โลกทัศน์พุทธศาสนาในวรรณคดีเรื่อง มิลินทปัญหา


ศาสนากำกับความรู้สึกนึกคิดอย่างไร

การศึกษาเพื่อให้เข้าใจระบบคิดหรือพฤติกรรมของบุคคลนับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการกำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน การศึกษาจะประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจพื้นฐานมนุษย์ก่อน สิ่งที่สามารถทำให้เข้าใจมนุษย์ได้ดีประการหนึ่งคือ “โลกทัศน์ world view” หรือ “กรอบการอ้างอิง frame of reference” ซึ่งกรอบดังกล่าวถูกอ้างอิงโดยสังคม “พุทธศาสนา” อันเป็นศาสนาที่ประชากรไทยนับถือมากที่สุด และในฐานะที่ “ศาสนา religion” สามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับมนุษย์ได้ และทำให้เราเข้าใจมนุษย์ งานเขียนด้านศาสนาอย่าง “มิลินทปัญหา” ในฐานะวรรณกรรมที่มีรูปแบบการเขียนแบบ “ปุจฉา-วิสัชนา” ในเรื่องของ “พุทธศาสนา” จึงถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษา ในการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนมุ่งที่จะศึกษาเพื่ออธิบาย “โลกทัศน์พุทธศาสนาในวรรณคดีเรื่อง มิลินทปัญหา” อันจะนำไปสู่ความเข้าใจ “มนุษย์” โดยเฉพาะผู้ที่นับถือ “พุทธศาสนา”

                ในเบื้องต้นที่จะศึกษามีคำศัพท์ที่ผู้อ่านควรจะได้ทำความเข้าใจเบื้องต้นอยู่ ๒ คำ ประกอบด้วยคำว่า “โลกทัศน์” และ “พุทธศาสนา” ซึ่งผู้เขียนขอสรุปรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

                “โลกทัศน์” มีความหมายว่าอย่างไร? พจนานุกรมในเวิร์ดเน็ต[1](wordNet) นิยามว่า “โลกทัศน์” หมายถึง มุมมองอย่างกว้างๆ ที่มีต่อโลกและชีวิต ส่วนสารานุกรมวิกิพิเดีย[2](Wikipidia) ให้ความหมายของ “โลกทัศน์” เป็นชุดของความคิดเห็นที่เป็นระบบที่มีต่อโครงสร้างของจักวาลและให้ความหมายแก่ชีวิตและความสัมพันธ์ของคนกับสังคม และเกศิณี  จุฑาวิจิตร[3] กล่าวว่า “โลกทัศน์” เป็นได้ทั้งมุมมองความคิดรวบยอด, ชุดของความคิดเห็นและระบบของความเชื่อที่มนุษย์ใช้ในการให้ความหมาย, ใช้ในการอ้างอิงและใช้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคมและจักรวาล

                จากคำนิยามข้างต้นพบว่า “โลกทัศน์” เป็นคำที่มีความหมายกว้างๆ แตกต่างกันไปตามแต่จะนิยาม และยังไม่สามารถหาบทสรุปนิยามได้ ในการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนจึงนิยาม “โลกทัศน์” หมายถึง ระบบความเชื่อ ความคิด มุมมอง อันอ้างอิงอยู่กับความสัมพันธ์ทางสังคมและธรรมชาติที่มนุษย์ใช้ในการอธิบายเรื่องราวต่างๆ ทำให้เกิดคุณค่าต่อความเข้าใจตนเอง สังคม จักรวาล(อันหมายถึงธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติด้วย) อันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ สังคมและโลก

                หลังจากที่ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจ “โลกทัศน์” แล้ว สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจต่อมาคือ “พุทธศาสนา” (Buddha religion) คำสอนของทุศาสนาเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้มนุษย์เข้าใจตนเอง เข้าใจสังคม และเข้าใจโลก อันจะนำไปสู่การปรับวิถีการดำรงชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ศาสนาในสังคมจึงเป็นสิ่งที่ถูกคนในสังคมนำมาเป็น “กรอบการอ้างอิง frame of reference” หรือ “โลกทัศน์ world view” อีกแบบหนึ่ง

                พุทธศาสนา หมายถึง ศาสนาที่สอนให้คนทำความดี ละเว้นจากการทำชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส ตัณหา โดยมี “นิพพาน” เป็นที่ตั้ง อันจะนำไปสู่การสิ้นสุดของความโลภ โกรธ หลง ทั้งนี้ระเบียบปฏิบัติที่สำคัญได้แก่ การตั้งหมั่นอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา[4]

                ตามหลักพุทธศาสนา เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือ “นิพพาน” แต่เนื่องจากประชาชนมีความเชื่อเดิมที่ฝังลึกอยู่ในสมอง มีวิธีคิด และวิถีชีวิตอยู่ก่อนที่จะมี “พุทธศาสนา” และสิ่งนี้มีขึ้นในภายหลังพร้อมกับมีอิทธิพลต่อสังคมเหล่านั้น การยอมรับ “พุทธศาสนา” จึงเป็นการยอมรับแบบผสมผสานเข้าไว้ด้วยกันกับระบบคิด ความเชื่อและวิถีชีวิตแบบเดิม ระบบความคิดความเชื่อตามหลักคำสอนของพุทธสาสนาที่แท้จริงจึงมีน้อย แต่เป็นการผสมปะปนเข้ากับความเชื่อดั้งเดิม(ก่อนรับพุทธศาสนา) คือการนับถือผี (Animism) และความเชื่อแบบพราหมณ์ (Baahmanism) อันหมายถึง “พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน” (Popular Buddhism) ตามทัศน์ของภัทรพร สิริกาญจน[5] ที่แบ่งศาสนาโดยจำแนกความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติของคนไทยออกเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับชาวบ้านและระดับปัญญาชน

                ศาสนาระดับชาวบ้าน คือ มีความเชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เวทมนต์คาถา อำนาจเหนือธรรมชาติและเน้นการปฏิบัติตามประเพณี โดยมิได้หวังผลในตำแหน่งที่สูงสุดในพุทธศาสนา (นิพพาน) ในขณะที่ศาสนาระดับปัญญาชนมุ่งศึกษาค้นคว้าในหลักธรรมคำสอนของศาสนา เพื่อให้เข้าถึง

“นิพพาน” ในการศึกษาโลกทัศน์ในครั้งนี้ “โลกทัศน์พุทธศาสนา” จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปะปนของระบบความคิด ความเชื่อดั้งเดิมแบบ “พุทธศาสนาไม่แท้” (ความเชื่อผี พราหมณ์)ได้

                “โลกทัศน์พุทธศาสนา” จากการชมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ VCD เรื่อง มิลินทปัญหา อันเป็นการสนทนาธรรมระหว่างพระเจ้ามิลิน กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสากลนครกับพระนาคเสน ในเรื่องของกำเนิดของรูปมนุษย์ อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ความรัก โลภ โกรธ หลง หรือ ขันธ์ ๕ สะท้อนให้เห็น “โลกทัศน์พุทธศาสนา” ที่เป็น “ศาสนาระดับปัญญาชน” ที่มุ่งศึกษาคำสั่งสอนของศาสนาเพื่อให้ตนเองหลุดพ้น(นิพพาน) อันเป็นแนวปฏิบัติที่ตรงกันข้ามกับการปฏิบัติของ “พุทธศาสนิกชนไทย” ที่เรียกว่า “พุทธศาสนาระดับชาวบ้าน”

                พระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาเป็นเครื่องอุปถัมภ์ช้ำชูซึ่งกันและกัน พระมหากษัตริย์ทรง “องค์อุปถัมภ์” ในกิจการด้านศาสนา อย่างเช่น พระเจ้าอโศกมหาราชผู้นำในการสังคายนาพระไตรปิฎก หรือแม้แต่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็น “องค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา” และออกผนวชในพุทธศาสนา นอกจากนี้ศาสนายังเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ “ศาสนา” จึงเป็นวาทกรรมหนึ่งของความเป็น “คนไทย” ที่ต้องมี สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

                พระมหากษัตริย์ตามความเชื่องของสังคมไทยคือ “เป็นเทวราชา” ที่เป็นเทพมาจากสวรรค์ อันหมายถึงผู้มี “บุญ” แสดงให้เห็นถึงการหลุดพ้นระดับหนึ่งเพื่อเข้าสู่ “นิพพาน” ประกอบกับฐานะทางการปกครองที่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน การนับถือและการปฏิบัติตามหลักศาสนาจึงเป็นระดับ “ปัญญาชน” อันเป็นระดับที่เหนือกว่า “ระดับชาวบ้าน” ที่ประชาชนจำนวนมากถือปฏิบัติอยู่ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนคือ ความสามารถในการเข้าถึง “พุทธศาสนา” โดยใช้ “ความเป็นสมมติเทพ” เป็นตัวอย่างให้ประชาชนได้เห็นว่า การปฏิบัติตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนาควรปฏิบัติในระดับ “ปัญญาชน” จึงจะสามารถหลุดพ้นและสามารถเข้าสู่ “ความเป็นเทพ” ได้อย่างพระมหากษัตริย์

                พระนาคเสน พระสงฆ์ผู้รู้แจ้งแห่ง “ธรรมะ” อันเป็นผู้ “สืบต่อ” ศาสนา หน้าที่โดยหลักของพระสงฆ์คือ การสอนธรรมและการเผยแผ่ศาสนา พระสงฆ์ในฐานะผู้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนาจึงเป็นผู้ปฏิบัติโดยตรงและเป็น “ตัวอย่าง” ของผู้ปฏิบัติที่สอดคล้องกับ “หลักของศาสนา” การเป็นผู้รู้แจ้งแห่งธรรมจึงเป็นเครื่องยืนยันสถานะของการนับถือพุทธศาสนา “ระดับปัญญาชน” พระสงฆ์จึงอยู่ในฐานะที่สูงกว่าจึงเป็นบุคคลที่สมควรกราบไหว้

                ศาสนา กำเนิดขึ้นจากความ “กลัว” ของมนุษย์ในสิ่งต่าง ๆ ศาสนาจึงเป็นที่รับรองความมั่นใจในความปลอดภัยแก่มนุษย์ มนุษย์จึงเชื่อว่าการเข้าหาศาสนาเป็นสิ่งที่ทำให้ตนเอง “ปลอดภัย” แต่การเข้าถึงศาสนากลับไม่ใช่ “การเข้าถึงหลักธรรมคำสอน” แต่ “เข้าถึงเพียงพระสงฆ์ที่ตนนับถือ” ตามคติของตน และความเชื่อมั่นในการมีอยู่ของ “ตัวตน”

                การสนทนาธรรมระหว่างพระเจ้ามิลินกับพระนาคเสนเป็น “กรอบอ้างอิง” ที่อธิบายถึงการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักของ “พุทธศาสนา” การที่ทั้งสองสนทนาธรรมและมีความเข้าใจแจ่มแจ้งทั้งผู้ถาม (พระเจ้ามิลิน) และผู้ตอบ (พระนาคเสน) ในตอนท้าย แสดงให้เห็นว่า “การปฏิบัติธรรม” ที่แท้จริงต้องเข้าใจในหลักธรรมคำสอนเพื่อมุ่งเข้าสู่การ “นิพพาน” ตามหลักของศาสนา “ระดับปัญญาชน” ไม่ใช่การทำเพื่อ “ผลบุญในชาตินี้ ชาติหน้าเกิดมาจะได้อยู่ดีกินดี” ตามหลัก “ศาสนาระดับชาวบ้าน” โดยมิได้หวังให้ตน “หลุดพ้น (นิพพาน)”

                หลักธรรมที่สำคัญของการสนทนาธรรมคือ ขันธ์ ๕ หรือ เบญจขันธ์ อันเป็น “ส่วนประกอบ” และ “องค์ประกอบ” ที่ก่อร่างสร้างทุกข์อย่างในตัวมนุษย์ เมื่อมนุษย์ถูกสร้างขึ้นด้วยส่วนประกอบต่างๆ ทำให้มนุษย์มีกิเลส มีรัก มีโลภ มีโกรธ มีหลง ที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมายในสังคม ต้นต่อที่สำคัญของปัญหาจึงเกิดจากการไม่เข้าใจตนเอง ไม่รู้กิเลสและทางสกัดกิเลสในตน การสนทนาธรรมเรื่องขันธ์ ๕ จึงเป็นการจุดประกายนำทางในการแก้ปัญหาทั้งมวลของ “มนุษย์” จากความเข้าใจผิดของมนุษย์ที่เชื่อมั่นใน “ความมีอยู่ของตัวตน” และทำทุกอย่างเพื่อตัวตน

                เรื่องขันธ์ ๕ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา[6] การไม่เข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า “ขันธ์ห้า” จึงทำให้ไม่เข้าใจ “พุทธศาสนา” นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ อย่างที่สังคมเผชิญอยู่ทุกวันนี้

                มิลินทปัญหาได้นำเรื่อง “ขัน ๕” มานำเสนอ เป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเข้าใจถึงแก่นแท้ของ “มนุษย์” ทำให้เกิดความเข้าใจตนเองมากขึ้น เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เข้าใจธรรมชาติ สังคม โลก และจุดสูงสุดแห่งการปฏิบัติศาสนาที่เรียกว่า “นิพพาน” ตามหลักพุทธภาษิตที่ว่า “นิพพานเป็นอุดมธรรม[7]” และที่สำคัญอีกประการคือ การเสนอแนวทางที่ถูกต้องในการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาคือ “พุทธศาสนาระดับปัญญาชน” ไม่ใช่ “พุทธศาสนาระดับชาวบ้าน” อย่างที่ประชาชนไทยส่วนมากำลังปฏิบัติอยู่อย่างไม่รู้ตัว แนวทางดังกล่าวมุ่งให้ “มนุษย์” ศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ให้เข้าใจตัวเองเข้าใจธรรมะ เพื่อความสงบสุขของมวลมนุษย์ ดังเช่น การสงบศึกสงครามของ “พระเจ้ามิลิน” กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสากลนคร อันเป็นผลมาจากการเข้าใจ “ขันธ์๕ (ตัวตนของตน)” อย่างแท้จริง สงครามที่เคยทำจึงไม่ใช้ทำสงครามเพื่อตัวตนแต่ทำเพราะความกลัว ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจมากกว่า

 


[1] WordNet. เว็ปไซค์

[2] Wikipidia. เว็ปไซค์

[3] เกศิณี  จุฑาวิจิตร.  ภาพสะท้อนสังคมและโลกทัศน์นักเขียน จากเรื่องสั้นยุควิกฤตเศรษฐกิจ. นครปฐม :

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, ๒๕๕๐. หน้า ๔๙-๕๐

[4] พุทธทาสภิกขุ. “คู่มือมนุษย์” ใน ที่ระลึกในงานฌาปณกิจศพขุนไววัจนวิชิต. พระนคร : แพร่การช่าง, ๒๕๐๘.

หน้า ๙

[5] ภัทรพร  สิริกาญจน. “ปัญหาเรื่องความหมายของ “ธรรม” ในพุทธศาสนาแนวประชานิยมของไทย”. โครงการวิจัยเสริมหลักสูตรคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๐. หน้า ๑๔-๑๕

[6] พุทธทาสภิกขุ.  ชีวิตคือขันธ์ทั้งห้า.  กรุงเทพ ฯ : สามัคคีสาส์น, ๒๕๓๐. หน้า ๒

[7]                       .  คู่มือมนุษย์ ใน ที่ระลึงงานฌาปณกิจศพ ร้อยโท นายแพทย์สุทัศน์  เวชโช, ๒๕๔๗. หน้า ๑๔๒

หมายเลขบันทึก: 296762เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2009 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รบกวนขอ..ชื่อผู้วิจัย และอ้างอิงวิจัยด้วยค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท