Wachi
นาย วชิรจักร เดียว นือขุนทด

กิจกรรมเพื่อผลประโยชน์สังคม


ทุกสิ่งในโลกมีด้านดีและก็ด้านลบอยู่ในตัวมัน แนวคิดการทำกิจกรรมด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ CSR ก็เช่นเดียวกัน

           

         กิจกรรมเพื่อสังคม  บรรษัทบริบาล ที่ปัจจุบันจะนิยมเรียกกันว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม”  หรือ CSR (Corporate Social Responsibility)  เป็นแนวคิดที่กระตุ้นให้องค์กรภาคธุรกิจใส่ใจกับสังคมมากขึ้น  ไม่มุ่งแต่จะกอบโกยผลประโยชน์จากสังคมเพียงอย่างเดียว  เนื่องจากในบางองค์กรได้สร้างความเสียหายทั้งในด้าน สิ่งแวดล้อม  สุขภาพ สังคม และสิทธิ ซึ่งเป็นวิธีการทำธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนโดยสิ่งเหล่านั้นได้ย้อนมาทำร้ายลูกค้าทางตรงและทางอ้อมของตนเอง หรือได้สร้างความขัดแย้งกับชุมชนโดยรอบองค์กร ที่ต้องมีตัวประสานและสร้างความเข้าใจให้กับองค์กรธุรกิจให้มาสนใจ“ความรับผิดชอบต่อสังคม” 

           กระแสตื่นตัวในแนวคิดด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ CSR ในปัจจุบัน ทำให้เราได้เห็นถึงรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรธุรกิจต่างๆทั้งในกิจกรรม ด้านสงเคราะห์ เช่น การบริจาคทุน หรือสิ่งของให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ด้านรณณรงค์ เช่น จัดกิจกรรมลดภาวะโลกร้อน เพื่อสร้างความตระหนักให้ลูกค้าบริษัท หรือบุคคลทั่วไป ด้านพัฒนาศักยภาพชุมชน เช่น นำองค์ความรู้ที่องค์กรมีไปถ่ายทอดให้กับชุมชนได้พัฒนาอย่างยั่งยืน หรือองค์กรจะเป็นพันธมิตรร่วมพัฒนาสังคมกับองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีความสามารถในการทำงานเข้าถึงปัญหาและความต้องการของสังคมโดยตรง  ปัจจุบันเริ่มเกิดกลุ่มอาสาสมัครพนักงานในแต่ละองค์กรมากขึ้น 

          กิจกรรมด้าน CSR ก็ไม่ได้หมายถึง เพียงการทำกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสังคมเท่านั้น แต่รวมถึงความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า สังคม และพนักงานในองค์กร เช่น สินค้ามีคุณภาพ ไม่สร้างผลด้านลบแก่สังคม พนักงานได้รับผลตอบแทนและสวัสดิการอย่างเหมาะสม สิ่งนี้ก็เรียกว่า CSR เช่นกัน ซึ่งในหลายองค์กรอาจใช้จุดนี้เป็นการเริ่มต้นกิจกรรม ด้าน CSR ในวงกว้างได้ในอนาคต

         กิจกรรมเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องใช้ทุนจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องสร้างสัญลักษณ์ใหญ่โตให้คนทั่วไปเห็น  องค์กรควรเริ่มต้นกิจกรรมเพื่อสังคมจากภายในสู่ภายนอก  สร้างความเข้าใจกับผู้บริหารจนถึงพนักงานต่อการทำกิจกรรมเพื่อสังคม  สร้างกิจกรรมอาสาสมัครเล็กๆภายในองค์กร เช่น การพัฒนาสถานที่ทำงานร่วมกัน  จัดบรรยากาศใหม่ๆในสำนักงาน  เป็นต้น  แล้วแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จและผลดีที่ได้รับจากกิจกรรมนั้นเพื่อเป็นการสร้างความตื่นตัวในกิจกรรมเพื่อสังคม  และขยายขนาดกิจกรรมไปสู่ชุมชนหรือสังคมต่อไป     

         ทุกสิ่งในโลกมีด้านดีและก็ด้านลบอยู่ในตัวมัน แนวคิดการทำกิจกรรมด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ CSR ก็เช่นเดียวกัน ที่อาจเป็นจุดเริ่มสร้างปัญหาให้กับสังคมในอนาคต เพราะถ้าองค์กรธุรกิจทำกิจกรรมเพื่อสังคมตามความต้องการตนเองเป็นที่ตั้ง มองปัญหาในมุมที่ตนเห็นแล้วช่วยเหลือตามที่ตนเองสะดวกเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ได้สร้างภาพลักษณ์แก่องค์กรเท่านั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการกอบโกยผลประโยชน์แล้วสร้างปัญหาทางสังคมทิ้งไว้

          การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดีต้องเข้าใจถึงปัญหาหรือความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย  เพื่อให้กิจกรรมที่เราไปทำนั้นประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง  ซึ่งกิจกรรมที่สำเร็จอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาอาจจะไม่ได้มารวดเร็วอย่างกิจกรรมที่ฉาบฉวย ที่มุ่งเน้นเป้าหมายทางการโฆษณามากกว่าเป้าหมายของสังคม

         ผลประโยชน์จาก CSR ที่องค์กรภาคธุรกิจจะได้รับทางตรงและทางอ้อม ทั้งในด้านชื่อเสียงที่ดีของบริษัท ด้านความเชื่อมั่นของลูกค้าที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด และด้านทรัพยากรบุคคลในองค์กร เช่นบางองค์กรจัดกิจกรรมอาสามัคร พนักงานที่มีแนวคิดว่า “สังคมพัฒนา พนักงานมีสุข ผลงานออกมาดี ลูกค้ามีความสุข และผลประโยชน์ก็คืนสู่องค์กร” นี้คือ วิสัยทัศน์ขององค์กรที่มีก้าวหน้าอย่างยั่งยืน คือการพัฒนาพนักงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าต่อความก้าวหน้าขององค์กร

หมายเลขบันทึก: 299529เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2009 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท