เรื่องเล่าเบาหวาน เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ


เรื่องเล่าที่ท่านได้อ่านนั้น อย่าเพิ่งเชื่อเสียทั้งหมด ต้องลองนำไปปรับใช้แล้วเรียนรู้ด้วยตนเอง

       ต้องแต่เปิดบล็อกนี้ครั้งแรก ดิฉันได้แจ้งแล้วว่าจะเป็นบล็อกสำหรับรวบรวมเรื่องเล่าการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง ที่รวบรวมจากการจัดกิจกรรมตลาดนัดความรู้ การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน 4 ภาคมาลง ตอนนี้ดิฉันขอเริ่มทยอยนำเรื่องเล่าต่างๆ มาลง โดยคิดว่าจะนำเรื่องเล่าจากหนังสือ เรื่องเล่าเบาหวาน เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ เล่ม ๒ มาลงก่อน เพราะเป็นเรื่องเล่าที่รวบรวม และได้รายละเอียดมาแล้วอย่างดี ผู้ที่ทำการรวบรวม คือ ผศ.ดร.วัลลา ตันตโยทัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษา โครงการการจัดการความรู้แบบบูรณาการ กรณีเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง ท่านได้คัดเลือกเรื่องเล่าจากภูมิภาคต่างๆ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ความรู้ปฏิบัติ ที่เมื่อใครก็ตามอ่านแล้วสามารถทดลองนำไปปฏิบัติได้มาลงในหนังสือเล่มนี้ และทำให้กับผู้เข้าร่วมประชุมวันที่ 3-4 ส.ค. 52 ที่ผ่านมา มีคำพูดของท่านอยู่ประโยชน์หนึ่งว่า "เรื่องเล่าที่ท่านได้อ่านนั้น อย่าเพิ่งเชื่อเสียทั้งหมด ต้องลองนำไปปรับใช้แล้วเรียนรู้ด้วยตนเอง" ถึงจะได้ประโยชน์ที่สุด เอาละค่ะ ดิฉันอรัมภบทมานาน ขอเข้าสู่เรื่องเล่าเลยค่ะ โดยเรื่องเล่านี้ได้แบ่งเป็นหมวดๆ หมวดแรกเกี่ยวกับ คัดกรอง ป้องกัน ลดเสี่ยงค่ะ

คัดกรองให้ได้ ไม่ใช่แค่เป้าหมาย โดย คุณรัชดา พิพัฒน์ศาสตร์ โรงพยาบาลพุทธชินราช

การวางแผนการคัดกรอง ทีมคัดกรองประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1. ทีมของโรงพยาบาล ต้องมีการพูดคุยกันก่อนว่าจะคัดกรองวิธีนี้นะ หมอ OK นะ โรงพยาบาลยินดีนะ ระบบรับได้นะ เจอคนไข้แล้ว จะมาจะไปอย่างไร ใครจะมาช่วยในคลินิก ที่เป็นแบบสหสาขา เป็นต้น

2. ทีมอนามัย ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานโดยตรง ทั้งทีมนำจาก สสอ.และทีมอนามัย เพื่อความสะดวกในการทำงาน ประสานงาน และตามข้อมูล และที่สำคัญจะได้ระบบที่ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

3. ทีมชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำ อสม. ที่ต้องมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ร่วมวางแผนการทำงานกับเรา ทั้งรูปแบบการคัดกรอง วันเวลา สถานที่ และการส่งข้อมูลการคัดกรองกลับชุมชน เป็นต้น

     ก่อนทำงานต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าไม่ได้ต้องการแค่เป้าหมาย ทุกคนต้องมาเรียนรู้และร่วมวิธีการคัดกรองที่เหมาะสม การทำงานมีทีมสุขภาพเป็นพี่เลี้ยงและช่วยแปลผลข้อมูล เน้นการทำงานด้วยใจ..ทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจ ระหว่างทีมสุขภาพและเครือข่ายแกนนำในชุมชน เพื่อทำให้เรื่องเบาหวานเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง และตัวเขาเอง การบอกสถานการณ์ภาวะโรคในพื้นที่ ที่สื่อให้ชุมชนเห็นความสำคัญได้ตรงประเด็น เช่น

     "ขณะนี้ในตำบลของเรามีผู้เป็นเบาหวานกี่ราย"

     "ปีนี้ผู้เป็นเบาหวานรายใหม่เพิ่มมากี่ราย"

     "ปีที่ผ่านมา ผู้เป็นเบาหวานเกิดโรคแทรกซ้อนเป็นอัมพฤต อัมพาตกี่ราย"

     "ปีที่ผ่านมา ผู้เป็นเบาหวานเสียชีวิตกี่ราย"

การดำเนินการคัดกรอง

      เปิดโอกาสให้เครือข่ายแกนนำในชุมชนรู้สถานการณ์ปัญหาของพื้นที่และหาวิธีดำเนินการคัดกรองที่เหมาะสม

      ส่งที่ชุมชนควรรู้ คือ...

      ความเสี่ยงคืออะไร... ทำไมต้องคัดกรองตามความเสี่ยง "ไม่เสี่ยงไม่ต้องเจาะเลือดจริงหรือ ทุกอย่างต้องชัดเจน ทำความเข้าใจกับกลุ่มแกนนำชุมชน..คำว่าความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานนั้นใครที่เสี่ยงมาก (มีปัจจัยเสี่ยง) ใครเสี่ยงน้อย (ไม่มีปัจจัยเสี่ยง) แต่ไม่ว่าจะเสี่ยงมากหรือน้อยก็คือ "กลุ่มเสี่ยง" และไม่ลืมที่จะบอกว่าถ้าอนามัยหรือโรงพยาบาลให้การสนับสนุนแผ่นตรวจ ควรคัดกรองทั้ง 2 แบบ คือคัดกรองด้วยวาจาและเจาะเลือด เพราะหัวใจสำคัญของการคัดกรองไม่ใช่แค่ได้จำนวนตามเป้าหมาย 65% หากแต่คือการหาผู้มีภาวะเบาหวาน และผู้มีภาวะก่อนเบาหวาน และนำผลความเสี่ยงโดยรวมของประชาชนในพื้นที่มาดำเนินการ จัดกิจกรรมลดความเสี่ยง โครงการลดเสี่ยง ติดตามผล เพราะสุดท้ายถ้าทุกกระบวนการดี เราจะพบเบาหวานรายใหม่ลดลง

     ยังไม่จบน่ะค่ะ ขอต่อคราวถัดไป ลืมบอกไปในหนังสือเล่มนี้มีรูปถ่ายการทำงานจริงๆ ด้วย ถ้าใครต้องการหนังสือเล่มนี้ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 300150เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท