ครูสมใจ
ครู ครูสมใจ ครูพณิชยการ เอื้อความดี

ข้อแตกต่างระหว่างการคำนวณกำไรสุทธิตามหลักบัญชี (หน่วยที่ 11) ต่อ1


ข้อแตกต่างระหว่างการคำนวณกำไรสุทธิตามหลักบัญชี

7.    รายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

รายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแบ่งออกได้ดังนี้

7.1      รายได้ที่ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากร

ประมวลรัษฎากรได้มีบทบัญญัติยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้ในมาตรา 65 ทวิ และยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาดังนี้

การยกเว้นตามมาตรา 65 ทวิ มีดังนี้

7.1.1 บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มิใช่บริษัทจดทะเบียนไว้กับ         ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ้าได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือกองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงิน เพื่อส่งเสริมการเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม หรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า ให้นำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้นั้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้เพียงครึ่งเดียว ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ

7.1.2 บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และจดทะเบียนไว้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ้าได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือกองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม หรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า ไม่ต้องนำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรทั้งหมดที่ได้รับมารวมคำนวณกำไรสุทธิแต่ อย่างใด ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ

7.1.3  บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนไว้กับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ้าถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัด ผู้จ่ายเงินปันผล และบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด ผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม บริษัทจำกัดผู้ถือหุ้นดังกล่าวไม่ต้องนำเงินปันผลทั้งหมดที่ได้จากบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิแต่อย่างใด ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ

เงื่อนไขพิเศษ เงินปันผลของบริษัทดังกล่าวตามข้อ 7.1.1 ข้อ 7.1.2 และข้อ 7.1.3 จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถ้าปรากฏว่า

1.   บริษัทดังกล่าวถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้นไว้ไม่บริษัทดังกล่าวถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้นไว้ไม่ถึงสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นมาจนถึงวันที่มีเงินได้ หรือ

2.   บริษัทดังกล่าวได้โอนหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นไปก่อนสามเดือนนับแต่วันที่มี           เงินได้

อย่างไรก็ดีเงินปันผลที่ได้จากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ถือเป็น          เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรตามข้อ 1 และ 2

2.1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นไม่ต้องนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเท่าที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว (มาตรา 65 ทวิ (11))

2.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลหรือ              เงินส่วนแบ่งกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเท่าที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว (มาตรา 65 ทวิ (12))

7.2 รายได้ที่ได้รับการยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา เช่น

7.2.1  ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และประกอบกิจการในประเทศไทยได้รับจากกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500)

7.2.2 ยกเว้นหรือลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการยกเว้น การเก็บภาษีที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งหมายถึงสัญญาหรือ ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศใดก็ตาม หากมีข้อกำหนดให้ยกเว้นภาษีแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ๆ ย่อมได้รับการยกเว้นภาษีตามที่มีข้อกำหนดไว้ในสัญญาหรือความตกลงนั้น (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505)

7.3 รายได้ที่ได้รับการยกเว้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน

การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลบางกรณีมีกฎหมายอื่นกำหนดยกเว้นภาษีไว้ด้วย เช่น ยกเว้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ซึ่งกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ดังนี้

7.3.1 ด้านผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับ การส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม มีกำหนดเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนดระหว่าง 3 - 8 ปีนับแต่วันทีเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ (มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน)

7.3.2  ด้านผู้ที่ได้รับเงินได้จากผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

1)    ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่นที่ไดรับการส่งเสริม การลงทุนตามสัญญาที่ไดรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับการส่งเสริมเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ (มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน)

2)    เงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น (มาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน)

 

8.     ลักษณะของรายจ่าย

รายจ่ายตามประมวลรัษฎากรยอมให้นำมาหักจากรายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธินั้นจะต้องเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นตามปกติและจำเป็น (Ordinary and Necessary Expenses) ใน การประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

รายจ่ายตามปกติ หมายถึง รายจ่ายที่เกิดขึ้นตามปกติในการประกอบกิจการหรือประกอบวิชาชีพ และที่เรียกว่าจำเป็น หมายถึง รายจ่ายนั้นเป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องมีในการประกอบกิจการหรือประกอบวิชาชีพและเป็นจำนวนที่พอสมควร ซึ่งต้องจ่ายหรือเกิดขึ้นในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานหรือการซ่อมแซมดูแลรักษาทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ กล่าวโดยสรุปรายจ่ายที่จะถือเป็นค่าใช้จ่ายหักจากรายได้ของกิจการจะต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ

8.1  เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจ

8.2  ต้องมีจำนวนพอสมควรแก่เหตุ และมีความจำเป็นที่จะต้องมีรายจ่ายนั้น ๆ เพื่อประกอบธุรกิจ

รายจ่ายดังกล่าวนี้รวมถึงต้นทุนของสินค้าที่ผลิตเพื่อขายหรือซื้อมาเพื่อขาย ค่าเช่าทรัพย์สิน เงินเดือนหรือค่าแรงงาน ค่ารับรอง ค่าซ่อมแซม ค่าภาษีอากร ค่าพาหนะเดินทาง ค่านายหน้า ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ฯลฯ และการหักรายจ่ายนั้นให้หักได้เต็มจำนวน ถึงแม้ว่ารายจ่ายเหล่านั้นจะมีจำนวนมากกว่ารายได้ที่กิจการได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นก็ตาม

9.     รายจ่ายเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิ

ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามปกติและจำเป็นในการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมาหักเป็นรายจ่าย นอกจากหลักการทั่วไปดังกล่าวนี้แล้ว กฎหมายภาษีอากรยังได้กำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการนำเอารายจ่ายต่าง ๆ มาหักเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีดังนี้

9.1   รายจ่ายดังกล่าวจะต้องมิใช่รายจ่ายต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ รายจ่ายตามประมวลรัษฎากรจะต้องไม่มีลักษณะเป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่าย เช่น รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ เป็นต้น

9.2   การหักรายจ่ายบางประเภท จะหักได้ไม่เกินกว่าเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นหากมีการนำเอารายจ่ายที่เกินกว่าเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดมา หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องปรับปรุงส่วนที่จ่ายเกินเงื่อนไขให้ถูกต้อง เช่น จะต้องนำเอารายจ่ายค่ารับรอง ค่าการกุศลสาธารณะ เฉพาะส่วนที่หักเป็นรายจ่ายเกินไปจากเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไปปรับปรุงโดยบวกเพิ่มในกำไรสุทธิ

9.3    ยอมให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำผลขาดทุนสุทธิที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กฎหมายกำหนดในปีภาษีก่อนปีปัจจุบันมาหักจากกำไรสุทธิในปีปัจจุบันได้ แม้ว่าผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวจะมิใช่ค่าใช้จ่ายในการหารายได้ในรอบระยะเวลาบัญชี และมิใช่รายจ่ายที่เกิดจากกากรดำเนินงานก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้เสียภาษีที่ประสบผลขาดทุนจากการประกอบกิจการ

 

หมายเลขบันทึก: 300480เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วเข้าใจง่ายมากๆ ค่ะ

อธิบายความแตกต่างระหว่างการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของธุรกิจทั่วไปกับธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

ช่วยตอบหน่อยนะค่ะ

ส่งมาที่เมลย์ [email protected]

ขอบคุณนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท