รู้รอบทิศ....เมื่อเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวารสารสัมมนา (2) – ปัญหาการเขียนบทคัดย่อ


ปัญหาการเขียนบทคัดย่อในวิชาวารสารสัมมนา

ตามชื่อว่าบทคัดย่อ (abstract) คือ การย่อความสำคัญของเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องสั้นๆ ที่จริงแล้ว บทความวิชาการเหล่านี้จะมีบทคัดย่อเขียนทุกเรื่องอยู่แล้วเป็นภาษาอังกฤษตามหลักการเขียนบทความทั่วไป แต่การที่ให้นักศึกษามาเขียนอีกครั้งหนึ่งด้วยภาษาไทยเป็นสำนวนของตัวเองนั้น เป็นการบังคับให้อ่านบทความให้จบ จับใจความ และสรุปเรื่องให้ได้ภายในหน้า A4 ตามหลักการและเหตุผลก็น่าจะดีถ้าทำได้อย่างนั้น แต่ที่พบคือ นักศึกษาไม่สามารถอ่านบทความและสรุปเป็นเรื่องราวได้ การทำไม่ได้มาจากหลายเหตุรวมกันดังนี้

  1. นักศึกษาไม่สามารถเข้าใจภาษาอังกฤษที่เขียนในบทความได้ พอแปลไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าเรื่องราวข้างในเป็นอย่างไรจึงสรุปเรื่องไม่ได้
  2. นักศึกษาบางคนสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้แต่ไม่เข้าใจเนื้อหาเฉพาะทางเทคนิค เช่น เทคนิคที่ใช้ในการตรวจวัดที่ล้ำสมัยมากๆ  (ความที่ paper แข่งกันตีพิมพ์ เทคนิคทันสมัยต่างๆ มักจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่เทคนิคเหล่านี้ไม่ได้ใช้ในงานประจำบางทีเราเองก็ยังต้องค้นและทำความเข้าใจไปพร้อมนักศึกษาเหมือนกัน)  ด้วยประสบการณ์ของนักศึกษาที่ยังน้อย อาจมองไม่เห็นภาพ เรื่องของศัพท์เทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลก็เป็นยาขมหม้อใหญ่ทั้งของอาจารย์และนักศึกษาเหมือนกัน แล้วสถิติทุกวันนี้ซับซ้อนขึ้น เพราะความอยากรู้ของคนมากขึ้น พอไม่เข้าใจสถิติ ก็อ่านตารางไม่ได้ ก็สรุปเรื่องไม่ได้
  3. นักศึกษาคุยเรื่อง paper กับอาจารย์น้อยเกินไป สมัยก่อนสิบกว่าปีที่ทำงานใหม่ๆ นักศึกษาจะมาหา แล้วนั่งอ่าน paper กัน ทำความเข้าใจกันไปทีละย่อหน้า นักศึกษาก็จะจดโน้ตย่อเอาไว้ ไม่ก็ขอที่เราเขียนบนดาษไปอ่านอีกรอบเพื่อความเข้าใน ห้าปีย้อนหลังนักศึกษามาคุย แต่ไม่มีโน้ตย่อไม่จดแล้ว เพราะเธอมี MP3 มาวางอัดเสียงระหว่างคุยกันกลับไปฟัง เราก็โอเคโลกมันเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมาช่วยก็ดี พอสามปีย้อนหลังมันไม่มาหาเลย  มาก็ถามเอาเป็นจุดๆ  ว่าประโยคนี้แปลว่าอะไร ไม่เข้าใจตรงนั้นตรงนี้ ให้เราเล่าให้ฟัง มันก็เหมือนจะดี มาพบเราน้อยครั้ง นักศึกษาถามเป็นจุดๆ แสดงว่าเข้าใจเนื้อเรื่องส่วนใหญ่แล้ว (แต่กลับไม่เป็นเช่นที่เราคิดเพราะมันจะโยงไปหาการทำสไลด์)

ไม่รู้ว่านักศึกษารู้หรือเปล่าว่ามีอาจารย์ที่ปรึกษาไว้คอยให้คำปรึกษา กรุณาใช้ให้เป็นประโยชน์และคุ้มค่าด้วย

 ความไม่เข้าใจเรื่องราวจากปัญหาทั้งสามข้อนั้นทำให้นักศึกษาสรุปเรื่องของบทความไม่ได้ และเขียนบทคัดย่อไม่ได้ ดังนั้นพอใกล้วันกำหนดส่งบทคัดย่องานหนักตกที่อาจารย์ที่ปรึกษา ต้องมานั่งสรุปเรื่องให้นักศึกษาฟัง อาจารย์แต่คนก็ใช้เทคนิคต่างกันไปเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การเขียนบทคัดย่อ บางคนนั่งเล่าให้นักศึกษาฟังแล้วให้นักศึกษาไปเขียนมา (วิธีนี้เป็นการทดสอบความเข้าใจของนักศึกษาทางหนึ่ง)  อาจารย์บางท่านอาจเห็นว่าเข็นไม่ไหวแน่ๆ ในเวลาที่จำกัด ก็อาจเขียนให้เด็กเลย แล้วให้นักศึกษาพิมพ์ตามนี้ บางคนอาจให้นักศึกษาร่างมาก่อน แล้วแก้ตามร่างนั้น  หลากหลายรูปแบบแล้วแต่อาจารย์  แต่ที่รู้แน่ๆ คือ วันไหนใกล้ส่งบทคัดย่อวุ่นวายทั้งคณะ ทั้งนักศึกษาทั้งอาจารย์ อาจารย์นั่งคุมสอบก็ต้องตรวจบทคัดย่อไปด้วย อาจารย์ต้องรีบทานข้าวเที่ยงเพื่อคุยกับนักศึกษา เพราะเวลาอื่นไม่ว่างแล้ว มีน้อยรายที่จะทำเสร็จก่อนกำหนด

คราวหน้ามาดูรูปแบบการเขียนบทคัดย่อบ้าง

 

หมายเลขบันทึก: 300300เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท