ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้


คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา อัญเชิญปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

      ทิศทางการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔) กำหนดขึ้นบนพื้นฐานการเสริมสร้างทุนของประเทศทั้งทุนทางสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง  ยึด “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา”  และอัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”  ดังนั้นยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและสังคมไทยจึงให้ความสำคัญลำดับสูงกับการพัฒนาคุณภาพคน เนื่องจาก “คน” เป็นทั้งเป้าหมายสุดท้ายที่จะได้รับผลประโยชน์และผลกระทบจากการพัฒนา ขณะเดียวกันเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อไปสู่เป้าประสงค์ที่ต้องการ  จึงจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพคนในทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งจิตใจ ร่างกาย ความรู้และทักษะความสามารถ  เพื่อให้เพียบพร้อมทั้งด้าน “คุณธรรม” และ “ความรู้” ซึ่งจะนำไปสู่การคิดวิเคราะห์อย่าง “มีเหตุผล” รอบคอบและระมัดระวัง  ด้วยจิตสำนึกในศีลธรรมและ “คุณธรรม”  ทำให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและสามารถตัดสินใจโดยใช้หลัก “ความพอประมาณ” ในการดำเนินชีวิตอย่างมีจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต อดทนขยันหมั่นเพียร อันจะเป็น “ภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” ให้คนพร้อมเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่นและสังคมที่สงบสันติสุข  ขณะเดียวกันเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีคุณภาพ มีเสถียรภาพและเป็นธรรม รวมทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นฐานการดำรงชีวิตและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน  นำไปสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

          จากการที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากบริบทการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ทำให้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ใน ๒๐ ปีข้างหน้า  ประชากรวัยเด็กมีสัดส่วนลดลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ ๒๔.๓ ในปี ๒๕๔๓ เป็นร้อยละ ๒๐.๒ ในปี ๒๕๕๘  ประชากรวัยทำงานยังคงมีสัดส่วนสูงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ ๖๕.๙ ในปี ๒๕๔๓ และสูงสุดในปี ๒๕๕๒ คือร้อยละ ๖๗.๑ ก่อนจะลดลงเป็นร้อยละ ๖๖.๐ ในปี ๒๕๕๘ ประชากรวัยสูงอายุ มีสัดส่วนสูงขึ้นเป็นลำดับจากร้อยละ ๙.๕ ในปี ๒๕๔๓ เป็นร้อยละ ๑๓.๘ ในปี ๒๕๕๘ จึงมีระยะเวลาน้อยในการเตรียมความพร้อมคนและระบบต่างๆ

          การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุชี้ประเด็นที่พึงระวัง คือ ภาระพึ่งพิงสูงขึ้น คนวัยแรงงานต้องรับภาระเพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่พื้นฐานความรู้ ทักษะ และผลิตภาพแรงงานของไทยยังต่ำ  การผลิตของประเทศจะลดลงส่งผลกระทบเชิงลบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  การเพิ่มผลิตภาพแรงงานในช่วงที่ประชากรวัยแรงงานมีสัดส่วนสูงจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนก่อนที่กลุ่มวัยแรงงานจะมีสัดส่วนลดลง  การบริการทางสังคมรวมถึงการจัดระบบการคุ้มครองทางสังคมต่างๆ ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ  โดยเฉพาะบริการทางการแพทย์ เนื่องจากแบบแผนการเกิดโรคเรื้อรังและโรคที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณสุขและการจ่ายผลตอบแทนเพื่อการเกษียณอายุที่จะเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีโอกาสจากการที่ประชากรโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ และพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงที่นิยมบริโภคสินค้าธรรมชาติและกระแสนิยมวัฒนธรรมตะวันออก ทำให้สามารถนำจุดแข็งด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

          การประเมินสถานการณ์พัฒนาคนและสังคมไทยพบว่าคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ผลการพัฒนาชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญหลายประการที่ต้องเร่งแก้ไขและเสริมสร้างให้เข้มแข็ง

การพัฒนาด้านการศึกษาขยายตัวเชิงปริมาณอย่างรวดเร็ว จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็น ๘.๕ ปี ในปี ๒๕๔๘ แต่ยังไม่ถึงระดับการศึกษาภาคบังคับ และต่ำกว่าประเทศในแถบเอเชียที่มีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ย ๑๐-๑๒ ปี  อัตราส่วนนักเรียนต่อประชากรเพิ่มขึ้นทุกระดับ การเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๗๑.๒  ระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๔๔.๓  แต่คุณภาพการเรียนเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญสูง ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ๔ วิชาหลัก (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์) ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ มาโดยตลอด รวมทั้งยังขาดความเข้มแข็งในด้านความรู้และทักษะพื้นฐานในการทำงานด้านการคิด วิเคราะห์และสร้างสรรค์ ทักษะการอ่านของนักเรียนไทยส่วนใหญ่มีค่าไม่เกินระดับ ๒ จากทั้งหมด ๕ ระดับ

          คนไทยได้รับโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้นแต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้สู่การใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ควร  ร้อยละ ๒๒ ของหมู่บ้านทั่วประเทศมีศูนย์การเรียนรู้ชุมชน การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศมีมากขึ้น  คนไทยมีคอมพิวเตอร์ใช้ ๕๗ เครื่องต่อประชากรพันคนแต่ต่ำกว่าอเมริกาที่มีอัตรา ๗๖๓ เครื่องต่อประชากรพันคน การเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ๑๑๖.๗ คนต่อประชากรพันคน แต่ยังคงต่ำกว่า ๖ เท่าเมื่อเทียบกับประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งเข้าถึงเครือข่ายสูงที่สุดในโลก ขณะที่ประชากรอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ที่มีความสามารถในการอ่านเขียนและคำนวณในเบื้องต้นที่นำไปสู่การคิดเป็นทำเป็น เพียงร้อยละ ๖๐ ของประชากร

          กำลังคนระดับกลางและระดับสูงขาดแคลนทั้งปริมาณและคุณภาพเป็นจุดฉุดรั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แม้แรงงานไทยที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๓๕.๖ ในปี ๒๕๔๕ เป็นร้อยละ ๓๙.๘ ในปี ๒๕๔๘ แต่ความต้องการของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมีถึงร้อยละ ๖๐  ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานไทยยังต่ำคิดเป็น ๖.๒ เหรียญสหรัฐต่อคนต่อชั่วโมงเทียบกับมาเลเซีย เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวันที่มากกว่า ๑๑ เหรียญสหรัฐ กำลังคนระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ยังมีสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม  และมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่ำ ภาคอุตสาหกรรมมีกำลังคนระดับกลางและระดับสูงน้อยกว่าร้อยละ ๒๐  บุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอยู่เพียง ๖.๗ คน-ปีต่อประชากรหมื่นคน ในปี ๒๕๔๖ การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ ๐.๒๖ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ๗ เท่า  แม้ว่าการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนามีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำ  จำนวนสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในประเทศไทยมีร้อยละ ๐.๔ ของสิทธิบัตรทั่วโลกและร้อยละ ๗๗ เป็นของชาวต่างชาติ

          การจัดบริการสุขภาพมีทั่วถึง คนไทยร้อยละ ๙๖.๓ มีหลักประกันสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพระดับชุมชนครอบคลุมทุกพื้นที่ การเจ็บป่วยโดยรวมลดลง แต่การเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  อายุคาดหมายเฉลี่ยของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ชาย ๖๘ ปี หญิง ๗๕  ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่ยังห่างจากประเทศญี่ปุ่นที่มีอายุยืนที่สุด คือ ชาย ๗๘ ปี และหญิง ๘๕ ปี การเจ็บป่วยโดยรวมลดลงเป็น ๑,๗๙๘.๑ ต่อประชากรพันคนในปี ๒๕๔๗ แต่เนื่องจากคนไทยยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งการบริโภคและการใช้ชีวิต ทำให้การเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้เพิ่มขึ้น ทั้งการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็ง มีอัตราเพิ่มร้อยละ ๑๘.๔   ๑๔.๒   ๑๓.๔ และ ๔ ตามลำดับ รวมทั้งปัญหาภาวะโภชนาการเกิน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุก

          กลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับระดับเชาวน์ปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ โรคอุบัติใหม่และโรคระบาดซ้ำ  เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ยังเป็นปัญหาสุขภาพที่เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขอย่างจริงจัง

          การลงทุนด้านสุขภาพของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือประมาณร้อยละ ๓.๓ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเป็นอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ ๗.๗  สัดส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากรไม่เพียงพอ ๓๐ คนต่อประชากรแสนคน ในขณะที่ญี่ปุ่นมี ๒๐๑ คน อินเดีย ๕๑ คน จีน ๑๖๔ คนต่อประชากรแสนคน และมีการกระจุกตัวของบุคลากรในบางพื้นที่โดยเฉพาะเขตเมือง

          หลักประกันทางสังคมครอบคลุมแรงงานนอกระบบและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสยังไม่ทั่วถึง ปี ๒๕๔๘ แรงงานที่ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคมมีจำนวน ๘.๒ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๒๒.๗๓ ของกำลังแรงงาน  ส่วนแรงงานนอกระบบซึ่งมีกว่าร้อยละ ๗๐ ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคม และการเข้าถึงบริการทางสังคมของคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสในลักษณะการสงเคราะห์เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ทั่วถึง

          นอกจากนี้ ในภาวะที่มีความเป็นเมืองมากขึ้น  คนไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  แม้คดียาเสพติดมีแนวโน้มลดลงแต่พัฒนาการของยาเสพติดและการค้าในรูปแบบใหม่เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมรับมือ อาทิ เช่น ทางอินเตอร์เน็ต ไปรษณีย์  ขณะเดียวกันการก่ออาชญากรรมยังมีแนวโน้มสูงขึ้น  สัดส่วนคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ เพิ่มจาก ๑๐๙.๗ คดีเป็น ๑๒๒.๑ คดีต่อประชากรแสนคน คดีชีวิต ร่างกายและเพศ เพิ่มขึ้นจาก ๖๐.๕ คดีเป็น ๗๓.๔ คดีต่อประชากรแสนคน และเด็กมีแนวโน้มกระทำผิดมากขึ้น

คนไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตค่านิยม จริยธรรม และพฤติกรรม เชื่อมโยงถึงการดำเนินชีวิต ความประพฤติ ความคิด ทัศนคติและคุณธรรมของคนในสังคม เป็นผลกระทบจากการเลื่อนไหลของวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้าสู่ประเทศไทยผ่านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ สื่อสร้างสรรค์ยังมีน้อย สื่อที่เป็นภัยและผิดกฎหมายมีการเผยแพร่มากขึ้นแม้มีมาตรการปราบปรามอย่างเข้มงวด เว็บบริการทางเพศเพิ่มขึ้น ๓ เท่าตัว  ขณะที่คนไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนยังไม่สามารถคัดกรองและเลือกรับวัฒนธรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ประกอบกับสถาบันทางสังคม อาทิ สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษามีบทบาทน้อยลงในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และพัฒนาศักยภาพคนไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ครอบครัว มีความเปราะบาง อัตราการหย่าร้างสูงขึ้นจาก ๔.๔ คู่ต่อพันครัวเรือนในปี ๒๕๔๔ เป็น ๕.๐ คู่ต่อพันครัวเรือนในปี ๒๕๔๘ สถาบันการศึกษา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณธรรมของผู้เรียนไม่มากเท่าที่ควร สถาบันศาสนา ยังใช้ประโยชน์จากศาสนสถานและบุคลากรทางศาสนาซึ่งมีอยู่มากมายไม่เต็มที่ และขาดความสอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีวัฒนธรรมไทยที่มีความหลากหลายโดดเด่น และระบบความสัมพันธ์ที่เป็นวัฒนธรรมและเป็นรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทย และเป็นตาข่ายนิรภัยทางสังคม รวมทั้งมีภูมิปัญญาไทยที่มีการสั่งสม สืบทอดและรักษาไว้อย่างรู้คุณค่า มีปราชญ์และผู้รู้ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า ๑.๗ ล้านคน หากยังมีการถ่ายทอด สืบค้น ถอดความรู้ รวบรวม พัฒนาและนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบน้อย

          จากการประเมินสถานะคนและสังคมไทยประกอบกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาในอนาคต  ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ จึงมุ่งพัฒนาคนและสังคมไทยครอบคลุม ๓ เรื่องหลัก คือ การพัฒนาคนไทยให้มีคุณธรรมนำความรู้  โดยพัฒนาจิตใจควบคู่กับการพัฒนาการเรียนรู้ของคนทุกกลุ่มทุกวัยตลอดชีวิต ตั้งแต่วัยเด็กให้มีความรู้พื้นฐานเข้มแข็ง  มีทักษะชีวิต พัฒนาสมรรถนะ ทักษะของกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการ พร้อมก้าวสู่โลกของการทำงานและการแข่งขันอย่างมีคุณภาพ สร้างและพัฒนากำลังคนที่เป็นเลิศโดยเฉพาะในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ความรู้  ส่งเสริมให้คนไทยเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จัดการองค์ความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้สมัยใหม่ตั้งแต่ระดับชุมชนถึงประเทศ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  การเสริมสร้างสุขภาวะคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ  เน้นการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างครบวงจร มุ่งการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างคนไทยให้มีความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ  และการเสริมสร้างคนไทยให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข โดยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคมบนฐานของความมีเหตุมีผล ดำรงชีวิตอย่างมั่นคงทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน พัฒนาระบบการคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วถึง สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ส่งเสริมการดำรงชีวิตที่มีความปลอดภัย น่าอยู่ บนพื้นฐานของความยุติธรรมในสังคม เสริมสร้างกระบวนการยุติธรรมแบบบูรณาการและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังควบคู่กับการเสริมสร้างจิตสำนึกด้านสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองและความตระหนักถึงคุณค่าและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อลดความขัดแย้ง

 

วัตถุประสงค์การพัฒนาคนและสังคมไทย

         (๑)   สร้างโอกาสการเรียนรู้คู่คุณธรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเชื่อมโยงบทบาทครอบครัวสถาบันศาสนาและสถาบันการศึกษาและเสริมสร้างสมรรถนะกำลังคน สามารถประกอบอาชีพเพื่อดำรงชีวิตและสนับสนุนการแข่งขันของประเทศ

         (๒)    เสริมสร้างระบบสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ สามารถลดการเจ็บป่วยและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

         (๓)     สร้างระบบคุ้มครองทางเศรษฐกิจสังคมและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้คนไทยสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

 เป้าหมายของการพัฒนาคนและสังคมไทย

          เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ เมื่อสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ ในปี ๒๕๕๔ ดังนี้

          (๑)      เป้าหมายเชิงคุณภาพ

คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม อารมณ์  มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีทักษะในการประกอบอาชีพ มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

          (๒)     เป้าหมายเชิงปริมาณ

          (๒.๑)   จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเป็น ๑๐ ปี

          (๒.๒)  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาหลักของทุกระดับสูงกว่าร้อยละ ๕๕

          (๒.๓)   เพิ่มกำลังแรงงานระดับกลางที่มีคุณภาพเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐ ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ

          (๒.๔)   จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ คนต่อประชากร ๑๐,๐๐๐ คน

          (๒.๕)   อายุคาดหมายเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้นเป็น ๘๐ ปี

          (๒.๖)   ลดอัตราเพิ่มของการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ ๕ อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจ  โรคความดันโลหิตสูง  โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอกร้าย (มะเร็ง) 

          (๒.๗)  ผู้อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึง

          (๒.๘)   ลดคดีอาชญากรรมลงร้อยละ ๑๐

 

แนวทางการพัฒนา 

          เพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพพร้อมคุณธรรมและรอบรู้อย่างเท่าทัน แนวทางการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ในระยะ ๕ ปี ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนใน ๓ มิติ คือ การพัฒนาคนให้มีคุณธรรมนำความรู้ โดยมุ่งให้เกิดการเสริมสร้างความรู้ตามความเหมาะสมของคนทุกกลุ่มทุกวัย เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ก้าวสู่สังคมฐานความรู้ได้อย่างมั่นคง และสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ในขณะเดียวกัน มุ่งเสริมสร้างคนไทยให้มีสุขภาวะที่ดี  ควบคู่กับการเสริมสร้างคนไทยให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข  การคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคม  กระบวนการยุติธรรม  การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และมีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต

          ๓.๑     การพัฒนาคนให้มีคุณธรรมนำความรู้ เกิดภูมิคุ้มกัน โดยมุ่งเตรียมเด็กและเยาวชนทั้งด้านจิตใจ ทักษะชีวิตและความรู้พื้นฐานในการดำรงชีวิต การพัฒนาสมรรถนะและทักษะแรงงาน และเร่งผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการจัดการองค์ความรู้

          (๑)      การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีจิตใจที่ดีงาม อยู่ในกรอบของศีลธรรม และมีจิตสำนึกสาธารณะ โดย

          (๑.๑)   ผลักดันให้ครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษาร่วมกันพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีพื้นฐานจิตใจที่ดีงาม เป็นคนดี ห่างไกลอบายมุขและยาเสพติด มีภาวะผู้นำ อุทิศตนเพื่อส่วนรวม และมีบทบาทดูแล ตักเตือน เฝ้าระวังความประพฤติฉันท์เครือญาติ รวมทั้งสืบค้นคนดีในสังคม เชิดชูให้เป็นแบบอย่างที่ดีในทุกระดับ

          (๑.๒)   ปลูกฝังทัศนคติและการเรียนรู้ในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม  เปิดโอกาสให้คนทุกวัยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมเรียนรู้ทำงานร่วมกันประสานประโยชน์ เช่น กิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสาธารณประโยชน์ การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมลูกเสือและเนตรนารี และกิจกรรมสหกรณ์ เป็นต้น และในระดับองค์กรของทุกภาคีการพัฒนา มุ่งส่งเสริมให้มีการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้

          (๒)     การสร้างและพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความพร้อมด้านสติปัญญา อารมณ์ และศีลธรรม  ภายใต้ระบบการศึกษาที่มุ่งการเรียนรู้ทั้งทางปฏิบัติและวิชาการ โดย

          (๒.๑)   พัฒนาเด็กเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งเกิดให้เติบโตตามวัยอย่างเหมาะสมและพร้อมเรียนรู้  โดยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับพ่อแม่ในการดูแลสุขภาพและพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดทั้งทางจิตใจ  อารมณ์  สังคม และสติปัญญา  ฝึกให้เด็กคิด วิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เป็นระบบ รู้จัก เข้าใจและสามารถควบคุมตนเองได้อย่างเหมาะสม รู้ถึงความสามารถที่ตนมีอยู่และร่วมมือกับผู้อื่น  ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์จริงและมีความสุขจากการเรียนรู้

          (๒.๒)  พัฒนาหลักสูตรทั้งในและนอกระบบให้หลากหลายสอดคล้องกับพัฒนาการทางสมองที่บูรณาการเรื่องศีลธรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการลดความขัดแย้งแบบสันติวิธี เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในรากเหง้าของตน และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข พัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่จูงใจให้เด็กสนใจและใฝ่รู้ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือ และพัฒนาคุณภาพครูให้รู้เท่าทันวิทยาการสมัยใหม่ 

          (๒.๓)   สร้างเยาวชนรุ่นใหม่ที่มุ่งศึกษาสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น โดยสร้างระบบเครือข่ายผู้ปกครอง  การจัดบริการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องทั้งการซ่อมสร้าง พัฒนาระบบถ่ายโอนที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการส่งเสริมผู้ที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานและกลับสู่ภูมิลำเนาได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สามารถสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

         (๓)   พัฒนาสมรรถนะและทักษะแรงงานให้รองรับการแข่งขันของประเทศ  โดยเพิ่มพูนความรู้และทักษะพื้นฐานในการทำงานและจัดระบบการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพที่เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับพื้นฐานสู่ระดับวิชาชีพ

             (๓.๑)  เพิ่มพูนความรู้และทักษะพื้นฐานในการทำงานเพื่อเสริมสร้างผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้นทั้งการคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ แก้ปัญหา ตัดสินใจ ทำงานเป็นทีม มีจริยธรรม มีวินัยในการทำงาน สามารถรองรับ และเรียนรู้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนได้ง่ายปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และพร้อมก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้

             (๓.๒)  จัดระบบการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพทั้งในด้านความรู้  ความสามารถและทักษะที่สอดคล้องกับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมีการส่งต่ออย่างเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปสู่ระดับวิชาชีพ โดย

          ๑)   เสริมสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชนทุกระดับในการพัฒนาสมรรถนะแรงงาน โดยจัดหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นที่หลากหลายสำหรับแรงงาน เพื่อสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพและเป็นช่องทางการเปลี่ยนงานตามความถนัด เหมาะสมกับศักยภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งส่งเสริมการฝึกงานในสถานประกอบการให้กว้างขวาง

          ๒)  ผลักดันองค์กรต่างๆ ในสังคม เช่น องค์กรชุมชน สถานประกอบการ สถาบันการแพทย์ สถานสงเคราะห์ เป็นต้น ให้จัดการศึกษาในรูปศูนย์การเรียนที่มุ่งจัดการเรียนขั้นพื้นฐานและวิชาการด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทย เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

          ๓) ต้องการและนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างเหมาะสมกับความรู้ ทักษะและประสบการณ์ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตควบคู่กับการผลักดันการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

          ๔)    สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสให้มีงานทำเหมาะสมตามศักยภาพ โดยผลักดันให้ภาคเอกชนร่วมกับชุมชนและสถาบันการศึกษาจัดการฝึกอบรมอาชีพและสร้างงานให้ผู้ด้อยโอกาสทั้งในสถานประกอบการและอาชีพอิสระ

          ๕)       จัดทำข้อมูล ข่าวสารและความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานและความก้าวหน้าในวิชาชีพในทุกอาชีพเผยแพร่ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจ เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้  ลดการถูกเอารัดเอาเปรียบและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

          (๔)  เร่งสร้างกำลังคนที่มีความเป็นเลิศในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ  โดยมุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพในทุกสาขา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนานักวิจัย และสร้างปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาวิทยาการทุกแขนง

                (๔.๑)   ผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ บนฐานการพึ่งตนเองทางวิทยาการสมัยใหม่

                ๑)       เร่งผลิตนักวิจัยในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและของสังคมไทย เพื่อเป็นแกนนำในการพัฒนาประเทศ โดย

                 ผลักดันให้การค้นหาเด็กที่มีอัจฉริยภาพด้านต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและพัฒนาศักยภาพให้มีความเป็นเลิศทั้งในด้านความรู้และคุณธรรม โดยส่งเสริมให้ครอบครัวสามารถเข้าถึงสันทนาการเชิงสร้างสรรค์และกิจกรรมศิลป์ต่างๆ ที่จัดขึ้นทั้งในโรงเรียนและชุมชน

                 มุ่งผลิตนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และด้านสังคมให้สามารถบริหารจัดการความรู้ไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนา เน้นสาขาหลัก อาทิ เทคโนโลยี  พัฒนาคน สังคม และการบริหารจัดการ   และร่วมทำวิจัยกับต่างประเทศที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย

          ๒)      พัฒนานักวิจัยที่มีอยู่ให้มีศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์และความเชี่ยวชาญสูงขึ้น สามารถสร้างนวัตกรรมที่นำมาใช้ประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมและเชิงพาณิชย์

                 ปลูกฝังคุณค่าในเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับนักวิจัยที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่ม สร้างเป็นเครือข่ายทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้

                 สนับสนุนให้ทำการวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพ มุ่งสร้างสรรค์คุณค่าและมูลค่าเพิ่ม เพิ่มผลิตภาพโดยรวม นำไปสู่การพึ่งตนเองในระยะยาว

          (๔.๒)   สร้างปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาวิทยาการทุกสาขาให้เป็นระบบ เน้นการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง กำหนดมาตรการจูงใจ และกระจายแหล่งเรียนรู้ให้กว้างขวางในทุกภูมิภาค

          ๑)       ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในทุกสาขาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการลงทุนจากต่างประเทศ โดยผลักดันให้บริษัทข้ามชาติจัดกิจกรรมวิจัยและพัฒนาในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีผ่านการลงทุนจากต่างประเทศควบคู่กับการสนับสนุนการร่วมลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาระหว่างภาครัฐและเอกชน  เพื่อสร้างฐานเทคโนโลยีของตนเอง

          ๒)      กำหนดมาตรการจูงใจที่มุ่งสนับสนุนให้นักวิจัยสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ยกเว้นภาษีทุกประเภทที่เกี่ยวกับงานวิจัยและพัฒนาทุกสาขา จัดให้มีกลไกจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรม พัฒนากระบวนการแพร่กระจาย ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี  และยกย่องนักวิทยาศาสตร์ไทย  นักวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆ  ที่มีผลงานดีเด่นให้เป็นแบบอย่างสำหรับเด็กและเยาวชน 

          ๓)       กระจายและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทุกสาขาวิชา พัฒนาและยกระดับศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ สร้างเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ภูมิภาคและชุมชน สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          (๕)      พัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมให้คนไทยได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ทั้งที่เป็นวิทยาการสมัยใหม่ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา ที่มุ่งสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมให้จัดการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ และปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

          (๕.๑)   สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับคนทุกช่วงวัย ให้ตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างรู้เท่าทัน โดย

          ๑)       สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับทุกคนในสังคมไทย ให้เห็นความสำคัญและสนใจการเรียนรู้ในหลายรูปแบบ เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้”

          ๒)      ปรับทัศนคติของสังคมใ

หมายเลขบันทึก: 300143เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 07:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท