กล้วย


กล้วย

กล้วย

 

กล้วยเป็นไม้ผลเขตร้อน ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลสุกนอกจากจะใช้รับประทานเป็นผลไม้แล้ว ยังสามารถนำมาปรุงอาหารคาวหวาน และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปชนิดต่าง ๆ อีกหลายชนิด ได้แก่ กล้วยตาก ท๊อปฟี่ กล้วยทอด กล้วยบวชชีกระป๋อง กล้วยในน้ำเชื่อมกระป๋อง เป็นต้น   ส่วนใบตองสดสามารถนำไปใช้ห่อของ ทำงานประดิษฐ์ศิลปต่าง ๆ ได้แก่ กระทง บายศรี ใบตองแห้งใช้ทำกระทงใส่อาหาร และใช้ห่อผลไม้ เพื่อให้มีผิวสวยงามและป้องกันการทำลายของแมลงก้านใบและกาบกล้วยแห้งใช้ทำเชือก กาบสดใช้สำหรับการแทงหยวกประกอบเมรุในการฌาปนกิจศพ หัวปลี (ดอกกล้วยน้ำว้า) ยังใช้รับประทานแทนผักได้ดีอีกด้วย สำหรับคุณค่าทางอาหาร กล้วยเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินเอ   เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำอีกทั้งปลูกแล้วดูแลรักษาง่ายให้ผลผลิตเร็ว และเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งตลาดยังมีความคล่องตัวสูงทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก กล้วยจึงเป็นไม้ผลที่เกษตรกรควรพิจารณาปลูกเป็นการค้าทั้งในลักษณะพืชหลักหรือแซมพืชอื่น ๆ เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

 

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

กล้วยเป็นไม้ผลล้มลุกที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น โดยเฉพาะในสภาพที่อากาศคงที่ จะทำให้กล้วยเจริญเติบโตและให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ช่วงอากาศแห้งแล้งที่ยาวนาน หรือช่วงอากาศหนาวเย็น 2-3 เดือน มีผลต่อการชะงักการเจริญเติบโตของกล้วยได้ และทำให้ผลผลิตกล้วยต่ำลง

ดิน ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกกล้วย ควรเป็นดินที่มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 4.5-7 ที่เหมาะสมที่สุดคือ (pH) = 6 เป็นดินร่วนซุยมีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี

ความชื้น พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกล้วย ควรมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยระหว่าง 50-100 นิ้ว/ปี จำนวนวันที่ฝนตกควรยาวนาน หากมีฝนตกในช่วงสั้น การปลูกกล้วยจะต้องให้น้ำชบประทานช่วยเพิ่มรักษาความชุ่มชื้นของดินเพิ่มขึ้น แต่ในพื้นที่มีฝนตกชุกควรทำการระบายน้ำให้แก่กล้วย

ลม พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกล้วย ไม่ควรเป็นแหล่งที่มีลมแรงตลอดปี นอกจากจะทำให้ใบกล้วยฉีกขาดแล้ว อาจจะมีผลทำให้กล้วยหักกลางต้น (หักคอ) หรือโค่นล้มได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กล้วยออกเครือแล้ว

 พันธุ์กล้วยที่ปลูกเป็นการค้า

1. กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศไทยสามารถทนทานสภาพดินฟ้าอากาศได้ดีกว่ากล้วยพันธุ์อื่น ๆ การดูแลรักษาง่าย การใช้ประโยชน์จากผล ต้น ใบ ดอก มากกว่ากล้วยชนิดอื่น ๆ ลำต้นสูงปานกลาง เมื่อสุก มีรสชาดหวาน เนื้อแน่น สีเหลืองอ่อน กล้วยน้ำว้าสามารถจำแนกเป็นพันธุ์ต่าง ๆ ดังนี้

   1.1 กล้วยน้ำว้าแดง สีเนื้อของผลมีไส้กลางสีแดง

   1.2 กล้วยน้ำว้าขาว สีเนื้อของผลมีไส้กลางสีเหลือง

   1.3 กล้วยน้ำว้าเหลือง สีเนื้อของผลมีไส้กลางสีเหลือง

   1.4 กล้วยน้ำว้าค่อม เป็นกล้วยที่ลำต้นเตี้ยหรือแคระ

2. กล้วยหอมทอง เป็นกล้วยที่มีลักษณะลำต้นใหญ่ แข็งแรง กาบใบชั้นในมีสีเขียวหรือชมพูอ่อน เครือได้รูปทรงมาตรฐาน มีน้ำหนักมาก ผลยาวเรียว ปลายผลคอดเป็นแบบคอขวด เปลือกหนา ผลสุกผิวมีสีเหลืองทอง เนื้อมีรสชาดหอมหวาน โดยเฉลี่ยเครือหนึ่ง ๆ จะมีประมาณ 6 หวี เป็นพันธุ์ที่ไม่ต้านทานโรคตายพราย และโรคใบจุด

3. กล้วยหอมเขียว เป็นกล้วยที่มีลักษณะทั่ว ๆ ไป คล้ายกล้วยหอมทอง แต่กล้วยหอมเขียวกาบใบชั้นในมีสีแดงสด ปลายผลมน ผลสุกมีสีเหลืองอมเขียว เปลือกหนา เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ กล้วยหอมเขียวยังต้านทานโรคตายพรายได้ดี แต่อ่อนแอต่อโรคใบจุด

4. กล้วยหอมค่อม เป็นกล้วยหอมอีกชนิดหนึ่งลำต้นเตี้ย หรือแคระ ผลมีลักษณะคล้ายกล้วยหอมเขียว เนื้อรสชาดดี จึงมีชื่อว่า กล้วยหอมเขียวเตี้ยอีกด้วย

5. กล้วยไข่ เป็นกล้วยที่มีลำต้นสูงบาง สีใบและก้านใบสีเหลืองอ่อน ไม่มีนวล กาบใบมีสีน้ำตาลหรือสีช็อคโกแลต เครือเล็ก ผลมีขนาดเล็ก เปลือกบาง เมื่อสุกมีสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่ สีเหลืองรสหวาน เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม ต้านทานโรคตายพราย แต่อ่อนแอต่อโรคใบจุด

6. กล้วยหักมุข เป็นกล้วยที่มีลำต้นขนาดปานกลาง ลำต้นมีสีเขียวนวล ผลโต เป็นเหลี่ยม สีเขียวนวล ปลายผลเรียว ผลเมื่อสุกสีเหลืองนวล เปลือกหนามีรอยแตกลายงาเนื้อฟู สีเหลืองเข้มเหมาะสำหรับนำมาทำกล้วยปิ้ง กล้วยเชื่อม  

7. กล้วยเล็บมือนาง เป็นกล้วยที่มีลำต้นค่อนข้างเล็กไม่สูงมากนัก ผลขนาดเล็ก ปลายผลเรียวแหลม ผลสุกมีสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่น รสชาดหอมหวาน ใช้สำหรับรับประทานสุก หรือทำเป็นกล้วยตา เป็นพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าทางภาคใต้ของประเทศไทย จังหวัดที่ปลูกเป็นการค้ามากคือ จังหวัดชุมพร

ฤดูกาลปลูกกล้วย

การปลูกกล้วยให้ได้ผลดี ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งดินมีความชุ่มชื้นในช่วงฤดูฝนเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตทางลำต้นและออกปลี จนสามารถเก็บเกี่ยวกล้วยได้ในช่วงปลายฤดูฝนพอดี แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการปลูกกล้วยในเขตชลประทานที่มีน้ำเพียงพอ สามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา

กล้วยที่กำหนดเวลาปลูกให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค ได้แก่

1. กล้วยไข่ ควรได้ผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงสารทไทย ไหว้พระจันทร์ ชาวสวนส่วนใหญ่จะเริ่มปลูกในราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวกล้วยได้ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม

2. กล้วยหอม การปลูกกล้วยเป็นการค้าสำหรับตลาดภายในประเทศก็เช่นเดียวกันกับกล้วยไข่ เกษตรกรคาดหวังว่าจะเก็บเกี่ยวกล้วยขายในช่วงสารทไทย ไหว้พระจันทร์ และกินเจ ซึ่งจะทำให้ราคากล้วยสูงกว่าช่วงปกติ แต่สำหรับการผลิตกล้วยหอมเพื่อการส่งออกนั้น ส่วนใหญ่จะทำการผลิตในลักษณะรวมกลุ่มใหญ่ เพื่อผลิตกล้วยส่งให้ตลาดผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่อง เช่น การผลิตกล้วยหอมทองของสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น ซึ่งการผลิตจะต้องมีการวางแผนการผลิตให้สามารถเก็บเกี่ยวตามที่ตลาดส่งออกต้องการ

คำสำคัญ (Tags): #กล้วย
หมายเลขบันทึก: 294609เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2009 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท