ครูสมใจ
ครู ครูสมใจ ครูพณิชยการ เอื้อความดี

เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี (หน่วยที่ 12)


เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ

หน่วยที่ 12 

 เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี

1.     เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ

1.1 รายการที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย

(รายละเอียดของรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี ดูข้อถัดไป)

1.2 ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ให้หักได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) ดังนี้

1.2.1 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจะต้องไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุน ตามประเภทของทรัพย์สินดังต่อไปนี้

ประเภททรัพย์สิน

ร้อยละ

อาคาร

-  อาคารถาวร

-  อาคารชั่วคราว

ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได้

ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า

-  กรณีไม่มีหนังสือสัญญาเช่า หรือมีหนังสือสัญญาเช่าที่มีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้โดยเงื่อนไขในการต่ออายุนั้นเปิดโอกาสให้ต่ออายุการเช่ากันได้ต่อๆ ไป

-  กรณีมีหนังสือสัญญาเช้าที่ไม่มีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้หรือมีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้เพียงระยะเวลาอันจำกัด

ต้นทุนเพื่อการได้มีซึ่งสิทธิในกรรมวิธี สูตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า สิทธิประกอบกิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น

-  กรณีไม่จำกัดอายุการใช้

-  กรณีจำกัดอายุการใช้

ทรัพย์สินอย่างอื่น ซึ่งโดยสภาพของทรัพย์สินนั้นสึกหรอหรือเสื่อมราคาได้ นอกจากที่ดินและสินค้า

 

5

100

5

 

10

 

 

100 หารด้วยจำนวนปี อายุ การเช่าและอายุที่ต่อได้รวมกัน

 

 

 10100 หารด้วยจำนวนปีอายุ    การใช้20

 

 

1.2.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา โดยเลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป โดยเมื่อได้เลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปและอัตราที่จะหักอย่างใดแล้ว ให้ใช้วิธีการทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไป จะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายในกรณีที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้ และให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น

1.2.3 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ให้คำนวณตามส่วนเฉลี่ยแห่งระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เต็มสิบสองเดือนให้เฉลี่ยหักตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น โดยให้เฉลี่ยเป็นวัน เช่น บริษัทมีรอบระยะเวลาบัญชีปกติตามปีปฏิทินได้ซื้อเครื่องจักรเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2539 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร หักได้ร้อยละ (ปกติทรัพย์สินอย่างอื่น หักได้ร้อยละ 20 ของมูลค่านั้น หมายถึง ได้ทรัพย์สินนั้นมาเต็มรอบระยะเวลาบัญชี)

กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา โดยใช้วิธีการทางบัญชีซึ่งมีอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไม่เท่ากันในแต่ละปีระหว่างอายุการใช้ทรัพย์สิน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีนั้นใน บางปี เกินกว่าอัตราที่กำหนดข้างต้นก็ได้ แต่จำนวนปีอายุการใช้ของทรัพย์สินเพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้องไม่น้อยกว่า 100 หารด้วยจำนวนร้อยละที่กำหนดข้างต้น

ตัวอย่าง  เครื่องจักรโดยทั่วไป หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุนในขณะที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา หากบริษัทจะหักค่าเสื่อมราคาตามวิธีการบัญชีที่รับรองทั่วไปในบางปีเกินร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินก็ได้ แต่จำนวนปีอายุการใช้ของทรัพย์สิน เพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้องไม่น้อยกว่า 100 หารด้วย 20 คือ ต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี

การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินอย่างอื่นตามความดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมิใช่รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนหรือรถยนต์นั่ง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งมีอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคมในปีแรกเป็นสองเท่าของอัตราที่กำหนดและสำหรับปีถัดไปให้หักตามอัตราสองเท่าดังกล่าวโดยคำนวณจากมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีก็ได้ แต่จำนวนปีอายุการใช้ทรัพย์สินเพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้องไม่น้อยกว่า 100หารด้วยจำนวนร้อยละที่กำหนดข้างต้น ทั้งนี้ ในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายของอายุการใช้ของทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราราโดยรวมจำนวนมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมดด้วยก็ได้

1.2.4 กรณีทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อหรือซื้อขายเงินผ่อน ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามราคามูลค่าต้นทุน คือ ราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายเงินผ่อน แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่ต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

1.2.5 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา สำหรับทรัพย์สินไม่ว่ากรณีใดจะหักจนหมดมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นไม่ได้ โดยให้คงเหลือมูลค่าของทรัพย์สินนั้นเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 1 บาท เว้นแต่ทรัพย์สินประเภทรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์นั่งที่มีมูลค่าต้นทุนเกิน 1 ล้านบาท ให้คงเหลือมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินเท่ากับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เกิน   1 ล้านบาท

1.2.6 ทรัพย์สินประเภทรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนหรือรถยนต์นั่ง ให้ หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท

1.2.7  การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของราคาทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร และอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนา ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้ หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในตารางข้อ 1.2.1

ทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องมีลักษณะและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1)    ต้องไม่เป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ใช้ผลิตสินค้า หรือใช้บริการ เว้นแต่เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรดังกล่าวได้ใช้เพื่อการดังต่อไปนี้

1.1)    การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบ ที่นำมาใช้ในการผลิต

1.2)    การทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์

1.3)    การปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตหรือเพิ่มผลผลิตทั้งนี้ไม่ว่าจะใช้เพื่อกิจการของตนเองหรือกิจการของผู้อื่น

2)    ต้องเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน โดยมีอายุการใช้งานได้ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และมีมูลค่าต้นทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท

3)    ต้องแจ้งการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรเพื่อการวิจัย และพัฒนาตาม 1) โดยใช้แบบ ค.จ.01 พร้อมกับแนบเอกสารหลักฐานประกอบตามที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 48) ต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายในเวลา  30 วัน นับแต่วันที่ใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรนั้น

1.2.8 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของราคาทรัพย์สินประเภทเครื่องบันทึกการเก็บเงินอาจเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 100 ของมูลค่าต้นทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 1.2.1 ก็ได้หรือเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในอัตรา ร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในตารางข้อ 1.2.1 ก็ได้

ทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องมีลักษณะและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1)    ต้องเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประกอบกิจการค้าปลีกหรือประกอบกิจการอย่างอื่นซึ่งมิใช่การค้าปลีกที่อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ แล้วแต่กรณี

2)   ต้องเป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่มีลักษณะตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดแต่ไม่รวมถึงส่วนระบบควบคุมกลางของเครื่องคอมพิวเตอร์

3)   ต้องแจ้งการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ภายในเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ เครื่องบันทึกการเก็บเงิน

1.2.9 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักได้ดังต่อไปนี้

1)    ภายในสามรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เต็มสิบสองเดือน ให้เฉลี่ยตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยจะเลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปวิธีใดก็ได้

2)    กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดขึ้นภายหลังให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุนสำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ใน 1)

ทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่งหมายถึง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติทำหน้าที่เหมือนสมองกลใช้สำหรับแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งที่ง่ายและซับซ้อน โดยวิธีทางคณิตศาสตร์และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ หมายถึง เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องช่วย หรือเครื่องประกอบกับคอมพิวเตอร์รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 473) ใช้บังคับ 7 สิงหาคม 2551)

1.2.10   การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทอาคารโรงงานที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่ รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดขึ้นภายหลัง ซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 25 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้

การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดขึ้นภายหลังซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้

1.2.11   การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทอาคารถาวรที่บริษัทที่เป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าต้นทุนสำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราทั่วไปที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545

สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคให้มีความหมายตามที่จะกล่าวต่อไปในหัวข้อที่ 1.2.6 (1) (จ)

1.2.12    ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตสินค้าหรือให้บริการ ในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามอัตราปกติ ทั้งนี้ ทรัพย์สินจะต้องได้มาและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 (ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 473))

1.2.13    ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน สามารถเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ในอัตราร้อยละ 100 ของมูลค่าต้นทุน โดยมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินดังกล่ารวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ทั้งนี้ใช้สำหรับทรัพย์สินตามาตรา 4(5) ของพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 แก้ไขโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 473)พ.ศ. 2551 โดยทรัพย์สินจะต้องได้มาและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553)

1.3  การตีราคาทรัพย์สิน

ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจากสินค้าคงเหลือให้ถือตามราคาที่พึ่งซื้อทรัพย์สินนั้นได้ตามปกติและในกรณีที่มีการตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ห้ามมิให้นำราคาที่ตีราคาเพิ่มขึ้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ส่วนทรัพย์สินรายการใดมีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราเดิมที่ใช้อยู่ก่อนตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยให้หักเพียงเท่าที่ระยะเวลาและมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น

1.4  การโอนทรัพย์สิน

ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยหรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ย ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาด ในวันที่โอน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงินได้

ตัวอย่าง  ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หุ้นส่วนผู้จัดการและผู้เป็นหุ้นส่วนนำเงินทุนไปใช้จ่ายในกิจการส่วนตัว โดยไม่มีสัญญากู้ยืมและไม่คิดดอกเบี้ย เจ้าพนักงานสรรพากรมีอำนาจประเมินตามมาตรา 65 ทวิ (4) เพื่อนำดอกเบี้ยมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แต่ในส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะเมื่อไม่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการขายสุราให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยแล้วยังถือไม่ได้ว่าห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคาร จะประเมินดอกเบี้ยเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ได้

ข้อสังเกต

1.   กรณีขายอสังหาริมทรัพย์ มีแนวทางปฏิบัติกำหนดว่าให้เปรียบเทียบระหว่างราคาขายกับราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาใดสูงกว่าให้ถือราคานั้นเป็นรายได้ซึ่งต่างกับกรณีคำนวณ  เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กฎหมายให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ เป็นเงินได้ทุกกรณี

2. กรณีให้กู้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ยหรือมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควรมีแนวทางปฏิบัติให้คำนวณหรือประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดดังนี้

2.1 กรณีนำเงินของบริษัทที่มีอยู่ไปให้กู้ยืม ให้คำนวณหรือประเมินดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารในเวลาที่มีการกู้ยืม

2.2  กรณีนำเงินที่กู้ยืมจากผู้อื่นไปให้กู้ยืม ให้คำนวณหรือประเมินดอกเบี้ยตาม        อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเวลาที่มีการกู้ยืม

1.5  การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินหรือหนี้สิน ซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ

เงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ใน วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ดังนี้

1.5.1  กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตราหรือทรัพย์สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และให้คำนวณค่าหรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขาย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

1.5.2  กรณีธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนดให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

เงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมา หรือจ่ายไปนั้น

1.6  การตีราคาสินค้าคงเหลือ

ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย

การคำนวณราคาทุนดังกล่าว เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใดตามวิชาการบัญชีแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดี จึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้

1.7  การคำนวณราคาทุนของสินค้าที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินโดยเทียบเคียงกับราคาทุน ของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันที่ส่งเข้าไปในประเทศอื่นได้

1.8  ถ้าราคาทุนของสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในท้องตลาดของวันที่ได้สินค้านั้นมา เว้นแต่เงินตราต่างประเทศนั้นจะแลกได้ในอัตราทางราชการก็ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราทางราชการนั้น

1.9  การจำหน่ายหนี้สูญ 

ในกรณีผู้เสียภาษีใช้เกณฑ์สิทธิ์ในการคำนวณรายได้ เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นก็ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้แม้ว่าจะยังมิได้รับชำระหนี้ แต่ถ้าผู้เสียภาษีไม่อาจใช้สิทธิ์ในหนี้นั้นเพื่อรับชำระหนี้โดยทั่วไปผู้เสียภาษีย่อมลงเป็นรายจ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่จำหน่ายหนี้สูญนั้นได้

การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 ดังนี้

ข้อ 1 หนี้สูญที่จะจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ต้องเป็นหนี้ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(1)  ต้องเป็นหนี้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากประกอบกิจการ หรือหนี้ที่ได้รวมเป็นเงินไดในการคำนวณกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงหนี้ที่ผู้เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือหุ้นส่วน ผู้จัดการเป็นลูกหนี้ ไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือในขณะที่ผู้นั้นเป็นกรรมการหรือหุ้นส่วน ผู้จัดการเป็นลูกหนี้ ไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือในขณะที่ผู้นั้นเป็นกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ

(2)  ต้องเป็นหนี้ที่ยังไม่ขาดอายุความและมีหลักฐานโดยชัดแจ้งที่สามารถฟ้องลูกหนี้ได้

ข้อ 2 การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 500,000 บาทขึ้นไป ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1)  ได้ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณี โดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้งและไม่ได้รับชำระหนี้ โดยปรากฏว่า

(ก)  ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย เป็นคนสาบสูญ หรือมีหลักฐานว่าหายสาบสูญไปและไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้

(ข)  ลูกหนี้เลิกกิจการ และมีหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้อยู่ในลำดับก่อนเป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สินของลูกหนี้

(2)  ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง และในกรณีนั้นๆ ได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้หรือ

(3)  ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และในกรณีนั้นๆ ได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว

ข้อ 3 การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1)  ได้ดำเนินการตามข้อ 2 (1) แล้ว

(2)  ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งและศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่งและศาลได้มีคำสั่งรับคำขอนั้นแล้ว หรือ

(3) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้วหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และศาลได้มีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้นั้นแล้ว

ในกรณีตาม (2) หรือ (3) กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องมีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ข้อ 4 การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของธนาคารหรือบริษัทเงินทุนตามกกหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเออร์ ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายไม่เกิน 200,000 บาท ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2 หรือ ข้อ 3 ถ้าปรากฏว่าได้มีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณีแล้วแต่ไม่ได้รับชำระหนี้ และหากจะฟ้องลูกหนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ

ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นที่มิใช่ธนาคารหรือบริษัทเงินทุนดังกล่าว ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท

ข้อ 5 การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในส่วนของหนี้ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวได้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม            พ.ศ. 2549 อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์หนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2 ข้อ 3 หรือข้อ 4

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า

(1)  ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

(2)  บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเออร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเออร์

(3) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

(4)  นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

ข้อ 6 การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในส่วนที่ได้ปลดหนี้หรือประนอมหนี้ให้ลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2 ข้อ 3 หรือข้อ 4

ข้อ 7 การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ในส่วนของหนี้ที่ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยมีหลักเกณฑ์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2 ข้อ 3 หรือข้อ 4 ทั้งนี้เฉพาะการปลดหนี้ที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542  ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า

(1)  ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

(2)  ธนาคารออมสิน

(3)  บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเออร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเออร์

(4)  สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม

(5) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

(6)  นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

“เจ้าหนี้อื่น” หมายความว่า เจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการเจรจาร่วมกับสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และได้ทำความตกลงเป็นหนังสือร่วมกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน

“ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินด้วยและให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ด้วย

หมายเลขบันทึก: 300482เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท