ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

เรือพาณิชย์รุกประมงพื้นบ้าน "หอยลาย"ที่อ่าวท่าศาลาสูญพันธุ์


“ไม่ต่างจากโจร เข้ามาลักขโมย ทำกันอย่างอุกอาจ มาทุบหม้อข้าวหม้อแกงที่พวกเราเฝ้า ทะนุถนอมไว้อย่างดี เสร็จแล้วก็ไป ทิ้งความลำบากไว้กับพวกเรา ทุกคนเดินคอตกมาบ้าน บ่นว่าถูกกวาดเครื่องทำมาหากิน ลอบ อวนไปหมดเหลือ 5-6 ผืน หมดตัวไม่รู้จะไปทำอะไรกิน”

เรือพาณิชย์รุกประมงพื้นบ้าน "หอยลาย"ที่อ่าวท่าศาลาสูญพันธุ์
โดย ดำรงพันธ์ ใจห้าว กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2550

กลางดึกของคืนวันหนึ่ง ขณะที่ความเงียบรุกคืบเข้าไปในภวังค์ ของชาวประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา หมู่ 6 ต.ท่าศาลา อ. ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช " บรื๊น.....บรี๊น. เสียงเครื่องยนต์เรือขนาดใหญ่ ดังกระหึ่ม ปลุกชาวบ้านหลายคนให้ตื่นจากภวังค์

มันมากันกลางดึกประมาณ 5 ทุ่มเที่ยงคืนแล้วกลับ ไปตอนประมาณตี 3 ตี 4 มากันเป็นพวกราว 30-40 ลำ รวมกลุ่มกันคราดหอยลายเสียงดังฮื่มๆ ๆ เหมือนเสียงเครื่องบินได้ยินกันทั้งคืน พอมารุ่งเช้าเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแต่พอไปเก็บอวนกุ้ง หอย ปู ปลา ยกลอบขึ้นมา ทุกอย่าง ขาดกระจุย ติดเศษกุ้งหอย ปลา เศษไม้ ปะการัง สิ่งที่ไม่เคยเห็นกลับมาติดอวนเต็ม ใช้งานไม่ได้จนต้องทิ้งทั้งหมด

บังหยา หรือหยา เจ๊แตบ ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา หมู่ 6 ต.ท่าศาลา อ. ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นั่งระบายความรู้สึกด้วยอารมณ์หมดอาลัยหลังประสบปัญหาเรือคราด หอยเข้ามาคราดหอยลายบริเวณอ่าวท่าศาลาจนต้องทิ้งอวนเกือบ 100 ผืน เหมือนฝันร้ายที่ตื่นขึ้นมาแล้วทุกอย่างหายไปจากท้องทะเล

ไม่ต่างจากโจร เข้ามาลักขโมย ทำกันอย่างอุกอาจ มาทุบหม้อข้าวหม้อแกงที่พวกเราเฝ้า ทะนุถนอมไว้อย่างดี เสร็จแล้วก็ไป ทิ้งความลำบากไว้กับพวกเรา ทุกคนเดินคอตกมาบ้าน บ่นว่าถูกกวาดเครื่องทำมาหากิน ลอบ อวนไปหมดเหลือ 5-6 ผืน หมดตัวไม่รู้จะไปทำอะไรกิน

การเข้ามาของเรือคราดหอยลาย ได้สร้างความเสียหายให้กับ ชาวบ้านที่ทำมาหากินด้วยประมงพื้นบ้าน เครื่องมือที่ใช้ก็ล้วนประนีประนอมกับทรัพยากรธรรมชาติที่จับ กุ้ง หอย ปู ปลา แต่พอเพียง ทำให้ทรัพยากรชายฝั่งของบ้านอ่าวท่าศาลา ยังคงยั่งยืนให้ลูกหลานได้ประกอบอาชีพจนถึงปัจจุบัน

บังหยา เล่าว่า คนที่นี่เขาทำประมงพื้นบ้านมาเป็นระยะเวลาหลายชั่ว อายุคนตั้งแต่โต๊ะ ปู่ ย่า ตา ยาย ทำการวางอวนปลา กุ้ง ปู วางลอบหากินเหลือก็นำไปขาย อากาศดีๆ คลื่นลมสงบ ได้ปู ปลามากๆ ขายได้วันละ 1,000-2,000 บาท เพราะพื้นที่ตรงนี้ เป็นอ่าวเชื่อมต่อกับอ่าวปากพนัง ปากนคร ปากพะยิง ปากดวด ติด 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง ปากพนัง ท่าศาลา สิชล เป็นอ่าวที่มีดินชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล ยิ่งปัจจุบันชาวบ้านบริเวณอ่าวท่าศาลาได้รณรงค์ปลูกป่าชายเลน ทำการอนุรักษ์สัตว์น้ำและไม้ชายฝั่ง ทำให้เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเลมากมายหลายชนิด

มันใช้เรือลำใหญ่เข้ามาคราดหอย เครื่องมือจะเป็นตะแกรงคราดหอย คราดลง ไปในดินลึกกว่า 1 เมตร ชนิดที่ว่าพลิกหน้าดิน เหมือนคันไถ คราดขุดลึกลงไปในหน้าดิน สัตว์ชนิดเล็กๆ ตายหมด มันพลิกจนดินเน่า ดินเสีย เพราะหน้าดินใต้ทะเลมันจะมีหญ้า มีสัตว์ เล็กๆ สารพัด แล้วพอมาพลิกหน้าดิน หนอนในดิน หญ้า พืชน้ำ อาหารปลาพวกนี้ ตายหมด กลายเป็นของเสีย"

เรือคราดหอยที่เข้ามาในคืนนั้น ได้สร้างความเสียหายให้กับ อ่าวท่าศาลาที่เคยอุดมสมบูรณ์ให้พังเสียหาย และอาจจะต้องใช้เวลานานมาก กว่าจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ เหมือนเดิม เพราะธรรมชาติต้องใช้เวลาในการ ฟื้นฟูตัวมันเองซึ่งอาจจะใช้เวลานานถึง 5-6 ปี เลย แล้วระหว่างที่ธรรมชาติรอวันฟื้นฟู ชาวประมงพื้นบ้านที่จะต้องทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าวจะประกอบอาชีพได้อย่างไร

เรารู้ว่าหน้าดินนี้มีหอยลาย หอยแครงมากขนาดไหน แต่พวกเราก็ไม่เคยจับ ไม่เคยลากมันจะทำลายหน้าดิน ถ้าเราทำลายแล้วพวกหอย ปู ปลา กั้ง สัตว์น้ำหลายชนิด มันจะไปอยู่ไหน เราพังบ้านมันแล้ว

บังหยา เล่าต่อว่า ตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องหมู่ 6 ที่มีอยู่ 700 ครัวเรือนได้รับผลกระทบหมด เครื่องทำมาหากินเสียหายบางคนมีอวนเป็น 200-300 ผืนๆ ละ 600 บาท ส่วนคนที่ยังมีเหลืออยู่ก็ไปวางอวนกลางวันสิ่งที่ได้มาคือเศษ กุ้ง หอย ปู ปลา เน่าๆ อวนขาดเพราะหอยบาดอวนและกว่าจะแกะออกได้ ต้องทุบหรือต้อง ฝังดินให้เน่าถึงจะแกะได้อวนก็เสียหายไปมากกว่าครึ่งแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะทิ้งซื้ออวนใหม่ ลำบากและน่าสงสารมาก

ความเดือดร้อน จากเรือคราดหอยยังไม่ได้รับการแก้ไข สิ่งที่ชาวบ้านทำได้เป็นเพียง การรวมตัวกันไปแจ้งความที่ สภ.ท่าศาลาจำนวนกว่า 60 ราย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมเรือคราดหอยได้ เพียง 1 ลำ ลูกเรือประมง 6 คน แต่หลังจากนั้นได้ประกันตัวทั้งเรือประมงและลูกเรือจนขณะนี้ยังไม่มีใครรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ส่วนมากชาวบ้านถูกหลอก เขาบอกว่า จับแล้วแต่กลับไม่เห็นดำเนินการ อะไร พอเข้าไปจับบอกว่าจับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน บางลำจับแล้วก็ปล่อย บางลำจับได้แต่แจ้งขอ หาต่างด้าว เราเสียความรู้สึก

นั่นคือความรู้สึกของ บังมุ หรือ เจริญ โต๊ะอีแตะ อายุ 39 ปี ชาวประมงพื้นบ้านหมู่ที่ 5 ต.ท่าศาลา อ. ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ว่า ชาวบ้าน 600 ครัวเรือนในหมู่ 5 มี 95% ที่ทำประมงพื้นบ้านมี เรืออยู่กว่า 350 ลำ หลังจากที่มีเรือคราดหอยนี้เข้ามาหลายคนต้องทิ้งอวนเพราะนำมาใช้ก็ ใช้ไม่ได้ ร้องเรียนค่าเสียหายจากใครก็ไม่ได้ได้แต่ไปแจ้งความเอาไว้ แต่บางคนที่ยังมี เครื่องมือเหลืออยู่ไม่กล้าวางอวนในเวลากลางคืนเพราะระแวงเรือคราดหอยลายเข้ามา จะไปวางตอนเช้าก่อนหน้านี้เคยจับสัตว์ทะเลไปขายได้วันละเป็น 2-3 พันบาท แต่มาวันนี้สัตว์ น้ำที่ได้ก็ไม่มีคุณภาพ ปลาจะตัวซีด ปู กุ้ง ท้องจะแดงเหลืองผิดปกติขายได้ไม่เกินวันละ 500 บาทและเรียกได้ว่ายังไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียนเลย

ปัญหาใหญ่ที่ตามมาถ้ายังมีการคราดหอยลายอยู่ ยังมีการทำลายหน้าดินอยู่ ดินก็จะเสียเปรี้ยว ก็จะเกิดหนอนทะเลตัวขนาด 2 นิ้ว มากินปลา ปู กุ้งที่ตายจากการคราด หอยลาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคเพราะขนของมันจะไปติดกับปลาที่ยังไม่ตาย ใครไปโดนก็จะ คัน บวม และยิ่งไปกว่านั้นมันจะเข้าไปในท้องปลาหากชาวบ้านจับได้และนำไปขายจะเป็น อันตรายต่อคนที่ซื้อไปกินต่อ

แม้ว่าชาวบ้านจะพยายามรวมกลุ่มกันอนุรักษ์ทะเล พยายามทำ ธนาคารปู ปลูกป่าชายเลน ทำโป๊ะไม้ไผ่ อนุบาลปลาเล็ก รักษาหน้าดิน แต่การเข้ามาของเรือต่างถิ่น สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่ง มาตรการด้านกฎหมายแม้ว่าจะมีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถกวาดจับ ได้อย่างเข้มงวด วันดีคืนดี ชาวประมงพื้นบ้าน จึงยังถูกรุกรานจากประมงพาณิชย์ ที่กอบโกยทรัพยากรแล้วก็จากไปเหลือซากที่เหลือเอาไว้ให้ชาวบ้านดูแล

 

หมายเลขบันทึก: 294396เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท