วิทยาลัยชุมชน : ลองคิดจากอุดมคติ


วิทยาลัยชุมชนสร้างคนของชุมชน ในชุมชน โดยชุมชน เพื่อให้กลับไปทำประโยชน์แก่ชุมชน

วิทยาลัยชุมชนต้องเอาชุมชนเป็น “วิทยาลัย...”

ผู้เรียน ผู้ศึกษาอยู่สมมติตนเข้ามาอยู่ในวิทยาลัยชุมชนนั้นต้องใช้ชุมชนเป็น “วิทยาลัย”
ห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ที่อยู่ในตึกสูง ๆ นั้นมีหน้าที่เป็นเพียงตึกอำนวยการ ห้องเตรียมการ
แต่สถานที่การเรียนรู้นั้นต้องอยู่ใน “ชุมชน”

วชช. ต้องรู้จักใช้ชุมชนเป็น “วิทยาลัย”
ไม่พาเด็ก พาคนของชุมชนเข้ามาบ่ม มาเพาะในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ
ต้องใช้ “ทุนชุมชน” ของชุมชนเพื่อชุมชน ต้องบ่มเพาะคนในชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน

การใช้ชุมชนเป็นวิทยาลัยไม่ต้องทุนด้านสิ่งปลูกสร้างอะไรมากมาย
เพียงกระดานสักแผ่น ฟิวเจอร์บอร์ดสักอัน แล้วใช้ลานกลางบ้าน ศาลากลางวัด เดินเข้าไปเคาะประตูบ้าน ใช้ใต้ถุนบ้านเป็น “ห้องเรียน”

โอกาสดีมีเหลือหลายถ้าได้ย่างกายเข้า “ชุมชน”
ครู อาจารย์ก็ได้เรียนรู้ของจริง ไปเรียน ไปรู้ ยกเว้นการบอก การสอน
หัดให้อาจารย์เรียนกับชุมชนเพื่อ “รู้” ชุมชน
พาเด็กไปแล้วเรียนรู้พร้อมกับเด็ก ๆ

อาจารย์ควรมีที่สำคัญคือ KM (Knowledge Management) แล้วหนีบเด็ก ๆ เข้าไป “วิทยาลัยแห่งชุมชน”
อาจารย์ต้องเป็นคุณอำนวย ช่วยเหลือให้เด็กและชุมชนได้สัมผัสกัน
เมื่อเด็กเรียนจบ เด็กจะไม่เกลียดชุมชน ไม่หนีชุมชน และไม่ดูถูกชุมชน ซึ่งชุมชนนั้นที่แท้ก็คือ “บ้าน” ของตนเอง

เด็กทุกวันนี้แต่งตัวหล่อ ๆ สวย ๆ ออกมาเรียนในห้องหรู ๆ
เรียนแล้วกลับบ้านไปก็ “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ”
เรียนไปได้กระดาษหนึ่งใบ จบไปวางตัว วางใจก็ไม่เป็น

การเรียนในห้องสี่เหลี่ยมทำให้เด็กมีหัวเป็นเหลี่ยม มีแต่เล่ห์ แต่เหลี่ยม
การเรียนในชุมชน หูตากว้างไกล ตาสว่าง ใจกว้าง


ใช้โรงเรียนเป็นที่เรียน มีโรงเรียนที่ไหนไปเรียนกับเขา
ใช้ครูสอนครู ใช้เด็กสอนเด็ก ทุก ๆ ที่จึงเป็น “วิทยาลัย” เป็น “วิทยาลัยในชุมชน...”

อาจารย์ต้องเชื่อมต่อสัมพันธภาพของคนในชุมชนให้ติด
ไม่แยกเขา แยกเขา นั่นโรงเรียน นี่วิทยาลัย นั่นวัด นี่ อบต.
ไม่ว่าจะเป็นดิน หรือแม้นหินสักก้อน ทุก ๆ รวมกันแล้วเป็น “ชุมชน”

มุ่งสร้างคนในชุมชน ไม่เน้นสร้างสิ่งก่อสร้างข้างชุมชน
การสร้างตึก อาคาร มักเกิดกำแพง เกิดช่องว่างระหว่างกัน

มีตึกก็แบ่งเรา แบ่งเขา
ตึกนี่เป็นของเราไม่ใช่ของเขา ถึงแม้นว่าเราจะขอใช้ชื่อของเขาว่า “วิทยาลัยชุมชน” ก็ตาม

การสอนโดยการพูดให้เด็กรักชุมชนนั้นยาก
การสอนโดยการอยู่กับชุมชนแล้วเด็กรักชุมชนนั้นไม่ยาก

เมื่อเราอยู่ในตึก ทำงานอยู่ในตึกแล้วบอกว่างานในนานั้นดี งานนั้นสวนนั้นเลิศใครมันจะไปเชื่อ ถ้าเชื่อก็โง่แล้ว
อยู่ในตึกสิดี สบาย มีเครื่องคลายความร้อน จะโง่ไปอยู่ในไร่ ในสวนทำไม...!

 

อาจารย์ที่เป็นข้าราชการก็คนของหลวง คนของหลวงก็มักสมมติตนว่าสูงกว่าคน เหนือกว่า คนราษฯ (ราษฏร)
พาคนของหลวงเข้าชุมชนก็เลยมักจะเข้าไปเหยียบ ไปย่ำชุมชนอยู่เรื่อย
ชุมชนก็ดีเหลือหลาย เชิดชูคนของหลวงว่าเป็น “คนเหนือคน”
ใครต่อใครก็เลยดิ้น ก็เลยตะเกียกตะกายเพื่อให้ได้เป็น “คนของหลวง (ข้าราชการ)”
ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ ก็จะถูกระบบแบบหลวง ๆ กลืนกิน
ต้องแก้โดย “ชุมชน” ใน “ชุมชน” ต้องไปเรียนรู้และอยู่ในชุมชน
เหมือนพระนี่ที่ถูกต้องแล้วต้องไป “บิณฑบาต” ทุกวัน
การบิณฑบาตนั้นคือการไป “ขอ” อาหารเพื่อการอยู่ การบริโภค
การไปขอนั้นต้องอ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่ได้ไปวางมาด วางกล้าม
การไปขอนั้นทำลาย “ทิฏฐิมานะ” ไม่มีเขาเราก็ไม่มีกิน
แต่เดี๋ยวนี้พระก็ไปบิณฑบาตกันน้อย “ทิฏฐิมานะ” ก็พลอยเจริญเติบโต
ครู อาจารย์ก็เช่นเดียวกัน อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมมาก ๆ ประชุมมาก ๆ เรียนมาก ๆ “ทิฏฐิ มานะ” ความถือตัว ถือตนก็ยิ่งมาก
อาจารย์ต้องพาเด็กไป “ขอ” เรียนกับชุมชน ไป “ขอ” เรียนในชุมชน

จะสอนลูกเขาก็ต้องหัดไปเรียนกับพ่อกับแม่เขา
ห้องเรียนของชุมชนอากาศดีนะ มีกลิ่นดิน กลิ่นขี้ไก่ กลิ่นไอของสายฝน

วิทยาลัยชุมชนสร้างคนของชุมชน ในชุมชน โดยชุมชน เพื่อให้กลับไปทำประโยชน์แก่ชุมชน

งานวิชาการของวิทยาลัยชุมชน ก็คืองานสร้างสัมพันธภาพในชุมชน
สัมพันธภาพที่ดีย่อมเกิดการเชื่อมโยงของ “ทุนชุนชม” ที่ดี
ทุนชุมชนที่เชื่อมโยงอย่างเหนียวแน่นย่อมสร้างสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นต่อกันและกัน

ครูชุมชนที่ดี คือครูที่อยู่กับศิษย์ในชุมชน
ครูชุมชนที่ดี คือครูที่เรียนรู้ร่วมกันกับชุมชน ไม่สอนชุมชน ไม่ชี้นำชุมชน ไม่นำวิชาการความรู้ภายนอกเข้าไปกดขี่ภูมิปัญญาของชุมชน
ครูชุมชนจึงเป็น ข้อต่อ ตัวต่อ เป็นจิ๊กซอร์ เป็น “คุณอำนวย” จัดการความรู้แล้วเชิดชูความรู้ของคนที่เกิดขึ้นมาจากชุมชน

เรียนรู้กับชุมชนนั้นสนุก ไม่ซ้ำซาก จำเจ
ใช้แผ่นดินเป็นกระดาษ ใช้กิ่งไม้เป็นปากกา ใช้สายลมเป็นยางลบ

เรียนไป ทำไป เรียนแล้ว ทำเลย ทำผิด ทำใหม่ เรียนไป แก้ไขไป ปรับปรุง พัฒนาไป เรียนแล้ว ได้เลย

ใช้ศักยภาพของชุมชนให้คุ้มค่า พึงศึกษาวิทยาลัยแห่ง “ชุมชน...”

 

 

หมายเลขบันทึก: 292764เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2009 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีตอนเช้าค่ะ

ขอบคุณสำหรับแง่คิดค่ะ

  • ชีวิตนี้..ผมจะได้เจอไหม
  • ขอขอบพระคุณ สำหรับแง่คิด..ผลิตปัญญา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท