คาราบาวโดนลองของ


ลองของ

 

ผมถือหนังสือ “ห้องเรียนห้องใหญ่มีควายเป็นครู” เข้าชั้นเรียน  ไม่ได้ตั้งใจจะไปขายหนังสือ แต่ตั้งใจจะเอาไปเป็นเครื่องมือการสอนให้เห็นว่า  รุ่นพี่ของพวกเขาได้มีโอกาสฟังเพลงในอีกมิติหนึ่ง จนลึกซึ้งกับเนื้อหาและการตีความจนสามารถนำมาเป็นประโยชน์ต่อชีวิต เป็นประโยชน์ต่อวิธีการเรียนการสอน  และผลของการโต้แย้งอภิปรายในชั้นเรียนสามารถนำมาถ่ายทอด ต่อยอดให้กับคนอื่นได้รับรู้ในรูปแบบของสวนอักษรได้อีก  นอกเหนือไปจากฟังเพื่อความบันเทิงเพียงมิติเดียว 

 

แต่ถ้าใครจะไปซื้อหามาอ่านก็ไม่ผิดกติกา เพียงแต่ว่าไม่มีขายในห้องเรียน

 

ผมยังคงถือกีต้าร์เข้าห้องเรียนในสัปดาห์แรกเหมือนทุกครั้ง  วันนี้ผมใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์เก่า ๆ รองเท้าผ้าใบลายกราฟฟิกข้งหนึ่งสีน้ำเงินอีกข้างสีแดงแปร๊ด  (ซื้อลายเดียวกันมาสองคู่แต่สลับข้างใส่) วิธีการถือกีต้าร์เข้าห้องเรียนกับการแต่งตัวที่ดูไม่เหมือนครู  ยังใช้ประโยชน์ในการเรียกความสนใจจากนักศึกษาได้เสมอ  เมื่อยังใช้วิธีนี้ได้อยู่  ทำไมจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ใช้ได้ผล

 

ก่อนเข้าห้อง...มีนักศึกษาคนหนึ่งที่เป็นแฟนคาราบาวและมีทั้ง “ตามรอยควาย” และ “ห้องเรียนห้องใหญ่มีควายเป็นครู” แอบเข้ามาบอกว่า 

 

“ที่ผมเลือกลงทะเบียนวิชานี้เพราะเห็นชื่ออาจารย์เป็นผู้สอน”

 

อืมม์.....เป็นน้ำทิพย์ชะโลมจิตใจให้ชุ่มชื่นอีกประโยคหนึ่ง (ของชีวิต)

 

ผมกล่าวขอบคุณและบอกให้ตั้งใจเรียน  ก่อนจะได้รับคำถามต่อมาทันทีว่า

 

“ในหนังสือห้องเรียนห้องใหญ่มีความเป็นครู อาจารย์พูดถึงเพลงของคาราบาวที่สามารถนำมาสอนได้อีกหลายวิชา อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้ด้วย”

 

 

 

 

 

ผมเห็นว่าคำถามนี้และคำตอบของผมควรจะนำไปใช้ประโยชน์ในชั้นเรียนวิชาการโฆษณาขั้นสูง  ที่ประตูห้องเรียนอยู่ห่างจากผมไม่เกินสามก้าว  ผมจึงขอให้เขาช่วยถามคำถามนี้อีกครั้งในจังหวะที่เหมาะสม  แผนการสอนที่จะเริ่มต้นด้วยเพลงทุ่งฝันตะวันรอนถูกรื้อทิ้งทันทีที่หน้าห้อง  ผมมีเวลาคิดออกแบบการสอนใหม่  เพื่อเริ่มต้นชั้นเรียนเพียงแค่ดื่มน้ำแก้วเดียวที่วางอยู่บนโต๊ะ 

ที่สุดผมตัดสินใจยกเอา “บทสรุป”ของวิชาการโฆษณาที่จะใช้ลงท้ายในวันนี้มาขึ้นต้นแทน มันก็ไม่แปลกที่จะเอา “หลังขึ้นมาหน้า” เพราะภาพยนตร์หลายเรื่องก็เริ่มต้นด้วยบทสรุปของหนัง ก่อนจะค่อย ๆ คลี่คลายรายละเอียดในสองชั่วโมงที่เหลือ แต่โดยปกติแล้วชั้นเรียนของผมก็ไม่จำเป็นต้อง “เริ่มต้นด้วยการเริ่มต้น”

 

ผมวางปากกาเมจิกหัวโต ๆ ลงบนกระดานไวท์บอร์ด  เขียนบทสรุป 6 ข้อของเนื้อหาเฉพาะในวันนี้ลงไป..(ผมเขียนเฉพาะตัวหนานะครับ ไม่ได้เขียนทั้งหมด)

 

  1. งานโฆษณาไม่ใช่งานที่ทำออกมาแล้วดูสวย ดูเพลิดเพลินจนกลายเป็นงานศิลปะชั้นเอก  แต่งานโฆษณาคืองานที่สื่อสารข้อมูล
  2. ความสำเร็จของงานโฆษณา ไม่ได้อยู่ที่ทำออกมาแล้วได้รางวัล  ไม่ใช่คำอุทานของคนดูโฆษณาว่า “ครีเอทีฟจริง ๆ เลย” แต่งานโฆษณาหมายถึง “สินค้าชิ้นนี้น่าซื้อจริง ๆ เลย”
  3. “ขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่ชั่วโมง  เสียงที่ดังที่สุดจากโรลสรอยส์ ที่คุณจะได้ยินคือ เสียงเดินของเข็มนาฬิกาคนเขียนคำโฆษณา (Copy Writer)  ความคิดที่ดีนี้มาจากการอ่านข้อมูลของสินค้านานกว่า 3 สัปดาห์
  4. เมื่อรู้จักสินค้าของเราแล้ว ต่อไปให้ดูคู่แข่งขันว่าทำโฆษณาอย่างไร ดูแล้ววิเคราะห์ให้ได้ว่าเขาประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวเพราะอะไร
  5. คนไม่ได้เลือกตัวสินค้า  แต่เลือกภาพลักษณ์ (Image) ที่เหมาะกับตัวของเขาเอง  ให้นึกภาพตัวเองกำลังรินวิสกี้ยี่ห้อจอห์นนี่วอล์กเกอร์ บลูเลเบิ้ล  เทียบกับรินวิสกี้แบล็คแคท   เราเหมาะกับสินค้าตัวไหนมากกว่า  สินค้าาหลายชนิดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนการเลือกใช้ “เหตุผล” ในการสื่อสาร  ไม่มีวันทำได้สำเร็จ
  6. รอโอกาสให้บางส่วนของโฆษณาได้ทำหน้าที่  ใครจะรู้บ้างว่าเพลง “คนไทยหรือเปล่า” ในโฆษณาเบียร์ช้าง ของคาราบาว จะกลายเป็นวลีฮิตติดปาก  คล้าย ๆ กับที่ยังจำประโยค “เก่งจริงนะตัวแค่เนี้ยะ” ของผ้าอนามัยลอริเอะ หรือ “คู่รักคู่รส” ของคอฟฟี่เมทได้ หรือจะนับเอาวลี “บาวแดงขวด” ที่มาพร้อมสัญลักษณ์ทำมือเป็นรูปเขาควาย  ที่เอาคำกับสัญญะเข้ามาผสมกันได้อย่างได้อารมณ์

 

ในที่สุดผมก็โยงคาราบาวเข้ามาจนได้ !!!

 

 

“ใครมีอะไรอยากบอกอยากถามมั้ย”

 

นี่แหละครับที่ผมบอกว่ารอโอกาสเหมาะ ๆ ให้นักศึกษาที่เตี๊ยมกันนอกห้องได้ตั้งคำถาม

 

“ในหนังสือห้องเรียนห้องใหญ่มีความเป็นครู อาจารย์พูดถึงเพลงของคาราบาวที่สามารถนำมาสอนได้อีกหลายวิชา อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้ด้วย”

 

ผมหยิบกีต้าร์ขึ้นมา  มีเพลงหนึ่งที่อยู่ในใจ  และเป็นเพลงที่แม้แต่แฟนคาราบาวก็อาจจะไม่ใคร่จะสนใจนัก  แต่เนื้อเพลงมีหลายท่อนหลายประโยค  ที่จะอธิบาย “บางอย่าง” ให้คนเรียนได้รู้ในมิติด้านลึกสำหรับหัดวิเคราะห์

               

 

“ทั้ง ๆ ที่ทน ที่ทนทุกข์ทรมาน แดดเผาเสียจนดำกร้าน แต่ความสงสารมักวิ่งสวนทาง

            สัญญาณไฟจอดอ้อนอ้อนทำบุญสุนทาน  มีดอกไม้หอม ๆ ตูมบาน มาลัยเป็นพวงสองพวงห้าบาท

 

            แสงแดดแผดร้อน สอดส่องสายตาจับจ้อง ขาก้าวเดิน ปากป่าวร้อง สองมือทำงานเช็ดถูกระจก

            คือน้ำใจของลูก ผูกพันภาระอันยิ่งใหญ่  ทดแทนคุณแม่ที่แก่เกินวัย นั่งร้อยมาลัย ณ ริมฟุตบาท

 

            ถึงจะมีจะจนก็เป็นคนเหมือน ๆ กัน ขอเศษสตางค์แบ่งปัน หนูน้อยกำนัลด้วยพวงมาลัย

            คือน้ำใจของท่าน ผูกพันภาระอันยิ่งใหญ่ ผูกใจเข้าใช่ผูกใจใคร คล้องพวงมาลัย คล้องไทยรวมกัน

 

            ระทมขมขื่น กล้ำกลืนฝืนทนทำไป ในหน้าที่ของตำรวจไทย ต้องอึดอัดใจไล่จับความจน

เพราะคนเป็นตำรวจ ตรวจตราแล้วมีเหตุผล มาลัยทำไปเพราะอับจน ให้ตำรวจจับโจรเสียยังดีกว่า

 

สงสารเด็กน้อยมาลัยรบกวนผู้ใหญ่  ผู้รับผิดชอบประเทศประไทย  ท่านคิดอย่างไรปัญหาอย่างนี้

จึงขอแนะนำว่าลงมาขายมาลัยสิ ท่านจะรู้คำตอบได้ดี ว่าที่ท่านคิดมันผิดหรือถูก

(เพลงมาลัย  อัลบั้ม อเมริกันอันธพาล  คาราบาว พ.ศ.2528)

 

ลองช่วยกันหาประโยคในเพลงที่จะบอกเราว่า.....คาราบาวเป็นครูสอนการตลาด  สอนจริยธรรม  สอนสังคมศึกษา  สอนรัฐศาสตร์  ได้มั้ยครับ!!!!  (ลองดู)

 

 

 

 

 

สัญญาณไฟจอด = วิชาพื้นฐานการตลาด ในตำราเราเรียกว่า 4’Ps  เราเรียนรู้ได้ว่าเด็กขาบพวงมาลัยรู้จักเลือกพื้นที่การขาย (Place)

มีดอกไม้หอม ๆ ตูมบาน = วิชาพื้นฐานการตลาด   อีกข้อหนึ่งหนึ่งที่สอนให้เราเรียนรู้เรื่อง ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ (Product Varieties)

มาลัยเป็นพวงสองพวงห้าบาท = วิชาพื้นฐานการตลาด เรื่อง ราคาและการส่งเสริการขาย (Price and Promotion)

ขาก้าวเดิน ปากป่าวร้อง = วิชาพื้นฐานการตลาด เรื่อง การตลาดขายตรง (Direct Sales)

สองมือทำงานเช็ดถูกระจก = วิชาพื้นฐานการตลาดบอกเราด้วยว่า ถ้า (ลด แลก แจก) แถม ได้ก็จะดี

คือน้ำใจของลูก ผูกพันภาระอันยิ่งใหญ่  ทดแทนคุณแม่ที่แก่เกินวัย = วิชาจริยธรรม

ถึงจะมีจะจนก็เป็นคนเหมือน ๆ กัน = สอนวิชาสังคมศึกษา เรื่องสิทธิและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

ในหน้าที่ของตำรวจไทย ต้องอึดอัดใจไล่จับความจน = วิชาสังคมศึกษา เรื่อง หน้าที่พลเมือง

ผู้รับผิดชอบประเทศประไทย  ท่านคิดอย่างไรปัญหาอย่างนี้ = วิชารัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง

 

ผมร้องเพลงมาลัยจบอย่างทุลักทุเลพอควร  กดคอร์ดไม่ถูกบ้าง  บอดบ้าง   ร้องเนื้อผิดบ้าง ถ้าเล่นดนตรีแล้วกดคอร์ดแป้ก  หรือร้องผิดท่อน นี่ถือว่าไร้สมรรถภาพทางการดนตรีอย่างยิ่ง  แต่คงไม่มีใครสนใจถึงข้อผิดพลาดนี้เท่าใดนัก  เพราะเพลงทำหน้าที่ของเพลงอย่างสมบูรณ์ไปแล้ว  คือสื่อสารกับคนฟังอย่างมีเป้าหมายและให้ซาบซึ้งไปกับความคิดของศิลปิน 

ผมยืนยันได้ว่าไม่มีใครสนใจข้อผิดพลาด เพราะผมต้องร้องเพลงนี้ซ้ำอีกครั้งตามคำเรียกร้อง   หลังจากอธิบายแยกส่วนทีละบรรทัด ๆ   ผมรีบเข้าเนื้อหาการโฆษณาที่เรียมมาอีกครั้ง  เพราะกลัวว่าจะมีใครสักคนลองของถามถึงเพลงคาราบาวที่สอนวิชาการพยาบาล 

 

แต่ถ้ามีใครถามผมเตรียมคำตอบไว้แล้วด้วย

“เอ๊า....คนข้าง ๆ ช่วยต่อยคนถามให้ตาเขียวสักที ถือเป็นการเรียนรู้แบบ Learning by Doing” ถ้าใครกล้าถามแล้วมีคนกล้าต่อย ผมจะร้องเพลง บัวลอย (เพลงสุดท้ายในอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์) ให้ฟัง 

ก็เห็นว่า ...  ในอดีตพอเพลงนี้ขึ้นเป็นเหมือนสัญญาณแสดงความเป็นชายโชว์หญิงเกือบทุกที ทั้ง ๆ ที่ความหมายของ “บัวลอย” มีปรัชญาและความล้ำลึก เกินกว่าคนชอบโชว์พาวด์จะเข้าใจ

 

“ฟังเพลงพอหรือยัง....มาเรียนกันต่อ” 

 

ผมทิ้งท้ายก่อนจะนำเข้าเนื้อหาการโฆษณาจริง ๆ สักที (หลังพาออกทะเลไปเกือบชั่วโมง.)

 

 

หมายเลขบันทึก: 298073เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2009 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท