การจัดการความรู้ในหาดใหญ่-สงขลา 1


สถานีขนส่ง 2 ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่ง

สงขลาเป็นเมืองแห่งการศึกษา มีสถาบันอุดมศึกษาไม่น้อยกว่า 5 สถาบัน นอกจากนั้นยังมีศิษย์เก่าของสถาบันต่างๆ เหล่านี้ทำงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเรามีผู้มีความรู้และแหล่งความรู้อยู่ในมือไม่น้อย.....

สาเหตุที่ทำให้ผมต้องมาเขียนบันทึกนี้เนื่องมาจาก หนังสือพิมพ์โฟกัสสงขลา (http://www.focuspaktai.com/index.php) ปีที่ 9 ฉบับที่ 436 ลงวันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2549 หน้าที่ 5 หัวข้อ "นครหาดใหญ่ ขยับ-คิวส่งเสียงค้าน"

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า

ผู้บริหารเทศบาลนครหาดใหญ่ต้องการที่จะย้ายคิวรถตู้ออกไปจากภายในตัวเมือง (CBD) เอาไปอยู่บริเวณชานเมือง ไปยังบริเวณที่เป็นปัญหาคือบริเวณริมคลองระบายน้ำสายที่ 1 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (คลอง ร.1) ที่คนหาดใหญ่เรียกว่าบริเวณสะพานเมตตา ถนนเพชรเกษม บริเวณนั้นมีอาคารร้างอยู่ 2 หลัง ซึ่งเป็นอาคารของเทศบาลฯ ซึ่งเดิมเขาคิดกันว่าจะสร้างเป็นตลาดเกษตรฯ สำหรับซื้อขายสินค้าทางเกษตรกรรม แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีการทำอะไรปล่อยทิ้งเอาไว้เฉยๆ

จนมาบัดนี้ก็มีความคิดที่จะย้ายคิวรถตู้ออกไปจากเมือง โดยคิวรถตู้ส่วนหนึ่งจะไปอยู่ ณ สถานที่ดังกล่าวข้างต้นซึ่งเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าสถานีขนส่ง 2 และคิวรถตู้อีกส่วนหนึ่งจะไปอยู่ที่สถานีขนส่งหาดใหญ่

เรื่องนี้ส่งผลกระทบกับคนจำนวนไม่น้อย ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้บริการ เหตุไฉนไม่มีการศึกษาผลกระทบหรือทำประชาพิจารณ์ (หรืออาจจะมีแต่ผมไม่ทราบ) เพื่อฟังความเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการผู้ได้รับผลกระทบ

เราลองมาประมาณกันคร่าวๆ  รถตู้มีประมาณ 40 คิว รถ 1 คัน นั่งได้ 11 คน (ยกเว้นเส้นทางหาดใหญ่สงขลา ที่รถตู้ธรรมดาๆ  1 คัน นั่งได้ถึง 19 คน พิพิธภัณฑ์ Beleive it or not น่าจะมาบันทึกเอาไว้) สมมติรถออก ชั่วโมงละ 1 คัน วันละ 12 ชั่วโมง จะมีผู้โดยสารประมาณ 40 x 11 x 12 = 5,280 คนต่อวัน แต่ก็มีบางคิวที่รถ ออกถี่กว่าชั่วโมงละ 1 คัน ดังนั้น 5,280 จึงเป็นตัวเลขประมาณการขั้นต่ำ

ถ้าย้ายคิวรถตู้ออกนอกเมืองจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราลองมาจินตนาการกันดู

  • จะมีเที่ยวเดินทางไม่น้อยกว่า 5,280 เที่ยวไปยังสถานีขนส่ง
  • จะมีรถจำนวนหนึ่งวิ่งไปส่งคนที่สถานีขนส่ง 2 (ตลาดเกษตรที่พูดถึงข้างต้น) แล้วก็วิ่งกลับ
  • การจราจรตามเส้นทางไปยังสถานีขนส่ง 2 ก็จะมีรถเพิ่มขึ้น
  • เที่ยวเดินทางเพิ่มขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย
  • จะมีการเผาผลาญน้ำมันไปไม่รู้เท่าไหร่กับสถาพการจราจรในปัจจุบัน
  • ประชาชนจะเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น และค่าเดินทางด้วยรถรับจ้างไม่ว่าจะตุ๊กตุ๊ก หรือ สองแถวก็ขึ้นมาโดยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
  • ฯลฯ

เหนือสิ่งอื่นใด สถานีขนส่ง 2 ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่ง เพราะตั้งอยู่ริมสะพาน แถมยังเป็นทางโค้งอีกต่างหาก ทำให้ไม่สามารถทำทางเข้าออกสถานีขนส่งบริเวณด้านหน้าสถานีขนส่งในลักษณะเป็น 3 แยกได้ (เว้นแต่จะทำเป็นทางข้ามต่างระดับลอยข้ามถนนไปทั้งขาเข้าขาออกซึ่งคงใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท) การที่รถจากในเมืองจะเข้าไปสถานีขนส่ง 2 ได้นั้น ต้งไปกลับรถ ณ จุดกลับรถที่อยู่ไกลออกไป ส่วนรถที่จะออกจากสถานีขนส่ง 2 ไปยังฝั่งสตูล หรือพัทลุงนั้น ก็ต้องไปกลับรถ ณ จุดกลับรถที่อยู่ไกลออกไปเช่นกัน ส่วนคนที่นั่งรถ 2 แถวประจำทางมาจากในเมืองเพื่อไปสถานีขนส่ง ก็ต้องข้ามถนน 4 ช่องจราจรที่รถวิ่งด้วยด้วยความเร็วร่วม 100 กม/ชม ก็สร้างความตื่นเต้นหวาดเสียวแก่คนข้ามถนนได้ไม่น้อย และยังเป็นการเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่เห็นมีใครพูดถึงโครงการที่จะทำสิ่งอำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่คนข้ามถนนเข้าและออกสถานีขนส่งแต่อย่างใด

จึงอยากจะฝากให้ช่วยกันคิดว่า การย้ายคิวรถตู้ออกไปจากตัวเมืองซึ่งอยู่ใกล้กับผู้โดยสารอยู่แล้ว ออกไปนอกมืองนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัย ด้านวิศวกรรม ด้านคุณภาพชีวิต และด้านอื่นๆ อีกหลายๆ ด้าน

เหตุผลของการย้ายก็คือที่จอดรถภายในเมืองไม่เพียงพอและมีรถตู้จำนวนหนึ่งใช้ที่จอดรถนี้ด้วย แต่ถ้าเรามองอย่างเป็นกลาง รถตู้ 1 คันนั่งได้ 12 คน (รวมคนขับ) ในขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้ที่จอดรถขนาดเท่ากัน 1 คันมีคนในรถ แค่ 1 คนเท่านั้น (เห็นอยู่บ่อยครั้ง)

สาเหตุที่แท้จริงของที่จอดรถไม่เพียงพอคือ รถยนต์ส่วนบุคคลจำนวนมากจอดทิ้งไว้ทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น

  • ส่วนหนึ่งเป็นรถของคนในเมืองที่มีรถยนต์ส่วนบุคคลใช้แต่ที่บ้านไม่มีที่จอดรถ
  • อีกส่วนเป็นรถของคนนอกเมืองที่มาทำงานในเมืองแต่ที่ทำงานไม่มีที่จอดรถให้

จึงให้การใช้ที่จอดรถริมถนนไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร คือไม่มีการหมุนเวียนของรถที่มาจอด ที่จอดที่มีอยู่จึงเสมือนเป็นที่จอดรถส่วนบุคคลบนถนนสาธารณะ

ดังนั้นทางแก้ที่ยั่งยืนของปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอคือ

  • เก็บค่าจอดรถเป็นรายชั่วโมง (หรือทุกครึ่งชั่วโมง)
  • ขึ้นค่าจอดรถทุกปี (เพราะจำนวนรถเพิ่มขึ้นทุกวัน)
  • จัดให้มีระบบขนส่งมวลชนที่ดี
  • ส่งเสริมการใช้รถจักรยาน เพราะที่จอดรถยนต์ 1 คัน จอดรถจักรยานได้หลายคัน
  • ส่งเสริมการเดินเท้า (โดยสารรถขนส่งมวลชนมา ลงที่ป้ายแล้วเดินอีกหน่อย)

ทุกฝ่ายควรมานั่งคุยกันด้วยเหตุด้วยผล อย่าใช้อารมณ์ อย่ามีอคติ รับฟังความเห็นของผู้อื่นบ้าง ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง บ้านเมืองก็จะน่าอยู่

--------------------------------------------------------------------------------------

ขออนุญาตยกเอาข่าวมาไว้ที่นี่

'นครหาดใหญ่'ขยับ-คิวส่งเสียงค้านจัดระเบียบเมือง-ปรับปรุงตลาดสะพานเมตตา6ล.

เทศบาลนครหาดใหญ่รื้อโครงการย้ายคิวรถตู้ไป"อาคารร้าง"ตลาดสะพานเมตตาอีกครั้ง "ชาญ ลีลาภรณ์"ย้ำต้องทำให้เมืองเป็นระเบียบ ขณะที่คิวรถต่างๆ ส่งเสียงค้าน ด้านผู้โดยสารบอกเดือดร้อนแน่

นายชาญ ลีลาภรณ์ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ได้เปิดเผยกรณีที่จะปรับปรุงตลาดเกษตรเทศบาลนครหาดใหญ่ บริเวณสะพานเมตตา อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นอาคารที่ปล่อยว่างมานานหลายปี เป็นสถานีรถโดยสารขนาดเล็กว่า ได้คุยกับผู้ประกอบการหลายครั้ง ตั้งแต่ปีที่แล้ว ให้ความร่วมมือดี สถานีรถโดยสารขนาดเล็กไม่ไกลเกินไป เพราะยังอยู่ในเขตเทศบาล เหตุผลที่ต้องย้าย เพราะบริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ1,2 และ3 จอดรถเต็มไปหมด บริเวณโรงแรมไดอิชิ ทำให้การจราจรติดขัด กีดขวางการจราจร และรถยนต์ของบุคคลทั่วไปไม่มีที่จอด ไปรบกวนร้านค้า สร้างปัญหาให้คนข้างเคียง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานในเมืองหาดใหญ่

"การจัดระเบียบเพื่อให้เมืองเป็นระเบียบ ไม่ใช่ใครต้องการตั้งคิวตรงไหนก็ขึ้นป้าย เมืองนอกหรือต่างจังหวัดหลายแห่งไม่มีการปล่อยให้จอดแบบนี้ เพื่อนบ้านมาเลเซียไม่มีจอดรถแบบนี้"นายชาญ กล่าวและว่า

เท่าที่พบเห็นเวลาส่งผู้โดยสารจอดซ้อนคันไม่มีระเบียบ นครหาดใหญ่จึงย้ายคิวไปอยู่แห่งเดียวกัน เป็นสถานีขนส่งรถโดยสารขนาดเล็ก โดยไม่บังคับว่า คิวรถจะไปรับส่งผู้โดยสารหรือไม่ จะดูแลเพียงการจอดรถให้เป็นระเบียบ แบ่งคิวเป็น2จุดคือ คิวที่ไป
ทางทิศเหนือ เช่น นครศรีธรรมราช ตรัง ทุ่งสง สุราษฎร์ธานี จะมาจอดที่ตลาดเกษตร ส่วนรถโดยสารที่ไปทางทิศใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เบตง จะไปจอดที่สถานีขนส่งหาดใหญ่ ซึ่งจะจัดระเบียบทุกคิว เราไม่เข้าไปยุ่งในการบริการ ค่าโดยสาร คิดว่าไม่น่าเกิดปัญหาในการแย่งลูกค้า เพราะแต่ละคิวมีลูกค้าของตัวเอง

ต่อข้อถามที่ว่า ทำไมที่ผ่านมาไม่มีการจัดการเรื่องนี้ นายชาญ ตอบว่า ไม่ทราบว่าเทศบาลชุดที่แล้วเค้าจะทำหรือไม่คิดที่จะทำก็ตาม แต่เราต้องทำ

ทั้งนี้ ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ จะมีการประกวดราคา ตกแต่งเสริมหลังคา ที่พักผู้โดยสาร จำหน่ายอาหาร ร้านสะดวกซื้อ คาดว่าใช้งบประมาณ 6 ล้านกว่าบาทคิวส่งเสียงค้าน

นายไชยา เมฆาภาค พนักงานขับรถตู้คิวหาดใหญ่-นครศรีธรรมราช กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ยินมานานแล้ว แต่ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

"คิวนี้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน เพราะมีพื้นที่จอดรถเป็นสัดส่วน ไม่กีดขวางการจราจร คิวที่มีปัญหาน่าจะคิวรถตู้ที่จอดบริเวณสาย3 และบริเวณวงเวียนน้ำพุ เพราะจอดบนถนน ยิ่งถ้าเป็นช่วงชั่วโมงเร่งด่วนรถจะติดมาก ผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะแก้ปัญหาที่
รถบัสมากกว่า อย่างเช่น รถบัสสายชุมพร สุราษฎร์ธานี สตูล ควรออกถนนสายหลักไปเลย ไม่ต้องเวียนไปรับส่งคนที่หน้าหอนาฬิกา ส่วนนี้มากกว่าที่สร้างปัญหาการจราจร"

แต่ถ้าหากคิวที่จอดขวางเส้นทางจราจรย้ายไป คิวนี้คงได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่จะไปขึ้นที่คิวบริเวณหน้าหอฯ เนื่องจากเดินทางสะดวก หากย้ายไปการเดินทางลำบาก ผู้โดยสารเสียเปรียบ รถตู้คงไม่รับส่งเหมือนเดิม และผู้โดยสารต้อง
นั่งรถรับจ้างอื่นไปยังที่ใหม่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

นายประยูร สิทธิชัย หุ้นส่วนคิวรถตู้หาดใหญ่-ปัตตานี เล่าว่า ย้ายจากถนนนิพัทธ์อุทิศ3 มาอยู่ข้างโรงแรมไดอิชิ ประมาณปีกว่า ตอนนั้นเทศบาลมาขอความร่วมมือ บอกให้จัดการย้ายคิว เราก็ย้าย แต่คิวอื่นไม่ได้ย้าย จนกระทั่งปัจจุบัน ยังไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการดุแล จัดระเบียบให้เรียบร้อยเหมือนที่พูดไว้

คิวนี้มีรถตู้ 130 คัน เพราะรวม 3 คิวเหลือคิวเดียว สาเหตุที่ยอมย้ายทั้งที่ลูกค้าลดลง และตอนนั้นได้เสียค่าเช่าบ้านล่วงหน้าไปเป็นแสน และต้องมาเช่าที่ใหม่เพิ่มอีก แถมยังต้องพิมพ์ตั๋วรถใหม่ ขอเบอร์โทรศัพท์ใหม่ เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่ไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือช่วยเหลือ "ตอนแรกคิวสห ซึ่งอยู่ใกล้กันนั้นจะย้ายมาใกล้เจ้าพระยาอาบอบนวด แต่ไม่เห็นเจ้าหน้าที่เข้มงวด จึงอยู่ที่เดิมต่อไป" นายประยูร กล่าวและว่า

ที่บอกว่าคิวนี้ไปแย่งที่จอดรถส่วนบุคคลนั้น นายประยูรปฏิเสธว่า ไม่ได้แย่งเพราะรถจอดในซอยบริเวณนั้นไม่มีบ้าน ส่วนบริเวณหน้าร้านขายของจะไม่จอดในวันที่เค้าขายของ หากปิดแล้วจึงมาจอด

นายประยูร ยังกล่าวว่า อยากให้ผู้เกี่ยวข้องคิดยาวๆ รัฐมีผลงานส่วนใหญ่จะย้ายไปยังที่ดินที่ตนเองได้รับผลประโยชน์ ทั้งค่าเช่าพื้นที่ ค่าขายของ จะทำอะไรต้องนึกถึงประชาชนบ้าง ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าหลายคิวย้ายไปอยู่ที่เดียวกันต้องเกิดความขัดแย้งขึ้นแน่นอน อาจถึงขั้นฆ่ากันตาย แล้วครอบครัวเค้าจะเป็นเช่นไร

นายประยูร เสนอว่า ถ้าหากเทศบาลจะให้ย้ายจริงๆก็ควรรวมคิวให้ได้เสียก่อน ถ้ารวมไม่ได้ต้องแน่ใจว่าจะมีมาตรการควบคุมปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

แหล่งข่าวจากพนักงานขับรถคิว๑๑๑ซึ่งเดินรถระหว่างหาดใหญ่-นครฯ และหาดใหญ่-สุราษฎร์ฯแสดงความเห็นพ้องกันว่า ไม่ได้สร้างปัญหา ชั่วโมงเร่งด่วนจะไม่จอดรถรอเลย นอกจากมาจอดรับผู้โดยสาร รถที่ไม่ถึงคิวจะจอดอยู่ริมคลอง ด้านหลังคิวรถที่
ทำให้การจราจรติดขัดคือ รถบัสที่ต้องวนมารับผู้โดยสารถึงหน้าหอนาฬิกา แทนที่จะวิ่งออกเส้นหลักทันที

นายเฉลิม บุญปาน หนักงานขับรถ กล่าวว่า คิวนี้มีรถ30คัน ลูกค้ามาต่อเนื่องเพราะทำเลดี และการบริการที่ดีของที่นี่ ค่ารถขรธนี้120บาท ถ้าหากต้องย้ายไป ผู้โดยสารต้องเสียค่ารถเพิ่มอีกประมาณ30 บาท เพราะรถตู้คงไม่เวียนมารับส่งเหมือนเดิม
เพราะไกลจากคิว และหากย้ายไปที่ใหม่ไม่แน่ใจว่าจะได้มุมอับหรือเปล่า และต้องมีการแย่งลูกค้าเกิดขึ้นแน่นอน เมื่ออยู่ใกล้กันการกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นง่าย ผู้ใช้บริการบอกเดือดร้อน

นายวิษณุ บุญพัก อาชีพเซลล์แมน กล่าวว่า ตนใช้บริการคิวรถตู้หาดใหญ่-สุราษฎร์ คิว111 เป็นประจำทุกเดือน เพราะต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลา หากมีการย้ายคิวออกไปอยู่นอกเมืองนั้น ประชาชนผู้ใช้บริการต้องเดือดร้อนอยู่แล้ว เพราะต้องเดินทางออก
ไปเอง เราใช้บริการตรงนี้จนชินแล้ว เมื่อก่อนมีการรับตามจุดที่โทรให้ไปรับและเป็นทางผ่าน และเรื่องที่ว่ารถเกะกะขวางทางนั้นตนว่าไม่ได้กีดขวางอะไรมากมาย

นายเอกชัย วงศ์ประไพ อาชีพรับจัดสวน และก่อสร้าง กล่าวว่า ตนนั่งรถตู้ของคิว 111มาตั้งแต่ราคา 150 บาท จนถึงปัจจุบันที่ ราคา 200 กว่าบาท ก็ยังนั่งอยู่ คิดว่าถ้ามีการย้ายออกไปนั้นผู้โดยสารก็เดือดร้อนบ้างแต่ไม่มาก เขาน่าจะไปรับลูกค้าถึงที่
เพราะปกติเขาก็ไปรับอยู่แล้ว ในจุดสำคัญๆ

ที่มา : http://www.focuspaktai.com/index.php?file=news&obj=news.view(id=7776)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29196เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2006 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมากนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท