คุณธรรมจริยธรรมสำหรับนักบริหาร


การใช้หลักธรรมปฏิบัติในการบริหารราชการทุกระดับ ดั้งแต่ระดับปฏิบัติการ และผู้บริหารระดับต้น ระดับกลาง หรือระดับสูงให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพสูง โดยการปกครองและบริหารที่ดี

 

          คุณธรรมจริยธรรมสำหรับนักบริหาร คือการใช้หลักธรรมปฏิบัติในการบริหารราชการทุกระดับ  ดั้งแต่ระดับปฏิบัติการ  และผู้บริหารระดับต้น  ระดับกลาง  หรือระดับสูงให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพสูง  โดยการปกครองและบริหารที่ดี  (Good  Governance)

          การปกครองและการบริหารที่ดี  ตามหลักปฏิบัตินั้น  ผู้บริหารราชการต้องมี  ประมุขศิลป์  คือ คุณลักษณะของความเป็นผู้นำที่ดี (Good  Leadership) อันเป็นคุณสมบัติที่ดี  ที่สำคัญของหัวหน้าฝ่ายบริหาร  ลงมาถึงหัวหน้างานทุกระดับให้สามารถปกครองและบริหารองค์กรที่ตนรับผิดชอบ  ให้ดำเนินไปถึงความสำเร็จอย่างได้ผลดี  มีประสิทธิภาพสูงและให้ถึงความเจริญ รุ่งเรือง  และสันติสุขอย่างมั่นคง

          ลักษณะของความเป็นผู้นำที่ดีนั้น  เป็นทั้งศาสตร์ (Science)  และศิลป์ (Arts) กล่าวคือ  สามารถศึกษาวิเคราะห์วิจัยข้อมูลอย่างมีระบบ  (Systematic  Study)  จากพฤติกรรมและวิธีการปกครองการบริหารองค์กรให้สำเร็จด้วยดีมีประสิทธิภาพสูงมาแล้ว  ประมวลขึ้นเป็นหลัก หรือทฤษฎี (Theory)  ตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์  (Scientific Method)  สำหรับใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานของหัวหน้าฝ่ายบริหาร  ให้เกิดประโยชน์แก่การปกครองการบริหารที่ดี  (Good  Governance)  กล่าวคือ  ให้บรรลุผลสำเร็จด้วยดีมีประสิทธิภาพสูงได้  เพราะเหตุนั้น  ประมุขศิลป์ คือ คุณลักษณะความเป็นผู้นำที่ดี  จึงชื่อว่าเป็นศาสตร์  (Science)

          นอกจากนี้ คุณลักษณะความเป็นผู้นำที่ดีนั้น  ยังเกิดจากการที่บุคคลได้เคยศึกษาหาความรู้ฝึกฝนอบรมบ่มนิสัย  และเคยปฏิบัติพัฒนาสภาวะความเป็นผู้นำที่ดี  มาแต่ปางก่อน คือ แต่อดีตกาลจนหล่อหลอมบุคลิกภาพและสภาวะความเป็นผู้นำที่ดี  ปลูกฝัง เพิ่มพูน อยู่ที่จิตสันดานยิ่งขึ้นต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน  ประมุขศิลป์ คือ คุณลักษณะของความเป็นผู้นำที่ดีเช่นนี้ ชื่อว่า  เป็นศิลป์  (Arts) ซึ่งก็คือ บุญบารมี  นั้นเอง

 

คุณธรรมสำหรับนักบริหาร

          นักบริหารที่ดีควรมีคุณลักษณะความเป็นผู้นำที่ดี  ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

          1.  เป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดี  (Good Personality) คือเป็นผู้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี 

                 มีสุขภาพกายที่ดี  คือ เป็นผู้มีสุขภาพอนามัยที่ดี  มีท่วงท่ากิริยา  รวมทั้งการแต่งกายสุภาพ เรียบร้อยดีงาม  สะอาด  และดูสง่างามสมฐานะ

                 มีสุขภาพจิตที่ดี คือ เป็นผู้มีอัธยาศัยใจคอที่งาม  เป็นคนดี  มีศีลธรรม ได้แก่  ศรัทธา  ศีล  สุตะ  จาคะ  วิริยะ  สติ  สมาธิ  และปัญญา  กัลป์ทั้งมีกัลยาณมิตตธรรม คือมีคุณธรรมของคนดี

                เป็นผู้มีศรัทธา   หมายถึง เป็นผู้รู้จักศรัทธาบุคคลและข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธาไม่ลุ่มหลงงมงายในที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง

                เป็นผู้มีศีล  คือ ผู้ที่รู้จักสำรวมระวัง  ความประพฤติปฏิบัติ  ทางกายและทางวาจาให้เรียบร้อยดีงาม  ไม่ประพฤติเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

                    เป็นผู้มีสุตะ  คือ ผู้ได้เรียนรู้ทางวิชาการ และได้ศึกษาค้นคว้าในวิชาชีพดี

                    เป็นผู้มีจาคะ  คือ เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง  ไม่คับแคบ รู้จักเสียสละ

                    เป็นผู้มีวิริยะ  คือ ผู้ขยันหมั่นเพียร  ในการประกอบกิจการงานอาชีพ  และ/หรือในหน้าที่รับผิดชอบ

                    เป็นผู้มีสติ คือ รู้จัก ยังยั้ง ชั่งใจ รู้จักคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนคิด พูด ทำ

                    เป็นผู้มีสมาธิ  คือ ผู้มีจิตใจตั้งมั่น  ข่มกิเลสและนิวรณ์ และ

                    เป็นผู้มีปัญญา  คือ ผู้ที่รอบรู้กองสังขาร  ผู้รอบรู้สภาวธรรมที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขาร) และที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (วิสังขาร คือ พระนิพพาน) ผู้รู้แจ้งพระอริยสัจ 4 รวมเป็น ผู้มีปัญญาอันเห็นชอบรอบรู้ทางเจริญ  ทางเสื่อม  แห่งชีวิต  ตามที่เป็นจริง

          2.  เป็นผู้มีกัลยาณมิตตธรรม คือ ผู้มีคุณธรรมของมิตรที่ดี  7 ประการ คือ

              2.1 เป็นผู้น่ารัก  (ปิโย) คือ เป็นผู้มีจิตใจประกอบด้วยเมตตากรุณาพรหมวิหาร

              2.2  เป็นผู้น้าเคารพ (ครุ) คือ เป็นผู้ที่สามารถเอาเป็นที่พึ่งอาศัย  เป็นที่พึ่งทางใจ

              2.3  เป็นผู้น่านับถือ  น่าเจริญใจ  (ภาวนีโย) ว่าด้วย เป็นผู้ได้ฝึกฝนอบรมตนมาดีแล้ว  ควรแก่การยอมรับและยกย่องนับถือ  เอาเป็นเยี่ยงอย่างได้

              2.4  เป็นผู้รู้จักพูดจาโดยมีเหตุผลและหลักการ (วัตตา) รู้จักชี้แจง แนะนำ ให้ผู้อื่นเข้าใจดี  แจ่มแจ้ง  เป็นที่ปรึกษาที่ดี

              2.5  เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำที่ล่วงเกิน  วิพากษ์ วิจารณ์  ซักถาม  หรือขอปรึกษาหารี  ขอให้คำแนะนำต่างๆ ได้ (วจนักขโม)

              2.6  สามารถแถลงชี้แจงเรื่องที่ลึกซึ้ง  หรือเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจอย่างถูกต้อง  และตรงประเด็นได้  (คัมภีรัญจะ  กะถัง  กัตตา)

              2.7  ไม่ชักนำในอฐานะ  (โน  จัฏฐาเน นิโยชะเย) คือไม่ชักจูงไปในทางเสื่อม (อบายมุข) หรือไปในทางที่เหลวไหล  ไร้สาระ หรือที่เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน

 

จริยธรรมสำหรับนักบริหาร

          1. เป็นผู้มีหลักธรรมในการครองงานที่ดีด้วยคุณธรรม คือ อิทธิบาทธรรม ได้แก่

              1.1  ฉันทะ  ความรักงาน  คือ จะต้องเป็นผู้รักงานที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ และทั้งจะต้องเอาใจใส่กระตือรือร้นในการเรียนรู้งาน  และเพิ่มพูนวิชาความรู้ความสามารถในการทำกิจการงาน  และมุ่งมั่นที่จะทำงานในหน้าที่รับผิดชอบหรือกิจการงานอาชีพของตนให้สำเร็จเรียบร้อยอยู่เสมอ

              2.2  วิริยะ  ความเพียร คือ  จะต้องเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรประกอบด้วยความอดทนไม่ท้อต่อความยากลำบากในการประกอบกิจการงานในหน้าที่หรือในอาชีพของตน  จึงจะถึงความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าได้

              2.3  จิตตะ  ความเป็นผู้มีใจจดจ่ออยู่กับการงาน  ผู้ที่ทำงานได้สำเร็จด้วยดีมีประสิทธิภาพนั้น  จะต้องเป็นผู้เอาใจใส่ต่อกิจการงานทุกหน่วยดำเนินตามนโยบายและแผนงาน  ให้ถึงความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

              หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้บริหารจะต้องคอยดูแลเอาใจใส่  ติดตามผลงาน  และ/หรือ ตรวจงาน  หน่วยงานต่างๆ ภายในองค์การของตน  เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย ตัดสินใจ  และสั่งการให้กิจการงาน  ทุกหน่วยดำเนินตามนโยบายและแผนงาน  ให้ถึงความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

              2.4  วิมังสา  ความเป็นผู้รู้จักพิจารณาเหตุสังเกตผลในการปฏิบัติงานของตนเองและของผู้น้อยหรือของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  ว่า ดำเนินไปตามนโยบายและแผนงานที่วางไว้หรือไม่  ได้ผลสำเร็จหรือมีความคืบหน้าไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่เพียงไร  มีอุปสรรคหรือปัญหาที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำงาน  หรือวิธีการบริหารกิจการงานนั้นให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้อย่างไรขั้นตอนนี้เป็นการนำข้อมูลจากที่ได้ติดตามประเมินผลงานหรือตรวจงานนั้นแหละมาวิเคราะห์วิจัย  ให้ทราบเหตุผลของปัญหาหรืออุปสรรคข้อขัดข้องในการทำงานแล้วพิจารณาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น  และปรับปรุงพัฒนาวิธีการทำงานให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จ ให้ถึงความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

         

หมายเลขบันทึก: 300041เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท