ความรู้ที่อยากบอกต่อ


คำสั่งทางปกครอง

แบบของคำสั่งทางปกครอง และการมีผลของคำสั่งทางปกครอง

คำสั่งทางปกครองมี 3 รูปแบบ

1. การออกคำสั่งทางปกครองด้วยวาจา มาตรา 34 ประกอบมาตรา 35 ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วน โดยไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลตามมาตรา 34 แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรผู้รับคำสั่งทางปกครอง สามารถร้องขอภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ที่ออกคำสั่งด้วยวาจายืนยันคำสั่งโดยทำเป็นหนังสือได้ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของคำสั่งตามมาตรา 35  คำสั่งทางปกครองด้วยวาจามีผลทันทีเมื่อได้รับแจ้ง เช่น ตำรวจจราจรส่งให้หยุดรถเพื่อตรวจควันดำ เป็นคำสั่งด้วยวาจามีผลทันทีที่สั่ง

2. คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือ มาตรา 36 กำหนดให้ระบุวัน เดือน ปี ที่ออกคำสั่งชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ทำคำสั่งพร้อมลายเซ็น และเจ้าหน้าที่ต้องให้เหตุผลประกอบโดยมีข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญตามมาตรา 37 (2) (3) ดังนั้น คำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือจะสมบูรณ์ต้องใช้มาตรา 36 ประกอบมาตรา 37 แต่จะมีข้อยกเว้นว่าบางทีก็ไม่ต้องให้เหตุผลก็ได้ เช่น ไปขอทำใบอนุญาตขับขี่ แล้วเจ้าหน้าที่ก็ออกให้ เช่นนี้ไม่ต้องให้เหตุผลที่ออกใบอนุญาต เพราะว่าคำสั่งทางปกครองตรงตามคำขอ และไม่กระทบสิทธิและหน้าที่ของบุคคลอื่นตามมาตรา 37 วรรค 3 (1)

คำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือมีผลทางกฎหมาย แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวิธีการแจ้งเพราะคำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือสามารถแจ้งได้หลายวิธี

2.1 ผู้รับแจ้งได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่โดยตรง ก็มีผลทันทีเมื่อได้รับหนังสือ ตามมาตรา 69 วรรค 2

2.2 เป็นการแจ้งโดยวิธีให้บุคคลนำไปส่ง คล้ายๆ กับการปิดหมายในทางแพ่ง คือนำไปวางที่ภูมิลำเนาแล้วปิดไว้โดยเจ้าพนักงานเป็นผู้รับรอง ตามมาตรา 70

2.3 เป็นการแจ้งโดยไปรษณีย์ตอบรับ ตามมาตรา 71

- ไปรษณีย์ตอบรับที่ส่งภายในประเทศ มีผลเมื่อครบกำหนด 7 วันนับแต่วันที่สั่ง

- ไปรษณีย์ตอบรับที่ส่งไปยังต่างประเทศ ถือว่าได้รับแจ้งเมื่อครบกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ส่ง

2.4 การแจ้งกระทำโดยวิธีปิดประกาศไว้ ตามมาตรา 72 การแจ้งโดยวิธีนี้มีองค์ประกอบ 2 ข้อ

(1) ต้องมีจำนวนคู่กรณี 50 คนขึ้นไป

(2) ทันทีที่เขาเข้ามาเป็นคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องบอกไว้ว่าจะแจ้งโดยวิธีการปิดประกาศ ซึ่งให้มีผลนับจากวันที่ปิด ประกาศไปแล้ว 15 วัน

2.5 การแจ้งโดยประกาศในหนังสือพิมพ์ มีองค์ประกอบ 3 กรณี ตามมาตรา 73

(1) ไม่รู้ตัวผู้รับ

(2) รู้ตัวแต่ไม่รู้ว่าภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน

(3) รู้ตัวผู้รับและภูมิลำเนาของผู้รับ แต่มีผู้รับเกิน 100 คน ซึ่งมีผล 15 วันนับแต่วันแจ้ง

2.6 การแจ้งโดยวิธีส่งแฟกซ์หรือทางเครื่องโทรสาร การแจ้งทางโทรศัพท์ให้ใช้ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

3. คำสั่งทางปกครองโดยวิธีอื่น พิจารณาง่ายๆ คือไม่ใช่คำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือหรือด้วยวาจา เช่น สัญญาณมือของตำรวจจราจร สัญญาณธงของเจ้าหน้าที่การรถไฟ สัญญาณไฟกระพริบของประภาคาร มีผลทันทีเมื่อได้รับแจ้ง

การสิ้นผลของคำสั่งทางปกครอง

1. สิ้นผลด้วยการเพิกถอน อาจเพิกถอนโดยตัวเจ้าหน้าที่ที่ออกคำสั่งเอง เพิกถอนโดยผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ที่ออกคำสั่งทางปกครอง หรือเพิกถอนโดยศาลปกครอง

2. สิ้นผลด้วยเงื่อนเวลา เช่นในใบอนุญาตแต่ละประเภทจะกำหนดไว้ว่าอนุญาตกี่ปี ถ้ายังไม่ครบตามที่กำหนดก็ยังมีผลอยู่ แต่ถ้าครบกำหนดแล้วใบอนุญาตก็สิ้นผล คำสั่งทางปกครองก็สิ้นสุด

3. สิ้นผลด้วยเหตุอื่น คือ สิ้นผลโดยคำพิพากษาของศาล

การทบทวนคำสั่งทางปกครอง

การทบทวนคำสั่งทางปกครอง แบ่งได้ 3 กรณี

1. การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง

2. การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

3. การขอให้พิจารณาใหม่

การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง คือ การโต้แย้ง คัดค้านในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยในคำสั่งทางปกครอง การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งทางปกครองออกมาแล้ว เมื่อไม่เห็นด้วยก็ต้องอุทธรณ์ จะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งทางปกครองออกมาแล้ว เมื่อไม่เห็นด้วยก็ต้องอุทธรณ์หรือเพิกถอน หรือจะขอให้พิจารณาใหม่ เมื่อไม่เห็นด้วยก็จึงนำคดีไปสู่ศาล

การอุทธรณ์ มี 6 หัวข้อ ดังนี้

1. ผู้ที่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง คือ คู่กรณีตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง คู่กรณี สามารถอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองได้หมดไม่ว่าจะเข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาด้วยวิธีไหน ไม่ว่าจะเป็นผู้ยื่นคำขอ ผู้คัดค้านคำขอ ผู้ถูกกระทบสิทธิจากคำสั่งปกครอง

2. อุทธรณ์กับใคร ตามมาตรา 44 เป็นหลักของการอุทธรณ์ กำหนดไว้ว่าการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งทางปกครอง ให้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง ซึ่งต่างจากการเพิกถอนและการขอให้พิจารณาใหม่

3. กำหนดเวลาอุทธรณ์ มาตรา 44 ถ้าไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้จะต้องอุทธรณ์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

4. รูปแบบของการอุทธรณ์ มาตรา 44 วรรค 2 กำหนดไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือและจะต้องมีเนื้อหาสาระที่เป็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่จะเอามาอ้างว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยตรงไหน ไม่เห็นด้วยในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย หรือไม่เห็นด้วยทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จะต้องเขียนไว้ให้ชัดเจนในคำอุทธรณ์ต้องมีครบถ้วน

5. การพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 46 ประกอบมาตรา 45

มาตรา 46 คือ การพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหน้าที่ต้องทำอย่างไรบ้าง กระบวนการต้องทำอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่บังคับให้เจ้าหน้าที่ทำก็คือ เจ้าหน้าที่ที่รับคำอุทธรณ์จะต้องพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริง ปัญหาข้อกฎหมาย ต้องพิจารณาความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครองทันทีที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำอุทธรณ์

มาตรา 45 เป็นการกำหนดเวลาให้เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งให้ทราบถึงผลการพิจารณา ภายใน 30 วันนับแต่วันรับอุทธรณ์ คือ ภายใน 30 วันกระบวนการอุทธรณ์ต้องจบแล้ว ต้องรู้แล้วว่าภายใน 30 วันนี้ผลมันเป็นอย่างไร เพิกถอนหรือไม่ เปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือปรับเปลี่ยนอย่างไรภายใน 30 วัน

6. ผลของการพิจารณาอุทธรณ์ มาตรา 46 ตอนท้าย อาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดิม หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไว้กว้าง ตรงที่ว่าไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระหรือลดภาระ สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขตามคำอุทธรณ์ เป็นอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่โดยแท้ไม่ผูกพันตามคำขอ ถ้าผู้อุทธรณ์ยังไม่พอใจก็ต้องฟ้องศาลปกครอง

ข้อสังเกต การฟ้องต่อศาลปกครอง ก็คือ เจ้าหน้าที่ที่พิจารณาอุทธรณ์จะต้องแจ้งให้ชัดเจนว่าฟ้องยังไง ฟ้องภายในเวลาเท่าไหร่ แต่โดยหลักแล้วต้องฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลอุทธรณ์

การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง คือ การทบทวนคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง

การเพิกถอนต่างกับการอุทธรณ์ ตรงที่การเพิกถอนเป็นดุลยพินิจ เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องมีคนขอเข้าไป แต่การอุทธรณ์จะต้องมีคำขอเข้าไป

หลักเกณฑ์การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

1. ผู้มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 49 วรรค 1 มี 2 คน

- เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครอง

- ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ที่ออกคำสั่งทางปกครอง

2. ระยะเวลาในการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

จะเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเมื่อไหร่ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาของการอุทธรณ์ไปแล้วหรือแม้แต่ว่าคดีจะไปสู่ศาลปกครองแล้วก็เพิกถอนได้

 

ผลของการเพิกถอนคำสั่งปกครอง

คำสั่งทางปกครองมีการเพิกถอนไปแล้ว คู่กรณีที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิได้รับค่าทดแทน เช่น ถ้ามีคำสั่งให้ปิดสถานประกอบการ 30 วัน ซึ่งความจริงแล้วเจ้าของสถานประกอบการไม่มีความผิด ไม่ได้ทำอะไรขัดต่อกฎหมาย ใน 30 วันที่ปิดกิจการเกิดความเสียหายขึ้น ขาดรายได้จาการประกอบกิจการ เจ้าของสถานประกอบการสามารถเรียกค่าทดแทนได้ ตามมาตรา 52

                ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เพิกถอนคำสั่งทางปกครองแล้ว และผู้รับคำสั่งทางปกครองได้รับความเสียหาย แล้วเจ้าหน้าที่ไม่จ่ายค่าเสียหาย ผู้รับผลกระทบสามารถไปเรียกร้องจากหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่นั้นสังกัดอยู่ได้ภายใน 180 วัน

การขอให้พิจารณาใหม่

                การขอให้พิจารณาใหม่ ตามมาตรา 54 เป็นกรณีที่ผู้รับคำสั่งทางปกครอง หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทางปกครองขอให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองเรื่องเดียวกันนั้นใหม่ และออกคำสั่งทางปกครองใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าไม่สามารถยื่นคำขอคำอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไม่ได้แล้ว เนื่องจากล่วงเลยระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว  ซึ่งการขอให้พิจารณาใหม่ เป็นการขอให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองรื้อฟื้นเรื่องขึ้นมาใหม่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ

ระยะเวลาในการขอให้พิจารณาใหม่ ตามมาตรา 54 วรรคท้าย

                การยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ต้องกระทำภายใน 90 วัน นับแต่ที่ได้รู้ถึงเหตุที่อาจขอให้พิจารณาใหม่ได้

                การขอให้พิจารณาใหม่ เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาใหม่ได้จะต้องมีผู้ยื่นคำขอเข้าไปเหมือนกับการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง

  บทความเรื่องนี้คัดมาจากเวบไซด์

  คณะกรรมการนักศึกษาเนติบัณฑิต สมัยที่ ๕๘ กรมหลวงราชบุรีฤทธิ์(พระบิดาแห่งกฎหมายไทย)http://203.157.114.10/homepage/mwdho/laws19.htm

ตัวอย่างข่าว

กกต.ดิ้นโต้ส.ว.คำวินิจฉัยไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง

กรรมการการเลือกตั้ง ดิ้นโต้ส.ส.ระบุคำวินิจฉัยไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง "สดศรี" ประชด ต่อไปนี้จะวินิจฉัยอะไรต้องยื่นศาลปกครองก่อน ยันไม่ชะลอพิจารณา 44 ส.ส.ถือหุ้น

กกต.(29 ก.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวกรณีที่ศาลปกครอง รับฟ้องกรณี 13 ส.ว. ร้องให้พิจารณาเพิกถอนคำวินิจฉัยของกกต.กรณีถือหุ้นกิจการสื่อและสัมปทานรัฐ ว่า  มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ได้บัญญัติอำนาจ กกต. ในเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว และระบุว่าเมื่อวินิจฉัยแล้วก็ให้ส่งเรื่องไปยังประธานแห่งสภานั้น ๆ เพื่อให้ประธานส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัย
"มติครั้งนี้เป็นเพียงความเห็นไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง และเมื่อวินิจฉัย แล้วส.ส. และส.ว.ก็ยังไม่ได้พ้นสมาชิกภาพในทันทีแต่ต้องมีคำสั่งจากศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน"
ส่วนเรื่องเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจในการพิจารณาของศาล นั้น นางสดศรี กล่าวว่า  กกต.ไม่ได้ห่วงอะไรก็ว่ากันไปตามกระบวนการ แต่กรณีดังกล่าวเธอคิดว่าไม่น่าไปที่ศาลปกครอง และการที่ศาลปกครองรับฟ้อง ก็จะไม่กระทบต่อการพิจารณา ในกรณี  44 ส.ส ซึ่งยืนยันว่าจะใช้หลักการพิจารณาเช่นเดิม
"13 ส.ส. ที่ได้พิจารณา ไปก่อนหน้านี้ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เว้นเสียแต่ศาลปกครองจะมีคำสั่งให้กกต.หยุดการพิจารณา แล้วเราจะได้รู้ว่าขอบเขตอำนาจศาลปกครอง สามารถพิจารณาการใช้ดุลพินิจของกกต.ได้ ซึ่งหากเกิดกรณีนี้ขึ้นมาจริงกกต.ก็ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่ต่อไปหากกกต.มีความเห็นอะไรก็ต้องส่งให้ศาลปกครอง ดูก่อนอาจเกิดปัญหาในการใช้ดุลพินิจในอนาคตได้"

นางสดศรี กล่าวว่า เรื่องของการแบ่งเขตอำนาจศาลขณะนี้ มีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ที่ศาลยุติธรรม ซึ่งมีหน้าที่ดูว่าอำนาจของศาลยุติธรรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง มีมากน้อยแค่ไหน และคาดว่าคงจะมีการชี้ขาดออกมา
อย่างไรตามในวันนี้ได้สั่งการให้ฝ่ายธุรการรายงานกับกกต.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่าการที่ศาลปกครองรับคำฟ้องของ 13 ส.ว. นั้นเป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่เราก็ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 223 ก็ได้บัญญัติเรื่องขอบเขตอำนาจของศาลปกครองไว้ชัดเจนว่า ไม่สามารถพิจารณา อำนาจวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามเรื่องการพิจารณาการถือหุ้นของ ส.ส. และ ส.ว. นั้นยังไม่เคยมีการวางบรรทัดฐาน ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ก็จะทำให้การวางบรรทัดฐานชะงักไป

ข้อมูลมาจาก  http://www.atnnonline.com/atnnonline/index.php/politics/1506-2009-07-29-06-04-00.html

                                                  (นางสาววรรณพร ผอมดำ  เลขที่ 30 รปศ.501)

หมายเลขบันทึก: 296498เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2009 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท