9 ปีสถาปนาคณะพยาบาลศาสตร์


ผมต้องขอขอบคุณบุคลากรคณะพยาบาลศาสตร์ทุกระดับและทุกท่านที่ให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและกับตัวผมด้วยดีเสมอมาอีกครั้งครับ และจะขอเป็นกำลังใจให้ความมุ่งมั่นที่จะเป็น “คณะแห่งการวิจัย” เป็นจริงได้โดยเร็วครับ

         คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดงานครบรอบ 9 ปี การก่อตั้งคณะเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 (ความจริงประมาณ 10 ปี แล้วถ้ารวมช่วงเป็นโครงการจัดตั้งคณะด้วย) ผมได้มีโอกาสไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการ “พยาบาลนเรศวรวิจัย” ครั้งที่ 1 ส่วนท่านรองอธิการบดีฝ่ายศิลปและวัฒนธรรม (รศ.เฉลิม พงศ์อาจารย์) ไปเห็นประธานพิธีเปิดศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย เนื่องจากท่านอธิการบดีอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ 

         คณะพยาบาลศาสตร์ ไม่ว่าจะที่มหาวิทยาลัยไหนก็จะเป็นกำลังสำคัญของมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อผลิตบัณฑิตออกไปอยู่ตามโรงพยาบาลก็จะเป็นกำลังของโรงพยาบาล เป็นวิชาชีพที่มีวินัย มีพลัง มีศักยภาพในการปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงสูงมาก (ถ้าได้รับการส่งเสริมสนับสนุนที่ดี) 

         เมื่อครั้งที่ผมเข้ามารับผิดชอบงานด้าน QA ของมหาวิทยาลัยในปี 2544 คณะที่พร้อมรับการประเมินภายใน (IQA) เป็นคณะแรกก็คือ คณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ที่รับผิดชอบด้าน QA ของคณะในขณะนั้นคือ อาจารย์มัลลิกา ตั้งค้าวานิช (ปัจจุบันกำลังลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก) เมื่อผมต้องทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์ก็ได้ ดร.นงนุช โอบะ จากคณะพยาบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการทำงาน ทุกเดือนเวลาออกหน่วยเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ก็ได้คณาจารย์จากคณะพยาบาลเป็นกำลังสำคัญ ความจริงมีหลายท่าน ผมขอเอ่ยนามสักท่านคือ ท่านอาจารย์พัชรพร สุคนธสรรพ์ เมื่อผมต้องมาบริหารเรื่องมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ก็ได้ รศ.ดร.พิมพ์จรัส อยู่สวัสดิ์ มาเป็นกำลังสำคัญในทีมบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัย ด้าน KM ผมก็ได้ ศ.ดร.ประนอม โอทกานนท์ มาเป็นกำลังสำคัญอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่ท่านจะขอลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่คณะพยาบาลศาสตร์ ม.นเรศวร อย่างไรก็ดี ความร่วมมือด้วยดีทั้งหมดนี้คงจะไม่สามารถเป็นไปได้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากท่านคณบดี รศ.ดร.ประภา ลิ้มประสูตร 

         ขณะนี้คณะพยาบาลศาสตร์มีบัณฑิตจบไปแล้วรวม 6 รุ่น ประมาณ 2,000 คน (ที่มากเพราะในช่วงแรกมีการร่วมผลิตกับวิทยาลัยพยาบาลต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่างด้วย) มหาบัณฑิตประมาณ 40 คน มีผลงานวิจัยทั้งที่เสร็จแล้วและกำลังดำเนินการด้านเวชศาสตร์ชุมชนเป็นจำนวนมาก ทำให้คิดว่าน่าจะเป็นกำลังสำคัญของมหาวิทยาลัยที่จะทำวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพชุมชน (Rural health) ยิ่งเมื่อรวมกับศักยภาพจากคณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้าด้วยกันแล้ว ผมก็ยิ่งมั่นใจว่าการวิจัยด้าน Rural health นี้ (area based) น่าจะไปได้ดี มีประโยชน์ต่อชุมชนต่อสังคมโดยรวมอย่างเป็นรูปธรรม 

         ผมต้องขอขอบคุณบุคลากรคณะพยาบาลศาสตร์ทุกระดับและทุกท่านที่ให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและกับตัวผมด้วยดีเสมอมาอีกครั้งครับ และจะขอเป็นกำลังใจให้ความมุ่งมั่นที่จะเป็น “คณะแห่งการวิจัย” เป็นจริงได้โดยเร็วครับ 

                                      
 
          

          


         วิบูลย์ วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 2943เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2005 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท