Traceability


สืบย้อนกลับไปดูถึงที่มาของสินค้า

***ข้อมูลทั้งหมด เขียนเพื่อสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นเท่านั้น อาจมีความคลาดเคลื่อนในรายละเอียด โปรดพิจารณาค้นคว้าเพิ่มเติม***

 

วันนี้มีอีเมล์มาสอบถามผมเรื่อง Traceability กับ Bar Code ตามมาตรฐาน GS1 ขออนุญาติมาตอบในนี้แบบคร่าวๆ ถือโอกาสอัพบลอคด้วยเนื่องจากว่างเว้นมาแสนนาน

ที่ต้องคร่าวๆ ก็เพราะว่าผมร้างราวงการนี้ไป 2 ปีกว่าแล้ว ดังนั้นข้อมูลอาจจะไม่ทันสมัยนัก แต่เชื่อได้ว่าโดยพื้นฐานแนวความคิดแล้วคงยังไม่น่าเปลี่ยนไปจากนี้ครับ แต่การค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องที่ควรทำ

Traceability ถ้าแปลตรงๆตัวก็คือ Trace + Ability

ตามพจนานุกรมของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรมก็จะได้ความหมายประมาณนี้

Trace แปลได้ว่า ย้อนหลัง, เดินตามทาง, สืบหาประวัติตามรอย, ร่องรอย, รอยเท้า, สืบเสาะ

Ability แปลได้ว่า ความสามารถ

ดังนั้นรวมกันแล้วน่าจะแปลได้ว่า ความสามารถในการสืบย้อนกลับ สืบไปทำไม สืบไปเพื่ออะไร ก็ต้องมาดูอดีตว่ามีอะไรเกิดขึ้นหรือถึงได้อยากสืบ อันที่จริงเรื่องแนวความคิดในการสืบย้อนกลับนี้มีมานานมากแล้วแต่เริ่มได้รับความสนใจกันเป็นพิเศษตั้งแต่เหตุการณ์ 19 กันยา เมื่อเกิดการก่อการร้ายขึ้นที่ตึกเวิลด์เทรด ซึ่งมีปัญหาและความกลัวเรื่องการก่อการร้ายสะพัดไปทั่ว รวมถึงการตื่นขึ้นของยักษ์หลับอย่างจีนที่บุกตะลุยตีตลาดอย่างรวดเร็วและดุดัน จนยุโรปและอเมริกาสั่นสะเทือนจนตั้งตัวไม่ทัน ทำให้เกิดความสนใจเรื่อง Traceability นี้เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลสองประการหลักๆ คือ เพื่อความปลอดภัย เพิ่มความน่าเชื่อถือรับรองได้ให้กับสินค้าและอีกเรื่องคือการเมือง การป้องกันทางการค้านั้นเอง หากเราจะพูดกันตรงๆ

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออาหารและยา หลายประเทศเริ่มออกกฏบังคับให้สามารถสืบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาของสินค้าได้ตั้งแต่ปลายน้ำคือผู้ซื้อไปจนถึงผู้ผลิต บางทีลามไปถึงผู้ผลิตวัตถุดิบเลยก็มีในสินค้าบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องส่งสินค้าเข้าไปยังประเทศในแถบยุโรป จะเจอกับความเข้มงวดเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

ทีนี้เมื่อโจทย์คือการต้องการสืบย้อนกลับไปดูว่ารายละเอียดของสินค้าทุกระดับ คำถามคือว่าจะทำอย่างไรดีถึงจะเกิดขึ้นได้ในวงกว้างและมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เพราะจริงๆแล้วการเพิ่มความสามารถในการสืบย้อนกลับนี้ก็คือการเพิ่มค่าใช้จ่ายดีๆ นี่เอง ในตลาดมีผู้พยายามเสนอแนวทางหลายรายเหมือนกัน แต่ที่โดดเด่นและมีความเป็นไปได้ในวงกว้างที่สุดก็คือ GS1 เพราะมีฐานผู้ใช้อยู่แล้วมากมาย และมีเครื่องมือที่สามารถพัฒนามาใช้งานได้อีกคือ GS1-128 หรือ EAN 128 เดิม

Bar Code ทั่วไปที่ติดข้างผลิตภัณฑ์ที่เราซื้อมาทั่วไปนั้นเป็นแบบ EAN-13(และ EAN-8 ซึ่งมีน้อยมากแล้ว) รหัสแบบนี้สามารถบันทึกข้อมูลได้เป็นตัวเลขเท่านั้น ในจำนวนตามชื่อของมันเลยคือ EAN-13 ก็ 13 หลัก EAN-8 ก็เก็บได้ 8 หลักเป็นต้น แต่ GS1-128 ไม่ได้หมายความว่าเก็บรหัสได้ 128 ตัวเลขนะครับ แต่เป็นการแทนจำนวนตัวอักษรในรหัส ASCII ซึ่งมีอยู่ 128 ตัว พูดง่ายๆว่าบันทึกได้ทั้งตัวเลข ตัวอักษร และสัญลักษณ์พิเศษ นึกไม่ออกว่าคืออะไร ก็ก้มหน้าไปดูที่แป้นคีบอร์ดของเราได้เลยครับ ทุกตัวบนแป้นนั้นละครับได้ทั้งหมด (ภาษาอังกฤษเท่านั้นนะ)

เมื่อบันทึกได้เช่นนี้ ก็หมายความว่าเราสามารถใส่ข้อมูลการผลิต เช่น Lot# วันเวลาที่ผลิต แหล่งผลิต รหัสสินค้า รหัสบริษัทต่างๆได้ตามต้องการ ซึ่งก็มีการกำหนดเป็นมาตรฐานขึ้นมาว่าต้องระบุอะไรบ้าง แบบใหน เพราะถึงแม้ว่าจะบันทึกได้มากเท่าที่ต้องการ แต่ข้อมูลยิ่งมาก แท่งบาร์โค้ดก็ยิ่งยาวยืดออกไปเท่านั้นครับ ขนาดตามปกติก็น่าจะประมาณ 4x4 นิ้วได้ รายละเอียดส่วนนี้หาได้ในเว็บของ www.GS1.org หรือ www.gs1thailand.org ครับ

ทั้งหมดนี้ถูกพิมพ์เป็นบาร์โค้ดและติดไปกับสินค้า โดยมากแล้วจะติดในระดับกล่อง ลัง หรือพาลเลต มีบ้างที่ติดในสินค้าเลย ซึ่งในระดับตัวสินค้านี้มีปัญหาเรื่องขนาดที่ใหญ่เกินไปของแผ่นบาร์โค้ดแบบ GS1-128 จึงมีการพัฒนามาตรฐานและเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา เช่น RFID และ RSS-14 ซึ่งขอละไว้ก่อนเพราะคงจะยาวไปถ้าจะพูดถึง

โดยปกติแล้ว ในการผลิตระดับอุตสาหกรรมจะมีการเก็บข้อมูลของสินค้าและการผลิตไว้อยู่แล้ว เมื่อนำมาผนวกกับความสามารถในการบันทึกข้อมูลของบาร์โค้ดแบบ EAN-128 นี้ ทำให้เมื่อต้องการ สามารถตรวจย้อนไปได้ว่า มาจากที่ใหน ผลิตเมื่อไหร่ ใครเป็นคนผลิต ซึ่งก็จะสามารถย้อนกลับไปได้อีกว่าซื้อวัตถุดิบมาจากใหน และถอยไปได้อีกเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังใช้มาตรฐานเดียวกันอยู่ในการเก็บข้อมูลและส่งต่อข้อมูล จนเกิดเป็น Supply Chain ที่ตรวจสอบย้อนกลับไปมาได้ทั้งสองทาง เพราะในบางกรณีที่บริษัทตรวจพบว่าสินค้าล็อตใดมีปัญหา ถ้าร้ายแรงเช่น ข่าวยาพิษในนมผงเด็ก ก็จะสามารถเรียกคืนได้เฉพาะล็อตการผลิตที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ต้องเรียกคืนกลับมาทั้งตลาด (เป็นไปได้ ในยุคนี้ที่ค้าขายผ่าน Modern Trade) เป็นต้น ทั้งนี้ความถูกต้องของข้อมูลนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับมาตรฐานการทำงานของบริษัทต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย ว่าตรงตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในบาร์โค้ดหรือไม่ด้วยครับ

ความยากในการทำ Traceability นี้จริงๆแล้วจึงอยู่ที่การออกแบบระบบสารสนเทศให้สามารถรองรับมาตรฐานที่ใช้งานได้ เช่น GS1-128 และความถูกต้องของการบันทึกข้อมูล ซึ่งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสินค้าและความไว้วางใจของคู่ค้า และลูกค้าครับ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นข้อกำหนดหรือแม้กระทั่งกฏหมายในบางที่สำหรับสินค้าบางประเภท

ว่าจะเขียนคร่าวๆ แต่ทำไมยิ่งเขียนรายละเอียดมันยิ่งเยอะก็ไม่ทราบ เดี๋ยวจะง่วงหลับกันหมด เอาเป็นว่าถ้าต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมก็ลองติดต่อไปที่สถาบันรหัสสากลดูนะครับ มีข้อมูลเบื่องลึกและทันสมัยกว่าผมแน่นอน ไม่เสียสตางค์และมีตัวอย่างวิธีการทำให้พร้อมเสร็จครับ ลองไปเที่ยวดูก็ดีนะครับ

ข้อแนะนำอีกอย่าง หากท่านต้องทำ Traceability ให้กับสินค้าของท่าน ควรศึกษาข้อกำหนดจากคู่ค้าและประเทศของคู่ค้าให้ดีนะครับ เพราะถึงแม้ค่าพิมพ์บาร์โค้ดจะถูก แต่ค่าสินค้าที่ถูกตีกลับและค่าแก้ไขบาร์โค้ดที่สินค้าทุกกล่องมันไม่ถูกเลยเน้อ โปรดระวังเสียน้อยเสียมากเสียยากเสียง่าย แล้วจะหาว่าหล่อไม่เตือน อิอิ

เรื่องที่ควรค้นต่อ: Reduce Space Symbol(RSS), RFID, GDSN ทั้งหมดนี้คือ NExt Gen ของ Traceability ครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 294412เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท