AAR มหกรรมการจัดการความรู้ระบบบริการปฐมภูมิ


ฐานทักษะการตั้งคำถาม

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552 ได้มีโอกาสไปร่วมงาน มหกรรมการจัดการความรู้ระบบบริการปฐมภูมิ จัดขึ้นโดยมูลนิธิแพทย์ชนบท ซึ่งได้รับทุนจาก สปสช.ในการจัดกิจกรรมขึ้นมา

ในครั้งนี้ได้รับการเชิญจากทางคุณอ้อม-อุรพิณ ของสคส.ในการเป็นวิทยากรรับเชิญในฐาน ทักษะการตั้งคำถาม และยังมีวิทยากรรับเชิญในฐานอื่นๆอีก คือ ฐานออกแบบการเรียนรู้ โดยคุณถาวร เกตุสุวรณ ฐานการจับประเด็นโดย ครูใหม่ และฐานการถอดบทเรียน โดยพี่หญิง-นภิญทร จากสคส.

Pic_Q_Skill

แถวหน้า : มณฑล , คุณอ้อม-อุรพิณ,คุณถาวร,ครูใหม่
แถวหลัง : พี่หญิง-นภิญทร , น้องกิีก-มุจาลินท์ ผู้ประสานงานคนเก่งของ สคส.

กว่าจะได้ไปร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ก็ออกแบบฐานการเรียนรู้อยู่นานทีเดียว ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้เข้าร่วมมีทักษะในการตั้งคำถาม มีการถามจากหลายๆท่าน ค้นคว้าจากเอกสารหนังสือต่างๆ รวมทั้งลองถอดการตั้งคำถามของตัวเองดู หลังจากนั้นก็มาออกแบบกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมว่าจะจัดกิจกรรมอย่างไรให้ได้เรียนรู้ ความยากอยู่ที่ต้องให้ได้ภายในเวลา 45 นาที(ครั้งแรกคุณอ้อมให้เวลาในการทำกิจกรรมแค่ 30 นาทีเท่านั้นเอง)

ผู้เข้าร่วมในครั้งนี้ค่อนข้างน่ารักทีเดียว เป็นทั้งแพทย์ที่รักษาคนไข้ และแพทย์ที่มีตำแหน่งบริหาร รวมทั้งมีทันตแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ต่างๆที่ทำงานในระบบบริการปฐมภูมิเข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 40 ท่านได้ ที่บอกว่าน่ารักมาก ก็คือการทำกิจกรรมในแต่ละฐานค่อนข้างเกินเวลาที่กำหนด ทำให้กว่าจะทานอาหารกลางวันก็เลยไปถึงประมาณ 13.30น. แต่ก็ยังสนุกและอยากที่จะเรียนรู้อยู่ โชคดีที่กิจกรรมของผมเริ่มก่อนในช่วงแรก ทำให้กำลังความตั้งใจของผู้เข้าร่วมยังสดอยู่ จึงพร้อมที่จะเรียนรู้จากกิจกรรมที่จัดขึ้น

เริ่มต้นผมให้นั่งเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อปรับฐานความเข้าใจในเรื่องของการตั้งคำถาม และให้กลุ่มแลกเปลี่ยนว่า การตั้งคำถามในเรื่องของการจัดการความรู้ มีบทบาท หรือ มีหน้าที่อย่างไร เราต้องการคำตอบจากคำถามในลักษณะอย่างไร แล้วคำถามควรมีลักษณะอย่างไร ดูซิแค่เริ่มต้น ผมก็ไม่ได้บอก เอาแต่ตั้งคำถามให้ผู้เข้าร่วมช่วยกันคิดคำตอบเอง

หลังจากนั้นผมให้ลองฝึก เนื่องจากผู้เข้าร่วมมีพื้นแล้วว่าคำถามควรมีลักษณะอย่างไร เลยให้ลองฝึกดูโดยแบ่งกลุ่มย่อยให้มี 3 คนต่อกลุ่ม โดยให้ A เป็นคนตั้งคำถามในการถาม B และ ให้ B เป็นผู้เล่าเรื่องตามที่ A ถาม โดยให้เล่าได้อย่างอิสระ ภายในเวลาประมาณ 15 นาที และ C เป็นผู้ที่คอยจดคำถามที่ A ถามลงบนบัตรคำ โดยให้ 1 คำถามต่อ 1 บัตรคำ (ถ้าหากมีเวลา อาจหมุนให้ทั้งกลุ่มได้ทำหน้าที่ครบทั้ง 3 หน้าที่ก็ได้) ที่กำหนดเวลาให้ค่อนข้างเยอะนั้นผมอยากดูความสามรถที่จะตั้งคำถามของผู้เข้าร่วมด้วยครับว่าจะตั้งคำถามได้มากแค่ไหน คำถามจะเป็นคำถามที่ถามได้ดีหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำได้ดีครับ แต่หากกลุ่มไหนเลือกคนเล่าเรื่องเก่ง คนถามก็แทบไม่ได้ถาม ผมเองคิดว่าเหมือนกับประสบการณ์ในชีวิตจริงนะครับ ที่บางครั้งเป็น FA แล้วกลับไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้าบอก หรือ สะกิดผู้เล่าให้เข้าประเด็น สิ่งเหล่านี้ FA ก็ต้องเรียนรู้เหมือนกันว่าจะจัดการอย่างไร

ต่อมาให้กลุ่มนำคำถาม ที่ C จดได้มาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็น คำถามที่ถามได้ดี กลุ่มที่สอง เป็นคำถามที่เราอยากปรับให้ดีขึ้น (คำถามที่ยังถามไม่ค่อยดี) หลังจากแยกเสร็จก็ให้กลุ่มลองคุยกันเพื่อหาว่า ปัจจัยอะไรที่กลุ่มใช้ในการแบ่งคำถามออกเป็น 2 กลุ่ม และสำหรับคำถามที่เราอยากปรับให้ดีขึ้น จะปรับเป็นอะไร กิจกรรมนี้เพื่อให้กลุ่มได้ฝึกทบทวน และแก้ไขในเรื่องของการตั้งคำถามของตนเอง

ในช่วงสุดท้ายก็จะกลับมาที่กลุ่มใหญ่เป็นการพูดคุยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการฝึกตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนปัญหาอุปสรรค และสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำกิกรรมร่วมกัน เห็นได้ชัดครับว่าในกลุ่มเอง ก็มีการสะท้อนว่า การตั้งคำถามให้ได้ดีต้องใช้ควบคู่กับการฟังและการจับประเด็น ด้วยครับ

ผมเองเห็นว่าการที่กลุ่มได้มีกิจกรรมในกลุ่มย่อยแล้วกลับมาแลกเปลี่ยนในกลุ่มใหญ่ จะทำให้สามารถเชี่อมประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมเข้าสู่ประสบการณ์ในชีวิตจริงได้ ซึ่งจะทำให้ได้ทั้งปัญหา และอุปสรรค รวมทั้งวิธีการที่ทำแล้วสำเร็จ มาแลกเปลี่ยนในกลุ่มใหญ่อีกด้วย ถ้ามีเวลามากขึ้นนอกจากจะให้แต่ละคนผลัดกันทำหน้าที่ทั้ง A-B-C แล้วการเพิ่มเวลาในการพูดคุย จะทำให้ได้รายละเอียดและวิธีการในการตั้งคำถามในรูปแบบต่างๆเพิ่มมากขึ้นทีเดียว หรือแม้กระทั้งการนำปัจจัยที่เป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งคำถาม ที่แต่ละกลุ่มคิดขึ้น มาพูดคุยก็จะมีประโยชน์มากทีเดียว

จริงๆแล้วผมเองพบว่า ผมแทบไม่ได้สอนในเรื่องของการตั้งคำถามเลย ผมทำเพียงแค่จัดให้กลุ่มมาพูดคุยกัน และผมใช้การตั้งคำถาม ให้กลุ่มช่วยกัน ตอบและแลกเปลี่ยนกัน เพื่อนำไปสู่ประเด็นที่ต้องการเท่านั้นเอง ผมขอขอบคุณทุกๆคนที่มาร่วมกิจกรรมและมีส่วนทำให้ผมไปอยู่ ณ ที่นั้นเพราะผมเองก็ได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมนี้เช่นกัน

 

หมายเลขบันทึก: 292738เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2009 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยอดเยี่ยมมากครับ

เด๊ี๋ยวจะลองนำ้เทคนิคไปใช้ในการทำงานดู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท