Addicion


ยาเสพติด หมายถึง สารหรือยาที่อาจเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์

ยาเสพติด หมายถึง สารหรือยาที่อาจเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าโดยจะกิน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใด ๆ แล้ว จะทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อย ๆ มีอาการอยากยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง สุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง
                ประเภทของยาเสพติด จำแนกตามการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
     1. ประเภทกดประสาท ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ยานอนหลับ ยาระงับประสาท ยากล่อมประสาท เครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิด รวมทั้งสารระเหยประเภทต่าง ๆ เช่น ทินเนอร์ แล็กเกอร์ น้ำมันเบนซิน กาว เป็นต้น มักพบว่าผู้เสพติดมีร่างกายซูบซีด ผอมเหลือง อ่อนเพลีย ฟุ้งซ่าน อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย บางครั้งมีอาการคลุ้มคลั่ง หรือทำในสิ่งที่คนปกติไม่กล้าทำ เช่น ทำร้ายตนเองหรือฆ่าผู้อื่น เป็นต้น
    2. ประเภทกระตุ้นประสาท ได้แก่ แอมเฟตามีน กระท่อม โคคาอีน โคเคน เอ็กซ์ตาซี มักพบว่าผู้เสพติดจะมีอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย จิตสับสน คลุ้มคลั่ง หวาดระแวง หรือมีอาการทางประสาท
    3. ประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี ดีเอ็มที และเห็ดขี้ควาย เป็นต้น ผู้เสพติดจะมีอาการประสาทหลอนทางตา หู จมูก และลิ้น เช่น ฝันเฟื่อง เห็นแสงสีวิจิตรพิสดาร หูแว่วได้ยินเสียงประหลาดหรือเห็นภาพหลอนที่น่าเกลียดน่ากลัว ควบคุมตัวเองไม่ได้ ในที่สุดมักป่วยเป็นโรคจิต
   4. ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน อาจกด กระตุ้น หรือหลอนประสาทร่วมกัน ได้แก่ กัญชา ผู้เสพติดมักจะเกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา หูแว่ว หรือมีอาการหวาดระแวง ความคิดสับสน ควบคุมตัวเองไม่ได้ และป่วยเป็นโรคจิตในที่สุด
                  สาเหตุของการติดยาเสพติด  มีหลายสาเหตุด้วยกัน  เช่น  อยากรู้อยากลอง ด้วยความคึกคะนอง    มีความเชื่อในทางที่ผิด เช่น เชื่อว่ายาเสพติดบางชนิดอาจช่วยให้สบายใจ ลืมความทุกข์หรือช่วยให้ทำงานได้มาก ๆ   ขาดความระทัดระวังในการใช้ยา เพราะคุณสมบัติ ของยาบางชนิด อาจทำให้ผู้ใช้เกิดการเสพติดได้โดยไม่รู้ตัว หากใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยขาดการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร  สภาพแวดล้อมถิ่นที่อยู่อาศัยมีการค้ายาเสพติด หรือมีผู้ติดยาเสพติด  ถูกหลอกอาจเพื่อประโยชน์ในการค้ายาเสพติด   เพื่อหนีปัญหา เมื่อมีปัญหาแล้วไม่สามารถแก้ให้กับตนเองได้ ฯลฯ

การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด     การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด หมายถึง การดำเนินงานเพื่อแก้ไขสภาพร่างกาย และจิตใจของผู้ติดยาเสพติดให้เลิกจากการเสพ และสามารถกลับไปดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด แบ่งออกเป็น 3 ระบบคือ
              1. ระบบสมัครใจ หมายถึง ผู้ติดยาเสพติดสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน
              2. ระบบต้องโทษ หมายถึง ผู้ติดยาเสพติดที่กระทำความผิดและถูกคุมขัง จะได้รับการบำบัดรักษา ในสถานพยาบาลที่กำหนดได้ตามกฎหมาย เช่น ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรมหรือสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง กระทรวงยุติธรรม
              3. ระบบบังคับบำบัด หมายถึง ผู้ที่ทางราชการตรวจพบว่ามีสารเสพติดในร่างกาย จะต้องถูกบังคับบำบัดตาม พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ ในสถานพยาบาลที่จัดขึ้นตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นระยะเวลา ๖ เดือน และขยายได้จนถึงไม่เกิน ๓ ปี ระบบนี้ยังไม่เปิดใช้ในขณะนี้ การบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มี ๔ ขั้นตอน คือ
                        3.1 ขั้นเตรียมการก่อนบำบัดรักษา (Pre - admission) เพื่อศึกษาประวัติภูมิหลังของผู้ติดยาเสพติดทั้งจากผู้ขอรับการรักษา และครอบครัว
                        3.2 ขั้นถอนพิษยา (Detoxification) เป็นการบำบัดรักษาอาการทางกายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด โดยผู้ขอรับการรักษา สามารถเลือกใช้บริการแบบผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน ก็ได้ตามสะดวก
                        3.3 ขั้นการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation) เป็นการบำบัดรักษาเพื่อปรับเปลี่ยน ลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ พฤติกรรม เพื่อให้รู้จักตนเอง และมีความเข้มแข็งในจิตใจ เพื่อให้ผู้รับการบำบัดมีความเชื่อมั่นในการกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ โดยไม่หวนกลับไปเสพซ้ำอีก
                        3.4 ขั้นติดตามดูแล (After - case) เป็นการติดตามดูแลผู้เลิกยาเสพติดที่ได้ผ่านการบำบัดครบทั้ง ๓ ขั้นตอนข้างต้นแล้ว เพื่อให้คำแนะนำ แก้ไขปัญหาและให้กำลังใจผู้เลิกยาเสพติด ให้ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขในสังคมได้ยิ่งขึ้น

ปัญหายาเสพติดถึงแม้รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะขจัดให้หมดไปจากผืนแผ่นดินไทย แต่จากข่าวทางโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์มีให้เห็นเกือบทุกวันว่า มีการจับยาเสพติดและยึดทรัพย์อยู่เป็นประจำ

  จากผลการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย มีลักษณะการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แม้แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีความตั้งใจจริง พยายามที่จะปราบปรามทั้งบนดินและใต้ดินเพื่อที่จะขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง   เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน   ในการแก้ไขปัญหานี้ยาเสพติด สิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ บทบาทของสถาบันทางสังคมไทยในระดับรากหญ้า ซึ่งประกอบด้วย สถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน สถาบันโรงเรียน และสถาบันศาสนา เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 298296เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2009 01:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท