กรรมการสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย กับภารกิจที่ยังไม่ได้ตอบ


จะพบได้ว่า วันนี้ กระบวนการในการทำงานเพื่อตอบโจทย์สื่อสร้างสรรค์ ยังไมได้เดินเครื่องในทุกสัดส่วนอย่างพอเหมาะ การร่วมลงแขกในการจัดการปัญหาเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน การร่วมลงแขกในการพัฒนาระบบเรตติ้ง เป็นเพียงกระบวนการของการจัดการปัญหาเพียงด้านเดียว ยังไม่ได้ครอบคลุมทั้งระบบ

                  กรรมการสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย กับภารกิจที่ยังไม่ได้ตอบ

            หลังจากมติคณะรัฐมนตรีฉบับวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย ซึ่งเป็นกรรมการระดับชาติที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดการปัญหาด้านสื่อในสังคมไทย ซึ่งหากย้อนกลับไปพิจารณาประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีฉบับวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ ในเรื่องการใช้สื่อของรัฐเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทำให้พบข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ สื่อสร้างสรรค์และสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ต้องได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ
           ในทางทฤษฎีการจัดการปัญหานั้น แนวคิดพื้นฐานในการจัดการสามารถจำแนกได้เป็น ๔ ทิศทาง กล่าวคือ การจัดการปัญหาที่ตัวสื่อเพื่อแยกแยะหรือชี้วัดคุณภาพของเนื้อหาสื่อ อันจะนำไปสู่การจัดการปัญหาที่เด็ก เยาวชน ครอบครัว สังคม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเภท ประโยชน์ และโทษ อันเป็นทิศทางของการสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้กับสังคม การจัดการปัญหาที่ผู้ประกอบการ ที่จะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ประกอบการ ตลอดจน การสร้างแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม ให้เกิดขึ้น รวมไปถึงการจัดการปัญหาที่ตัวแหล่งของการเข้าถึงสื่อ เพื่อเป็นการจัดการปัญหาด้านการเข้าถึงสื่อ
             ซึ่ง แนวคิดพื้นฐานในการจัดการปัญหาทั้ง ๔ ประการนั้น คงจะต้องมีรายละเอียดปลีกย่อยตามมาอีก อย่างน้อย ๓ มิติ กล่าวคือ มิติของการส่งเสริม มิติของการป้องกัน และมิติของการปราบปราม
              จะเห็นได้ว่า จุดเริ่มต้นของกระบวนการในการจัดการ คงจะต้องเริ่มต้นจาการสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งจากจุดนี้เอง ทำให้หลายฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญกับกระบวนการในการจัดทำ ระดับความเหมาะสมของสื่อแต่ละประเภท หรือ เรตติ้ง
ซึ่งในความหมายและการบังคับใช้เรตติ้งนั้น ปรากฏอยู่ ๔ ลักษณะ กล่าวคือ ลักษณะที่ ๑ การวัดระดับความนิยมเชิงปริมาณของคนดู (Quantity Rating) ลักษณะที่ ๒ การกลั่นกรองเนื้อหา ลักษณะที่ ๓ การแยกแยะประเภทรายการตามความเหมาะสมตามอายุของผู้บริโภค หรือ ระดับความเหมาะสมของสื่อ (Classification) และลักษณะสุดท้าย เป็นการชี้วัดระดับคุณภาพเชิงความรู้ของเนื้อหาของสื่อ (Quality Rating)
          วันนี้ ชัดเจนแล้วว่า คำว่าเรตติ้ง จึงเป็นลักษณะของการทำงานหลัก ใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ การแยกแยะประเภทรายการตามความเหมาะสม อันจะนำไปสู่การบ่งชี้และแยกแยะว่า รายการที่มีเนื้อหาในลักษณะหนึ่งเหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใด อายุเท่าใด ซึ่งเป็นกระบวนการการแยกแยะ และการลั่นกรองเนื้อหาประกอบกับ การชี้วัดคุณภาพเนื้อหาเชิงความรู้ ที่จะต้องบ่งชี้ให้ได้ว่า เนื้อหาของสื่อให้การศึกษาและการเรียนรู้กับผู้บริโภคในเรื่องใด ซึ่งลักษณะการทำงานทั้งสองมิตินำมาสู่การพัฒนากฎหมายและนโยบายที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การแยกแยะประเทภเนื้อหานั้นจะปรากฏในรูปของกฎหมายและการบังคับใช้อยู่ในรูปของการตรวจลงตรา ในขณะที่ การชี้วัดคุณภาพเนื้อหาเชิงความรู้จะปรากฏในรูปของนโยบาย อันจะนำไปสู่การส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ
          หน้าที่และภารกิจนี้ กรรมการสื่อสร้างสรรค์ชุดนี้ได้วางไว้ให้กับกระทรวงวัฒนธรรมที่จะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อจัดระดับความเหมาะสมของสื่อละระดับคุณภาพของเนื้อหาแต่ละประเภท (Rating) และสร้างระบบการชี้วัดคุณภาพเนื้อหาของสื่อแต่ละประเภท ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ เกมคอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
เมื่อสื่อต่างๆถูกนำเข้าสู่กระบวนการการจัดระดับคุณภาพเนื้อหาของสื่อ และการแยกแยะประเภทเนื้อหาของสื่อ สื่อที่ถูกคัดแยกและการบ่งี้ทางคุณภาพเชิงความรู้ จะถูกส่งต่อไปยังกระบวนการที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การแยกแยะประเภทเนื้อหาจะถูกส่งต่อไปยังกระบวนการในการป้องกัน และปราบปราม ในขณะที่ การชี้วัดคุณภาพเนื้อหาของสื่อเชิงความรู้ จะนำมาสู่กระบวนการในการส่งเสริม
            ซึ่งเมื่อหันกลับมาดูภารกิจที่คณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ได้วางหมากไว้แล้ว จะพบว่าการเร่งรัดการป้องกันและปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจบริหารจัดการการป้องกันและปราบปรามสื่อลามกอนาจาร
            ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จัดทำร่างบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อยุติการเผยแพร่เว็บไซด์ที่ไม่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ ISP
            สำหรับด้านการส่งเสริมกระทรวงศึกษาธิการ ได้คัดเลือกสถาบันที่เปิดสอนสาขานิเทศศาสตร์ จำนวน ๑๖ สถาบัน จัดทำรายการรูปแบบสารคดีชุดเด็กไทยเด็กดี โดยให้นักศึกษาร่วมผลิตและดำเนินรายการ
           สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งดำเนินการปราบปรามสื่อลามกทุกประเภทให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ กับให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เร่งดำเนินการในการเปิดเว็บไซด์ที่ไม่เหมาะสม ทั้งในและต่างประเทศให้หมดสิ้นโดยเร็ว
ให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาคัดเลือกสถาบันการศึกษา และองค์กรภาคเอกชน ที่จะเป็นผู้ผลิตรายการสื่อสร้างสรรค์ โดยให้รัฐวิสาหกิจจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งมาสนับสนุนการผลิต 
           ให้องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยและกรมประชาสัมพันธ์ จัดทำแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์และรณรงค์การสร้างสื่อสร้างสรรค์ 
           ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลิตเนื้อหาสื่อสร้างสรรค์ ที่จะนำไปสู่อุตสาหกรรมส่งออก ส่งเสริมการรวมตัวของภาคประชาสังคมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง การส่งเสริมการประกอบการ รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดแหล่งการเข้าถึงสื่อสร้างสรรค์
            จะเห็นได้ว่า การกิจที่คณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ชุดนี้ได้กำหนดไว้ เป็นกรอบในการทำงานที่เข้าไปจัดการที่ตัวเนื้อหา ด้วยการจัดระดับความเหมาะสม และชี้วัดคุณภาพเชิงความรู้ เข้าไปปราบปรามสื่อที่ไม่เหมาะสม (โดยเฉพาะสื่อลามกอนาจาร) การส่งเสริมให้เกิดกระบวนการผลิตสื่อสร้างสรรค์
            ในขณะที่ กระบวนการทำงานที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า การปราบปรามสื่อลามกอนาจารเป็นเพียงกระแสของผลงานชั่วข้ามคืน
            ในขณะที่ กระบวนการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม อยู่ในภาวะไร้ร่องรอย
            ในขณะเดียวกัน กระบวนการในการส่งเสริมให้เกิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์ กลับขาดกระบวนการในการส่งเสริมอย่างจริงจังและเป็นระบบ
            นอกจากนั้นแล้ว พบว่า ภาวะของการลงแขกเรื่องเรตติ้ง ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อจัดการปัญหาสื่อ ยังคงเป็นกระบวนการที่ได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงาน ทำให้คาดเดาได้ว่า เมื่อการคิดค้นระบบเรตติ้งเสร็จสิ้นแล้ว และสามารถใช้บังคับได้แล้ว กระบวนการในการส่งเสริมทั้งผู้ผลิต ส่งเสริมแหล่งของการเข้าถึงสื่อ รวมไปถึงการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสังคม จะมีมาตรการที่รองรับได้เลยหรือไม่ เป็นคำถามที่ยังต้องการคำตอบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
            จะพบได้ว่า วันนี้ กระบวนการในการทำงานเพื่อตอบโจทย์สื่อสร้างสรรค์ ยังไมได้เดินเครื่องในทุกสัดส่วนอย่างพอเหมาะ การร่วมลงแขกในการจัดการปัญหาเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน การร่วมลงแขกในการพัฒนาระบบเรตติ้ง เป็นเพียงกระบวนการของการจัดการปัญหาเพียงด้านเดียว ยังไม่ได้ครอบคลุมทั้งระบบ
            หรือแม้แต่การไม่ได้ร่วมลงมือจัดการวางระบบร่วมกัน และลงไปจัดการระบบในทุกจุดของการจัดการ ทั้ง ๔ ลักษณะ  ไม่ได้ดำเนินการเชิงบูรณาการระหว่างหน่อยงานเพื่อตบอสนองต่อการทำงานเชิงระบบ การปราบปราม การป้องกัน และส่งเสริม อย่างเป็นเอกภาพ
ในวันนี้ สังคมแห่งการเรียนรู้เชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาระบบบสื่อสร้างสรรค์ที่อุดมไปด้วย กระบวนการส่งเสริม การป้องกัน และการปราบปรามที่มีประสิทธิภาพ ยังไม่ได้รับการเริ่มต้นบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การรับลุกและการส่งลูกต่อ จาก การแยกแยะเนื้อหา การชี้วัดเนื้อหา ส่งไปแล้ว ก็คงตกหล่นกลางทาง แล้วกรรมการสื่อสร้างสรรค์จะตอบสังคมว่าอย่างไรดี ....
 

                                                                                            อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์
                                                 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว ม.มหิดล

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29303เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2006 00:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท