ลักคณา พบร่มเย็น
อาจารย์ ลักคณา ลักคณา พบร่มเย็น พบร่มเย็น

แนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินของกฎหมายโรมัน


แนวคิดพื้นฐานกฎหมายโรมัน เรื่อง ทรัพย์สิน

แนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินของกฎหมายโรมัน

          แนวคิดเกี่ยวกับทรัพย์สินของกฎหมายโรมัน  มีขอบเขตกว้างขวางจนทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องแบ่งซอยส่วนต่าง ๆ ออกไป  หากพิจารณาทรัพย์สินในทัศนะของสิทธิ   บุคคลย่อมเป็นประธานแห่งสิทธิ  (sottetti  giruidci)  ส่วนทรัพย์สินย่อมเป็นกรรมแห่งสิทธิ  (oggetti  giuridici)   การพิจารณาว่าทรัพย์สินเป็นกรรมแห่งสิทธินับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่นักนิติศาสตร์โรมันทิ้งไว้เป็นสมบัติของโลกปัจจุบัน  Accarias  ยืนยันว่านักนิติศาสตร์โรมันมิได้พิจารณาทรัพย์สินในตัวของมันเอง  แต่มองดูทรัพย์สินในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่ทรัพย์สินเป็นกรรม  objets  ของสิทธิต่างๆ ซึ่งมีวิวัฒนาการแนวความคิดเรื่องการแบ่งประเภททรัพย์สินไว้ ดังนี้

----------------------------------------------------------------------------------------

แนวความคิดทรัพย์ภายใต้ เทวสิทธิ (res  divini  iuris) กับมนุษย์สิทธิ (res  humani iuris

------------------------------------------------------------------------------------------

          แนวความคิดในกฎหมายเบื้องต้น (lnstitutionum) ไกยุสได้จำแนกทรัพย์ตามเป้าหมายในการใช้สอย  (destination)  มิใช่ตามลักษณะของทรัพย์(nature des choses)[1]   โดยแบ่งทรัพย์เป็น 2 ประเภท คือ

          1.  ทรัพย์ภายใต้เทวสิทธิ (res  divini  iuris)  อันมนุษย์ไม่อาจถือเอาได้

               ทรัพย์ภายใต้เทวสิทธิ (res  divini  iuris)  อันมนุษย์ไม่อาจถือเอาได้ เป็นทรัพย์ซึ่งปัจเจกชนไม่อาจมีสิทธิได้ ฉะนั้นจึงมี  res  (extra  commercium )  divini  iuris[2]  จึงเป็น ทรัพย์นอกพาณิชย์  ได้แก่

               1.1 ทรัพย์ศักดิ์สิทธิ์ (res  sacrae)  

               1.2 ศาสนทรัพย์ (res  religiosae)    มีไว้เพื่ออุทิศให้กับเทพเจ้าเบื้องบน  (dieux  supeieurs)

               1.3 ทรัพย์อันล่วงละเมิดไม่ได้ (res  sanctae)  เช่น กำแพงและประตูเมืองในลักษณะหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับเทวสิทธิ เป็นต้น

               นอกจากนี้ ไกยุส ที่ได้กล่าวถึง  res  publicae  ไว้สั้นๆ ว่าสาธารณสมบัติของแผ่นดินถือกันว่ามิได้เป็นของใคร  แต่เชื่อกันว่าเป็นสมบัติของชุมชน Res  publica  สาธารณสมบัติของแผ่นดินนี้ ไกยุสจัดเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์อันเป็นทรัพย์เทวสิทธิ

          2. ทรัพย์ภายใต้มนุษย์สิทธิ (res  humani iuris)  อันมนุษย์ถือเอาไว้

               ในเรื่องทรัพย์ที่ขึ้นอยู่กับมนุษย์สิทธินั้น  ไกยุสกล่าวว่า “ทรัพย์ที่ขึ้นอยู่กับเทวสิทธิไม่อาจเป็นของผู้ใดได้  ส่วนทรัพย์ที่ขึ้นอยู่กับมนุษย์สิทธิโดยทั่วไปตกเป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง”   และ “ทรัพย์ที่ขึ้นอยู่กับมนุษย์สิทธิอาจเป็นทรัพย์  publicae    หรือ   privatae  ก็ได้”  ฉะนั้น  res  private   (ทรัพย์เอกชน)  อาจเป็นทรัพย์ของปัจเจกชนและจำหน่ายจ่ายโอนกันระหว่างปัจเจกชนได้  [3]          

--------------------------------------------------------------------------

แนวความคิดสาธาณสมบัติของแผ่นดิน (res publica )

--------------------------------------------------------------------------

          ตำรากฎหมายเบื้องต้นของจัสติเนียนได้อธิบายถึง ทรัพย์สินในกฎหมายโรมัน ดังนี้

          สาธารณสมบัติของแผ่นดินนี้  ไกยุสจัดเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์อันขึ้นอยู่กับมนุษยสิทธิ  ส่วนจัสติเนียน ถือว่า สาธาณสมบัติของแผ่นดิน (Res  publicae )  เป็นทรัพย์เท่าสิทธิ   ทรัพย์เหล่านี้เป็นของชาวโรมันทั้งหมด  ในฐานะที่เป็นนิติบุคคล[4]   ประกอบด้วยที่ดินสาธารณะและทาส  สาธารณะหรือทางหลวงที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นที่ดินนอกอิตาลี  คือที่ดินในจักรวรรดิโรมัน เหนือแม่น้ำ (Po)  ขึ้นไปแคว้นต่างๆของจักรวรรดินั้นจัดเป็น 2 ประเภท   คือ  แคว้นวุฒิสภา(ถือว่าเป็นของประชาชนโรมัน) และแคว้นจักรพรรดิ    (โดยเฉพาะอาณาเขตที่ได้มาใหม่เป็นของจักรพรรดิ)

          1. ความหมายของ res publicae

               ดังนั้น res publicae ในความหมายกว้าง รวมไปถึง สาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะโดยแท้และเพื่อประโยชน์เอกชนด้วย  (เช่น ที่รัฐให้สัมปทานเอกชนไปทำเหมืองแร่ เป็นต้น)  สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทหลัง (คือ ที่เอกชนสัมปทาน) นี้ใช้ประโยชน์ในการทำรายรับเข้าคลังเพื่อให้รัฐมีรายได้มาใช้จ่ายและมีตัวอย่างและมีอสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วยเหมืองแร่  เหมืองหินและวนอุทยานแห่งชาติ (forêts  domaniales)  อย่างไรก็ดีการแบ่งแยกการใช้สาธารณะสมบัติทั้ง  2  ประเภทไม่ได้เด็ดขาดเสียที่เดียวในทางปฏิบัติ

               ในฐานะที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินทรัพย์ทั้ง  2  แบบ  อยู่ภายใต้การบริหารของผู้บริหารรัฐหรือข้าราชการ  สัญญาที่รัฐทำขึ้นกับเอกชนก็มิได้อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลแพ่งตามปกติ  และย่อมขึ้นกับการชี้ขาดของฝ่ายบริหาร  การครอบครองตาม  usucapio  และ  praescriptio (การครอบครองปรปักษ์)  เพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ภายหลังย่อมเป็นไปไม่ได้  ทั้งนี้  ทำให้  Res  publicae  แตกต่างจากทรัพย์ซึ่งเอกชนอาจถือเอาได้ทั่วไป 

             แต่ในความหมายที่แคบ  Res  publicae   เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  (domaine  public)  และปัจเจกชนไม่อาจถือเอาได้เพราะทรัพย์เหล่านี้สงวนไว้ให้สมาชิกของรัฐทุกคนมีไว้ใช้ร่วมกัน เช่น ที่ดินเหมือง  วนอุทยานแห่งชาติ  ชายตลิ่ง  ทางหลวง  ท่าเรือ  โรงละคร  และสนามกีฬาสาธารณะก็เป็นตัวอย่างของทรัพย์ประเภทนี้เช่นกัน

          2.  ลักษณะแห่งสิทธิของ res publicae

             ทรัพย์  publicae  ดังกล่าวนี้มีไว้เพื่อให้ราษฎรทุกคนได้ใช้สอยเหมือนกับทรัพย์ที่เป็นของมนุษย์ใช้ร่วมกัน  (res  communes)  การที่  Girard  กล่าวเช่นนี้สะท้อนความกว้างขวางของความคิดของไกยุสแต่ทำให้เกิดความสับสนเพราะจัสติเนียนแยก res  communes ออกเป็นทรัพย์อีกประเภทหนึ่ง  ถ้ามีผู้ใดถูกรบกวนไม่ให้ใช้ทรัพย์สินเหล่านี้ย่อมฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด  (iniuria) ได้[5]  ประโยชน์สาธารณะที่ได้จากทรัพย์เหล่านี้มากมายจนกระทั่งมีผู้อ้างว่ารัฐมิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าว  และรัฐใช้แต่เพียงอำนาจอธิปไตยเหนือทรัพย์เหล่านี้เท่านั้น  Girard ยืนยันว่าความเชื่อดังกล่าวเป็นความสำคัญผิด การเข้าถึงและการใช้สอยทรัพย์ดังกล่าวย่อมขึ้นอยู่กับการควบคุมของทางการ[6]

-------------------------------------------

ทรัพย์ร่วม (res  communes)

-------------------------------------------

          จัสติเนียนแยก res  communes ออกเป็นทรัพย์อีกประเภทหนึ่ง  ถ้ามีผู้ใดถูกรบกวนไม่ให้ใช้ทรัพย์สินเหล่านี้ ย่อมฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด  (iniuria)  ประโยชน์สาธารณะที่ได้จากทรัพย์เหล่านี้มากมายจนกระทั่งมีผู้อ้างว่ารัฐมิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าว  จัสติเนียนได้เพิ่มประเภททรัพย์  res  communes  นอกเหนือจากที่ไกยุสได้แบ่งไว้  เพราะตามทัศนะของผู้รวบรัดประมวลกฎหมายถวายจัสติเนียนของไกยุส  ดูจะกว้างขวางครอบคลุมไปถึง  res  communes  ด้วย 

          1. ความหมาย res  communes

               คำว่า communes  หมายถึงว่าแต่ละคนอาจใช้ประโยชน์ทรัพย์ดังกล่าวได้  โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน เช่น ทะเลหลวง (haute mer)  อันเป็นทรัพย์ร่วมของทุกคนและทุกชาติ  กล่าวคือ อากาศ น้ำ ทางน้ำ ทะเล ชายฝั่ง ย่อมเปิดให้ทุกคนใช้ได้  โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องไม่ล่วงละเมิดแก่บ้านพักผ่อน อนุสาวรีย์  และโรงเรือน  เพราะทรัพย์เหล่านี้ มิใช่ทรัพย์จาก ius gentium เหมือนทะเล  ดังนั้น น้ำส่วนที่แต่ละคนนำขึ้นมาใช้ย่อยตกเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล หรือ ฝั่งทะเลย่อมเป็นทรัพย์ร่วม    (res  communes)  เช่นเดียวกัน  ฉะนั้นผู้ใดก็จะตากอวน  สร้างที่กำบังเพื่อให้คนอาศัยหรือนำผลผลิตจากการทำประมงเก็บไว้ก็ได้  นอกจากนี้อาจจะนำเรือขึ้นอู่เรือแห้งซ่อมแซมหรือเพื่อรอให้พ้นหน้าหนาวก็ได้  ทั้งนี้ย่อมเป็นผลมาจากหลักเสรีในการเดินเรือ

               อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประชุม  โฉมฉาย เห็นว่าที่ดินชายฝั่งมีลักษณะผสมคือจะเป็น  (res  communes)  ในส่วนที่ต้องขออนุญาตจากรัฐในการใช้สอย  แต่จะเป็น  res  nullius  ในสิ่งที่สามารถเป็นเจ้าของชั่วคราว(ตราบใดที่แหล่งกำบังอยู่)  ได้โดยหลัก  occupation 

          2. ลักษณะแห่งสิทธิของ res  communes

               การใช้ทรัพย์ร่วมเหล่านี้จำเป็นต้องปรับให้ร่วมกับความคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันค่อนข้างกว้างขวาง  เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมย่อมมีสินเด็ดขาดมาเฉพาะต่อผิวดินเท่านั้น  แต่รวมไปถึงบริเวณใต้ดินและลำหรือแท่งอากาศ (colonne d’ air)เหนือที่ดินของตนด้วย  บุคคลอื่นย่อมไม่มีสิทธิจะบุกรุกไปยังบริเวณอากาศเหนือที่ดินของเจ้ากรรมสิทธิ์เพื่อที่จะดักอากาศหรือนำกังหันลมไปให้หมุนเหนือที่ดินของเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้

               ดังนั้น การใช้  res  communes   จะต้องขึ้นอยู่กับกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินเอกชนดังกล่าวมาแล้ว  ทรัพย์ดังกล่าวมิอาจจะเป็นกรรมของสิทธิ์ผูกขาด  (objet d’ un droit exclusit)    ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือชนชาติใดชนชาติหนึ่ง  ข้อสงวนนี้ไม่รวมถึงท้องน้ำหรือท้อง  (ก้น)  ทะเล  ซึ่งน่าจะเป็น  res  nullius  (ทรัพย์ซึ่งไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ)  มากกว่า  

               แม้บุคคลไม่อาจถือเอาทรัพย์ร่วมได้ก็ตาม  สิทธิในการใช้ทรัพย์ดังกล่าวเกิดจากการมีสภาพเป็นบุคคล  ผู้รบกวนสิทธิดังกล่าวย่อมถือว่าละเมิด (iniuria) มิใช่ต่อสิทธิในทรัพย์สินแต่ต่อสิทธิในฐานะที่เป็นบุคคล  และผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องได้โดยรูปคดีละเมิด

              res  communes  ของกฎหมายโรมันมีลักษณะใกล้เคียงกับทรัพยากรร่วม (common-pool  resources  หรือ  open-access resources)[7] ในปัจจุบัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ มักมีแนวโน้มในการแยกกันใช้ทรัพยากรดังกล่าวด้วยไม่กังวลว่าจะมีความยั่งยืนเพียงใด  เพราะต่างคนต่างแย่งกันถือเอาเป็นประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวในลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา (rule  of capture)  จนกระทั่งมีการใช้เกินเหตุไปและขาดการอนุรักษ์  ทั้งนี้เป็นเพราะขอบเขตทางสถาบัน (institutional  framework) ในการควบคุมที่ยังไม่ใช้ทรัพยากรยังมีไม่เพียงพอ  ตัวอย่างสำคัญก็คือ  แม่น้ำระหว่างประเทศบางสายที่ยังขาดหลักนิติศาสตร์และสถาบันที่เหมาะสมในการใช้  เช่น  แม่น้ำโขงเป็นต้น   อย่างไรก็ดี  res  communes ของคนโรมันยังอยู่ในฐานะที่ดีเพราะขึ้นอยู่กับภายใต้การดูแลของรัฐโดยเคร่งครัดความจริงถ้าฐานทางทรัพยากรของจักรวรรดิโรมันเสื่องลง  เพราะการใช้  res  communes  เกินเหตุไป  ก็อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้จักรวรรดิโรมันสลายตัวไปได้ในที่สุด[8]

               Lee[9]    ให้ความเห็นอย่างถูกต้องว่า  การแบ่งแยกระหว่าง  res  publicae  กับ  res  communes  ของจัสติเนียนไม่ชัดเจนและไม่เกิดประโยชน์อันใดในทางปฏิบัติ จริงอยู่ขอบเขตของ  res  communes  ดูจะเป็นโลกทั้งหมด ส่วนขอบเขตของ res  publicae  คือรัฐโรมันเท่านั้น  อย่างไรก็ดีตราบใดที่  res  communes  อยู่ในอาณาเขตของโรมัน  ผู้บริหารดำเนินการควบคุมการใช้ในลักษณะเดียวกับ  res  publicae

--------------------------------------------------------------------

แนวความคิดทรัพย์ของชุมชน (res  universitatum) 

--------------------------------------------------------------------

          1. แนวคิดเกี่ยวกับ ทรัพย์ของชุมชน (res  universitatum) 

               Monier  ตั้งข้อสังเกตว่าการแบ่งแยก  res  communes  กับ  res  publicae  ซึ่งผู้รวบรวมกฎหมายถวายจัสติเนียนคิดขึ้นมานั้น ไม่เป็นที่รู้จักในหมู่นักนิติศาสตร์โรมันยุคทองยกเว้น  Marcianus ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากความคิดกรีกอย่างมากมาย  ฉะนั้นการพิจารณาว่าอากาศเป็นทรัพย์ร่วมนั้นเป็นความคิดทางปรัชญา  โดยที่    Monier  มองเห็นนัยทางนิติศาสตร์หรือการจัดให้น้ำไหลเป็น  res  communes  อย่างหนึ่งก็เป็นความคิดค่อนข้างไม่แจ้งชัด เพราะน้ำที่ไหลในแม่น้ำก็มีลักษณะเหมือนกับแม่น้ำซึ่งอาจเป็น  res  publicae หรือ res  private  ก็ได้แล้วแต่กรณี  ในสมัยยุคทองนั้น  Monier   ยืนยันว่ามีการจำแนกประเภททรัพย์ของส่วนรวม(res  publicae)    อันเป็นของประชาชนทั้งหมด กับ ทรัพย์ของชุมชน (res  universitatis)  อันเป็นของเมืองต่างๆเท่านั้น แต่ไม่มี  res  communeแต่อย่างใด 

               จัสติเนียนทรงเล่าถึง  res   universitatis  ไว้ว่า ทรัพย์ซึ่งเป็นของชุมชน (universitas)  และไม่ใช้ของปัจเจกชน  ตัวอย่างเช่น  สิ่งปลุกสร้างในเมืองอย่างโรงละคร  สนามวิ่งแข่ง  และสิ่งที่คล้ายกันเป็นสมบัติร่วมกันของสมาชิกของเมือง[10]

          2. ความหมายของ res  universitatis

               Universitatis  ในความหมายกว้างอาจเป็นจักรวรรดิ หรือโลกทั้งหมดก็ได้  แต่โดยความหมายแคบหมายถึงชุมชนในลักษณะต่างๆ กัน  ฉะนั้นเมืองซึ่งนำหน้าโดยมหานครโรม (เรียกว่า Urbs) จึงเป็นชุมชนที่แพร่หลายที่สุดในสมัยนั้น  ฉะนั้นที่กล่าวถึงในที่นี้เป็นเมือง [11]  โดยเหตุที่  res   universitatis  หมายถึงทรัพย์ที่มิได้เป็นของสมาชิกของเมืองคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของเมืองโดยส่วนร่วม  (patrimonium  civitatis)  แต่ปัจเจากชนอาจใช้ได้โดยเสรี  ผู้ใดขัดขวางมิให้ใช้สิทธิเกี่ยวกับทรัพย์เหล่านี้  สามารถฟ้องลักษณะละเมิด (iniuria) ได้เช่นเดียวกับทรัพย์ของส่วนรวมอื่นๆ

               ถ้าพิจารณาโดยละเอียดแล้ว  Girard  ชี้แจงว่าการใช้ res   universitatis  นอกจากจะเป็นลักษณะเดียวกับสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  ยังอาจใช้ประโยชน์ส่วนบุคคลได้ในลักษณะที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประชุม  โฉมฉาย เข้าใจว่าเหมือนสัมปทานของรัฐ  แต่ในที่นี้เป็นสัมปทานของนิติบุคคล (personne morale) ที่เป็นส่วนย่อยของรัฐ    Ulpianus D. ตำหนิการใช้ภาษาผิดโดยการเรียกทรัพย์   universitatis   ในการใช้ดังกล่าวว่าเป็น  res  publicae[12]   โดยท่าน อ.ประชุม โฉมฉาย เห็นว่า  res  publicae   ของท้องถิ่นน่าจะเป็นที่ยอมรับได้เหมือนกับ  public  goods  ท้องถิ่นเป็นที่ยอมรับได้ทางการคลัง[13]

-------------------------------------------------------------------

แนวความคิดทรัพย์ที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ (Res  nullius)

--------------------------------------------------------------------

          Lepointe    ตีความอย่างแคบว่า res  nullius   (ทรัพย์ซึ่งไม่เป็นสิทธิของผู้ใด)  เป็นทรัพย์นอกพาณิชย์  ท่านศาสตราจารย์ ดร.ประชุม  โฉมฉาย เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์เพราะไม่ช่วยในการศึกษาวิธีการอันได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์เหล่านี้

          Girard  และ  Robaye    ให้ความเห็นว่า  res  nullius  มี 2 แบบ  คือ (i)  res  nullius  divin iuris  ทรัพย์เทวสิทธิซึ่งไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ คือ res  sacae, religiosa และ  sanctae และ (ii)  res nullius humani iuris  ทรัพย์มนุษย์สิทธิซึ่งไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของอันประกอบด้วย   res communes, publicae  และ  univeristatis  แต่   Rodaye  ไม่นำ   res universitatis  เข้ามาพิจารณาเลย  การตีความนี้เปิดช่องให้ปัจเจกชนมีกรรมสิทธิได้โดยจำกัดมาก

          การตีความที่เป็นประโชยน์กับกฎหมายทรัพย์สินเพราะจะเปิดช่องให้พิจารณาลักษณะอันปัจเจกชนได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ใน  res  nullius  ดังกล่าวมาจาก  Lee[14]   โดยเขาแยกความหมาย  res  nullius  ออกเป็น  3  อย่างด้วยกัน

          (1) ทรัพย์ทักอย่างซึ่งปัจเจกชนไม่อาจถือเอาได้ตามความคิดคนโรมัน

          (2) Res  sacrae, religiosae  และ  sanctae

          (3) ทรัพย์ซึ่งแม้ปัจเจกชนอาจถือเอาได้ตามยังไม่มีเจ้าของในขณะที่เรากล่าวถึง เช่น  สัตว์ป่าที่ยังไม่มีใครจับไป  หรือทรัพย์ซึ่งเจ้าของได้สละหรือทอดทิ้งแล้ว  (res  derelictae)[15]

          ทรัพย์ประเภทที่ (1) และ (2) ของ  lee  ครอบคลุมไม่น้อยกว่าของ  Girard  และ Robaye  ดังที่กล่าวมาแล้วข้างบน แต่  ทรัพย์ประเภทที่(3)  มีลักษณะสำคัญต่อการได้กรรมสิทธิ์ของปัจเจกชนใน  res  nullius  จึงเป็นการตีความที่ได้ประโยชน์มากที่สุด 

----------------------

บทวิเคราะห์

---------------------

            แนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการแบ่งประเภททรัพย์สินของกฎหมายโรมัน  ทำให้เห็นถึง ความพยายามของนักนิติศาสตร์ในยุคโรมัน ในอธิบายถึงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของเอกชน  กรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์  และทรัพย์ของชุมชน  ประกอบกับ  ยังมีทรัพย์ที่ไม่มีผู้ใดสามารถถือกรรมสิทธิ์ได้  โดยกฎหมายโรมันพยายามอธิบายทรัพย์ตามกฎหมายของเอกชน ซึ่งให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ และทรัพยสิทธิในทรัพย์สิน รวมทั้งได้แบ่งประเภทของทรัพย์ที่ปลอดจากการตกกรรมสิทธิ์ของเอกชน  เพื่ออนุรักษ์ รักษาไว้ให้ประชาชนมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ในทรัพย์ร่วมกัน   ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของสาธารณชนและชุมชน   จึงทำให้ทรัพย์ร่วมเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ที่ไม่สามารถจำหน่าย จ่ายโอนได้ เพื่อสงวนไว้ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชนหรือเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน  โดยเฉพาะทรัพย์ประเภทที่ดินที่เป็นแหล่งกำเนิดของทรัพยากรธรรมชาติอีกหลายอย่าง เช่น  แม่น้ำ  สำธาร   ป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น   ในขณะเดียวกันก็ไม่ตัดสิทธิในการที่เอกชนจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินบางประเภทเช่นกัน 

            อย่างไรก็ตามแนวคิดการแบ่งประเภททรัพย์สินของกฎหมายโรมัน  สะท้อนให้เห็นได้ว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดิน (res publicae) จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐ   ทรัพย์ร่วม (res  communes) เป็นทรัพย์ที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ทรัพย์ดังกล่าวได้  โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน แต่ไม่อาจถือเอาทรัพย์ร่วมได้   แต่ผู้มีสิทธิในการใช้ทรัพย์ดังกล่าวเกิดจากการมีสภาพเป็นบุคคล  ผู้รบกวนสิทธิดังกล่าวย่อมถือว่าละเมิด  จะเห็นได้ว่าทรัพย์เหล่านี้เป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ที่รัฐต้องเข้าไปควบคุมดูแล  โดยผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ต้องมีสภาพบุคคล  สำหรับทรัพย์ของชุมชน (res unversitatum) เป็นทรัพย์ที่สมาชิกในชุมชนทุกคนโดยส่วนรวมเป็นเจ้าของ มิได้เป็นของสมาชิกในชุมชนคนใดคนหนึ่ง  ซึ่งคงต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นแนวคิดสิทธิชุมชน (Collective Right) ที่มีต่อทรัพย์ได้เกิดขึ้นมาในปัจจุบันหรือไม่  อย่างไร?    แต่สำหรับ กฎหมายโรมันยังให้การรับรองคุ้มครองเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นกัน


[1] Declareuil. J. Rome et I’organiation du droit . Paris : La Renaissance du Livre, 1924 , P.174

[2] Guarino  Antonio.  Diritto  Privato Romano. Quinta Edizione, Napoli : Jovene  : 1966, Storia del diritto Romano, Napoli : Jovene, 1976, P.316-317

[3] ประชุม  โฉมฉาย.หลักกฎหมายโรมันเบื้องต้น.โครงการตำราและวารสารนิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัทโรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด,กรกฎาคม 2546 น.278-280

[4] Robaye  René.  Le droit romain. Tome 2, Louvain-la-Ncuve : Bxuyanr-Acadcmia, p.76 ; Guarino  Antonio.  Diritto  Privato Romano. Quinta Edizione, Napoli : Jovene  : 1966, Storia del diritto Romano, Napoli : Jovene, 1976,p.263

[5] Girard P.F.1. Manuel (Elémentare) de droit romain. 8 édition revue par F. Senn, Paris : Librarie  Arthur Rousseau, 1929, P.261

[6] อ้างในเชิงอรรถที่ 3 แล้ว, น.281-284

[7] Chomchai  Prachoom. Law and Eurnomicus. Bangkok : Thammasat University,1993

[8]  อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 3, น.284-288

[9] Lee  R.W. The  Element of Roman Law. London : Sweet & Maxwell, 1956,  P.109

[10] อ้างเล้วในเชิงอรรถที่ 5 น.262

[11] Accarias C. Précis de droit romain. Tower Premier. Paris : Libraire Cotilllon, 1896 , p.507

[12] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 5, p.262 n.4

[13] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 3 , น.288-289

[14] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 9 , น.110

[15] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 3 , น.289-290

หมายเลขบันทึก: 292054เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2009 05:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท