เปรียบเทียบอุปกรณ์พกพา ที่นำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน


การนำอุปกรณ์พกพาไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนนั้น ควรที่จะคำนึงถึงความเหมาะสมในบริบทที่ต่างกัน

วันนี้ดิฉันได้อ่านบทความที่น่าสนใจบทความหนึ่ง เป็นบทความที่กล่าวถึงการนำเอาอุปกรณ์พกพาต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนแบบ m-Learning โดยในบทความได้กล่าวถึง ข้อดีและข้อจำกัดของอุปกรณ์พกพาชนิดต่างๆ จึงอยากจะนำความรู้ที่ได้จากการอ่านบทความมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ดังนี้ค่ะ

1.   iPod  เครื่องเล่นเพลงดิจิตอลแบบพกพา ของบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นนี้สามารถดาวน์โหลดเพลง หนังสือเพลง (Audio Books) รูปภาพ ไฟล์เสียง หรือไฟล์วีดิโอประกอบการเรียนการสอนได้

ข้อดี  คือ iPod มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 87 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักศึกษาอยู่แล้ว และบริษัทแอปเปิล ได้เปิดโอกาสให้อาจารย์ผู้สอน สามารถสร้างบทเรียนให้นักศึกษาสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี

ข้อจำกัด คือ

-    iPod ยังมีราคาสูงเมื่อเทียบกับอุปกรณ์พาพาชนิดอื่นๆ และต้องใช้โปรแกรม iTunes เท่านั้นสำหรับการดาวน์โหลดไฟล์

-    เป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่สามารถใช้กับบทเรียนที่มีการโต้ตอบได้

-    หน้าจอมีขนาดเล็กเกินไปที่จะแสดงข้อความจำนวนมาก

2.      MP3 Player เป็นเครื่องเล่นเพลงดิจิตอล ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้ MP3 Player บันทึกการบรรยายในชั้นเรียน เพื่อทบทวนและเตรียมตัวสอบได้

ข้อดี คือ เป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กและเบา สามารถเล่นไฟล์เสียงได้คุณภาพดี และกินไฟต่ำจึงสามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าอุปกรณ์พกพาชนิดอื่น

ข้อจำกัด คือ

-    สามารถถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ชนิดอื่นที่เล่นไฟล์เสียงได้เหมือนกัน

-    มีข้อจำกัดในการเล่นไฟล์เสียงบางชนิด จึงใช้เวลาในการแปลงไฟล์ และการถ่ายโอนข้อมูล

-    เป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่สามารถใช้กับบทเรียนที่มีการโต้ตอบได้

3.   Personal Digital Assistant (PDA) เป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็กที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายและอินเทอร์เน็ตได้ รวมไปถึงความสามารถของการเพิ่มเติมแอพพลิเคชัน (Application) เพื่อให้ใช้งานด้านอื่นๆ ได้ ซึ่งนักศึกษาสามารถสร้างหรือแก้ไขไฟล์เอกสาร เล่นไฟล์เสียง และไฟล์วีดิโอประกอบการเรียนการสอน อีกทั้งยังสามารถใช้ได้กับบทเรียนที่มีการโต้ตอบได้ 

ข้อดี คือ เป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ ทำให้สามารถอ่านข้อความต่างๆ ได้ง่าย สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกอื่นๆ อีกทั้งยังป้อนข้อมูลได้สะดวกอีกด้วย

ข้อจำกัด คือ ยังไม่สะดวกในการอ่านและเขียนข้อความยาวๆ โดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริม

4.   USB Drive เป็นอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บไฟล์ข้อมูลที่มีความจุสูง ทำให้สามารถเก็บไฟล์การเรียนการสอน ไฟล์เสียง รวมถึงไฟล์วีดิโอได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งนักศึกษาสามารถแลกเปลี่ยนไฟล์ดังกล่าวกับเพื่อนๆ ได้โดยง่าย

ข้อดี คือ เป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก มีการเชื่อมต่อแบบ USB จึงทำให้สนับสนุนคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ และการแลกเปลี่ยนไฟล์ทำได้สะดวก

ข้อจำกัด คือ เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่จัดเก็บไฟล์ข้อมูลเท่านั้น

5.   e-Book Reader เป็นอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกสำหรับดาวน์โหลด และสำหรับอ่าน
e-Book โดยผู้เรียนสามารถดาวน์โหลดหนังสือ (Text Book) หรือไฟล์การเรียนการสอนที่จัดเก็บในลักษณะเป็นตัวอักษรข้อความมาอ่านได้

ข้อดี คือ เป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ ทำให้สามารถอ่านข้อความต่างๆ ได้โดยง่าย สามารถอ่านในที่มืด และสามารถคั่นหน้าหนังสือ (Bookmark) เน้นประโยคที่ต้องการ (Highlight) รวมถึงสามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้

ข้อจำกัด คือ ปัจจุบันยังมีจำนวน e-Book ไม่หลากหลาย และยังมีปัญหาเรื่องความไม่เข้ากันกับอุปกรณ์อื่นๆ (Compatible) ที่มาต่อเชื่อมกับ e-Book Reader

6.   Smart Phone เป็นโทรศัพท์มือถือที่มีความสามารถพิเศษ โดยเพิ่มเติมส่วนของ PDA กล้องวีดิโอ เครื่องเล่น MP3 เข้าไป ทำให้นักศึกษาสามารถดาวน์โหลดไฟล์เสียง และไฟล์วีดิโอประกอบการเรียนการสอน อีกทั้งยังสามารถใช้ได้กับบทเรียนที่มีการโต้ตอบได้

ข้อดี คือ เป็นอุปกรณ์ที่รวมเอาความสามารถระหว่างอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ไว้ในเครื่องเดียว

ข้อจำกัด คือ หน้าจอมีขนาดเล็กทำให้ไม่สะดวกในการอ่านข้อความ และการเขียนข้อความยาวๆ อีกทั้งยังมีราคาสูง

7.   Ultra-Mobile PC (UMPC) เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการใช้งานเหมือน Tablet PC แต่จะมีขนาดที่เล็กกว่า สามารถเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายและอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้นักศึกษาสามารถดาวน์โหลด สร้างหรือแก้ไขไฟล์เอกสาร เล่นไฟล์เสียง ไฟล์วีดิโอประกอบการเรียนการสอน และสามารถเข้าใช้งานระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านทางเว็บได้อีกด้วย อีกทั้งยังสามารถใช้ได้กับบทเรียนที่มีการโต้ตอบได้ 

ข้อดี คือ เป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก และมีหน้าจอสัมผัสขนาด 7” ทำให้ง่ายต่อการใช้งานสัมผัสหน้าจอ และยังเหมาะกับการใช้งานด้าน Multimedia

ข้อจำกัด คือ มีราคาสูงมาก และเป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก จึงมีคีย์บอร์ดที่มีขนาดเล็ก ทำให้ไม่สะดวกต่อการพิมพ์งาน

8.   Laptop/Tablet PC เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการใช้งานสมบูรณ์แบบที่สุด และมีแอพพลิเคชัน ในการแปลงลายมือให้เป็นตัวอักษร (Handwriting Recognition) และการแปลงเสียงให้เป็นข้อความ (Voice-to-Text Conversion) ทำให้นักศึกษาสามารถดาวน์โหลด
สร้างหรือแก้ไขไฟล์เอกสาร เล่นไฟล์เสียง ไฟล์วีดิโอประกอบการเรียนการสอน และสามารถเข้าใช้งานระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านทางเว็บได้อีกด้วย อีกทั้งยังสามารถใช้ได้กับบทเรียนที่มีการโต้ตอบได้เป็นอย่างดี

ข้อดี คือ เป็นอุปกรณ์ที่สามารถตอบสนองการใช้งานในทุกๆ ด้านได้ดีที่สุด

ข้อจำกัด คือ มีราคาสูงมาก แต่ยังไม่ค่อยสะดวกในการพกพาเท่ากับอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กบางชนิด ที่สามารถใช้งานได้แม้ในขณะที่เดินอยู่

หวังว่าเพื่อนๆ จะได้รับข้อมูลเพื่อการตัดสินใจนำอุปกรณ์พกพกต่างๆ เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้นนะคะ การนำอุปกรณ์พกพาไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนนั้น ควรที่จะคำนึงถึงความเหมาะสมในบริบทที่ต่างกัน และหากสนใจในรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากบทความนี้นะคะ

http://net.educause.edu/ir/library/pdf/eqm0726.pdf 

 

หมายเลขบันทึก: 292664เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2009 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณหญิงรุ้งที่นำเสนอข้อมูลเพื่อการตัดสินใจนะคะ  ตอนนี้กำลังเรียนอยู่เลยจำเป็นต้องใช้  USB Drive และ  MP3 Player   เป็นหลักค่ะ  บันทึกงานและการบรรยายของอาจารย์ผู้สอน  ขยันบันทึกมากค่ะ  คงต้องหาเวลาฟังในสิ่งที่ตนเองบันทึกไปมั่งแล้ว (แบบว่าใกล้จะสอบแล้วค่ะ) ... ส่วนเทคโนโลยีอื่นที่สำคัญที่สุดสำหรับตนตอนนี้ก็คือ Notebook ค่ะ  พกติดตัวแบบพกมือถือเลย หนักหน่อย ไว้มีงบประมาณเพิ่มเติมก็อยากได้ Personal Digital Assistant (PDA) กับLaptop/Tablet PC  ใครใจดีบริจาคหน่อยซิคะ

ยังมีทางเลือกอย่าง netbook ที่เล็กไม่มากเท่าพวก pda หรือ smart phone และราคาไม่สูงมากอีกด้วยคับ :D

ได้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการเลือกใช้เทคโนโลยีในการเรียนค่ะ เป็นช่องทางหนึ่งในการเรียนสำหรับนักศึกษาที่มีกำลังทรัพย์ทางบ้านพอที่จะสนับสนุุน ก็สามารถเลือกใช้ได้ แต่สำหรับตนเองมีปัญหาสำหรับการเลือกซื้อของค่ะ เพราะเพิ่งซื้อ MP3เพื่อใช้ประกอบการเรียนเหมือนคุณอาย่าค่ะ แต่ทว่าใช้ได้เพียง 3 เดือน ต้องแทงจำหน่ายแล้วค่ะ กว่าจะเก็บตังค์ซื้อได้อีก ก็คงต้องระยะหนึ่ง แต่ที่สำคัญเกรงว่าใช้ได้ไม่นานก็จะมีปัญหาเหมือนเดิมค่ะ ถ้าใครมีข้อมูลในการเลือกซื้อของที่มีคุณภาพช่วยบอกด้วย ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

การเรียนการสอนในปัจจุบัน ถ้าขาดอุปกรณ์ไฮเทคก็คงจะไม่ไหวเหมือนกันนะคะ ต้องขอบคุณ อ.รุ้งลาวัลย์มากนะคะที่กรุณาหาข้อมูลมาให้ เพราะอุปกรณ์บางอย่างก็ยังไม่เคยใช้เหมือนกัน บางชื่อก็ยังไม่รู้จักเลยค่ะ แต่การเลือกซื้อก็เป็นปัญหาเหมือนกันนะคะ ถ้าเราเลือกไม่เป็น ก็คงใช้งานได้ไม่นานอย่างที่ อ.วราณี ประสบปัญหาอยู่ ดังนั้น ถ้าใครมีความรู้ในการเลือกซื้อก็มาช่วยแชร์กันหน่อยนะคะ ... ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลของคุรหญิงรุ้งมากนะคะ...ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักเรียนนักศึกษาในยุคปัจจุบันที่มีโอกาสใช้สิ่งอำนวยความสะดวกมาใช้ในการเรียนการสอน แต่ในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านการสอน เห็นว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมีความตะหนักว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้เป็นประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุด และเป็นผลลบหรือผลเสียน้อยที่สุด..เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้ผู้เรียนทำอะไรไม่เป็น เริ่มตั้งแต่การมี internet ใช้ประกอบการทำรายงาน ทำให้นักเรียนนักศึกษารู้จักการ copy และ paste เท่านั้น แต่ได้ใช้หลักการคิดแบบมีวิจารณญาณ บางครั้งเนื้อหาที่ส่งไปไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง

และสิ่งสำคัญที่สังคมต้องทบทวนคือความเท่าเทียมกันของการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ในโรงเรียนแต่ละระดับให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพื่อการพัฒนาในองค์รวมของประเทศ..ให้สมกับความหวังในการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลสมัยนี้ค่้ะ

อุปกรณ์พกพาต่างๆ ตามที่เสนอมานั้น ขณะนี้ อาจต้องนับเป็นปัจจัยที่ 6 ของชีวิต (เพิ่มจากปัจจัยที่ 5 คือ รถยนต์)โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันนี้ นิสิตนักศึกษาที่เห็นๆ ต่างก็อย่างน้อยต้องมี Laptop เป็นของตัวเอง และที่กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นมาอีกอย่าง เห็นจะเป็น PDA อาจจะด้วยเพราะมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แต่หากจะเลือกใช้อะไรก็ตามแต่ ขอให้คำนึงถึงประโยชน์จริงๆ ด้วยนะคะ ว่าคุ้มค่าหรือเปล่า หรือนิยมไปตามกระแส เพราะไม่แค่จะต้องเสียตังค์แล้ว หากทิ้งเจ้าพวกนี้ไป ก็จะกลายเป็นขยะของโลกต่อไปด้วยนะ

โอโห ไฮเทค หมดเลยเเล้วสื่อการ์ตูนจะสู้ไหวรึ ชวนไปชมการ์ตูนครับhttp://gotoknow.org/blog/yatsamer/299387

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท