ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

โจรปล้นหอยลาย


ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2533 กำหนดขนาดเครื่องมือคราดหอยที่มีความกว้างของปากไม่เกิน 3.5 เมตร ความห่างของช่องที่คราดแต่ละช่องไม่น้อยกว่า 1.2 เซนติเมตร ส่วนความยาวของเรือกลที่ใช้ประกอบกับเครื่องมือคราดหอยไม่เกิน 18 เมตร แต่บังหมาดว่า ตะแกรงขนาดมาตรฐานจะอยู่บนเรือ ส่วนที่เอื้อต่อการลากหอยได้มากจะอยู่ใต้น้ำ เวลาเจ้าหน้าที่มาตรวจจึงไม่เคยจับได้สักที
โจรปล้นหอย

นิภาพร ทับหุ่น .. จุดประกาย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2550 10:00:00

เรือคราดหอยลาย เป็นเครื่องมือประมงชนิดทำลายล้างที่กลุ่มนายทุนสร้างขึ้นมาเพื่อหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศที่เสียหาย น่านน้ำหลายพื้นที่ประสบภัย ไล่มาตั้งแต่สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กระทั่งคราวนี้มาปักหลักโกยกันที่อ่าวท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ความเดือดร้อนยังผลให้พี่น้องต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม

"หยุดเรือคราดหอยลาย หยุดฆ่าชาวประมง"

"พวกเราชาวประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่ต้องการเรือคราดหอย"
ช่วยกันแกะเท่าไรก็ไม่หมดสักที

"ชาวขนอมต้องการที่อาศัยให้โลมาสีชมพูในทะเล"

"พ่อเมืองนครฯ จ๋า น้ำทะเลเริ่มมีกลิ่นแล้ว"

ฯลฯ
แบบนี้หมฺรำ ธนาคารปู

…………………….

ท่ามกลางสายฝนที่กระหน่ำเทลงมาอย่างฟ้าคลั่ง หลังป้ายเรียกร้องพวกนั้นคือพลังของชาวประมงตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รับความเดือดร้อนจากมัจจุราชจอมฉวยโอกาสอย่าง เรือคราดหอยลาย

นานกว่า 2 เดือนแล้ว ที่เรือประมงของคนเห็นแก่ได้เข้ามากอบโกยเอาหอยลาย ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวบ้านอนุรักษ์หวงแหนไว้ไปเป็นของตัว ค่าที่มันมีราคาเหยียบคืนละ 4 แสนบาทต่อลำ การทำความผิดกฎหมายจึงดูเหมือนเป็นของง่ายสำหรับผู้รุกล้ำ

เรียกร้องให้ประกาศพื้นที่ปลอดเรือคราดหอยลาย

"ล่าสุดเมื่อคืนนี้ (วันพุธที่ 19 ธ.ค. 2550) มันมาตอน 3 ทุ่ม เข้ามาลากกันริมฝั่งเลย ห่างฝั่งประมาณ 800 เมตรเห็นจะได้ มาเยาะเย้ยกันอย่างนั้น ชาวบ้านก็รวมตัวกัน 20-30 คน ออกไปยืนดู แล้วก็โทรไปเรียกตำรวจน้ำที่เป็นหน่วยเฉพาะกิจของสิชลและปากพนัง ตอนแรกเขาบอกว่ากำลังออกมา แต่พอโทรไปอีกทีปิดมือถือไปแล้ว

เรายืนดูเรือคราดหอยอยู่บนฝั่ง แผ่นดินสะเทือนลั่นไปหมด รอตำรวจน้ำกันจนถึงตี 1 กว่า พอตอนเช้าเขาโทรมาบอกว่า เมื่อคืนพี่เพลีย ดูเขาพูดสิ นี่ตำรวจน้ำที่ดูแลสิชลนะ" ทรงวุฒิ พัฒแก้ว เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ ให้ข้อมูล

นี่อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำชาวบ้านแปลกใจสำหรับนักล่าหอยลายนอกพื้นที่ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านแปลกใจ ว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจึงไม่ไยดีต่อความเดือดร้อนของประชาชนเลย
นี่คือเสียงจากคนนคร

หายนะทรัพยากรชายฝั่ง

ปัญหาเรือคราดหอยลายอยู่คู่กับชาวประมงพื้นบ้านไทยมาช้านาน ไม่ว่าจังหวัดไหน หรืออ่าวโค้งใดที่เป็นสันดอนและมีหอยลาย มหันตภัยแห่งเรือร้ายเหล่านี้ก็จะเข้าไปกัดกินทรัพยากรในพื้นที่จนหมดเกลี้ยง ทิ้งไว้เพียงรอยเจ็บช้ำที่กรีดลึกอยู่ในใจ

แม้หอยลายจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีคุณค่าและราคาสูง แต่สำหรับชาวประมงในพื้นที่อำเภอท่าศาลาแล้ว พวกเขาถือว่ามันคือหนึ่งในสัตว์น้ำที่ทำให้ระบบนิเวศหมุนเวียน ดังนั้นการละเว้นหอยลาย ไม่จับ ไม่กิน จึงเป็นสิ่งที่ทำให้อู่ข้าวอู่น้ำของพวกเขายังคงความอุดมสมบูรณ์ไว้เหนือสันดอนใดๆ ในทะเลอ่าวไทย
แกะไม่ได้ก็ทิ้ง

"หอยลายท่าศาลา คือหอยลายอันดับหนึ่ง เพราะเลนดี มีน้ำเชี่ยว ทำให้กุ้ง หอย ปู ปลา ชุกชุม แล้วหอยลายก็ตัวใหญ่สมบูรณ์" ยุโสบ โต๊ะหลงหมาด ผู้ใหญ่บ้านสระบัว หมู่ 6 ตำบลท่าศาลา ให้ข้อมูล

ในอดีตพื้นที่หาดสระบัว ตำบลท่าศาลา เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะมีหาดทรายที่ขาวสะอาดถึงขนาดมีเต่าขึ้นมาวางไข่มากมายหลายร้อยตัวทุกปี แต่วันนี้ไม่มีแม้กระทั่งเงาเต่าในทะเล

"ตอนผมหนุ่มๆ ยังพอเห็นบ้าง แต่เดี๋ยวนี้หาดทรายกลายเป็นหาดเลน ผมเลยไม่เห็นเต่ามาสัก 20 ปีได้แล้ว"

ไม่มีเต่า แต่ก็ยังมีกุ้ง หอย ปู ปลา ให้ชาวบ้านได้หากิน ทว่า ณ วันนี้สิ่งที่เอ่ยอ้างมานั้นแทบจะหากันไม่เจอ เหตุเพราะเรือคราดหอยลายเริ่มรุกขยายเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2535

คราวนั้นเรือคราดหอยลายเข้ามาลากหอยเป็นเวลา 10 วัน ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และเครื่องมือจับสัตว์น้ำของชาวประมงไปแบบไม่รับผิดชอบมากมาย ที่สำคัญสัตว์น้ำหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ การลุกขึ้นมาต่อต้านด้วยการปิดถนนจึงเป็นสิ่งเดียวที่ชาวประมงพอจะทำได้

ยุโสบ เล่าว่า เรือคราดหอยลาย เป็นปัญหาที่รบกันมานาน แต่ไม่เคยชนะสักที แก้ปัญหาแบบโจรล่าโจรก็แล้ว เคยปิดถนนเอาเรือขวางก็มี เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ แต่ก็สำเร็จอยู่ได้แค่เพียงอาทิตย์เดียว

"ต้องเป็นคนที่มีอำนาจเท่านั้นถึงจะสร้างเรือพวกนี้ได้ เรือลำหนึ่งราคาเป็นสิบล้าน ผมเคยไปถามมันว่า มึงทำไมมาลากกันนัก มันบอก สร้างเรือเพื่อลากหอย" ผู้ใหญ่เล่าไปหัวเราะอย่างเจ็บใจไป

ด้าน บังหมาด โต๊ะสอ รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน บ้านสระบัว บอกว่า เรือคราดหอยลายที่เข้ามาปี 2535 ลากหอยลายอยู่กว่า 10 คืนก็จริง แต่ประมงพื้นบ้านลำบากไป 3 ปี เพราะสัตว์น้ำวัยอ่อนตายหมด ระบบนิเวศเสื่อมโทรม เหตุจากตะแกรงที่เขาใช้ลากหอยขูดลึกเข้าไปในหน้าดินราวกับคันไถ

"ตะแกรงกว้างยาว 2 เมตร เวลาลากหอยก็เหมือนไถนา พลิกหน้าดินไปเลย น้ำก็เสีย เหม็น ตัวหนอนทะเลคล้ายปลิงที่เคยอยู่ใต้ดินก็ลอยขึ้นมาเต็มไปหมด พวกนี้มีพิษ ถ้าเอามือไปแตะมันขนจะติดมือ ทำให้มือเปื่อย ส่วนปลาที่ลอยอยู่ก็กินไม่ได้ เพราะหนอนเข้าไปอยู่ในตัวปลาหมดแล้ว"

เหตุจากปี 2535 ทำให้ทะเลในบริเวณอ่าวท่าศาลาเสื่อมโทรม ประมงประกอบอาชีพไม่ได้ หลายคนพาตัวเองไปเป็นหนุ่ม-สาวโรงงานย่านบางพลี สมุทรปราการ บ้างก็ผันไปเป็นคนเก็บกาแฟทางใต้ทั้งที่ไม่เคยทำ คนในหมู่บ้านต้องออกไปหางานนอกบ้าน นั่นคือผลพวงจากความหน้ามืดตามัวของนายทุนผู้ค้าหอยเพียงคนเดียว

"รัฐมองแต่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ มองแต่เม็ดเงิน จะทำให้ติดอันดับ 1-2 ของโลกเรื่องส่งออกสินค้าประมง โดยไม่คำนึงถึงว่า ทำไปแล้วกระทบต่อพี่น้องประชาชนแค่ไหน ตอนนี้สินค้าประมงมีเหลืออยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในอ่าวไทย แต่ 60 เปอร์เซ็นต์ ไปเอามาจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย แล้วเอามาตีตราไทย เพราะในอ่าวไทยจะหมดแล้ว" บังหมาด ว่า

ผ่านไป 15 ปี ชาวบ้านนึกดีใจว่าคงไม่มีใครมาทุบหม้อข้าวของพวกเขาได้อีกแล้ว แต่...

"มันพากันมาคืนวันที่ 5 ตุลาคม มากันหลายเจ้าเลย ประมาณ 60 กว่าลำ อวนชาวบ้านที่วางไว้ก็ทำลายหมด คือมันจะมีเรือมาสำรวจก่อน 1 ลำ ลากติดก็จะวอไปเรียกมาอีก เป็นสิบๆ ลำเลยทีนี้ พอคราดได้ กลางวันมันก็พัก แต่ซากเปลือกหอย เปลือกปูลอยมาติดอวนชาวบ้าน เสียเวลามานั่งแกะ และที่ต้องทิ้งไปเลยก็เยอะ"

ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2533 กำหนดขนาดเครื่องมือคราดหอยที่มีความกว้างของปากไม่เกิน 3.5 เมตร ความห่างของช่องที่คราดแต่ละช่องไม่น้อยกว่า 1.2 เซนติเมตร ส่วนความยาวของเรือกลที่ใช้ประกอบกับเครื่องมือคราดหอยไม่เกิน 18 เมตร แต่บังหมาดว่า ตะแกรงขนาดมาตรฐานจะอยู่บนเรือ ส่วนที่เอื้อต่อการลากหอยได้มากจะอยู่ใต้น้ำ เวลาเจ้าหน้าที่มาตรวจจึงไม่เคยจับได้สักที

สั่งลาโลมาสีชมพู

แทบทุกคืนเสียงเรือคราดหอยลายที่ดังกระหึ่มไปทั่วท้องทะเลจะปลุกชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาเจ็บช้ำกับชะตากรรมที่พวกเขาพบ นับจากวันที่ 5 ตุลาคม 2550 ถึงวันนี้ 24 ธันวาคม 2550 นาน 80 วันเต็ม แต่หอยลายก็ยังไม่หมด เรือคราดหอยก็ยังไม่รู้จักพอ ก่อปัญหาให้ชาวบ้านไม่รู้จักจบสิ้นสักที

"ในขณะนี้ประเทศของเรากำลังพยายามรณรงค์ให้ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านพยายามปรับวิถี หากินเล็กๆ น้อยๆ ฟื้นฟูปลูกป่าชายเลน ทำธนาคารปู ปลูกปะการังเทียม แบ่งปันเอื้ออาทร แต่ในขณะที่เราพยายามก็จะมีผลกระทบจากเรือลากหอยลาย ถ้ารัฐบาลสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ต้องแก้ปัญหาตรงนั้นด้วย เพราะมันเหมือนเราโดนปล้นทรัพยากรไป" มานะ ช่วยชู ลูกหลานชาวท่าศาลา และเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ พ้อ

มานะ บอกว่า สิ่งที่พี่น้องชาวท่าศาลาต้องการมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศเขตปลอดการประมงคราดหอยลายในจังหวัดนครศรีธรรมราช และ 2.ออกเป็นนโยบายจังหวัด กวดขันเรื่องการจับกุมเรือคราดหอย

"เมื่อวันจันทร์ (17 ธ.ค. 2550) เรารวมตัวกันเข้าไปยื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านผู้ว่าฯ เปิดห้องให้มีการประชุมกัน ชาวบ้านกว่า 100 คนได้เข้าไปหมด ในเบื้องต้นท่านผู้ว่าฯ เห็นด้วยกับการออกประกาศ แต่ท่านบอกให้ประมงจังหวัดตั้งทีมวิจัยขึ้นมาศึกษา เพื่อให้ประกาศนั้นมีน้ำหนัก ไม่ใช่ประกาศไปแล้วมีปัญหาทีหลัง"

สำหรับขั้นตอนการทำประกาศนั้น มานะว่า ต้องมีการสำรวจดอนหอยลาย และพิกัดจุดที่ชัดเจนแน่นอนว่าอยู่ตรงไหนบ้าง จากนั้นทำเป็นแผนที่เพื่อแนบท้ายประกาศ ส่วนการวิจัยทีมประมงจังหวัดต้องจัดเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการวิจัย และต้องเสร็จสิ้นภายใน 30 วัน ตามที่รับปากกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

"วันที่ 25 (ธ.ค.) นี้ ประมงนัดชาวประมงไปกำหนดพิกัดในทะเลโดยระบบ GPS ซึ่งถ้าทำตามที่คุยกันวันนั้นจริงๆ ก็น่าจะจบ"

ต่อข้อซักถามที่ว่า เมื่อประกาศแล้วจะมีปัญหาฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกประกาศเหมือนกรณีประมงในพื้นที่อื่นๆ ไหม เจ้าหน้าที่โครงการฯ คนเดิม บอก ยังไงก็ขอให้ประกาศใช้ ให้เรือคราดหอยลายออกไปจากพื้นที่ก่อน ปัญหาจะมาเมื่อไรพวกเขาก็พร้อมยอมรับ

"สมมติถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ประกาศ ก็อาจจะเป็นเพราะว่า ประมงมาทำการศึกษา...คือในแง่ของประมงเขาจะมองว่า สัตว์น้ำเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์ เขาก็อาจจะมองตรงนั้นแล้วก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไม่ประกาศ แต่มันก็ดีที่เรากดดัน เพราะพอเราไปพบผู้ว่าฯ ประมงจังหวัดก็จะมีแรงกดดันพอที่จะไปคุยกับทางกรมประมงง่ายขึ้นว่า ชาวบ้านเขาออกมาเรียกร้องแบบนี้ๆ กรมประมงจะได้อนุมัติ"

ด้านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา อภินันท์ เชาวลิต แสดงความคิดเห็นว่า

"ครั้งแรกที่ชาวบ้านไปพบผู้ว่าฯ พ่อเมืองน่าจะแก้ไขได้ ถ้าตั้งใจจริงไม่ยากเลย ระดับอำเภออาจจะเอาไม่อยู่ แต่ระดับจังหวัดแก้ได้แน่นอน ปัญหาใหญ่คือเราต้องรบกับโรงงาน ถ้าทำจริงๆ ผู้มีอำนาจโดยตรงคือ ประมงจังหวัดกับผู้ว่าฯ จบแค่นั้นเลย พอเห็นชาวบ้านทุกข์แล้ว นายก อบต.ทุกข์กว่าอีกนะ"

แต่ระหว่างที่รอประกาศ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร ชาวบ้านท่าศาลาและหมู่บ้านใกล้เคียงก็ต้องนอนฟังเสียงเรือคราดหอยต่อไป ยิ่งช่วงหลังนี้มาทุกคืน มาแบบประชิดติดตัว ไม่คำนึงถึงกฎหมายที่กำหนดไว้ให้จับสัตว์น้ำได้ในเขตพ้น 3,000 เมตร จากชายฝั่งเลย

"ที่ขนอม ส่งผลกระทบต่อปลาโลมาสีชมพูด้วย น้ำเสีย โลมาก็ตาย เมื่ออาทิตย์ก่อนก็เพิ่งตายอีก 1 ตัว มีลอยแผลที่ท้อง" บังดิ - ปรีชา มะหมัด อบต.ท่าศาลา บอก

เขาว่า โลมาสีชมพูเป็นสัตว์เชิดหน้าชูตาของอำเภอขนอม เป็นตัวเรียกนักท่องเที่ยวทำรายได้ปีละมหาศาล และมันก็เป็นเพื่อนกับชาวประมงด้วย

"ช่วงเดือนที่มีลมตะวันตก ลมสงบ ประมาณสิงหาฯ-กันยาฯ มันจะเข้ามามาก มากินปลาเล็กปลาน้อย เป็นเพื่อนกันกับประมง เวลามีเรือมา ประมงก็จะโยนปลาน้อยให้โลมากิน กินเสร็จแล้วมันก็จะกระโดดโชว์"

แต่พอเรือคราดหอยลายมา ทุกชีวิตต้องเปลี่ยนวงจร ปรีชาว่า แค่เรืออวนลาก อวนรุน ปลาหมด แต่ระบบนิเวศไม่เสียหาย ก็คล้ายจะเป็นอัมพฤกษ์อยู่แล้ว นี่ต้องเจอเรือคราดหอยลาย ที่ทำลายทั้งสัตว์น้ำ และระบบนิเวศ ประชาชนในเขตนี้เห็นจะมีแต่อัมพาตอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นได้

เช่นเดียวกับ วีระ รองเมือง ประธานชมรมเรือเล็กประมงชายฝั่งอำเภอขนอม ที่บอกว่า โลมาอยู่คู่กับชาวประมงขนอมมาช้านาน

"เมื่อก่อนมาเจอโลมาทุกวัน มันอยู่ที่ปากอ่าว เดี๋ยวนี้ต้องลุ้นเอา เพราะดินเสีย โลมาก็ไม่มา ปลาเล็กไม่มี ปลาใหญ่ก็ไม่มา ปูก็ตาย มันจะเป็นแบบนี้เพราะเรือคราดหอย จริงๆ นะ เมื่อก่อนวิ่งเรือเจอเป็นฝูงเลย เกือบ 10 ตัวแน่ะ"

วีระ ว่า เรือคราดหอยลายจะทำงานตอนกลางคืน หลังจากเรือประมงของชาวบ้านกลับเข้าฝั่งแล้ว เรือคราดหอยก็จะมาลอยลำลากหอยกันคืนละ 4-5 ชั่วโมง จากนั้นก็จะขนถ่ายหอยลายที่แพขนอม ซึ่งเป็นแพของคนที่รับสินบน

"เคยมาหาผมเหมือนกัน เสนอให้เป็นล้าน แต่ผมยอมไม่ได้เลยปิดอ่าว ระดมเรือเล็ก 200-300 ลำ มาปิด เพราะเราหากินไม่ได้เลย 2 เดือนแล้ว ตอนนั้นก็เดือดร้อนกันไปหมด เรือแก๊สออกไม่ได้ ผู้ใหญ่ก็วิ่งวุ่นจนสุดท้ายเราก็เปิดทางให้ตอนเย็น เพราะผู้ใหญ่รับว่าจะดูแลให้"

จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เป็นไปตามที่ ‘ผู้ใหญ่’ บอก ทางออกเดียวคือต้องร่วมใจกันสร้างบ้านใหม่ให้สัตว์ทะเล

ฟื้นฟูและอนุรักษ์

"ชุมชนบ้านสระบัวเคยเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรมากมาย เป็นชุมชนใหญ่ที่มีฐานทรัพยากรเยอะ แต่เราเจอปัญหาเรือคราดหอยลายปี 2535 และอวนลาก อวนรุน ทำลายทรัพยากรชุมชนปี 2545-2546 ถ้าเราละเลยฐานทรัพยากรก็จะหมด คำว่าอนุรักษ์จึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราชาวมุสลิม" บังหมาด ในฐานะรองประธานกลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน บ้านสระบัว ว่า

ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ชาวบ้านสระบัวจึงค่อยๆ เรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์โดยจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินจากการสูญเสียแหล่งทำกินเมื่อทรัพยากรถูกทำลาย ขณะเดียวกันก็เพื่อปลูกฝังให้เกิดการหวงแหน และรู้จักใช้ธรรมชาติอย่างพอเพียงด้วย

อภินันท์ นายก อบต. คนเดิม เผยว่า ประชาชนในพื้นที่สระบัวค่อนข้างเข้มแข็ง และมีแรงของนักอนุรักษ์อยู่เต็มเปี่ยม อบต.จึงสนับสนุนทุกการดำเนินกิจกรรมของชุมชน เพื่อให้เขาดูแลตัวเองได้

"เราปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กๆ ในโรงเรียนด้วย อย่างเรื่องการปลูกป่าเราจะทำเป็นค่ายเรียนรู้ สอนวิธีการปลูก ไปเรียนกันในสถานที่จริง ซึ่งพอปิดเทอมแล้วเราก็จับมาเข้าค่ายอนุรักษ์ ก็ได้รับความร่วมมือดีจากคุณครูในโรงเรียน"

สำหรับกลุ่มกิจกรรมที่เกิดขึ้นหลังชาวประมงประสบปัญหาจะแยกเป็นกลุ่มแหล่งเรียนรู้ ที่จัดการชุมชนแบบพึ่งตนเอง ก็คือ กลุ่มออมทรัพย์ ร้านค้าชุมชน กองทุนประมง บัญชีครัวเรือน ผักสวนครัว และกลุ่มเลี้ยงโค

อีกกลุ่มเป็นลักษณะของการอนุรักษ์และฟื้นฟูชายฝั่ง เพื่อหาทางออกยั่งยืนให้ชาวประมง ได้แก่ หมฺรำ ซั้ง โป๊ะ ธนาคารปู บ้านของสัตว์น้ำริมฝั่ง การปลูกป่าชายเลน และการทำระเบิดน้ำ

"มันเริ่มมาจากความลำบากที่เป็นผลพวงจากเรือคราดหอย ตอนแรกก็ยาก กว่าจะมารวมกลุ่มได้ก็เสียไก่ไปหลายตัว" บังหยา - หยะหยา เจ๊ะเตบ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และกองทุนเครื่องประมง บอก

และนอกจากบ้านหลังใหญ่ของตัวเองที่สละให้เป็นร้านค้าชุมชนแล้ว บังหยายังให้คณะกรรมการชุมชนเช่าที่ดินเพื่อทำประโยชน์โดยไม่คิดมูลค่าอีกด้วย มีคนแบบนี้ในชุมชนก็นับว่าโชคดีมาก

สำหรับผู้เสียสละเพื่อชุมชนอีกหนึ่งคนอย่าง บังหมาด บอกถึงที่มาของธนาคารปูม้า ที่ผลิตประชากรปูปีละหลายล้านตัวว่า

ธนาคารปู เป็นสถานที่เพาะพันธุ์ปูที่ทำขึ้นจากอวนตาห่าง ลอยอยู่กลางน้ำลึกประมาณ 1.5 เมตร โดยสมาชิกจะนำปูไข่ที่จับได้มาฝากไว้ที่ธนาคาร ประมาณ 7 วันผ่านไป เมื่อไข่หลุดเป็นตัวหมด มันจะลอดผ่านตาอวนออกสู่ท้องทะเล แต่แม่ปูยังอยู่ในอวนก็จะถามสมาชิกว่าต้องการนำแม่พันธุ์ปูกลับไปไหม ถ้าไม่ก็จะนำปูไปขาย นำรายได้เข้ามาใช้ในกิจกรรมอนุรักษ์

"จากธนาคารปูก็จะเป็น หมฺรำ เป็นที่พักผ่อนของปลา ปลาวัยอ่อนจะอยู่ที่นี่ เราจะตัดกิ่งไม้มาปักเป็นจุดๆ ปักนานๆ ก็จะมีตะไคร่ มีเพรียงมาเกาะ เป็นของเล่นปลา ทดแทนป่าชายเลนไปก่อน เพราะเราไม่มีเกาะ เราเลยใช้ภูมิปัญญา ทำบ้านให้ปลาอยู่"

ส่วนระเบิดน้ำ เป็นระเบิดชีวภาพที่สามารถแก้ปัญหาน้ำเสียได้ โดยชาวบ้านช่วยกันคิดค้นสูตรรักษาคุณภาพน้ำ เพราะน้ำริมทะเลจะมีตะกอนเลนมาก จึงใช้ระเบิดน้ำเพื่อรักษาสมดุลของน้ำในทะเล

บังหมาดว่า เมื่อขว้างระเบิดไปสัก 48 ชั่วโมง ระเบิดจะละลายกับน้ำ น้ำจะใสขึ้น แต่ 1 ไร่อาจจะต้องใช้ระเบิดน้ำมากถึง 50 กิโลกรัม

"พื้นที่ลากหอยลายไม่รู้กี่พันไร่ เราคงทำระเบิดน้ำมากมายขนาดนั้นไม่ไหว ต้องปล่อยให้มันฟื้นฟูตัวเองสัก 3-4 ปี"

การตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ของชาวบ้านไม่ได้แปลว่า พวกเขาจะยอมทำตามสมการของเรือคราดหอยจอมฉกฉวยที่เข้ามาทุบหัวแล้วขโมยข้าวไป แต่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ระบบนิเวศที่สูญเสียไปแล้วฟื้นคืนกลับมาโดยเร็ว

ส่วนการขับไล่เรือคราดหอยลายที่อ่าวท่าศาลา ก็ยังเป็นปัญหาอันดับ 1 ของพวกเขาอยู่ดี

    โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์        วันที่ 24/12/2007

 

หมายเลขบันทึก: 294399เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท