โลกอีกโลกหนึ่งบนโลกใบเดียวกัน


คนจะได้เป็นใหญ่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพวกเดียวกับตนหรือไม่

โลกอีกโลกหนึ่งบนโลกใบเดียวกัน  

 

“...ข้างซ้ายสิบนาฬิกานั้น ตะวันยังเศร้ายังโศกศัลย์ เหตุการณ์ผ่านเลยนับแสนวัน ถอยมาด้วยกันทั้งฉานไทย

เมื่อเจงกีสข่านกรีฑาทัพ รุกตีเข้ามาถึงจีนใต้เขาถอยร่นมาเป็นไทย แต่ไทยใหญ่  เราถอนร่นมาเป็นไทย แต่ไทยน้อย....”

(ยืนยง โอภากุล,เพลงฉานสเตท อัลบั้มรัฐฉานตำนานที่โลกลืม : 2549)

ดินแดนที่ปกคลุมด้วยเทือกเขา ที่เป็นรัฐฉานในปัจจุบัน ที่ซึ่งผู้คนผูกพันอยู่กับการเกษตร คติในพุทธศาสนาและการนับถือผี ในอดีตรัฐฉาน  เคยมีเอกราชในการปกครองตนเองมาเป็นเวลาหลายพันปี  ก่อนที่อังกฤษจะขยายอิทธิพลเข้ามาถึง  ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่ารัฐฉานกับประเทศพม่าเป็นอิสระต่อกันตั้งแต่อดีต   แต่เนื่องจากประเทศพม่าซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม แต่รัฐฉานตั้งอยู่บริเวณเทือกเขา  ลักษณะทางภูมิศาสตร์จึงไม่ใช่ประเทศเดียวกัน  อังกฤษจึงไม่ได้ทำการเข้ายึดพร้อมกัน และถึงที่สุดแม้ว่าอังกฤษ จะยึดทั้งสองเมือง   แต่ก็ไม่ได้ปกครองทั้งสองเมืองในลักษณะเดียวกัน หากแบ่งการปกครองออกเป็นสองลักษณะประเทศพม่าเป็นเมืองใต้อาณานิคมส่วนรัฐฉานเป็นเมืองใต้การอารักขา

การปกครองของอังกฤษ ล่วงเลยมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  พม่าพยายามโน้มน้าวเหล่าบรรดาเจ้าฟ้าที่ปกครองรัฐฉาน  เจ้าฟ้าที่ปกครองเมืองต่างๆ จึงพร้อมใจกันสละราชอำนาจและอภิสิทธิ์ทั้งปวงคืนให้กับประชาชน   เข้าร่วมเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ  และร่วมลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง เพื่อขอคืนเอกราช  สัญญาดังกล่าวได้นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ  ซึ่งมีสาระสำคัญคือการระบุให้ชนชาติที่ร่วมลงนามในสัญญา  สามารถแยกตัวเป็นอิสระได้หลังจากอยู่ร่วมกันครบสิบปี  ระหว่างนั้นเองได้เกิดการรวมตัวของบรรดานักรบผู้กล้าจัดตั้งเป็นกองกำลังกู้ชาติที่รู้จักกันในนาม "หนุ่มศึกหาญ"  (หนุ่มศึกหาญหรือนักรบรุ่นเยาว์ ในยุคเริ่มต้นพวกเขามีกำลังเพียง 31 คนกับอาวุธปืน 17 กระบอก)

แต่เมื่ออังกฤษได้ให้เอกราชกับพม่าและรัฐฉาน รัฐบาลพม่ากลับไม่ยอมทำตามสัญญา และมีความพยายามการรวมดินแดนทั้งหมดให้เป็นของประเทศพม่า เหตุนี้จึงทำให้ไทยใหญ่ จึงก่อตั้งกองกำลังกู้ชาติของตนเองขึ้นในปี พ.ศ. 2491

“...อย่ามาทำขี้ลืม เจ้าหนี้มาทวงคำสัญญา  ไอ้ขี้โกง จะบอกโลกให้รู้ว่าหักหลัง  มันหักหลังทุกคนทุกชนเผ่า เข้ามายึดครองดินแดนพี่น้องรัฐฉานของเราไล่มันไป แผ่นดินรัฐฉ่น เป็นของเรา แผ่นดินรัฐฉานของไทยใหญ่...”

(ยืนยง โอภากุล,เพลงคิดบัญชี, อัลบั้มรัฐฉานตำนานที่โลกลืม : 2549)

 

มหาเทวีเฮือนคำ วีรสตรีของชาวไทยใหญ่  เห็นว่ารัฐฉาน (หรือไทยใหญ่) กำลังขาดเอกภาพในการสู้รบเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชจากรัฐบาลกลางของพม่า   จึงพยายามรวบรวมองค์กรที่กระจายอยู่ทั่วรัฐฉานให้กลับมาต่อสู้ร่วมกันในนามกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army : SSA) โดยการรวมตัวของชาวไทยใหญ่ก็มีเอกภาพอยู่ได้ไม่นาน  เมื่อประสบปัญหาขาดแคลนอาวุธและงบประมาณ  แกนนำจึงเริ่มมีความคิดแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการเข้าร่วมกับพม่า ตั้งกองกำลังอยู่ในรัฐฉานติดชายแดนจีน อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการเข้าร่วมเพราะไม่อยากเสียอุดมการณ์

ในช่วงเวลาหนึ่งขุนส่าขึ้นมาเป็นผู้นำกองกองทัพรัฐฉาน ประชาชนไทยใหญ่หลายคนเชื่อว่าขุนส่าจะช่วยกู้เอกราชได้  จึงยกให้ขุนส่าเป็นใหญ่  แต่ขุนส่ากลับปกครองในแบบเอกาธิปไตย  (Autarchy ที่มา : Nontri Dictionary)  แปลอย่างง่าย ๆ ว่า

“คนจะได้เป็นใหญ่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพวกเดียวกับตนหรือไม่”   และนำกองทัพเข้าสู่โลกของการค้ายาเสพติด

"คุณต้องไม่ลืมว่า พวกเราชาวฉานกำลังทำสงครามกู้ชาติ เราต้องการหลุดพ้นจากกองทัพพม่าที่กดขี่เรามาตั้งแต่ที่พม่าได้รับเอกราช ผงขาวเป็นหนทางหากินอย่างเดียวของเราและเป็นธุรกิจอย่างเดียวที่สามารถหาเงินมาสนับสนุนการต่อสู้ของเราได้.." (ขุนส่า,2548)

การต่อสู้ที่ดำเนินมากว่า 30 ปีเมื่อถึงจุดไร้ทิศผิดทาง ภาพลักษณ์ของขุนส่าที่นำกองทัพรัฐฉาน คือนักค้ายาเสพติด ท้ายที่สุดขุนส่ากลับนำกำลังร่วม 3 หมื่นคนไปอยู่กับพม่า สร้างความเสียหายให้แก่การรบกู้ชาติของไทยใหญ่เป็นที่สุด

เมื่อเหตุการณ์พลิกผันเช่นนั้น  "เจ้ายอดศึก" อดีตทหารสื่อสารของเจ้ากองเจิงและเคยนำกองทัพเคียงรบร่วมกับขุนส่าได้นำพลรบ 1,500 นายตีฝ่าการปิดล้อมของทหารพม่า  ข้ามแม่น้ำสาละวินมาตั้งมั่นที่ฝั่งตะวันออก เฝ้าฟูมฟักพลพรรคขึ้นต่อสู้อีกครั้ง

“...เสียงหวาน ๆ คงไม่มีกล่อมน้อง เคยประคองเคียงข้างต้องห่างกายพี่ไปรบไม่ได้หายไปไหน รบถวายแด่ภาษาอักขระไตแก้วแหวนเงินทองเคยให้น้อง  พี่จำต้องเปลี่ยนเป็นยุทธปัจจัยหนุนการรบไม่ได้ห่ายไปไหน รบถวายแด่พระศาสนาไต...”

(ยืนยง โอภากุล,เพลงสั่งน้อง, อัลบั้มรัฐฉานตำนานที่โลกลืม : 2549)

  

“ชีวิตตอนเด็ก ถ้าจะสนุกก็ง่ายมาก สมัยเป็นเด็ก ชีวิตสนุกสนานมากตอนนั้น อยู่ร่มเย็นเป็นสุขสนุกแบบเด็ก

เราพอใจแล้วกับสิ่งที่ได้ ถึงเวลากิน เราไปกิน ถึงเวลานอน เราไปนอน ไม่ต้องกังวลสิ่งใด   ตอนเป็นเด็กแบบนั้น ยากได้คืนมาอีกครั้ง อิสระแบบนั้น ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว อยากไปไหนไปไม่ได้  อยากทำอะไร ทำไม่ได้ ตอนเป็นเด็กหัวใจยังคงขาวบริสุทธิ์ตอนนี้  มันหมองคล้ำ” (เจ้ายอดศึก,2549)

ความนัยระหว่างบรรทัดของเผยให้เห็นความเจ็บปวดของการสูญเสียคืนวันแห่งชีวิตเสรี วัยเด็กของ “หนุ่มศึกหาญ”  ที่น่าจะสดใส กลับต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่หมองเศร้า  เจ้ายอดศึก ผู้นำคนปัจจุบัน  โดยได้เชิญบรรดาผู้นำและแกนนำคนสำคัญของชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าทั้ง 6 กลุ่มทั้ง  KNU,  KNPP,  CNF (Chin national Democratic Front), ALP (Alakan Liberation People) และ KIO  เข้าร่วมหารือที่ดอยไตแลง เพื่อความปรองดองของพันธมิตร ที่จะต้องจับมือกันไว้ให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น รวมทั้งการตอบโต้ ซึ่งอาจจำเป็นถึงขั้นรวมกำลังกวาดล้างใหญ่บางพื้นที่ ซึ่งพันธมิตรชนกลุ่มน้อยเห็นว่าไม่ปลอดภัย

 

                “...วันนี้เรามีผู้นำผู้กล้าหาญอย่างเจ้ายอดศึก ที่ไม่เคยยอมก้มหัวให้ศัตรูกองทัพของเรายิ่งใหญ่และฐานทัพของเรามั่นคง ยืนหยัดอยู่ ณ ดอยไตแลง...”

(ยืนยง โอภากุล,เพลงมารวมกัน, อัลบั้มรัฐฉานตำนานที่โลกลืม : 2549)

 

ปัจจุบันสถานการณ์ภายในรัฐฉานก็ยังไม่มีเสถียรภาพ ทางความมั่นคง  กองกำลังกู้ชาติยังคงดำรงอยู่   หากในช่วงที่ไม่มีการปะทะกับฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า รัฐฉานก็จะมีความเงียบสงบซึ่ง เป็นพื้นฐานความต้องการที่แท้จริงของชาวไทยใหญ่   แต่เมื่อล่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง การปะทะกันระหว่างทหารรัฐบาลพม่าและกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนต้านทิศเหนือและทิศตะวันตกจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี.

 

...............................

 

ประเทศไทยปัจจุบัน ที่ซึ่งผู้คนผูกพันอยู่กับการเกษตร คติในพุทธศาสนาและยังมีการนับถือผีอยู่บ้างในบางพื้นที่   ประเทศไทยมีเอกราชในการปกครองตนเอง  แม้ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา โปรตุเกสจะขยายอิทธิพลเข้ามาถึง  แต่ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าดินแดนไทยมีอิสระและไม่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของคนเชื้อชาติอื่น 

 การปกครองของไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ล่วงเลยมาจนถึงปีพ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  กษัตริย์ของไทยมีเหตุให้ต้องสละราชอำนาจและอภิสิทธิ์ทั้งปวงคืนให้กับประชาชน จากการปฏิวัติสยามของคณะราษฏร์    การณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การร่างเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย  และทรงมอบรัฐธรรมนูญ  คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุด  ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองราชอาณาจักรไทย   ทว่านับจนถึงปี พ.ศ. 2550  ราชอาณาจักรไทยมีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ   ซึ่งขัดกับแนวคิดทางนิติศาสตร์ที่ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ดังนั้น จึงควรมีความศักดิ์สิทธิ์และคงทนถาวร  อาจแก้ไขได้ ตามเวลา และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป  ตลอดระยะเวลา 50 ปี มีการปฏิวัติรัฐประหาร รวม 18 ครั้ง เฉลี่ย 2.7 ปีต่อครั้ง (สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันยังไม่เคยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ยังคงใช้ฉบับเดิมมาแต่แรก มีเพียงการแก้ไขปรับปรุงส่วนที่จำเป็นเท่านั้น)

ประชาชนไทยมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยเพียงแค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง  เมื่อหมดเวลาประชาธิปไตย  ก็เป็นเวลาของพรรคการเมืองที่จะร่วมตกลงจัดตั้งรัฐบาลขึ้นสู่การครองอำนาจรัฐโดยหลงลืมเจ้าของประเทศไปชั่วขณะ   สามารถแยกตัวเป็นอิสระจากเสียงของประชาชนได้ จนเมื่ออำนาจรัฐถูกนำไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง (ในความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มหนึ่ง)  ระหว่างนั้นเองได้เกิดการรวมตัวของบรรดาแกนนำในนาม "พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย"  (ในยุคเริ่มต้นพวกเขามีกำลังเพียง 5 คนกับเวทีปราศรัยเล็ก ๆ)  พยายามรวบรวมประชาชนที่กระจายอยู่ให้กลับมาต่อสู้ร่วมกัน

"คุณต้องไม่ลืมว่าพวกเรามาจากการเลือกตั้ง  แต่มาเสียเวลาและกำลังต่อสู้กับกุ๊ยข้างถนน  การเป็นรัฐบาลเป็นหนทางหากินอย่างเดียวของเราและเป็นธุรกิจอย่างเดียวที่สามารถหาเงินมาสนับสนุนการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆไปได้.." (ทักษิณ ชินวัตร)

การต่อสู้ด้วยวิถีประชาธิปไตยที่ดำเนินมากว่าครึ่งศตวรรษ มาถึงจุดไร้ทิศผิดทาง ด้วยระบอบทักษิณ   ภาพลักษณ์อดีตนายกรัฐมนตรี  คือนักธุรกิจเพื่อพวกพ้อง  ในท้ายที่สุดเมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรคด้วยคำสั่งศาล กลับมีการนำกำลังร่วม 3 ร้อยคนไปตั้งพรรคใหม่   เมื่อเหตุการณ์พลิกผันเช่นนั้น “แกนนำพันธมิตร" ที่อดีตเคยร่วมธุรกิจและธุรกรรมกับบุคคลในระบอบทักษิณ ได้นำพลรบนับหมื่นเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเฝ้าฟูมฟักพลพรรคขึ้นต่อสู้อีกครั้ง

สมัคร สุนทรเวช ผู้นำประเทศคนปัจจุบัน (เป็นคนดียวกับที่สังคมส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของระบอบทักษิณ)  ได้รวบรวมหัวหน้าพรรคการเมืองอีก 6 พรรค  เข้าร่วมบริหารประเทศและในที่สุดก็เข้าหารือคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.อุดรธานี   เพื่อยืนยันความปรองดองของพรรคร่วมรัฐบาล  ในอันที่จะต้องจับมือกันไว้ให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น และอาจรวมทั้งการตอบโต้ ซึ่งอาจจำเป็นถึงขั้นรวมกำลังกวาดล้างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในอนาคต 

 

 ......................................

 

ปัจจุบันสถานการณ์ภายในรัฐฉานก็ยังไม่มีเสถียรภาพ ทางความมั่นคง  กองกำลังกู้ชาติยังคงดำรงอยู่   หากในช่วงที่ไม่มีการปะทะกับฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า รัฐฉานก็จะมีความเงียบสงบซึ่ง เป็นพื้นฐานความต้องการที่แท้จริงของชาวไทยใหญ่   แต่เมื่อล่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง การปะทะกันระหว่างทหารรัฐบาลพม่าและกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนต้านทิศเหนือและทิศตะวันตกจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

 

โปรดอ่านซ้ำอีกครั้ง....!!!

 

ปัจจุบันสถานการณ์ภายในประเทศไทยก็ยังไม่มีเสถียรภาพ ทางความมั่นคง กำลังพันธมิตรยังคงดำรงอยู่  เพียงแต่หากในช่วงที่ไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง  ประเทศไทยก็จะมีความเงียบสงบซึ่ง  เป็นพื้นฐานความต้องการที่แท้จริงของชาวไทยทั้งมวล  

รัฐฉานกับแผ่นดินไทย คงไม่ต่างกัน  ที่เคยสงบร่มเย็นต้องมาถูกกระทำให้บอบช้ำจนไม่รู้จะเยียวยาคืนเดิมได้   วันใด ทั้งพวกเขาและพวกเรายังหวังลึก ๆ ว่าสักวันหนึ่ง ประชาชนจะเป็นเจ้าของประเทศตัวจริง โดยไม่ต้องขึ้นกับพม่า  พันธมิตรหรือพรรคการเมืองใด ๆ   ข่าวการประชุม 3 ฝ่าย (ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภา และพรรคการเมือง) ในวันที่ 8 กันยายน 2551 ทำให้นึกถึง “เขมรสามฝ่าย” ในอดีต 

นี่ประเทศไทยถอยหลังไปเคียงประวัติศาสตร์กับพม่าและเขมรแล้วหรือนี่

“ตราบชีวิตที่เหลือ ฉันคงพอได้ทำสิ่ง ที่ผู้คนอยากมาแสนนานจวบจนวันสุดท้ายที่มีลมหายใจอยู่ จะสู้ทนแลกมาไม่เสียดายแม้ตัวแทบแหลกแม้ใจสลายจะไปให้ถึงที่เคยมุ่งหวังขอแค่เพียงก้าวเดียว จะไปให้ถึงที่คนใฝ่ฝันขอแค่เพียงก้าวหนึ่งก่อนจากนี้ไปย่อมก้าวเดินได้มั่นคง........ก้าวไปบนโลกรักกัน.....รักกันเป็นหนึ่งเดียว.........”

(ยืนยง โอภากุล,เพลงโลกแห่งความรัก,อัลบั้มโอท็อป : 2549)

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 298084เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2009 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท