การประเมินผลโครงการและองค์กร


คุณสมบัติสำคัญที่นักประเมินจะต้องมีและฝึกฝน คือ การตัดสินใจแบบมืออาชีพ

   เมื่อพูดถึงการประเมินผล หลายคนคงขยาดหรือบางคนอาจมากไปถึงขนาดขยะแขยง เพราะต้องเผชิญกับการถูกบุคคลอื่นมาจับผิดและโดยเฉพาะหากบบุคคลเหล่านั้น เป็นบังคับบัญชาหรือมีอำนาจเหนือกว่า ย่อมทำให้รู้สึกบั่นทอนกำลังใจในการปฏิบัติงาน แท้จริงแล้วเจตนาของการประเมินผล เป็นกลไกที่จะช่วยทำให้ควบคุมคุณภาพของงาน ปัจจัยในการดำเนินงาน กระบวนการ และผลงาน แต่บ่อยครั้งผู้ประเมินมักไล่ต้อนผู้ถูกประเมินจนแทบตั้งตัวไม่ติด
    เป้าหมายหลักของการประเมินผล คือ การตีคุณค่าของสิ่งที่ทำการประเมิน ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลก่อนดำเนินการที่มีเป้าหมายประเมินความเป็นไปได้ และความพร้อมของโครงการ การประเมินระหว่างดำเนินการที่มีเป้าหมายประเมินความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงาน เพื่อปรับแก้แนวทางการปฏิบัติ และการประเมินหลังดำเนินการ เพื่อดูผลสำเร็จของการดำเนินงาน ล้วนแล้วแต่ต้องมีการให้คุณค่าแก่โครงการทั้งนั้น จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในฐานะผู้ถูกประเมิน มีความกดดัน เครียดต่อการถูกประเมิน หรือแม้แต่การประเมินองค์กรเองก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้ที่ตกอยู่ในฐานะผู้ถูกประเมิน กลายเป็นผู้ถูกพิพากษา ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีแนวคิดใหม่ในการประเมินแบบเสริมสร้างพลังอำนาจ ซึ่งประเมินด้วยคนใน ซึ่งกำหนดรูปแบบการประเมินร่วมกันกับผู้ปฏิบัติ เน้นการมองภาพบวก และร่วมหาทางออกในการปัญหาอุปสรรค ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยลดความกังวลต่อการประเมินผล แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการประเมินแบบใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะต้องให้ความสนใจคือ เครื่องมือในการประเมินผล ซึ่งจะต้องมีการกำหนดอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นแบบยึดเป้าหมายเป็นหลัก (Goal base) หรือไม่ยึดเป้าหมาย (Goal free) ก็ตาม ก็ต้องมีเครื่องมือในการประเมินผล เพื่อตอบคำถามที่ต้องการ และสิ่งที่ผู้ประเมินจะต้องคำนึงถึงเสมอคือ การประเมินที่ดี มิใช่การทำให้ได้ข้อมูล ค่าสถิติเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านั้นจะต้องสามารถสะท้อนข้อมูลจากการประเมินผล ให้แก่องค์กร เพื่อนำไปปรับใช้ในการตัดสินใจหาแนวทางแก้ไขปัญหาในการดำเนินการตามโครงการ หรือปัญหาตามบทบาทขององค์กรต่อไป
    เมื่อการให้คุณค่าคือเป้าหมายของการประเมินผล ดังนั้นคุณสมบัติสำคัญที่นักประเมินจะต้องมีและฝึกฝน คือ การตัดสินใจแบบมืออาชีพ (Professional judgment) เพราะการตีคุณค่าที่ดี จะต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน มองรอบด้าน และให้ข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดของการประเมินผล

 

หมายเลขบันทึก: 298196เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2009 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท