แลกเปลี่ยนประสบการณ์


การบริหารงานสหกรณ์

การบริหารงานสหกรณ์ในสถานประกอบการ

ในวงการสหกรณ์มีบทความ  กรณีศึกษาและองค์ความรู้มากมายที่เขียนไว้ว่า “สหกรณ์” นั้นเป็นวิธีการที่ดี และเป็นระบบที่จะช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  สำหรับคนในวงการสหกรณ์เองก็เชื่อว่า “สหกรณณ์นี่แหละที่จะช่วยประชาชนได้”  ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการภาคเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ  อยากจะเล่าประสบการณ์การทำงานในสหกรณ์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารงาน  ว่า  การพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์นั้น  ทำได้ยากถ้า “กรรมการ” ไม่เข้าใจบทบาทตัวเอง  แต่ในส่วนตัวแล้ว  การทำงานในสหกรณ์เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถอย่างยิ่ง เพราะการบริหารงานสหกรณ์ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเฉพาะ และพิเศษกว่าองค์การอื่นในโลก เพราะเป็นทั้งสถาบันการเงิน และองค์กรเพื่อสังคม  ในเวลาเดียวกัน  การบริหารงานแบบนี้ความยากไม่ใช่อยู่ที่ความสามารถในการทำกำไร  แต่อยู่ที่ว่า  จะทำอย่างไรให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดี  มีความมั่นคงทางการเงิน  มีความสุขเมื่อมาใช้บริการสหกรณ์  มีความภาคภูมิใจในการเป็นสมาชิก ฯลฯ 

                ในการบริหารงานสหกรณ์  เป็นการบริหารงานด้วยการธุรกิจกันสมาชิกและสหกรณ์อื่น  และไม่ได้มุ่งกำไรสูงสุด  แต่มุ่งประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม  ซึ่งในการบริหารภายใต้หลักสหกรณ์สากลทั้ง  7  ข้อนี้ไปพร้อมกัน

  1. การเปิดรับสมาชิกทั่วไปและด้วยความสมัครใจ  การเป็นสมาชิกสหกรณ์ควรเป็นด้วยความสมัครใจและเปิดให้ทุกคนที่ต้องการสมัครเป็นสมาชิกเพื่อใช้บริการของสหกรณ์และเต็มใจรับผิดชอบในฐานะสมาชิก  และสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกและออกจากการเป็นสมาชิกโดยเสรี  สมาชิกไม่มีข้อจำกัดทางสังคม  การเมือง เชื้อชาติ และศาสนา
  2. 2.               การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย  การควบคุมและการจัดการสหกรณ์เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อเป็นสมาชิกของสหกรณ์  สมาชิกทุกคนมีสิทธิในสหกรณ์เสมอภาคกันในการใช้สิทธิออกเสียงหนึ่งคนต่อหนึ่งเสียง ไม่ได้ยึดถือหุ้นมากเป็นที่ตั้ง  แต่ยึดถือว่า “คน” เป็นที่ตั้ง  ดังนั้น ถ้าสมาชิกคนหนึ่งจะมีหุ้นสะสมมากมายเพียงใด  ก็มีสิทธิเท่ากันหมดทุกคน  คณะกรรมการดำเนินการที่จะทำหน้าที่ในการบริหารงาน จึงต้องมาจาการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ตามหลักประชาธิปไตย
  3. การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยสมาชิก  ในการดำเนินธุรกิจของสหกณ์  สมาชิกสหกรณ์พึงให้ความร่วมมือในการใช้บริการและควบคุมการบริหารจัดการตามแนวทางประชาธิปไตย  เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง  และร่วมรับประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจอย่างเที่ยงธรรมตามสัดส่วนของการมีส่วนรวมทางเศรษฐกิจกับสหกรณ์  ซึ่งสหกรณ์จะทำธุรกิจกับสมาชิกก่อนเท่านั้น  เมื่อมีทุนเหลือจึงทำธุรกิจกันหน่วยงานอื่น
  4. หลักการปกครองตนเอง และความเป็นอิสระ สหกรณ์เป็นองค์การอิสระ และเน้นการพึ่งพาตนเอง โดยการควบคุมของสมาชิกตามแนวทางประชาธิปไตย  ในกรณีที่สหกรณ์จำต้องมีข้อตกลงหรือผูกพันกับองค์การอื่น ๆ รวมถึงองค์การของรัฐ หรือต้องแสวงหาทุนจากแหล่งภายนอก สหกรณ์ต้องกระทำภายใต้เงื่อนไขอันเป็นที่มั่นใจได้ว่า มวลสมาชิกจะยังคงไว้ซึ่งอำนาจในการควบคุมตามแนวทางประชาธิปไตย และยังคงดำรงความเป็นอิสระของสหกรณ์ได้
  5. การศึกษา การฝึกอบรม และข้อมูลข่าวสาร  สหกรณ์พึงให้การศึกษาและการฝึกอบรมแก่มวลสมาชิก ตัวแทนสมาชิก กรรมการ ผู้จัดการ และพนักงาน เพื่อบุคคลเหล่านั้นให้สามารถมีส่วนช่วยพัฒนาสหกรณ์ของตนได้อย่างมีประสิทธิผล รวมถึงการให้ข่าวสารแก่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่เยาวชน และบรรดาผู้นำทางความคิดในเรื่องคุณลักษณะ และคุณประโยชน์ของสหกรณ์  เพื่อให้อุดมการณณ์สหกรณ์ได้กระจ่ายเข้าไปในทุกส่วนของประชาชน
  6. การร่วมมือระหว่างสหกรณ์  สหกรณ์สามารถให้บริการแก่สมาชิกได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการสหกรณ์ได้  โดยการประสานความร่วมมือกันในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ   ในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและสร้างประโยชน์สูงสุดต่อขบวนการสหกรณ์
  7. 7.               ความเอื้ออาทรต่อชุมชน   สหกรณ์เป็นองค์การเพื่อสังคม  จึงต้องมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาสัมคมให้มีความยั่งยืน  เพราะบรรดาสมาชิกสหกรณ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่สหกรณ์ตั้งอยู่  ฉะนั้นสหกรณ์ก็ต้องมีความรับผิดชอบในการพัฒนาชุมชนนั้น ๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม ซึ่งในที่สุดก็เพื่อประโยชน์ของบรรดาสมาชิกของสหกรณ์นั่นเอง

                        การบริหารงานสหกรณ์โดยยึดหลักสหกรณ์ข้างต้น  จึงเป็นงานที่ท้าทายความสามารถมากที่สุด  เพราะตัวแปรสำคัญอยู่ที่ตัวสมาชิก  และกรรมการ  ซึ่งถ้าคน  2  กลุ่มนี้ไม่เข้าใจบทบาทตัวเองแล้วอุปสรรคในการบริหารงานจะเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก  ที่เป็นเช่น ขอกล่าวว่า  กรรมการเป็นคนสำคัญ  ในการบริหารงานสหกรณ์ กรรมการต้องทำตัวเป็น “พ่อแม่”  ที่จะคอยให้การอบรมสั่งสอนสมาชิกสหกรณ์ได้รู้จักดำเนินชีวิตตามวิธีแห่งสหกรณ์หรือเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน  คอยปัญหาเมื่อสมาชิกได้รับความเดือนร้อน  คอยเตือนเมื่อสมาชิกปฎิบัติตัวในทางที่ผิด  ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นได้ตามหลักสหกรณ์ที่กำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ

                        สิ่งที่บงบอกว่า “กรรมการ” เป็นคนสำคัญบทบาท  และหน้าที่ของกรรมการ  คำว่า “คณะกรรมการดำเนินการ”ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่ง และกรรมการอีกสิบสี่คน  คณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการสหกรณ์ เป็นผู้บริหาร  ไม่ใช่กรรมการตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด  อุปสรรคสำคัญของสหกรณ์คือคณะกรรมการดำเนินการ  ทำงานงานคล้ายกรรมการตัดสิน  ไม่ได้ทำงานคล้ายผู้บริหารเหมือนกันตอนที่หาเสียงว่าจะอาสาเข้ามาบริหารกิจการของสหกรณ์ให้เจริญก้าวหน้าตามที่เคยพูดไว้  และทิ้งหน้าที่ในการบริหารงานให้ฝ่ายจัดการซึ่งไม่มีอำนาจมากพอในการกำหนดนโยบาย  เมื่อฝ่ายบริหารได้บริหารงานตามหน้าที่ก็จะส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายจัดการด้วย

                        สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ  นับเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานในหน่วยงาน  แต่มีขีดจำกัดในเรื่องของการเข้าออกและเวลาในการปฏิบัติงาน  ซึ่งสหกรณ์บางแห่งอาจไม่ได้รับการส่งเสริมจากสถานประกอบการเท่าที่ควร  อย่างไรก็ดีในการบริหารงานคณะกรรมการจะต้องสร้างระบบต่างๆ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในการดำเนินการของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  และการให้บริการที่รวดเร็ว  ตลอดจนรองรับการเข้าออกของสมาชิกสหกรณ์ที่มีความเป็นไปได้สูงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนงานของพนักงานในองค์การ  การให้บริการทางการเงินแก่สมาชิกสหกรณ์กรรมการทำควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  และอาจต้องพูดได้ว่า “อย่าตามใจสมาชิก”  เพราะธรรมชาติของสมาชิกสหกรณ์ต้องการกู้เงินมากกว่าการออมอยู่แล้ว  ดังนั้นในการบริหารงานต้องให้การส่งเสริมการออมมากกว่าการให้สินเชื่อ  บทบาทนี้กรรมการต้องใช้หลักข้อ  5  การศึกษา การฝึกอบรม และข้อมูลข่าวสาร  ให้มาก การที่จะให้สมาชิกสหกรณ์เป็นประโยชน์และดำเนินการออมให้เห็นผลนั้นต้องใช้เวลาที่ยาวนั้น  แต่ผลของมันนั้นมั่งคง  สวยงาม และหอมหวานมากนัก

                        การสร้างความต่อเนื่องในการบริหารงานของสหกรณ์เป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง เมื่อสหกรณ์ต้องมีการเปลี่ยนกรรมการที่จะทำหน้าที่ในการบริหารงานบ่อยจึงต้องมีการทำแผนกลยุทธ์ใช้ในการบริหารงานสหกรณ์โดยการกำหนดเป็นแผนระยะยาวที่ชัดเจนถึงแม้จะเปลี่ยนกรรมการกี่ชุดก็ตามแผนงานในการพัฒนานั้นก็จะยังคงดำเนินการต่อไปได้อย่างมั่นคง  และให้ความยืดหยุ่นกับแผนระยะสั้นให้กรรมการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อตอบสนองแผนกลยุทธ์ระยะยาวของสหกรณ์

                        การจัดสรรประโยชน์ให้กับสมาชิกสหกรณ์ไม่ควรให้เงินปันผลเป็นแรงจูงใจในการออมแก่สมาชิกมากเกินไป  แต่ควรจัดสวัสดิการสมาชิกในการที่จะให้ความช่วยเหลือ และดูแลสมาชิกต่อไปจนกว่าจะเสียชีวิต  แม้ว่าสมาชิกผู้นั้นจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานแล้ว  ไม่สามารถหักเงิน  ณ  ที่จ่ายได้  แต่ยังคงให้เป็นสมาชิกสมทบต่อไปได้  เพราะการให้การดูแลสมาชิกในระยะยาวนั้นจะทำให้สมาชิกเป็นประโยชน์ของสหกรณ์ในอนาคตมากขึ้น  หรือให้สมาชิกเป็นว่าเงินออมที่ตนออมกับสหกรณ์นั้นจะเป็นรายได้ที่ให้เลี้ยงดูตนเองในยามที่เกษียณอายุงานแล้วไปจนตลอดชีวิต และช่วยเสริมสร้างให้สมาชิกสหกรณ์เกิดความศรัทธาในระบบสหกรณ์  และส่งต่อไปยังบุตรหลาน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นเกราะในการสร้างความมั่นคงของสหกรณ์ตราบนานเท่านาน

โดย  :  สมปอง  งามแฉล้ม

เพื่อ  :  แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และขอคำแนะนำในการบริหารงาน

หมายเลขบันทึก: 297919เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2009 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณสมปอง...แวะมาทักทายค่ะ

ขอบคุณที่เข้าไปเยี่ยมนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท