ครูสมใจ
ครู ครูสมใจ ครูพณิชยการ เอื้อความดี

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (หน่วยที่ 8)


ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

หน่วยที่  8  ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

1.         วัตถุประสงค์ของการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายมีวัตถุประสงค์ดังนี้ (กลุ่มนักวิชาการภาษีอากร, 2547: 58)

1.1    เพื่อบรรเทาภาระการเสียภาษีให้แก่ผู้รับเงินได้ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในคราวเดียวกันเป็นจำนวนมากเมื่อถึงกำหนดเวลายื่นรายการเสียภาษี แต่ให้เสียภาษีเป็นคราว ๆ ไปตามจำนวนเงินที่ได้รับแต่ละคราว

1.2    เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เข้าคลังอย่างสม่ำเสมอ ทำให้รัฐบาลสามารถใช้จ่ายเงินใน การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันจะก่อให้เกิดสภาพคล่องและลดภาระเงินตึงตัวในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

1.3    เพื่อลดแรงกดดันในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และลดภาระหน้าที่ในการตรวจสอบภาษีหรือการติดตามจัดเก็บภาษีในภายหลัง

 2.    หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและผู้มีเงินได้

หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและผู้มีเงินได้มีดังนี้

2.1    หน้าที่ของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งตามประมวลรัษฎากรกำหนดหน้าที่ของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายดังนี้

2.1.1   ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี กรณีที่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ร ที่จ่ายเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ส่วนนิติบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ เช่น ส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ สหกรณ์ ให้ดำเนินการขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเพื่อใช้ในการออกหนังสือรับรอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษี

2.1.2   คำนวณภาษีที่ต้องหักให้ถูกต้องครบถ้วน ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายต้องศึกษาและทำความเข้าใจบทบัญญัติและอนุบัญญัติที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อให้ทราบถึงหลักเกณฑ์และวิธีการที่ต้องใช้ใน การคำนวณภาษีที่ต้องหักไว้ให้ถูกต้องครบถ้วนทุกครั้ง

การหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยทั่วไปให้ใช้เกณฑ์เงินสด กล่าวคือจะหักภาษี        ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายจริงยกเว้นบางรายการที่กฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยที่ยังไม่มี การจ่ายเงิน ได้แก่การออกตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกให้กับผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในราคาที่ต่ำกว่าราคาไถ่ถอน และในกรณีที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้พึงประเมินที่ไม่ได้รับเป็นตัวเงิน ให้ตีราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นเป็นเงินได้พึงประเมิน

2.1.3   ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายออกหนังสือรับรอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายสองฉบับโดยมีข้อความตรงกัน ตามกำหนดเวลาดังนี้

1)  กรณีจ่ายเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน และเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำให้ออกภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของปีถัดจากปีภาษีที่จ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากงานในระหว่างปีภาษี

2)  กรณีจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (2), (3) หรือ (4) หรือจ่ายเงินได้อื่น ๆ ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส ได้ออกในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี

ทั้งนี้เว้นแต่กรณีที่ได้แจ้งการหักภาษีไว้ในฎีกาเบิกเงินจากคลังของทางราชการ และได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามระเบียบของทางราชการแล้ว

2.1.4   ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและนำส่งภายในกำหนดเวลา ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและนำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินไม่ว่าผู้จ่ายเงินจะได้หักภาษีไว้หรือไม่ ตามมาตร 52 ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีประกาศเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2535 ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีที่หักเป็นภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนที่จ่าย แต่ไม่รวมถึงการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่ต้องหักภาษีให้กับบุคคลและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในต่างประเทศ

แบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต้องยื่นพร้อมการนำส่งภาษีมีดังนี้

1)  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานและรับทำงานให้ใช้แบบ ภ.ง.ด. 1 และสิ้นปีต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 1 ก ภายในเดือนกุมภาพันธ์

2)  เงินได้พึงประเภทตามมาตรา 40 (3) และมาตรา 40 (4) (ก) และ (ข) เงินได้ประเภทค่าสิทธิ์และดอกเบี้ย รวมถึงผลประโยชน์จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน การโอนหุ้น พันธบัตรและตราสารทางการเงิน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ใช้แบบ ภ.ง.ด 2 และสิ้นปีต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 2 ก ภายในเดือนมกราคม

3)  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) ที่ผู้จ่ายเงินเป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ใช้แบบ ภ.ง.ด. 3 และสิ้นปีต้องยื่น ภ.ง.ด. 3ก ภายในเดือนมกราคม

4)  เงินได้ที่ผู้จ่ายต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส ที่จ่ายให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ใช้แบบ ภ.ง.ด. 3 และใช้แบบ ภ.ง.ด. 53 กรณีจ่ายให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลการหักภาษีตามมาตรา 3 เตรสนี้สิ้นปีไม่ต้องยื่นแบบอีก

5)  เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยให้กับนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งผู้จ่ายต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ ใช้แบบ ภ.ง.ด. 54

2.1.5  จัดทำแบบแจ้งข้อความเกี่ยวกับเงินได้ของคนต่างด้าว ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยและมีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ต้องจัดทำแบบแจ้งข้อความและรายละเอียดเกี่ยวกับเงินได้ของคนต่างด้าวตามแบบที่อธิบดีกำหนด ซึ่งต้องแนบแบบแจ้งข้อความดังกล่าวพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 1, ภ.ง.ด. 2 หรือ ภ.ง.ด. 3

2.1.6   จัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายมีหน้าที่จัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งตามที่อธิบดีสรรพากรกำหนดให้หักจากบุคคลธรรมดาหรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล พร้อมทั้งกรอกรายการ  การนำส่งภาษีเป็นประจำวัน โดยให้แยกตามใบเสร็จรับชำระภาษีอากรของกรมสรรพากรเป็นรายฉบับเรียงลำดับก่อนหลังตามวันที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ การนำส่งภาษี ให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันถัดจากวันที่รายการดังกล่าวเกิดขึ้น และให้เก็บรักษาบัญชีพิเศษดังกล่าวไม่น้อยกว่า 5 ปีที่สำนักงานที่มีการจ่ายเงินได้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ทันที

2.2    ความรับผิดของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องยื่นแบบแสดงรายการหักภาษีและนำส่งภาษีในกำหนดเวลา ไม่ว่าจะได้หักภาษีไว้หรือไม่ หากผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจะต้องรับผิดตามประมวลรัษฎากรดังนี้

2.2.1   ความรับผิดทางแพ่ง มีรายละเอียดดังนี้

1)  ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายและผู้มีเงินได้จะต้องรับผิดร่วมกันในจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนที่มิได้หักและที่มิได้นำส่ง

2)  ในกรณีที่ผู้จ่ายหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ไม่ครบถ้วน จึงนำส่งภาษีขาดไปกว่าจำนวนที่ต้องเสียให้ผู้จ่ายเงินได้และผู้มีเงินได้ร่วมรับผิดด้วยกัน

กรณีที่ผู้มีเงินได้แจ้งเกี่ยวกับสถานภาพการสมรส และรายการเพื่อ การหักลดหย่อนไม่ถูกต้องทำให้การหักภาษี ณ ที่จ่ายผิดพลาดไปด้วย กรณีนี้ให้ผู้มีเงินได้รับผิดชอบชำระภาษีในส่วนที่นำส่งไม่ครบถ้วนนั้น ผู้หักภาษีหรือผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องรับผิด

ความรับผิดร่วมก้นตาม (1) และ (2) ถ้าเรียกเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้ไม่ได้ ให้เรียกเก็บจากผู้จ่ายเงินได้ตามจำนวนภาษีที่มิได้หักหรือหักแล้วแต่นำส่งไม่ครบถ้วน

3)  ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินหักภาษีไว้แล้ว แต่มิได้นำส่งหรือนำส่งไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเท่าจำนวนที่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายได้หักไว้แล้ว และให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว

4)  กรณีที่ผู้หักนำภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายส่งไม่ครบ หรือขาดจำนวน หรือไม่ส่งเลย หรือล่วงเลยเวลากำหนด ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ไม่ครบ หรือขาด หรือไม่ส่ง หรือล่วงเลยกำหนดเวลาอีกส่วนหนึ่งอีกด้วย แต่เงินเพิ่มดังกล่าวไม่เกินจำนวนภาษีที่จะต้องนำส่ง

5)  ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย แม้ต่อมาผู้เสียภาษีได้นำภาษีไปชำระแล้วก็ตาม เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเรียกเก็บเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายแต่ผู้เดียวตามมาตรา 52 และมาตรา 54 โดยไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บจากผู้มีเงินได้ก่อนได้

2.2.2   ความรับผิดทางอาญา มีรายละเอียดดังนี้

1)  ผู้มีหน้าที่หักภาษี ไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ต้องมีหน้าที่ยื่นรายการนำส่งภาษีตามปกติ หากไม่ยื่นรายการย่อมเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 และมีความผิดทางอาญาตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เว้นแต่จะแสดงได้ว่ามีเหตุสุดวิสัย การปรับให้เป็นรายครั้งที่กระทำผิด ในกรณีที่เจ้าพนักงานเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ควรถูกฟ้องร้องต่อศาล จะเสนอให้อธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเปรียบเทียบกำหนดค่าปรับก็ได้ ถ้าผู้กระทำผิดยอมให้ค่าปรับตามที่เปรียบเทียบเสร็จแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันคุ้มมิให้ถูกฟ้องศาลต่อไป

2)  ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายที่หักภาษีตามประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่จัดทำบัญชีพิเศษตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 และมีความผิดทางอาญาตามมาตรา 38 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

2.2.3   หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้มีเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย มีดังนี้

1)  ผู้มีเงินได้ที่ยังไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ให้ยื่นคำร้องขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีเงินได้

2)  ผู้มีเงินได้ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง มีหน้าที่แจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อนตามที่อธิบดีกำหนดต่อผู้จ่ายเงินหรือนายจ้าง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณหักภาษี

กรณีที่ผู้มีเงินได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสถานภาพการสมรสและรายการลดหย่อนไม่ถูกต้อง ทำให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายผิดพลาดไปด้วย ให้ผู้มีเงินได้รับผิดชำระภาษีในส่วนที่นำส่งให้ครบถ้วน

3)  ผู้มีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระค่าภาษี มีสิทธินำภาษีที่ถูกหักไว้มาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระตามปกติได้ โดยแนบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายพร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี

4)  ผู้มีเงินได้ที่ถูกหักภาษีไว้มากเกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ มีสิทธิขอคืนภาษีได้ภายในกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีประจำปี โดยกรอกข้อความช่องขอคืนเงินภาษีในแบบแสดงรายการภาษีให้ครบถ้วน หรือทำเรื่องขอคืนภาษีภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายของปีที่ถูกหักภาษีไว้เกิน

อนึ่งถ้าผู้เสียภาษีได้คืนเงินค่าภาษีที่ถูกหักไว้เกินนานกว่า 3 เดือน จะได้รับดอกเบี้ยอีกร้อยละ 1 ต่อเดือน จนถึงวันที่กรมสรรพากรมีหนังสือคืนเงินค่าภาษีถึงผู้เสียภาษี

5)  กรณีที่ผู้มีเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีที่ต้องเรียกเก็บ โดยคำนวณภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นจำนวนตามกฎหมายก่อน แล้วจึงนำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งมาหักออก

กรณีที่ผู้จ่ายเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ไม่ครบถ้วนจึงนำส่งภาษีขาดไป ให้ผู้จ่ายเงินและผู้มีเงินได้ร่วมรับผิดด้วยกัน

3.   การขอขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการและการชำระภาษี

การขอขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและการชำระภาษีมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

3.1    ถ้าในช่วงที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้เสียภาษีมิได้อยู่ในประเทศไทยหรือมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้

3.2    อธิบดีกรมสรรพกรพิจารณาเห็นเป็นการสมควรจะให้ขยาย หรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแต่กรณี

3.3    ผู้เสียภาษีต้องมีหลักฐานแสดงโดยชัดเจนว่ามิได้อยู่ในประเทศไทยในช่วงที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลา

3.4    ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ต้องมีหลักฐานสนับสนุนให้เห็นได้ว่าจำเป็นจริงๆ จนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้

การขอขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ และการชำระภาษีให้ใช้แบบ ท.ป.2 จำนวน 1 ชุด 3แผ่น ยื่นต่อสำนักงานสรรพกรพื้นที่

4.   การขอคืนภาษี

กรณีที่ผู้เสียภาษี ได้ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้ว เป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องชำระหรือได้ยื่นชำระภาษีไว้เกินกว่าที่ต้องชำระ ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้เกินหรือที่ได้ชำระเงินโดยปฏิบัติดังนี้

4.1    ยื่นคำร้องขอคืนภาษีโดยใช้แบบ ค.10 หรือ

4.2    กรณีที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 อาจขอคืนโดยการกรอกข้อความและลงนามในช่องขอคืนเงินภาษีอีกส่วนหนึ่ง

4.3    การขอคืนภาษีให้ขอคืนภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันสุดท้ายกำหนดเวลายื่นรายการภาษี หรือนับตั้งแต่วันที่ยื่นรายการ (กรณียื่นเกินกว่ากำหนดเวลา) หรือนับตั้งแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี

4.4    การยื่นคำร้องตาม 4.1 ให้ยื่นต่ออธิบดีกรมสรรพกร ณ สำนักงานสรรพกรพื้นที่ การใช้แบบแสดงรายการเป็นคำร้องขอคืนเงินภาษี ถ้ายื่น ณ อำเภอภูมิลำเนา จะได้รับเงินคืนเร็วกว่ายื่นที่อื่น

4.5    ให้แนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

4.5.1   สำเนาใบสำคัญการสมรส หรือสำเนาใบสำคัญการหย่า หรือสำเนาใบมรณะบัตรของคู่สมรส

4.5.2   สำเนาสูติบัตรของบุตร หนังสือรับรองบุตร หรือหนังสือทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมที่ขอหักลดหย่อน หรือสำเนาทะเบียนบ้านที่ทีชื่อบุตร

4.5.3   สำเนาหนังสือแสดงการเปลี่ยนแปลงชื่อตัวชื่อสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง)

4.5.4   หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี

ผู้มีอำนาจสั่งคืนเงินภาษี จะพิจารณาคืนให้ภายใน 60 วันนับแต่วันได้คำร้อง โดยแจ้งเป็นหนังสือแบบ ค.20 ไปยังผู้ขอคืน ผู้ขอคืนจะไปรับเงินคืนได้ตามที่ระบุในหนังสือแบบ ค.20 ในการรับเงินคืนจากอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ผู้ขอคืนจะต้องนำหนังสือแบบ ค.20 และบัตรประชาชนไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินคืนด้วย ในกรณีที่สั่งคืนเงินภาษีล่าช้า ทางราชการจะจ่ายดอกเบี้ยให้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในกรณีผู้ขอคืนต้องการให้กรมสรรพากรนำเงินภาษีที่ได้รับคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของตนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด

5. เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และโทษ

5.1    เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม

5.1.1   กรณีไม่ชำระภาษรภายในกำหนดเวลา  จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการจนถึงวันชำระภาษีเว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้ขยายกำหนดเวลาชำระภาษีได้ เงินเพิ่มคงเสียร้อยละ 0.75

5.1.2   กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยืนแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชอบชำระเงินเพิ่มตาม 5.1.1 แล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า หรือ 2 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี  เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดลงหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

5.2    โทษทางอาญา

5.2.1   กรณีไม่ยื่นขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

5.2.2   กรณีไม่ทำบัญชีแสดงรายการได้หรือรายรับประจำวัน ต้องระวางทาปรับไม่เกินสองพันบาท

5.2.3   กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ด.ง.90 , 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท

5.2.4   กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักบานเท็จหรือฉ้อโกงฯ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท

5.2.5   กรรีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมายเลขบันทึก: 300458เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท