รู้รอบทิศ....เมื่อเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวารสารสัมมนา (1) – การเลือกบทความที่เหมาะสม


ความในใจของอาจารย์ที่ปรึกษาจากต้นจนจบ

นักศึกษาที่เรียนปี3-4 ที่คณะต้องเรียนวิชาวารสารสัมมนา ตามขั้นตอนการเรียนคือ นักศึกษาไปหาอาจารย์ที่ปรึกษา คุยกับอาจารย์เพื่อหาวารสารวิชาการภาษาอังกฤษ (paper) ที่สนใจมาอ่าน อ่านแล้วเขียนบทคัดย่อ (abstract) เขียนเสร็จมาเตรียมสไลด์เพื่อนำเสนอ ซักซ้อมความเข้าใจเนื้อหาเตรียม สุดท้ายนำเสนอต่อเพื่อนและอาจารย์หน้าชั้น – เป็นอันจบกระบวนการเรียนรู้  แต่กว่าจะจบขั้นตอนทั้งหมดก็แทบแย่ทั้งเด็กและอาจารย์ เด็กก็บอบช้ำ  อาจารย์ก็ยับเยินเพราะการสอนเด็กตั้งแต่เริ่มหา paper จนกระทั่งสามารถขึ้นพูดงานวิชาการที่ห่างไกลจากตัวเองเหมือนเป็นงานที่ทำเองกับมือนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่จากความพยายามทั้งนักศึกษาและอาจารย์ สามารถทำสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ให้เกิดขึ้น – Nothing is impossible

 

จากที่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษามาหลายปี ประสบการณ์จากนักศึกษาหลายรุ่น แต่ละรุ่นก็สร้างประสบการณ์ให้อาจารย์ต่างๆ กันไป แต่ปีนี้พิเศษกว่าปีอื่นๆ คือ รับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งหมด 10 เรื่อง 10 คน !!!  ภายใน 4 เดือนแล้วมีเรื่องที่ไม่คิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นในปีนี้

จึงขอสรุปเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังถึงหัวอกอาจารย์ที่ปรึกษาวารสารสัมมนา

 

ขั้นตอนแรกการเลือกบทความ– ความที่วิชากำหนดว่าต้องเป็นบทความภาษาอังกฤษ ตามที่เราทราบกันว่าภาษาอังกฤษกับเรานั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมากับนักศึกษามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว นักศึกษาจึงอยากเลี่ยงการอ่านภาษาอังกฤษ โดยเลือกบทความสั้นๆ รูปน้อยๆ ตารางน้อยๆ ซึ่งหารู้ไม่ว่าการเลือกบทความสั้นแบบนี้เป็นการสร้างปัญหาให้ตัวเองโดยแท้ เพราะบทความ 1-2 หน้า จะเอาเนื้อหาอะไรไปพูดให้ครบ 20 นาที ต้องหาเรื่องอื่นๆ มาพูดให้ครบเวลา อันนี้สร้างความยุ่งยากให้มากกว่าอ่านบทความยาวๆ เสียอีก เมื่อนักศึกษาเอาเรื่องมานำเสนอจึงมักให้นักศึกษาไปเลือกเรื่องใหม่ เอาที่ความยาวพอเหมาะมีรูปมีตารางพอสมควร นักศึกษาก็ไปหา กลับมาอีกทีพร้อมบทความเรื่องใหม่ อาจารย์ถามว่าชื่อเรื่องอะไร นักศึกษาบอกไม่ทราบ เพราะแปลไม่ได้ ชื่อเรื่องยาวพอสมควร แต่แปลไม่ได้ว่าตรวจอะไร ในอะไร ได้ผลเป็นอย่างไร ก็เลยบอกนักศึกษาว่า ถ้าแปลชื่อเรื่องไม่ได้ก็อย่าอ่านเลย คงลำบากแน่เพราะมีอีกหลายอย่างต้องทำ สรุปอาจารย์ต้องมาเลือกวารสารให้นักศึกษา ส่วนใหญ่มักจะเข้าไปเลือกที่ฐานข้อมูล PubMed หรือไม่ก็เลือกจากบทความที่เป็นสมาชิกออนไลน์ที่มหาวิทยาลัยเสียค่าสมาชิกไว้  เสียเวลาเลือกไปครึ่งวัน พิมพ์ออกมาหลายๆ เรื่อง แล้วให้นักศึกษาไปดูกันเองว่าใครชอบเรื่องอะไร แต่ข้อเสียของการเลือกบทความให้นักศึกษาคือ เราจะเลือกเรื่องที่เราสนใจมาให้นักศึกษาอ่าน ถ้านักศึกษาหาบทความเองเราก็พลอยได้อ่านเรื่องอื่นๆ ที่นักศึกษาสนใจไปด้วย เปิดโลกทัศน์ไปอีกแบบ

                คราวหน้าจะมาเล่าเรื่องการเขียนบทคัดย่อต่อ

หมายเลขบันทึก: 300193เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท