การนำผลการตรวจสุขภาพไปใช้


การตรวจสุขภาพ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ การเฝ้าระวังเชิงรุกและเชิงรับ การนำผลไปใช้

การนำผลการตรวจสุขภาพไปใช้

ผมเพิ่งจัดประชุมวิชาการไปเมื่อวันที่ 1 กันยายนนี้เอง พูดเรื่องการตรวจร่างกายตามความเสี่ยงตามประกาศกระทรวงฉบับใหม่ และการนำผลการตรวจร่างกายไปใช้ เนื่องจากน่าจะเป็นประโยชน์จึงขอนำมาเผยแพร่ทาง web site นี้และใน web site ของผม นอกจากจะรู้ว่าใครเป็นโรคไม่เป็นโรค แล้ว ผลการตรวจสุขภาพยังนำไปใช้ได้หลายอย่างดังบทความนี้ครับ

การนำผลการตรวจสุขภาพไปใช้

                เมื่อได้ผลตรวจสุขภาพมา ส่วนใหญ่จะมีการสรุปให้กับหน่วยงานในภาพรวม และแจกให้กับพนักงานในรูปแบบรายบุคคลในภาพรวม

การนำไปใช้

เรื่องทั่วไป

  • 1. แพทย์จะต้องสรุปให้ชัดเจนว่าสุขภาพของแต่ละบุคคลนั้นเป็นอย่างไร ถ้ามีโรคหรือเริ่มแสดงอาการของโรคที่คาดได้ว่าเกิดจากความเสี่ยงในการทำงานก็จะต้องรายงาน เช่น ถ้าตรวจการได้ยิน มีผลการเสียการได้ยินที่ความถี่สูง ต้องสรุปให้ชัดเจน และให้บอกวิธีปฏิบัติ ถ้าไขมันสูง ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร จะต้องมีการรักษาหรือไม่ หรือติดตามผลการรักษาอย่างไร จุดอ่อนอย่างหนึ่งที่พบคือ ผู้ที่ได้ผลการตรวจร่างกายไปแล้วไม่ทราบว่ามีความสำคัญอย่างไร
  • 2. ผลการตรวจร่างกายจะต้องคำนึงถึงพฤติกรรมด้วย เช่นการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เกื้อหนุนต่อผลร้ายของความเสี่ยงที่พบในสถานที่ทำงาน เช่นการทำงานในห้องผ้า หรือในโรงงานทอผ้า การสูบบุหรี่ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคปอดฝุ่นฝ้ายมากขึ้น และยังอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ นอกจากนี้ในบางประเทศ จะเขียนทำนายชีวิตภายหน้าของคนนี้ไปเลย ในประเทศญี่ปุ่นมีการรณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่ ถ้าผลการตรวจร่างกายปกติหมด แต่มีการสูบบุหรี่ เขาจะเอาน้ำหนักตัว การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ มาคำนวนโอกาสว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกกี่ปี
  • 3. การซักประวัติ เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มีการซักประวัติ จะตรวจร่างกายไม่พบ บางครั้งนัดพนักงานมาเป็นจำนวนมาก แพทย์ไม่มีเวลาสอบถาม จึงต้องมีแบบซักประวัติไว้ ในแบบซักประวัติจะมีการสอบถาม เช่นถ้าทำงานกับไอกรด ก็จะถามว่ามีอาการระคายเคืองตา หรือทางเดินหายใจหรือไม่ หรือถ้ามีเหตุการเช่นการระบายอากาศเสีย ก็จะมีไอกรด ด่างมาก ทำให้มีอาการแสบหน้าอก ไอ หรือสำลัก ซึ่งอาการเหล่านี้ ตอนที่ตรวจร่างกายจะไม่พบ ถ้าไม่ถามก็จะไม่รู้เรื่อง แบบสอบถามนี้ควรแจกให้ทำก่อนการตรวจเพื่อมิให้เป็นการเสียเวลา
  • 4. ในการตรวจร่างกายตามความเสี่ยงควรให้แพทย์ที่ทำการตรวจ หรือแพทย์ที่เป็นหัวหน้าคณะซึ่งควรเป็นแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ แต่ถ้าไม่มีอาจใช้แพทย์ที่ผ่านการอบรมอาชีวเวชศาสตร์พื้นฐานสองเดือนเดินสำรวจสถานประกอบการ และประเมินดูว่าจะตรวจร่างกายอย่างไร และกำหนดการตรวจร่างกาย ถ้าแพทย์คนนั้นไม่ได้ตรวจเอง จะต้องมีการถ่ายทอดให้แพทย์หรือคณะที่มาตรวจฟังว่าจะต้องตรวจอะไร แผนกไหน เน้นเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เช่นทำงานกับ n-Hexane ก็ต้องเน้นตรวจระบบประสาทเป็นพิเศษ และควรมีแบบสอบถามเฉพาะด้วย
  • 5. การรายงานผลในภาพรวมนั้นแพทย์จะไม่รายงานแบบรายงานส่วนบุคคล ที่ถูกต้องควรรายงานว่าคนงานคนนั้นสามารถทำงานนั้นต่อไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะมีเงื่อนไขอย่างไร เช่น ต้องไปรักษาและนำหลักฐานมาให้ดูว่าไปรักษาและติดตามการรักษาตลอด หรือ ให้หยุดงานชั่วคราว ให้เปลี่ยนงานชั่วคราว และควรมีการติดตามผล ถ้าอาการดีขึ้นให้กลับมาทำงานใหม่ หรือเมื่อมีการปรับปรุงลดความเสี่ยงในสถานที่ทำงานแล้วจึงจะกลับมาทำงานใหม่

ขั้นตอนในการจัดตรวจร่างกาย

ขั้นตอนที่หนึ่งการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ในการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ จะต้องมีข้อมูลจาการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมในการทำงานซึ่งได้จากทีมบริการอาชีวเวชกรรม หรือ ทีมบริการอาชีวสุขศาสตร์  ร่วมกับข้อมูลอื่นเช่นข้อมูลระบาดวิทยาเกี่ยวกับอาชีพและการสัมผัส ค่าอ้างอิงเกี่ยวกับระดับการสัมผัส การประเมินเชิงคุณภาพ (qualitative) (เช่นสารนั้นก่อมะเร็งหรือไม่) หรือเชิงปริมาณ (quantitative)  (เช่นค่าของการสัมผัส)  โดยผลของการประเมินจะบ่งถึงระดับของอันตรายต่อสุขภาพคนงาน ขั้นตอนในการทำการประเมินความเสี่ยงในทางอาชีวอนามัยได้แก่

  • 1. ค้นหาความเสี่ยงในการทำงาน (เป็นผลที่ได้จากการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมในการทำงาน)
  • 2. วิเคราะห์ว่าสิ่งคุกคามนั้นจะมีผลอย่างไรต่อคนงาน (ทางเข้าสู่ร่างกาย ชนิดของการสัมผัส threshold limit values ขนาดของสารนั้นที่มีผลต่อร่างกาย ผลร้ายต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้น)
  • 3. ค้นหาคนงานหรือกลุ่มคนงานที่สัมผัสกับสิ่งคุกคามเฉพาะ
  • 4. ค้นหาคนงานหรือกลุ่มคนงานที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์
  • 5. ประเมินมาตรการป้องกันและควบคุมสิ่งคุกคามที่มีอยู่
  • 6. สรุปและทำเป็นรายงานในเรื่องการประเมิน
  • 7. ทบทวนเป็นระยะและถ้าจำเป็นจะต้องมีการประเมินใหม่

การเฝ้าระวังสุขภาพของคนงาน

บางครั้งแม้ทราบว่ามีสิ่งคุกคามในที่ทำงานแต่ก็ไม่สามารถขจัดได้หมด เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทำให้ต้องทำงานกับสิ่งคุกคามโดยใช้มาตรการด้านความปลอดภัย ในกรณีนี้การเฝ้าระวังทางสุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ การเฝ้าระวังทางสุขภาพประกอบด้วยการประเมินสุขภาพโดยวิธีทางการแพทย์โดยค้นหาผลที่เกิดต่อสุขภาพจากการสัมผัสสิ่งคุกคามในการทำงานนั้น

วัตถุประสงค์สำคัญของการตรวจสุขภาพคือ

  • 1. การประเมินความสมบูรณ์ของคนงานว่าดีพอที่จะปฏิบัติงานที่ทำอยู่ได้หรือไม่
  • 2. ค้นหาความผิดปกติของสุขภาพของคนงานที่เกิดจากการสัมผัสสิ่งที่เป็นอันตรายในกระบวนการทำงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
  • 3. ค้นหาผู้ที่เป็นโรคจากการทำงาน

การตรวจสุขภาพไม่สามารถปกป้องคนงานจากสิ่งคุกคาม และไม่สามารถแทนที่มาตรการควบคุมที่เหมาะสมซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก แต่การตรวจสุขภาพช่วยในการค้นหาสภาวะสุขภาพของคนงานที่ทำให้ไวต่อผลของสิ่งคุกคามมากขึ้นหรือตรวจพบอาการแรกของความผิดปกติของสุขภาพที่เกิดจากสิ่งคุกคามนี้

การเฝ้าระวังสุขภาพแบบเชิงรับและเชิงรุก

ในกรณีของการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรับ หมายถึงรอให้คนงานมีอาการของโรคหรือการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งจะมารับการรักษา หรือ มาปรึกษาแพทย์อาชีวเวชศาสตร์หรือพยาบาลอาชีวอนามัย การเฝ้าระวังเชิงรับจะค้นพบเพียงโรคที่แสดงอาการออกมาเท่านั้น ซึ่งหมายถึงมีอาการมากแล้ว และในกรณีนี้ไม่แน่ว่าจะมีเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นโรคแต่ยังไม่แสดงอาการออกมาอยู่อีกหรือไม่ เมื่อคนงานมาหาแพทย์ สิ่งสำคัญก่อนจะทำการวินิจฉัยแพทย์จะต้องแยกโรคให้ได้ว่าเกิดจากการทำงานหรือไม่ได้เกิดจากการทำงาน

ในกรณีการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุก ทีมบริการอาชีวเวชกรรมจะเลือกตรวจคนงานที่มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคจากการทำงานและอุบัติเหตุสูง ซึ่งจะทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่การตรวจร่างกายเป็นระยะสำหรับคนงานทั้งหมด การตรวจร่างกายสำหรับคนงานที่สัมผัสกับสิ่งคุกคามเฉพาะ การคัดกรองและเฝ้าระวังทางชีวภาพในคนงานบางกลุ่ม การเฝ้าระวังเฉพาะขึ้นกับความเสี่ยงที่จะเกิดผลต่อสุขภาพจากการสัมผัสสิ่งคุกคามนั้น การเฝ้าระวังเชิงรุกยังเหมาะสำหรับคนงานที่มีประวัติการสัมผัสหลายอย่าง และคนงานที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคและอุบัติเหตุ

ในอนุสัญญาหมายเลข 161 และข้อแนะนำ หมายเลข 171 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่าเครื่องมือเฉพาะของการเฝ้าระวังสุขภาพของคนงานควรประกอบด้วย

  • 1. การประเมินสุขภาพของคนงานก่อนที่จะเข้าทำงานซึ่งที่อาจมีอันตรายต่อสุขภาพของพวกเขาและต่อผู้อื่น
  • 2. การประเมินสุขภาพเป็นระยะระหว่างการจ้างงานซึ่งมีการสัมผัสสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ
  • 3. การประเมินสุขภาพเมื่อกลับเข้าทำงานภายหลังการหยุดงานด้วยเหตุผลทางสุขภาพเป็นระยะเวลานาน เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ว่าโรคที่ทำให้หยุดงานนั้นเกิดจากการทำงาน และเพื่อให้คำแนะนำในการประเมินว่าคนงานนั้นสามารถกลับมาทำงานนั้นได้หรือไม่ และต้องการการฟื้นฟูสุขภาพเพิ่มเติมหรือไม่
  • 4. การประเมินสุขภาพก่อนย้ายงานหรือหลังจากการทำงานที่มีสิ่งคุกคามซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในอนาคต

การประเมินสภาวะสุขภาพของคนงานถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการเริ่มงานอาชีวอนามัย  เมื่อมีคนเข้าทำงานใหม่  เมื่อมีกระบวนการทำงานใหม่  เมื่อมีเทคนิคการทำงานใหม่ๆเข้ามา  เมื่อพบการสัมผัสเฉพาะ และเมื่อคนงานบางคนแสดงให้เห็นถึงสภาวะสุขภาพที่ต้องติดตามดูแลรักษา  การตรวจสุขภาพจะต้องมีการดูแลและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อค้นหาผลของงานต่อสุขภาพตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

 

การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน (Pre-assignment (pre-employment) health examinations)

การประเมินสุขภาพนี้จะทำก่อนที่คนงานเข้าทำงาน หรือเข้าทำงานบางอย่างซึ่งอาจมีอันตรายต่อสุขภาพของตัวคนงานเองและเพื่อนคนงานอื่นๆ วัตถุประสงค์ของการตรวจเพื่อดูว่าคนงานนั้นมีสุขภาพร่างกายและจิตใจเหมาะสมกับการทำงานนั้นหรือไม่ และเพื่อให้มั่นใจว่างานที่ทำนั้นไม่มีอันตรายต่อสุขภาพของคนงานนั้นเองหรือต่อสุขภาพของเพื่อนคนงานอื่น ในกระบวนการตรวจส่วนใหญ่นั้นการทบทวนประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ใช้บ่อย เช่นการตรวจเม็ดเลือดและปัสสาวะก็เพียงพอ  แต่ในบางกรณี เช่นการที่ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่อันตราย หรืองานที่ต้องการความเหมาะสมของสุขภาพอาจทำให้ต้องมีการตรวจร่างกายตามความเสี่ยงที่พบในที่ทำงานและการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม มีปัจจัยด้านสุขภาพบางอย่างที่อาจทำให้งานที่ทำเป็นอันตรายต่อคนงานที่มีความผิดปกติในสุขภาพนั้นเองหรือเป็นต่อผู้ร่วมงานคนอื่นหรือต่อสาธารณชน เช่นไม่ให้คนที่เป็นความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานรักษาแล้วไม่ดีขึ้น ทำงานที่เป็นอันตรายบางอย่างเช่น การเป็นคนขับเครื่องบิน คนขับรถสาธารณะหรือรถบรรทุก คนที่ตาบอดสีไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้ตาแยกสี เช่นการอ่านสัญญาณไฟ  ในงานที่ต้องอาศัยความสมบูรณ์ของร่างกายสูงเช่นการดำน้ำ ตำรวจดับเพลิง ตำรวจและขับเครื่องบิน นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่โรคเรื้อรังเช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ โรคหัวใจอาจแย่ลงจากการสัมผัสสิ่งคุกคามในงานบางอย่าง ดังนั้นแพทย์ที่ทำการตรวจสุขภาพจะต้องรู้เกี่ยวกับงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงานรวมทั้งหน้าที่ของคนงานนั้นด้วย

เมื่อเสร็จการประเมินสุขภาพแล้ว แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะต้องรายงานผลไปยังคนงานและนายจ้าง โดยรายงานที่ไปยังนายจ้างจะต้องไม่มีรายละเอียดการเจ็บป่วยของคนงาน แต่ควรมีข้อสรุปเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้ที่ถูกตรวจกับงานที่จะทำ และงานหรือสภาพของงานซึ่งไม่ควรทำไม่ว่าจะต้องย้ายงานชั่วคราวหรือตลอดไปหรือไม่

การตรวจร่างกายก่อนเข้าทำงานยังเป็นส่วนสำคัญสำหรับบันทึกสุขภาพของคนงานด้วย เนื่องจากเป็นข้อมูลด้านคลินิกและห้องปฏิบัติการของสุขภาพของคนงานในขณะที่เข้าทำงาน และยังเป็นพื้นฐานเพื่อเปรียบเทียบดูการเปลี่ยนแปลงในสภาวะสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากผลของการทำงาน

การตรวจสุขภาพเป็นระยะ (Periodic health examinations)

เป็นการตรวจสุขภาพในระหว่างทำงานตามความเสี่ยง ซึ่งไม่สามารถกำจัดได้ทั้งหมดด้วยมาตรการการป้องกันและควบคุม วัตถุประสงค์ของการตรวจสุขภาพเป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพของคนงานระหว่างการว่าจ้างทำงาน เพื่อแสดงว่าคนงานมีสุขภาพร่างกายและจิตใจเหมาะสมกับงานที่ทำอยู่ และค้นหาอาการและอาการแสดงของการป่วยที่อาจเกิดจากการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาให้เร็วที่สุด ซึ่งจะต้องมีการตรวจพิเศษอื่นๆตามแต่อันตรายของสิ่งคุกคามที่พบ วัตถุประสงค์ของการตรวจร่างกายเป็นระยะเพื่อ

  • 1. ค้นหาผลเสียต่อสุขภาพจากการทำงานหรือการสัมผัสสิ่งคุกคามให้เร็วที่สุด
  • 2. ทราบระยะเวลาแรกเริ่มเป็นของโรคจากการทำงาน
  • 3. เพื่อค้นหาว่าการทำงานหรือสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่มีความเสี่ยงมีผลต่อคนงานที่มีสุขภาพไม่ดีหรือเป็นโรคเรื้อรังโรค หรือไม่
  • 4. ค้นหาการสัมผัสต่อสิ่งคุกคามและความเสี่ยงโดยการใช้การเฝ้าระวังทางชีวภาพ (เช่นการเจาะเลือด การตรวจหน้าที่ของปอด ฯลฯ)
  • 5. ตรวจสอบประสิทธิภาพของมาตรการการป้องกันและควบคุม (ถ้ามาตรการดี ก็จะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ)
  • 6. ค้นหาผลต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนวิธีการงาน การใช้เทคโนโลยีหรือสารเคมีใหม่ในที่ทำงาน

ความถี่ของการตรวจขึ้นกับลักษณะการสัมผัส ความรุนแรง และมาตรการการป้องกัน โดยสามารถทำทุกหนึ่งถึงสามเดือน หรือทุกหนึ่งถึงสามปีก็ได้ โดยมีการตรวจหลายชนิดหรือ ตรวจเพียงไม่กี่อย่างก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและผลต่อสุขภาพของความเสี่ยงนั้น

การตรวจสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงาน (Return-to-work health examinations)

การประเมินสุขภาพนี้ทำเพื่อดูความเหมาะสมในการกลับเข้าทำงานภายหลังจากการหยุดงานเป็นเวลานานด้วยเหตุผลทางสุขภาพ การตรวจสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงานนี้จะบอกว่าคนงานพร้อมที่จะกลับเข้าทำงานหรือยัง โดยดูความพร้อมด้านสุขภาพ และความเสี่ยงที่พบในการทำงานเป็นหลัก 

การตรวจสุขภาพทั่วไป

ในสถานประกอบการหลายแห่ง การตรวจสุขภาพทั่วไปจัดทำโดยบริการอาชีวเวชกรรม โดยเป็นไปตามความสมัครใจ  ซึ่งจะเป็นการตรวจคนงานทั้งหมดหรือตรวจคนงานเฉพาะกลุ่มตามอายุ ตามระยะเวลาการทำงาน แล้วแต่ฐานะขององค์กร  อาจเป็นการตรวจสุขภาพครบทุกอย่างหรือเป็นการตรวจเพียงบางอย่างเพื่อคัดกรองโรคเฉพาะอย่างหรือความเสี่ยงต่อสุขภาพ ความถี่ของการตรวจขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการตรวจ

การตรวจหลังออกจากงาน

เป็นการตรวจหลังจากสิ้นสุดการจ้าง และตรวจเพื่อค้นหาผลของสิ่งคุกคามซึ่งอาจทำให้เกิดผลต่อสุขภาพในอนาคตหลังออกจากงานไปแล้ว วัตถุประสงค์ในการประเมินสุขภาพชนิดนี้เพื่อเปรียบเทียบสุขภาพของคนงานกับการตรวจครั้งก่อน และเพื่อประเมินว่าสิ่งคุกคามในงานที่ทำมาก่อนหน้านี้จะมีผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

ข้อสังเกต

  • 1. การตรวจสุขภาพของพนักงานควรกระทำโดยแพทย์หรือพยาบาลที่ได้รับการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์หรืออาชีวอนามัย โดยจะต้องทราบสิ่งคุกคามที่คนงานสัมผัส มีการวางแผนการตรวจร่างกายตามความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างถูกต้อง
  • 2. การตรวจสุขภาพไม่สามารถแทนที่มาตรการการป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดอันตรายจากความเสี่ยงได้ ถ้าการป้องกันได้ผลดี ชนิดและจำนวนของผู้ที่ได้รับการตรวจสุขภาพจะน้อยลง
  • 3. ข้อมูลการตรวจสุขภาพจะต้องเป็นความลับและต้องเก็บรักษาโดยผู้ให้บริการอาชีวอนามัย การให้ข้อมูลจะกระทำก็ต่อเมื่อมีใบเซ็นยินยอมจากคนงานนั้น เมื่อคนงานต้องการข้อมูลเพื่อไปหาแพทย์คนอื่น พวกเขาสามารถทำได้ตามสิทธิ
  • 4. การสรุปข้อมูลของคนงานไปให้นายจ้างจะต้องสรุปในภาพรวม โดยรักษาความลับของคนงานแต่ละคนอย่างเคร่งครัด
  • 5. การใช้ข้อมูลและผลการตรวจสุขภาพเพื่อให้เกิดการแตกแยกกับคนงานไม่สามารถทำได้

ผลการตรวจร่างกายสามารถแบ่งได้เป็น

ผลการตรวจร่างกาย

การปฏิบัติรายบุคคล

การสนับสนุนจากสถานประกอบการ

ผลการตรวจร่างกายปกติ

พยายามให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น มีสุขภาพดียิ่งขึ้น

ละทิ้งสิ่งเสพติด บุหรี่ เหล้า

ปฏิบัติตามกฏระเบียบ ข้อห้ามในการทำงานอย่างเคร่งครัด

ส่งเสริมสุขภาพ

ให้ความรู้

จัดโภชนาการที่มีประโยชน์

งดสถานที่สูบบุหรี่

จัดกิจกรรมสันทนาการ

ปรับปรุงกระบวนงาน ลดสิ่งคุกคามในที่ทำงาน

จัดระบบเฝ้าระวังทางสุขภาพ

ทำงานในสถานที่เสี่ยง

ผลการตรวจร่างกายเริ่มผิดปกติหรือมีความเสี่ยง

ลดความเสี่ยง

พยายามทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น

สนใจติตตามความผิดปกติที่พบ

ให้ความรู้

ลดความเสี่ยงทางพฤติกรรมและความเสี่ยงในสิ่งแวดล้อมในการทำงาน

จัดระบบเฝ้าระวังทางสุขภาพ

ส่งเสริมสุขภาพ

เป็นโรคแล้ว

ติดตามดูแลให้การรักษาโรค

ให้ความรู้พนักงาน

ให้เพื่อนร่วมงานช่วยดูแล

ส่งเสริมให้พนักงานรักษาโรค มีการติดตามผลเพื่อกระตุ้น

มีการส่งเสริมสุขภาพ

จัดระบบเฝ้าระวัง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 293488เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2009 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 02:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท