการปกครองทั่วๆไปซึ่งเป็นคุณธรรมของฝ่ายปกครองที่ต้องยึดถือปฏิบัติ ให้แก่ฝ่ายรับการปกครองทำงานได้อย่างปกติสุข

          2. จริยธรรมทางการเมืองการปกครอง หมายถึง ปรัชญาในทางการเมืองการปกครอง ซึ่งนักปรัชญาทั้งหลายได้ให้แนวคิดหลักการและเหตุผลทางการเมืองการปกครองที่ควรจะเป็นจริยธรรมในการปกครอง ยังมีความหมายรวมถึง จริยธรรมในการควบคุมหรือปกครองตนเองและจริยธรรมในการปกครองผู้อื่นด้วย

            นักปราชญ์แต่ละยุคแต่ละสมัยได้พยายามคิดค้น จริยธรรมในการปกครองที่เหมาะสมกับสภาพของสังคมแต่ละสังคมเสมอเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาปรับปรุง สังคมให้ดีขึ้น

            Socrates ถือว่าผู้ที่จะเจริญทางจิตใจได้ จะต้องมีคุณธรรมประจำใจเพื่อใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต คุณธรรม เป็นสิ่งที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคิด หรือทำสิ่งใด การมีคุณธรรมก็คือการเป็นผู้มีศีลธรรม และมีความรู้นั่นเอง

            Plato ถือว่า การมีคุณธรรมก็คือ การยึดมั่นในสิ่งที่ดีงาม ทำหน้าที่ของตนตามความเหมาะสม การปกครองที่ดีก็คือ การปกครองที่ก่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมสมาชิกในสังคมจะต้องแบ่งหน้าที่กันทำ เนื่องจากคนเรามีความสามารถเหมาะสำหรับงานเฉพาะอย่าง และควรทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ผู้ปกครองควรเป็นผู้มีปัญญา และมีเหตุผล ส่วนประชาชนผู้ผลิตควรตั้งหน้าตั้งตาประกอบอาชีพของตน ทุกฝ่ายจะต้องรู้จักควบคุมตนเองและยอมรับสภาพของตน

            Aristotle ถือว่า มนุษย์เราจะดำรงชีวิตได้ด้วยดี และจะสามารถพัฒนาจิตใจหรือปัญญาของตนได้เต็มที่ ก็ต่อเมื่อเข้ามาอยู่ในรัฐแล้วเท่านั้น การปกครองในรัฐที่ดีจะต้องก่อให้เกิดความยุติธรรม ที่จัดสรรไว้ตามส่วนต่างๆ ของสังคม ซึ่งอาจจะไม่เท่าเทียมเพราะคนเรามีความสามารถและมีส่วนที่ให้แก่สังคมต่างกัน

            ระบบการปกครองที่ดีสามารถก่อให้เกิดความยุติธรรมและทำการปกครองเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมได้ จึงมีเพียงระบบราชาธิปไตยซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมประการหนึ่ง ระบบอภิชนาธิปไตยซึ่งปกครองโดยคนจำนวนน้อยที่ทรงคุณธรรมประการหนึ่งและระบบประชาธิปไตยที่ถือทางสายกลาง ซึ่งปกครองประชาชนที่ทรงคุณธรรมอีกประการหนึ่งส่วนการปกครองที่เลวนั้น คือการปกครองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ปกครองเองได้แก่การปกครองแบบทรราชย์ แบบคณาธิปไตยและการปกครองโดยฝูงชน

            หลักในการปกครองที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง คือ จะต้องทำการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายรับการปกครองมากกว่าเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของฝ่ายปกครองคือ จะต้องปกครองเพื่อผลประโยชน์ของราษฎรส่วนใหญ่ในสังคมด้วยความชอบธรรมประชาราษฎร์จึงจะอยู่ดีมีสุข

 

จริยธรรมในการปกครองของไทย

          จริยธรรมในการปกครองของไทยมีรากฐานมาจากพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกว่า 700 ปี พระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้หลักจริยธรรมของหลักธรรมะในพุทธศาสนามาใช้ในการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ของไทยแต่โบราณได้ยึดถือหลักธรรม อยู่สามประการในการปกครองประเทศ คือ

            1. ทศพิธราชธรรม เป็นหลักธรรมสำหรับพระองค์เองสำหรับการใช้อำนาจหน้าที่ และการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อประเทศชาติ

            2. จักรวรรดิวัตร เป็นหลักธรรมในการดำเนินกุศโลบายและวิเทโศบายทางการปกครอง

          1. ราชสังคหะวัตถุ เป็นหลักธรรมในการกำหนดนโยบายการบริหารสำหรับเรื่องจริยธรรมในการปกครองมีความสำคัญมากต่อประเทศชาติถ้าหากผู้ปกครองบ้านเมืองมีจริยธรรมในการปกครองบ้านเมืองก็จะร่มเย็นเป็นสุข ประชาชนไม่เดือดร้อนเพราะผู้มีอำนาจปกครองในสมัยโบราณพระมหากษัตริย์ทรงใช้หลักธรรมในการปกครอง ดังจะอธิบายโดยละเอียดนี้คือ

          1. ทศพิธราชธรรม หรือราชธรรม 10

          ทศพิธราชธรรมนับเป็นคุณธรรมในการปกครองที่สำคัญมาก ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ได้ทรงยึดถือหลักธรรมดังกล่าวนี้เป็นแนวทางในการปกครอง เสมอมาทศพิธราชธรรมมีหลักธรรม ๑๐ ประการประกอบด้วย           

          1. ทาน หมายความว่า การให้คือการช่วยเหลือประชาราษฎร์และบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์

          2. ศีล หมายความว่า    เป็นผู้มีความประพฤติดีงาม คือการประกอบแต่การสุจริต

          3. ปริจจาคะ หมายความว่า เป็นผู้เสียสละความสุขสำราญหรือแม้แต่ชีวิตของตนเพื่อประโยชน์สุขของมวลประชาราษฎร์ และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

          4. อาชชาวะ หมายความว่า เป็นผู้มีความซื่อตรง การปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต จริงใจไม่หลอกลวงประชาราษฎร์

          5. มัททวะ หมายความว่า เป็นผู้มีความอ่อนโยน ไม่เยอยิ่ง หยาบคาย หรือกระด้างให้มีความละมุนละไม ให้คนทั่วไปรักภักดีและมีความยำเกรงด้วย

          6. ตปะ หมายความว่า ความทรงเดชการไม่ยอมหลงใหลหรือหมกมุ่นในความสุขสำราญ ปรนเปรอแต่มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ มุ่งมั่นที่จะบำเพ็ญกิจตามหน้าที่ให้บริสุทธิ์

          7. อักโกธะ หมายความว่า ความไม่โกรธ ไม่ลุอำนาจโกรธ รู้จักระงับความขุ่นเคืองใจด้วยเหตุทั้งปวง วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบ เป็นตัวของตัวเอง

          8. อวิหิงสา หมายความว่า ความไม่เบียดเบียน เป็นผู้ไม่คิดร้ายใคร ไม่บีบคั้นกดขี่

          9. ขันติ หมายความว่า เป็นผู้มีความอดทน ไม่ท้อถอยต่องานที่ต้องตรากตรำ

          10. อวิโรธนัง   หมายความว่า    เป็นผู้มีความอ่อนโยน ตั้งมั่นอยู่ในธรรม

          ในสมัยโบราณพระมหากษัตริย์ทรงมีหลักธรรมปกครองประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองไ ม่มีการแตกแยกในสังคม ผู้ปกครองบ้านเมืองปัจจุบันก็ควรนำธรรมเป็นหลักในการปกครองจะได้เกิดสังคมเกื้อกูลธรรมในสังคมไทย

          2. จักรวรรดิวัตร

        เป็นหลักธรรมที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกุศโลบายหรือวิเทโศบายทางการเมืองการปกครองจักรวรรดิวัตรมีหลักธรรม 12 ประการคือ

          1.  การอบรมผู้อยู่ใต้การปกครองอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม รวมทั้งให้การอนุเคราะห์และให้ความคุ้มครองตามสมควร

          2. ผู้สัมพันธ์ไมตรีกับต่างประเทศ

          3. ให้รางวัลอันสมควรแก่ผู้ที่บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          4. เกื้อกูลผู้ทรงศีลด้วยเครื่องพรตและไทยธรรม และอนุเคราะห์คฤหด้วยการให้ความช่วยเหลือในสิ่งจำเป็นสำหรับอาชีพ

          5.  อนุเคราะห์ประชาชนให้เลี้ยงชีพได้ตามควรแก่อัตภาพ

          6.  ให้การอุปการะผู้ทรงศีลที่ประพฤติชอบ

          7.  ห้ามการเบียดเบียนสัตว์

          8.  ชักนำให้ชนทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมขจัดการทำบาปกรรมและความไม่เป็นธรรม

          9.  ให้การสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ที่ขัดสนไม่พอจะเลี้ยงชีพ

          10. เข้าหาผู้ทรงศีลในโอกาสอันควร เพื่อศึกษาถึงบุญบาป กุศลอกุศล

          11. ห้ามจิตไม่ให้เกิดความอธรรม คือ ทำผิดในเรื่องไม่สมควร

          12. ระงับความโลภ ห้ามจิตไม่ให้ปรารถนาลาภที่ไม่ควรได้

          3. ราชสังคหะวัตถุ 4 หรือสังคหะวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน

          ราชสังคหะวัตถุ๔ เป็นหลักธรรมที่ใช้เป็นแนวทาง ในการวางนโยบายการปกครองบ้านเมือง ทั้งในด้านการปกครองและ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมราชสังคหะวัตถุ มีหลักธรรม ๔ ประการ คือ

          1. สัสเมธัง (สัสสุเมธะ) หมายถึง การทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เป็นความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร

          2. ปุริสะเมธี (ปุริสาเมธะ) หมายถึง รู้จักดูคน รู้จักใช้คนให้เหมาะสมกับงานและให้รางวัลตามความชอบของบุคคลนั้น   เป็นความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ

          3. สัสมาปาลัง (สัมมาปาสะ) หมายถึง รู้จักแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่ ส่งเสริมการสังคมสงเคราะห์   ความรู้จักผูกน้ำใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ

          4.  วาจาเปยยัง (วาชเปยะ ) หมายถึง พูดจาไพเราะตามควรแก่ฐานะ เหตุการณ์และมีความเป็นธรรม เป็นทางแห่งความสามัคคี

         การปกครองที่ยึดหลักธรรม ราชสังคหะวัตถุธรรม จะช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ผู้รับราชการปกครองได้มากประเทศจะร่มเย็นเป็นสุขโจรผู้ร้ายมีน้อยเพราะประชาชนทุกคนมีกินมีใช้ บ้านเมืองมีแต่ความผาสุก

         หลักธรรมทั้ง 3 ประการอันได้แก่ ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรและราชสังคหะวัตถุ   เป็นคุณธรรมของพระมหากษัตริย์ไทย นอกจากนี้ยังมีหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ผู้ปกครองถือเป็นแนวทางในการปกครองต่อผู้น้อยหรือผู้อยู่ใต้ปกครองอีกมาก เช่น พรหมวิหาร ๔ได้แก่ความมีเมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขา   สังคหวัตถุ ๔ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลักธรรมของพุทธศาสนาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการปกครองและควบคุมจิตใจตนเองเพื่อให้คนในสังคมอยู่เป็นปกติสุข

          นอกจากนี้นักปราชญ์ทางการเมืองการปกครองหลายท่าน ยังได้สรุปแนวคิดที่เกี่ยวกับจริยธรรมในการปกครอง หรือแนวคิดที่ดีในการปกครองพอสรุปได้ดังนี้คือ

            1. ปกครองเพื่อผลประโยชน์ของผู้รับการปกครองมากกว่า เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ปกครอง

            2. ปกครองเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและเสรีภาพส่วนบุคคล

            3. ปกครองเพื่อความสุขของคนจำนวนมากที่สุด โดยให้เขามีความพอใจมากที่สุดมีส่วนที่ไม่พอใจแต่น้อยที่สุด

          4. ปกครองโดยยึดหลักรัฐสวัสดิการ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้

                   4.1 ความอยู่รอดของสมาชิกในสังคม ให้สังคมส่วนรวมมีความผาสุกอยู่ดีกินดีมีงานทำ มีรายได้

                   4.2 ความมั่นคงปลอดภัยของสมาชิกในสังคมให้มั่นคงในอาชีพ ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินปลอดภัยจากภัยพิบัติทั้งปวง มีการประกันสวัสดิ์ภาพด้านต่างๆ มีการศึกษาและมีสุขภาพ และอนามัยดี

                    4.3 ความเสมอภาคส่วนบุคคล ขจัดการเอารัดเอาเปรียบระหว่างสมาชิกในสังคม

                   4.4  ความเจริญรุ่งเรืองในสังคม ให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม   และรวมทั้งการจัดสวัสดิการสังคม สงเคราะห์คนยากจน คนพิการ เด็กกำพร้า คนชรา คนว่างงานเป็นต้นสังคมทุกแห่งจะต้องมีระบบปทัสถานหรือบรรทัดฐาน (Norms)ในการประพฤติปฏิบัติตนเองและมีมาตรฐานกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ให้อยู่ในกรอบมีตัวอย่างเช่น การไม่ทำอันตรายต่อผู้อื่น การไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น การอยู่ในระเบียบวินัย การไม่หยิบฉวยของผู้อื่นโดยไม่ได้รับการอนุญาตเป็นต้น ปทัสถาน คือ จริยธรรมซึ่งเมื่อพังทลายลงหรือในสังคมไม่มีปทัสถานแล้ว ความไม่สงบสุขนานาประการย่อมเกิดขึ้น สภาพบ้านเมืองที่ไร้จริยธรรมไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ก็จะเป็นดังคำกล่าวที่ว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” คือ ระบบสังคมจะอลเวงไปหมด คนชั่วเปรียบเหมือนกระเบื้องซึ่งหนักแต่กลับได้รับการยกย่องหรือลอยขึ้นมา ส่วนคนดีซึ่งเบาเปรียบเหมือนน้ำเต้าซึ่งคนโบราณถือว่า น้ำเต้าเป็นพืชที่ใช้ในการบูชาพระกลับถูกเหยียดหยามกดให้จมลงไป          

          การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ยึดมั่นในความเสมอภาค เสรีภาพของบุคคลกล่าวคือ คนเรามีฐานะทางสังคมเท่าเทียมกันต้องปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ต้องปฏิบัติต่อทุกอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนมีสิทธิภายใต้กฎหมายเสมอกันมีเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง เป็นกระบวนการการปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน ทุกคนมีเสรีภาพในการแสวงหาความสุขและเสรีภาพในการกำหนดเป้าหมายแห่งการดำรงชีวิตของตนเอง ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผลเป็นต้น ที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นจริยธรรมในการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา ก็จะต้องมุ่งสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นด้วย เพื่อให้ผู้ปกครองและประชาชนในสังคมนั้นๆมีจริยธรรมทางการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย

            การปกครองในระบอบเผด็จการนั้น เป็นระบอบการปกครองที่มุ่งให้อำนาจในการปกครองมีความศักดิ์สิทธิ์หมายความว่าเป็นการก่อให้เกิดความรู้สึกในหมู่ประชาชนว่า อำนาจของผู้ปกครองนั้นแตะต้องไม่ได้ อำนาจปกครองนั้นชนชั้นนำต้องเป็นผู้สร้างขึ้นและรับผิดชอบที่จะเปลี่ยนแปลงโดยมุ่งหวังที่จะให้เกิดความเจริญก้าวหน้าต่อรัฐบาลและประชาชน โดยไม่ยอมให้มีฝ่ายค้าน ถ้ามีอยู่ก็ถือว่าเป็นศัตรูของชาติที่ต้องกำจัดให้สิ้นไป แต่ถึงกระนั้นจริยธรรมทางการเมืองการปกครองไม่ว่าระบบใด หรือแนวคิดของนักปราชญ์ท่านใดก็มุ่งหวังในจุดหมายเดียวกันคือ การปกครองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนใหญ่ ส่วนในการปฏิบัติเป็นอย่างไรนั้นต้องพิจารณากันต่อไป ที่สำคัญคือหลักจริยธรรมในการปกครองคือ เมื่อเราได้รับมอบหมายให้กระทำหน้าที่ปกครองผู้ใดบุคคลผู้นั้นจะต้องทำการปกครองเพื่อประโยชน์ของผู้รับการปกครองกล่าวคือ ถ้าเราปกครองตนเองก็เพื่อให้ตนเองเป็นคนดีเมื่อต้องปกครองหมู่คณะก็เพื่อ ประโยชน์สุขของหมู่คณะมากกว่าตนเอง ถ้าปกครองสังคมก็เพื่อสังคมส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ทินพันธ์   นาคะตะ.(2520:106)

            กล่าวโดยสรุปเรื่องจริยธรรมทางการเมืองการปกครอง เป็นคุณธรรมประการหนึ่งที่ใช้เป็นหลักธรรมในการปกครองตนเอง ใช้ปกครองหมู่คณะและสังคม ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่บุคคลและหมู่คณะตลอดจนสังคมโดยส่วนรวมนั่นเอง ในสังคมประกอบไปด้วยหมู่คนจำนวนมาก การที่จะให้คนทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขนั้นก็ต้องมีหลักในการยึดและปฏิบัติร่วมกัน เพื่อความสงบสุขในสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน

ดังนั้นสังคมใดๆ ที่ใช้จริยธรรมทางการเมืองในการปกครองร่วมกัน สังคมนั้นๆ ก็จะนำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ประชาชนในประเทศนั้นๆ แต่ในทางตรงข้ามถ้าสังคมใดๆ ที่ไม่มีจริยธรรมในการปกครองสังคมก็จะเดือดร้อนสังคมวุ่นวายขาดความสุข ประเทศชาติวุ่นวาย ขาดความผาสุกในการดำรงชีวิต

          จรรยาบรรณ

            จากงานวิจัยการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ภาพรวมจรรยาบรรรณวิชาชีพในประเทศไทยของกุหลาบ รัตนสัจธรรมและคณะ(2547: ค15) อธิบายจรรยาบรรณของนักบริหารและนักรัฐศาสตร์ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของนักการเมืองมีลักษณะดังนี้คือ

          จรรยาบรรณของนักบริหาร มีจรรยาบรรณดังต่อไปนี้

          1.  มุ่งทำงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบ

          2.  มีเมตตากรุณาและพึงยึดหลักพรหมวิหาร 4 เป็นหลัก

          3.  ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีเป็นต้นว่าตรงต่อเวลา ไม่นำเวลาของราชการไปทำงานส่วนตัว นำของหลวงไปใช้ พูดจา กริยาแต่งกายให้เรียบร้อย

          4. ตั้งมั่นอยู่ในความยุติธรรมและให้ความเสมอภาคกับผู้มาติดต่อ

          5. พึงหมั่นศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอเพื่อให้เป็นผู้ที่ทันสมัย

          6. ไม่ใช้กลวิธีหรืออิทธิพลเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัวให้เหนือกว่าข้าราชการอื่น

          7. พึงรักษาความลับของผู้ใต้บังคับบัญชา

          8. พึงรับผิดชอบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในหน่วยงานไม่ปัดความรับผิดชอบไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคือ กล้ารับผิด ไม่ใช่คอยแต่จะรับความชอบ

          9.  พึงอดทนด้วยความเยือกเย็นต่อคำพูดที่ขัดแย้งหรือไม่เป็นมิตรทุกชนิด

          10. พึงเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอ

          11. พึงระมัดระวังคำพูดไม่ดุด่าคนอื่นต่อหน้าคนทั้งหลายแต่ยกย่องความคิดที่ปรากฏต่อหน้าคนอื่นเมื่อมีโอกาส

          12. พึงงดเว้นอบายมุขทั้งปวงอันจะทำให้สังคมรังเกียจตามวัฒนธรรมไทย

          13. พึงสุภาพอ่อนโยนกับผู้ใต้บังคับบัญชาและบุคคลทั่วๆไป

          14. ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต

          15. ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นเช่น เรี่ยไร ขอบริจาคเงิน

          16. ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยวิธีสร้างสรรค์และมีบทบาทให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการทำงานเพื่อจุดประสงค์การเพิ่มผลผลิต

          17. ส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมในการวางแผนงาน ออกแบบการทำงาน ไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา ปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในฐานะคนๆหนึ่งจัดหาสวัสดิการที่เหมาะสมและบำเหน็จบำนาญ

          18. นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบทางด้านลบต่อ

ประชาชน

          19. มีความรอบคอบ(Prudence)หมายถึง การเล็งเห็นหรือหยั่งรู้ได้ง่ายและชัดเจนว่าอะไรควรประพฤติ อะไรไม่ควรประพฤติ

          20. มีความกล้าหาญ( Courage )หมายถึง การกล้าเสี่ยงต่อการเข้าใจผิด กล้าเผชิญต่อการใส่ร้ายและเยาะเย้ย เมื่อมั่นใจว่าตนกระทำความดี

          21. รู้จักประมาณ( Temperance ) หมายถึง การรู้จักควบคุม ความต้องการและการกระทำต่างๆให้อยู่ในขอบเขตอันควรแก่สภาพและฐานะของบุคคล ไม่ให้เกิดความจำเป็นตามธรรมชาติไม่ให้ก้าวก่ายสิทธิอันชอบของผู้อื่น

          22. ควรมีทักษะเกี่ยวกับคน ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้นำ จูงใจ และชักจูงผู้อื่นให้ปฏิบัติงานโดยการบรรลุเป้าหมายซึ่งรวมถึงการมีบทบาทในการติดต่อบริหารให้กลุ่มงานต่างๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างราบรื่นและจูงใจผู้ใต้ผู้บังคับบัญชา

          23. เป็นผู้มีจิตนาการ มีภาพแห่งอนาคตที่ชัดเจน มีการวางแผน

          24. เป็นผู้มีความเสียสละ

          25. มีน้ำใจ ใจกว้าง

 

จรรยาบรรณของนักรัฐศาสตร์ มีจรรยาบรรณดังต่อไปนี้

          1. รับใช้ชาติและประชาชน

          2. พึงเป็นผู้รอบรู้ในวิทยาการอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางโดยมิเพียงแต่รอบรู้ด้านทฤษฎี หากจะต้องรู้ซึ่งถึงบริษัทในสังคมที่ปฏิบัติงานเพื่ออาชีพนั้นด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐโดยปราศจากความรู้และความเข้าใจในประชาสังคมอย่างแท้จริง

          3. พึงตั้งอยู่ในสุจริต 3 ประการคือ กาย วาจา ใจและมีฉันทะที่จะระงับความเดือดร้อนของมหาชน

          4. พึงมีศรัทธาและความเชื่อมั่นในเกียรติศักดิ์ศรีและความสามารถในการเข้าถึงเหตุผลของเพื่อนมนุษย์

          5. มีวิริยะอุตสาหะพยายามพากเพียรและภักดีต่อชาติและประชาชนทั้งนี้ ชาติ หมายความรวมถึงสถาบันหลักทุกสถาบันอันได้แก่ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

          6. หมั่นศึกษาสัมผัสและสัมพันธ์กับประชาชนเพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาและประสบการณ์ของประชาชนและนำความรู้ประสบการณ์ดังกล่าวมาใช้ประกอบการตัดสินใจและการปฏิบัติงาน

          7. พึงยึดมั่นทั้งในหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตย อีกทั้งยึดหลักการดำเนินงานว่าจะต้องถูกต้องทางศีลธรรมทั้งด้านเป้าหมายและวิธีการ

          8. พึงถือว่าการปฏิบัติงานหรือการใช้อำนาจรัฐนั้นเป็นไปเพื่อรับใช้ชาติและประชาชนมิใช่เพื่อรับใช้รัฐและองค์กรของรัฐ

          9. พึงถือว่าการปฏิบัติงานหรือการใช้อำนาจนั้นเป็นไปเพื่อรับใช้สาธารณะโดยมิได้ถือเป็นอาชีพที่จะก่อให้เกิดความมั่งคั่งเหมือนกับการประกอบวิชาชีพอื่น

          10. พึงมีทัศนะต่ออำนาจรัฐว่าจะต้องมีอยู่โดยมีพลังที่จำกัดและเหนี่ยวรั้งอำนาจสำคัญและจำเป็นโดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเจริญเติบโตของพลังเหล่านั้นที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสันติวิธีด้วยความบริสุทธิ์ใจ

          11. มีความยุติธรรม

          12. เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของประชาชน

          13.   มิควรใช้วิชาชีพเพื่อแสวงหาอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ

          14. มิควรใช้วิชาชีพเพื่อส่งเสริมสนับสนุนระบอบการเมืองแบบเผด็จการ

          15. มิควรใช้วิชาชีพเพื่อเพิ่มพูนอำนาจความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรของตนโดยไม่คำนึงถึงประชาชนผู้รับบริการขององค์กรนั้น

          16. มิควรใช้วิชาชีพเพื่อทำลาย สลาย หรือลดการตื่นตัวและความกระตือรือร้นของประชาชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองและการบริหาร

          17. มิควรใช้วิชาชีพเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ

          18. มิควรใช้วิชาชีพเพื่อโดยนำเอาหลักการเพียงบางส่วนหรือนำเอา “ความสะดวกทางการเมืองการบริหาร”มาใช้โดยละเลยหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตย

 

 

หมายเลขบันทึก: 300500เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท