“Ba Concept”


ba,SECI Model

“Ba Concept”

                     Kitaro Nishida นักปราชญ์ชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มเสนอแนวคิด “Ba” และมี Shimizu ได้เป็นผู้สานต่อและนำเสนอแนวคิดดังกล่าว ต่อมา Nonaka & Konno (1998) ได้ปรับแนวคิดและเสนอเป็นหลักการ “Ba” หรือ “Ba Concept”  ในมุมมองของการจัดการความรู้  คำว่า “Ba” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า สถานที่ (Place)” ดังนั้น “Ba” จึงหมายถึง สถานที่ หรือ พื้นที่ที่กลุ่มคนมาอยู่รวมกันและแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างความรู้ ซึ่งพื้นที่นั้นอาจจะเป็นพื้นที่ทางกายภาพจริง พื้นที่เสมือนจริง (Virtual) หรือพื้นที่ด้านความคิด (ตัวอย่างเช่น ประสบการณ์ร่วมกัน ความคิดและอุดมคติ) จึงอาจกล่าวได้ว่า “Ba” เป็นพื้นที่ร่วมกันสำหรับทำหน้าที่เป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์ความรู้ ทั้งความรู้แบบชัดแจ้งและความรู้โดยนัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแปลงรูปของความรู้ทั้ง 4 รูปแบบ

                     Nonaka & Konno (1998) กล่าวว่า หลักการ “Ba” ได้ช่วยสร้างการอุปมาอุปไมยทางด้านความคิดเพื่ออธิบาย SECI Model ให้ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจาก SECI Model ค่อนข้างมีความเป็นนามธรรมและทำความเข้าใจได้ยาก หลักการ “Ba” จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ในการสร้างความรู้ตามแนวคิดของ SECI Model

                     “Ba” แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งสอดคล้องกับ SECI Model ทั้ง 4 รูปแบบ “Ba” แต่ละประเภทจะส่งเสริมและช่วยเร่งกระบวนการในการแปลงรูปความรู้ทั้ง 4 รูปแบบ เพื่อสร้างความรู้ในแต่ละกระบวนการของ SECI Model แสดงดังภาพที่ 13 ดังนี้

                     - “Originating Ba” เป็นหลักการ “Ba” อันแรกในกระบวนการสร้างความรู้และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประสบการณ์ที่ได้รับจากการพบปะสมาคม เพราะการพบปะสมาคมจะทำให้บุคคลต่างๆ มาร่วมแบ่งปันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดและประสบการณ์ ทำให้รู้สึกถึงความเป็นกลุ่มเดียวกัน ความเห็นอกเห็นใจและไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และการเกิดการสร้างความรู้ระหว่างบุคคลหรือความรู้โดยนัยมากขึ้น Nonaka & Konno (1998) กล่าวว่า การพัฒนาวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในองค์กร สามารถทำได้โดยการให้ความสำคัญกับรูปแบบการบริหารจัดการที่เปิดกว้าง รวมถึงการพบปะสมาคมกับลูกค้าซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการติดต่อกันโดยตรงระหว่างบุคคลมากขึ้น

                     - “Interacting Ba” มีองค์ประกอบที่สลับซับซ้อนกว่า หากเปรียบเทียบกับ “Originating Ba”กล่าวคือ ในการพบปะสมาคมของกลุ่ม สมาชิกภายในกลุ่มจะเป็นผู้กลั่นกรองสมาชิกที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อให้ถ่ายทอดความรู้โดยนัยออกมาเป็นความรู้แบบชัดแจ้ง ขณะเดียวกันแต่ละคนก็ต้องวิเคราะห์ความคิดของตนเองในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ไปด้วย ดังนั้น “Interacting Ba” จึงให้ความสำคัญกับการสนทนา เพื่อการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้โดยนัยออกมาเป็นความรู้แบบชัดแจ้งให้เกิดคุณค่ามากที่สุด

                     - “Cyber Ba” เป็นที่ๆ เกิดการติดต่อสัมพันธ์กันในโลกแห่งความเป็นจริงแทนสถานที่และเวลาจริง และแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างความรู้แบบชัดแจ้งกับข้อมูลและความรู้ที่มีอยู่เดิม ช่วยทำให้ความรู้แบบชัดแจ้งขององค์กรมีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น การผสมผสานความรู้ในลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นได้ดีหากมีสภาพแวดล้อมที่ต่างฝ่ายต่างร่วมมือกัน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือ

                     - “Exercising Ba” จัดอยู่ในขั้นตอนการนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติ ทั้งยังช่วยในการเปลี่ยนความรู้แบบชัดแจ้งให้เป็นความรู้โดยนัย “Exercising Ba” เน้นความสำคัญของการเรียนรู้และการคิดโดยอาศัยการฝึกในระหว่างการทำงานจริง หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมกับในงานต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ มากกว่าการเรียนการสอนในห้องเรียน ดังนั้น ความรู้ที่ได้มาจะสามารถใช้ในทางปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด จึงขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ในสถานการณ์หรือชีวิตจริง

 

                 ตัวอย่างองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการนำแนวคิด “Ba” มาใช้คือ NTT DoCoMo แห่งประเทศญี่ปุ่น (สำนักมาตรฐานอุดมศึกษา, สำนักปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, 2546) กล่าวคือ บริษัทมีกลยุทธ์ในการจัด พื้นที่ที่จะสนับสนุนการจัดการความรู้ขององค์กร อาทิ การให้พนักงานมีโฮมเพจ (Homepage) ส่วนตัวเพื่อที่จะให้ทุกคนได้รู้จักกันมากขึ้น ทั้งในด้านส่วนตัวและประวัติการทำงาน รวมทั้งการใช้ชื่อเล่นเพื่อโต้ตอบทางเว็บเมลล์ (Webmail) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการเสนอแนะความคิดเห็นได้ โดยลดอุปสรรคการสื่อสารที่อาจจะเกิดจากระบบอาวุโส  นอกจากนี้ การจัดสำนักงานเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันก็ให้มีการจัดที่นั่งกันอย่างเสรี พนักงานจะไม่มีที่นั่งประจำ และมีอิสระในการขยับหรือเคลื่อนย้ายโต๊ะเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะการทำงานที่ต้องการ พนักงานสามารถเลือกปฏิบัติงาน โดยนั่งใกล้กับผู้ใดก็ได้ในแผนกงานเพื่อปรึกษาหารือ หรือจะแยกนั่งในมุมกาแฟหรือมุมสูบหรี่ก็ได้ จึงเห็นได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของแนวคิด “Ba” ที่ทำให้พนักงานได้รู้จักกันมากขึ้นและมีการแลกเปลี่ยนความรู้โดยนัยอย่างต่อเนื่อง

หมายเหตุ: ขออภัยนะครับ ยังใส่รูปประกอบใน Blog ไม่เป็นครับ

คำสำคัญ (Tags): #seci model#ba
หมายเลขบันทึก: 294468เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2009 06:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท