ลักคณา พบร่มเย็น
อาจารย์ ลักคณา ลักคณา พบร่มเย็น พบร่มเย็น

ความหมายและลักษณะของสิทธิครอบครอง


แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิครอบครอง

แนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิครอบครองตามกฎหมายโรมัน

 

--------------------------------------------------------------------------------

วามหมายของ Possessio (ครอบครอง) ตามรากศัพท์ : ทฤษฎีต่าง ๆ[1]

--------------------------------------------------------------------------------

          ตามรากศัพท์ possessio อาจมาจากหลายแหล่งด้วยกัน ทฤษฎีสำคัญมีดังนี้

          1. Schulz[2] สรุปว่า คำกริยาว่า possessio คือ possidere ซึ่งประกอบด้วย sedere (นั่ง) ส่วน pos ข้างหน้านั้น ซึ่ง possidere น่าจะแปลว่านั่งอยู่บนสิ่งของอย่างหนึ่ง (sit upon a thing) ฉะนั้น possessio น่าจะแปลว่าการนั่ง (sitting) และpossessor น่าจะแปลว่าผู้ซึ่งมีหลักแหล่งหรือตั้งรกรากอยู่กับสิ่งของหรือทรัพย์อย่างหนึ่ง(a person settled upon a thing) ศัพท์เหล่านี้แต่เดิมใช้กับที่ดินเท่านั้นและแม้กฎหมาย 12 โต๊ะหรือแผ่นก็มิได้นำศัพท์เหล่านี้มาใช้กับสังหาริมทรัพย์เลย

          2. Accarias[3]  เห็นว่า possessio มาจาก posse อันเป็นการแนะ (éveille) เหนือสิ่งอื่นใดว่าบุคคลอยู่ในสภาวะของการสัมผัสทางกายภาพกับ (en contact matéiel avec) ทรัพย์ โดยรากศัพท์นี้แสดงออกถึงการที่บุคคลเก็บรักษาหรือถือครอง (le fait de détenir) ทรัพย์ไว้และมีทรัพย์นั้นไว้ในเงื้อมมือของเขา (l't avoir physiquement a sa disposition)

          3. Lepointe[4] ให้ความเห็นว่า possessio มาจากรากศัพท์สำคัญ 2 ด้านคือ pot เหมือนใน potestas อันแสดงถึงอำนาจ ส่วน sessio นั้นมาจาก sedere (นั่ง) อันทำให้นึกถึง (évoquant) การถือครอง (detention) และการสัมผัส (contact) โดยอ้างว่า Labeo ผู้ก่อตั้งสำนักนิติศาสตร์โพรคิวเลียนในยุคทองนำ possessio ไปสัมพันธ์กับ a pedibus (บนเท้า)    Lepointe เห็นว่า possessio เป็นอำนาจในทางพฤตินัย (pouvoir de fait) เหนือทรัพย์อันมีลักษณะการแสดงออกภายนอก (extérieurement) เหมือนกรรมสิทธิ์ โดยเหตุนี้คนทั่วไปจึงมีความสับสนระหว่างการครอบครองและกรรมสิทธิ์และ Pompeius Festus (นักไวยากรณ์ละตินในคริสต์ศตวรรษที่ 4)ได้ตั้งข้อสังเกตุว้ว่ามีความสับสนเกิดขึ้นในการใช้ศัพท์เพื่อกล่าวถึงการครอบครองและกรรมสิทธิ์ (confusion de terminologie)

          4. Guarino[5] เห็นว่า posessio มาจาก sedere อันแสดงถึงการยืนยันว่าผู้ครอบครองเป็นเจ้าของ (padrone) ทรัพย์ พร้อมทั้งมีอำนาจ (potis) เหนือผู้อื่นเกี่ยวกับทรัพย์นี้  เพราะทรัพย์นี้อยู่ในเงื้อมมือ (disponibilita) ของเขา นับเป็นแนวคิดที่ใกล้เคียงกับแนวที่ 2

          5. Monier[6] เห็นว่า possidereมาจาก potis อันแปลว่าผู้ทรงกรรมสิทธิ์ซึ่งใช้อำนาจ (maître, qui exerce la puissance) และ sedeo (นั่ง) เขาเห็นว่า possidere ในชั้นแรกนั้นใช้กับการครอบครองที่ดินแต่นับแต่สมัยของกวี plautus (ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล) เป็นต้นมาก็ใช้ในความหมายที่กว้างขวางขึ้น คือ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะที่ดินแต่เพียงอย่างเดียว

          คำนิยามที่กล่าวมาในเบื้องต้น  จะไม่มีความชัดเจนในความหมายของ possessio    แต่ก็ทำให้เกิดความชัดเจนในลักษณะของ possessio ได้พอสมควร

------------------------------------------

ลักษณะของ Possessio (ครอบครอง)

------------------------------------------

          โดยเหตุที่ชาวโรมันเป็นนักปฎิบัติ จึงไม่ค่อยสนใจเกี่ยวกับเรื่องคำนิยามแต่สนใจกับวิธีการได้มาซึ่งการครอบครอง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการนิยามความหมายเอาไว้ แต่ชาวโรมันให้ความสนใจเกี่ยวกับการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์และความครอบครองมากกว่าโดยได้กำหนดถึงวิธีการที่จะได้มาไว้มากมายอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายทรัพย์สินโรมัน

          1.  หลักพื้นฐานความครอบครอง

          paul(us) นักกฎหมายคนสำคัญในยุคทองของโรมันได้ตั้งหลักพื้นฐานของความครอบครองว่าบุคคลพึงจะได้มาซึ่งความครอบครองทรัพย์โดยทางจิตใจ (animo )และโดยอินทรีย์(corpore )

          (1) จิตใจหมายถึงต้องมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของ (animus domini - จิตใจแห่งเจ้าของ) ถ้ายึดถือโดยไม่มีเจตนาก็ไม่ถือว่าเป็นความครอบครอง เช่น ของที่ฝังอยู่ในที่ดินของผู้ใดแต่บุคคลนั้นไม่ทราบกฎหมายโรมันและกฎหมายอังกฤษถือว่าครอบครัวไม่ได้เพราะขาดเจตนา

          (2) ส่วนที่ว่าโดยอินทรีย์นั้นไม่หมายถึงอินทรีย์ของบุคคลที่ครอบครองแต่เป็นอินทรีย์ของทรัพย์ คือผู้ครอบครองต้องสามารถควบคุมทรัพย์นั้นได้ทางกายภาพ อำนาจทางกายภาพนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละกรณี และองค์ประกอบทางอินทรีย์นี้กฎหมายโรมันถือว่าคนอื่นก็อาจจะทำแทนได้ เช่น มีกระท่อมชายทะเลแม้นานๆ จะไปทีโดยมิติอื่นดูแลแทนก็ถือว่าครอบครองอยู่ มีความไม่สม่ำเสมอ (asymmetry) ระหว่างการได้มาและการสูญเสียซึ่งความครอบครอง การสูญเสียความครอบครองเป็นไปได้ยากกว่าการได้มาซึ่งความครอบครองเพราะฉะนั้นกระท่อมชายทะเลไม่มีใครอยู่ บุคคลก็ยังครอบครัวอยู่แม้โดยเจตนาเท่านั้นก็ตาม

          2. ลักษณะการครอบครอง

          ความครอบครองโรมันเป็นเรื่องของความเป็นจริง หรือข้อเท็จจริง นำสืบได้ง่ายกว่ากรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิ (ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงยุคทอง) เพราะโดยทั่วไปผู้ซึ่งอยู่กับทรัพย์มักเป็นผู้ครอบครองที่กฎหมายโรมันเห็นความครอบครองเป็นความเป็นจริงหรือข้อเท็จจริง  มิได้หมายความว่าเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับกฎหมาย การที่นาย ก. เข้าไปยังที่ดินเป็นข้อเท็จจริงหรือความจริง แต่การกระทำของนาย ก. ทำให้เขาเป็นเพียงผู้ถือครอง (detentor) หรือผู้ครอบครอง (possessor) เป็นปัญหาที่ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ตามกฎหมาย ถ้าเปรียบเทียบความครอบครองกับกรรมสิทธิ์จะเห็นได้ชัดขึ้น กรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิย่อมมีอยู่โดยไม่จำเป็นต้องมีการแสดงออกทางกายภาพ ตรงกันข้ามความครอบครองจะมีอยู่หรือไม่ย่อมต้องอาศัยการแสดงออกดังกล่าวมาแล้วข้างต้นในข้อ 1 ฉะนั้นความครอบครองที่ดินอาจสิ้นสุดลงได้ด้วย ถ้าความเป็นจริงอันเป็นฐานของความครอบครองหมดสิ้นไป ความครอบครองก็สิ้นสุดลงด้วย[7]    กว่าคนโรมันจะเห็นว่าความครอบครองเป็นสิทธิมากกว่าความเป็นจริงก็ต้องเป็นสมัยหลังยุคทองไปแล้ว อย่างไรก็ดี การที่กฎหมายยอมให้ผู้ซึ่งมีกระท่อมชายทะเลยังครอบครองกระท่อมอยู่ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้พักอยู่เลยก็เริ่มส่อแววของการมองความครอบครองเป็น สิทธิ แล้ว

          3. การครอบครองที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย

          ความครอบครองที่ชอบด้วยกฎหมายจะได้รับการปกป้องโดยเฉพาะจากคำสั่ง(interdictum) ของ praetor (dictum = สิ่งทีถูกกล่าว inter = ระหว่าง) ปกติก็มีคนอย่างน้อย 2 คนต่อสู้กันเรื่องการครอบครอง แต่มีข้อแม้ว่าความครอบครองที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องไม่มีข้อบกพร่องหรือมลทิน 3 ประการเมื่อเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม คือ

          1. VI (จาก vis = กำลัง) ได้มาโดยใช้กำลัง (คือต้องได้มาโดยความสงบกฎหมายถึงจะคุ้มครอง)

          2. CLAM ไม่เปิดเผย

          3. PRECARIO ก็ได้มาโดยการอ้อนวอน เป็นรากศัพท์ของ precarious = ล่อแหลมหรือง่อนแง่น) โดยอ้อนวอนเจ้าของขออาศัยอยู่และจะขับไล่เมื่อใดก็จะไป

          การครอบครองที่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องไม่ได้มาจากฝ่ายตรงข้าม (ผู้คัดค้านการครอบครองของผู้จ้างการครอบครอง) โดยมีข้อบกพร่องหรือมีมลทินอย่างหนึ่งอย่างใด 3 ประการดังกล่าว

          ดังนั้น เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องสิทธิครอบครองมากยิ่งขึ้น  จึงควรศึกษาวิวัฒนาการความเป็นมาและทฤษฎี possessio ของโรมัน

---------------------------------------

บทวิเคราห์เกี่ยวกับสิทธิครอบครอง

---------------------------------------

          การครอบครอง เป็นอำนาจเหนือทรัพย์ที่มีการแสดงออกถึงการควบคุมทรัพย์สิน  ถ้าทรัพย์ดังกล่าวเป็นที่ดิน การครอบครองจะเป็นการเข้าไปตั้งหลักแหล่งหรือรกรากอยู่ในที่ดิน  หากพิจารณาถึงความหมายและลักษณะของสิทธิครอบครองในโรมัน  จะพบว่าสิทธิครอบครองมีความแตกต่างอยู่กับกรรมสิทธิ์อยู่มาก  เนื่องจากกรรมสิทธิ์เป็นสิทธิในทรัพย์สินย่อมมีอยู่โดยไม่จำเป็นต้องมีการแสดงออกทางกายภาพ ตรงข้ามกับการครอบครองจะมีอยู่หรือไม่  ย่อมต้องอาศัยการแสดงออก  ทำให้กรรมสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องมีการแสดงออกเสมอไป  แต่การครอบครองต้องมีการแสดออกทางกายภาพ  หากละทิ้งไม่มีการครอบครองย่อมทำให้ไม่มีสิทธิหรือกล่าวอ้างการครอบครองได้

โปรดดู    htt://gotoknow.org/blog/highland-management-in-thailand/29319


[1] ประชุม  โฉมฉาย.วิวัฒนาการของกฎหมายโรมัน.โครงการตำราและวารสารนิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัทโรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด,กุมภาพันธ์ 2548, น.237-239

[2]  Schulz  Fritz. Classical  Roman  Law. Darmatadt : Scientia  Verlag  Aalen.  1992, P. 428

[3] Accarias Cprecis. de droit romanin. Tome premier. paris : Libraire cotillo,1896 , P. 532-533

[4] Lepointe, Gabrie, Droit Romain et Ancien proit Frangais (Droit des biens) paris :Dalloz, 1958, P.13

[5] Guarino Antonio. Diritto Privato Romano, Quinta Edizione. Napoli : Jovene; 1996 Guarino, 1976 ,P. 462

[6] Monier, Raymond. ManueI EIe'mentaire de Droit Romain' Tome len' Paris :Editions Domat Montchestien, 1947 ,P. 384

 

หมายเลขบันทึก: 293190เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2009 08:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท