ทุเรียน


ทุเรียนไทย

ทุเรียน

 

                                                             สถานการณ์ทั่วไป
                ทุเรียนเป็นไม้ผลที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มจะขยายการส่งออกได้อีกมาก  จึงถูกกำหนดให้เป็นพืชที่จะต้องเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการส่งออกผ่านมาแม้ว่าชาวสวนทุเรียนพบกับปัญหาด้านการผลิตและการตลาดค่อนข้างมากแต่ทุเรียนยังเป็นไม้ผลที่ให้ผลตอบแทนที่ดีได้ ถ้าสามารถจัดการสวน วางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ลักษณะทั่วไปของพืช
                ทุเรียนเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 25 - 30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์สูงประมาณ 75 -85 % ดินที่เหมาะสมควรระบายน้ำดีและมีสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง (ค่า pH) ประมาณ 5.5 - 6.5 และที่สำคัญควรเลือกแหล่งปลูกที่มีน้ำเพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้ง ทุเรียนจะให้ผลผลิตหลังการปลูก 5 - 6 ปี ช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูงประมาณ 10 ปีขึ้นไป ผลผลิตประมาณ 80 - 110 ผล/ต้น หรือประมาณ 240 -320 กก./ตัน/ปี (คิดน้ำหนักเฉลี่ยผลละ 3 กก.)

                ทุเรียนเป็นไม้ผลที่มีระบบรากหาอาหารตื้นโดยอยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 20 -30 เซนติเมตร จึงต้องการช่วงแล้วเพื่อให้เกิดสภาพเครียดก่อนออกดอกไม่นานนัก ต้นทุเรียนที่สมบูรณ์มีใบยอดแก่ ผ่านช่วงแล้งเพียง 10 -14 วัน และมีอากาศหนาวเย็นลงเล็กน้อย ทุเรียนจะออกดอก ระยะพัฒนาของดอก (ระยะไข่ปลา - ดอกบาน) ใช้เวลาประมาณ 55 - 60 วัน ระยะพัฒนาของผล (จากดอกบาน - เก็บเกี่ยว) จะแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ เช่น กระดุม 12 - 13 สัปดาห์ หรือประมาณ 90 วัน ชะนี 15 -16 สัปดาห์ หรือประมาณ 110 วัน หมอนทอง 18 - 19 สัปดาห์ หรือประมาณ 130 วัน อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาผลผลิต 14 -16 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85 - 95 % เก็บรักษาทุเรียนได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส  จะเกิดอาการ chilling injury ฤดูกาลของผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก คือ เมษายน - มิถุนายน และภาคใต้ คือ มิถุนายน - สิงหาคม

 

พื้นที่ส่งเสริม

20 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ตราด ปราจีนบุรี อุตรดิตถ์ สุโขทัย และ 14 จังหวัดภาคใต้
แหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ จันทบุรี ชุมพร ระยอง นครศรีธรรมราช และตราด

 

พันธุ์ที่ส่งเสริม
               
หมอนทอง ชะนี กระดุม สำหรับพันธุ์พื้นเมืองที่ชนะการประกวดและมีคุณสมบัติดีเด่นเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นก็สามารถส่งเสริมให้ปลุกได้เช่นกัน

 

การปลูก

วิธีการปลูก
ทำได้ทั้งการขุดหลุมปลูกซึ่งเหมาะกับพื้นที่ค่อนข้างแล้งและยังไม่มีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก วิธีนี้ดินในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้น แต่ถ้ามีฝนตกชุก น้ำขังรากเน่าและต้นตายได้ง่ายส่วนการปลูกโดยไม่ต้องขุดหลุม (ปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก) เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก วิธีนี้การระบายน้ำดี น้ำไม่ขังโคนต้น แต่ต้องมีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก ซึ่งต้นทุเรียนจะเจริญเติบโตเร็วกว่าการขุดหลุม ทั้งนี้จุดเน้นที่สำคัญในการปลูกทุเรียน คือ ควรใช้ต้นกล้าที่มีระบบรากดี ไม่ขดงอในถุง แต่ถ้าใช้ต้นกล้าขนาดใหญ่ก็ให้ตัดดินและรากที่ขดหรือพันตรงก้นถุงออก

ระยะปลูก

เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีทรงพุ่งขนาดใหญ่ เจริญเติบโตเร็ว การควบคุมขนาดทรงพุ่มทำได้ยาก ควรใช้ระยะปลูกค่อนข้างห่าง ซึ่งระยะปลูกที่แนะนำ คือ 8 - 10 x 8 - 10 เมตร สำหรับสวนขนาดใหญ่ที่จะใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่แทนแรงงาน ควรเว้นระยะระหว่างแถวให้ห่างพอที่เครื่องจักรกลจะเข้าไปทำงานแต่ให้ระยะระหว่างต้นชิดขึ้น

จำนวนต้นต่อไร่

ประมาณ 20 ต้น/ไร่ 

คำสำคัญ (Tags): #ทุเรียน
หมายเลขบันทึก: 294980เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2009 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท