ผชช.ว.ตาก (11) : ร่วมประชุมH2Pที่เวียดนาม วันที่สอง


H2P มาจากคำว่า Humanitatian Pandemic Preparedness เป็นการประชุมเตรียมแผนรับมือการระบาดใหญ่ไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ จัดโดยสภากาชาดเวียดนามกับองค์การอินเตอร์แอคชั่นภายใต้การสนับสนุนของยูเสด

          การประชุมH2P จัดขึ้น 3 วันที่ฮานอย เวียดนาม ตรงกับช่วงแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์เอเชียพอดี แต่ผมก็ไม่ได้ไปชมการแข่งขันทราบผลว่าไทยชนะญี่ปุ่นและได้เข้าไปชิงแชมป์กับจีน คืนแรกในฮานอยหลับดีแต่ก็ตื่นสายไปหน่อยเกือบเจ็ดโมงเช้า มองทางหน้าต่างแสงแดดเริ่มออกมาแต่หมอกบางๆยังคงปกคลุมเหนือนครฮานอย

          การประชุมวันแรกเริ่มต้นตรงเวลาแปดโมงครึ่งตามที่กำหนด พิธีกรนายดอนวันไถ่ รองประะานสภากาชาดเวียดนาม แนะนำแขกผู้มีเกียรติ กล่าวต้อนรับโดย ดร.ตันง็อกตรัง ประธานสภากาชาดฯ และนายไมเคิล มิชาลัค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำเวียดนาม และกล่าวเปิดโดยนายตรันจิเลียม รัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพเวียดนาม ที่กล่าวด้วยภาษาเวียดนามและมีเจ้าหน้าที่แปลเป็นภาษาอังกฤษเป็นช่วงๆ และได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมในการพัฒนาเครือข่ายการวางแผนรับมือการระบาดใหญ่ทั้งกลุ่มราชการ เอ็นจีโอ และองค์กรการกุศลต่างๆในระดับอาเซียน กระตุ้นให้เกิดแผนการรับมือภัยพิบัติไข้หวัดใหญ่ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีตัวแทนจากประเทศต่างๆมาประชุม 9 ประเทศคือบังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเชีย ลาว เนปาล ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม

          เสร็จจากพิธีเปิดแล้วก็พักเบรค แล้วต่อด้วยการแนะนำการประชุมโดยผู้จัด  ดร. เกร๊ก พับพาส และแนะนำผู้นำอำนวยการประชุม ตลอดทั้งสามวันคือคุณชาร์ลอน เบราน์ฟิลด์กับคุณริค เลนท์ ซึ่งได้นำเสนอภาพรวมทั้งหมดของการประชุมทั้งสามวัน แล้วก็ให้นั่งเป็นแบบโต๊ะกลมตามประเทศที่มา ถ้ามา 1-2 คนก็จะรวมกัน แต่ของไทยมีมา 7 คน เป็นคนไทย 4 คน ชาวต่างชาติ 3 คน คือผมจากภาคราชการ (สาสุข) อาจารย์หมอรัฐพลี (รองศาสตราจารย์นายแพทย์รัฐพลี ภาคอรรถ ศัลยแพทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯด้านผู้ป่วยวิกฤติ) สภากาชาดไทยจบแพทย์รุ่นเดียวกับผม แต่คนละมหาวิทยาลัย พี่ปัทธินี (แฟนหมอนาย) ดร.นิกุล จิตต์ไทย จากองค์การไอโอเอ็ม ประจำประเทศไทย (International Organization for Migration) หมอนาย จากไออาร์ซี (International Rescue Comittee) ประเทศไทย (เชื้อชาติพม่า สัญชาตินิวซีแลนด์) คุณยาซูยูกิ มิซาวา ชาวญี่ปุ่น จากโครงการอาหารโลกองค์การสหประชาชาติ (The UN World Food Program) และคุณโดลา มหาภัตรา ชาวอินเดียจากกองทุนเด็กนานาชาติประจำประเทศไทย (ChildFund Internation) ได้มีการพูดคุยแนะนำตัวกันเอง 10 นาทีพร้อมตอบคำถามว่าเมื่อมีคนถามเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ครั้งแรก คุณตอบอย่างไร แล้วนำเสนอให้กลุ่มอื่นๆได้รู้จักโดยหมอนายเป็นผู้แนะนำ

           ดร. รอน วัลด์แมน ได้บรรยายสั้นๆเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ อุปสรรคและจุดอ่อนของการเตรียมรับมือการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นบรรยายสั้นๆแต่สรุปความคิดรวบยอดได้ดีมาก เชื้อไข้หวัดใหญ่มีการปรับตัวเองเล็กๆน้อยๆตลอดเวลา (Antigenic drift) ซึ่งมักไม่ก่อการระบาดใหญ่ แต่ถ้าเกิดเปลี่ยนไปอย่างมากจนเกิดเป็นตัวใหม่ (Antigenic shift อ่านว่า แอนติเจนิก ชิฟท์) ซึ่งอาจารย์หมอคำนวณเคยบอกว่าจำง่ายๆว่าดริฟท์หรือชิฟท์ ถ้าshift เมื่อไหร่ ก็ชิปหายเมื่อนั้น เพราะคนจะไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงติดง่าย ป่วยง่าย และกระจายเร็ว แต่จะรุนแรงหรือไม่ก็คงแล้วแต่ชนิดๆไป ดร. รอน บอกว่า ตอนนี้ก็แบ่งไข้หวัดใหญ่ง่ายๆเป็น 3 กลุ่มคือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal flu:The flu) ไข้หวัดนก (Avian flu:Bird flu) และไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ (A Pandemic) ซึ่งตอนนี้ก็เกิดจาก ชนิดเอ เอช1เอ็น1 แต่การระบาดใหญ่นี้ไม่ได้บ่งบอกความรุนแรงเป็นการบอกการกระจายตัวของการเจ็บป่วยตามภูมิศาสตร์เท่านั้น พาหะของตัวใหม่ที่กระจายเร็วนี้ไม่ใช่นกหรือหมู แต่เป็นนกเหล็กหรือเครื่องบิน ที่พาเชื้อโรค(ในคน) กระจายไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

          ต่อจากนั้นเป็นการระดมสมองของแต่ละกลุ่มโดยการซ้อมแผนตามสถานการร์ที่กำหนดให้ 3 สถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆแล้วให้แต่ละกลุ่มตอบว่าจะทำอย่างไร ก็เหมือนการซ้อมแผนบนโต๊ะนั่นเอง มีคุณไมเคิล มอสเซลแมน เป็นวิทยากรดำเนินการ

          ตอนบ่าย คุณโรเบิร์ต คอฟแมน จากกาชาดสากล ได้บรรยายให้เห็นภาพของH2P ซึ่งต้องมีการเตรียมการให้พร้อมในด้านต่างๆจะช่วยลดอัตราการตายของผู้ป่วยได้ เขาบอกว่าไม่มีหน่วยงานใดที่จะสามารถรัยมือกับการระบาดใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นจึงต้องมีการประสานงานช่วยเหลือกัน เขาสรุปทิ้งท้ายด้วยว่า "อย่าได้ยอมให้การขาดการประสานงานกันเป้นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วย: Do not allow lack of coordination to become a cause of death"

          หลังเบรคบ่าย ให้แต่ละกลุ่มได้สรุปประเด้นต่างๆเกี่ยวกับการรับมือไข้หวัดใหญ่ของประเทศตนเพื่อนำประเด็นที่สำคัญไปกำหนดที่กระดานให้มีการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนประเทศต่างๆในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับมีการทบทวนการพูดคุยของกลุ่มและให้แนะนำหัวข้อที่กลุ่มตั้งไว้เพื่อให้สมาชิกที่เข้าประชุมเลือกว่าจะเข้าร่วมเรียนรู้กับกลุ่มไหน หัวข้อไหน เลิกประชุมห้าโมงกว่าๆ

           ตอนเบรค ผมได้คุยกับคุณเฮอร์ว่า ไอแซมเบิร์ท จากUNHCR ที่เจนีวา ได้พูดคุยกันเรื่องการระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009 ที่ค่ายแม่หละ จังหวัดตาก เขาบอกว่าเป็นค่ายแรกของโลกที่พบการระบาด ซึ่งมีอยู่ 14 รายและสามารถควบคุมการระบาดไม่ให้กระจายวงกว้างไปได้แล้ว

           ผมคุยกับอาจารย์รัฐพลี เกี่ยวกับสภากาชาดสากลที่เขาใช้คำย่อว่า IFRC แต่ตัวเต็มคือInternational Federation of Red Cross and Red Cresent Society มีตราเป็นธงขาวมีรูปกากบาทแดงคู่กับพระจันทร์เสี้ยวแดง เนื่องจากกากบาทเป็นสัญลักษณ์ของกางเขนของศาสนาคริสต์ซึ่งทางประเทศมุสลิมก็ขอให้เพิ่มพระจันทร์เสี้ยวแดงเข้าไป และต่อไปอาจมีเพิ่มเพชรแดง (Red Cruystal) เข้าไปจากความเชื่อของชาวอิสลาเอล ในเรื่องความเชื่อถือของแต่ละชนชาติเราก็ต้องยอมรับ ไม่ควรไปดูหมิ่นความเชื่อของคนอื่น 

           หลังประชุม หมอนาย พี่ปัทและผมก็ออกไปเดินเที่ยวในตัวเมืองลัดเลาะไปตามทะเลสาบกลางเมืองจนไปถึงย่านการค้าหรือไนท์บราซ่าที่คับคั่งไปด้วยผู้คนและสิงห์มอเตอร์ไซด์ เดินดูสินค้าที่วางขายดาษดื่น สลับเสียงแตรรถใหญ่รถเล็กที่ดังไม่ขาดเสียง เดินไปจนเจอบริษัทนำเที่ยวเข้าไปถามข้อมูลการเที่ยว และลองแวะไปดูโรงแรมเล็กๆแถวนั้นชื่อฮานอย โคซี่ โฮเทล (Hanoi Cozy Hotel) ห้องพักคู่ มีแอร์ สภาพดีใช้ได้ ราคาคืนละ 500-700 บาทต่อสองคน อยู่ในย่านการค้า เผื่อใครอยากมาเที่ยวเองและประหยัดค่าที่พักลองติดต่อได้ที่ www.hanoicozyhotel.com แล้วเดินไปชมร้านขายของที่ระลึก

           เดินลัดเลาะไปเรื่อยๆ ชมสินค้าหลากหลาย จนเกือบสองทุ่ม เดินกลับ แวะซื้อไอศครีมโคนกินราคา 25000 ดอง (50 บาท) ช่วยให้สดชื่นขึ้นมากเพราะอากาศร้อน อบอ้าวมาก รู้สึกไม่ค่อยสดชื่นเหมือนเมืองไทย กลับมารับประทานอาหารเย็นอร่อยๆที่โรงแรมมีเลียแล้วก็นั่งคุยกันจนสามทุ่มครึ่งก็แยกย้ายกันเข้าห้องพัก

หมอพิเชฐ

โรงแรมมีเลีย ฮานอย 23:20 น. 15 กันยายน 2552

           

หมายเลขบันทึก: 297990เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2009 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท