ระบำ รำ ฟ้อน


ระบำรำฟ้อน

ระบำ รำ ฟ้อน แท้จริงคือสิ่งใด?

บทขยายความเข้าใจเรื่อง ระบำ รำ ฟ้อน

ในเรื่องความหมายของคำว่า ระบำ รำ ฟ้อน นั้น โดยทั่วไปแล้ว ยังคงมีความสับสนอยู่มาก ในผู้ศึกษาวิชานาฏศิลป์ไทย จึงอธิบายตามความเข้าใจของผู้เขียนดังต่อไปนี้
ระบำ รำ ฟ้อน นั้น มีความหมาย อย่างไร เรื่องนี้หากดูผิวเผินแล้ว หลายท่านคิดว่าน่าจะเป็นคำที่มีความหมายคล้ายกัน ตามที่ศึกษาพบว่า มีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย เพราะคำทั้งสามมีที่มาแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ระบำ เป็นคำที่ใช้ทั่วไปในชาติพันธุ์ไทย มานานมีจารึกในหลักศิลาสมัยพ่อขุนรามคำแหง และ คัมภีร์ต่าง ๆ ในล้านนาและล้านช้าง แต่คำคำนี้ไม่ได้มีการอธิบายความจากจารึกและเอกสารใด แต่มักจะเขียนรวมไปกับคำว่า รำ ฟ้อน เต้น ผู้เขียนสังเกตพบ การใช้คำคำนี้ มีความหมายอยู่ หลายประประการจึงขออธิบายในลำดับต่อไป
· ระบำ ในภาษาศัพท์ทาง นาฏศิลป์ไทยส่วนกลาง(กรมศิลปากร) พอจะมีเค้าโคลงให้เห็นไปในทิศทางเดียวกับท้องถิ่นอื่นที่เข้าใจความหมายของคำนี้อยู่ คือจะใช้คำ ว่าระบำก็ต่อเมื่อมีการแสดงเป็นกลุ่ม หรือหมู่ หรือบางครั้งจะมีคำว่า จับ มาวางไว้หน้า คำว่า ระบำ เป็น จับระบำ (แต่มิปรากฏมี คำว่า จับรำ จับฟ้อน อยู่เลย)
· ระบำ ในภาษาล้านนานั้น มีการเรียกขาน คัมภีร์ประเภทคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาว่า ระบำ หรือ (ละ-บำ ตามภาษาพูด) คำว่าระบำธรรม ยังนิยมใช้ ในภาษาของล้านนา ซึ่งมีความหมายไปในทิศทางที่ แปลว่า เรื่อง ตอน บท หรือทำนอง ในการแสดงพระธรรม ในคัมภีร์ล้านช้าง ก็ยังใช้คำว่า ระบำธรรม ในเชิงความหมายที่ว่าหมายถึง เรื่อง ตอน บท หรือทำนอง อยู่จนปัจจุบัน

· ในความหมายตามศัพท์นาฏยะศาสตร์ที่ว่า ระบำ มีความหมายแปลว่ารำเป็นหมู่ หรือ การรำที่มีมากกว่าสอง นั้น อาจจะทำให้ผู้อ่านตีความหมายของคำว่าระบำผิดไปอย่างน่าเสียดาย แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าเป็นการกล่าวผิดไปเสียที่เดียว หากแต่ต้องมีการกล่าวและอธิบายให้ลึกซึ้ง กว่าที่ควรจะเป็น
· ผู้เขียนมีความเข้าใจต่อ คำว่า ระบำ น่าจะมีความหมายในทิศทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นใด ทั้งในและนอกประเทศไทย ที่มีการใช้ภาษาตระกูลไทยทั้งเขียนและพูด และหากจะนำคำว่า จับระบำ มาตีความแล้วนั้น คำว่าจับสามารถขยายความ คำว่าระบำ ทาง นาฏยะศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ว่ามีความหมายไปในทิศทางเดียวกันกับท้องถิ่นอื่น ๆ ของประเทศไทย ว่า จับเรื่อง จับตอน หรือจับทำนอง ซึ่งยังคงให้ความหมายเป็นความเข้าใจอยู่ในปัจจุบัน ชัดเจน หามีความหมายไปในทางที่ว่า จับรำเป็นหมู่คณะหรือจับรวมกลุ่มรำ นั้นไม่
· คำว่าระบำ หากจะมีความหมายไปในทางการแสดงน่าจะหมายถึง การรำที่แสดงเป็นเรื่องราว หรือจับบางบท จับบางตอน หรือบางทำนอง มาเล่า หรือ เล่น หรือจะพูดง่ายๆ ว่า เป็นการแสดง รำตามแบบไทย ที่มีการสื่อสารเป็นเรื่องราวหรือว่าการแสดงฟ้อนรำประกอบกับทำนองต่างๆ คงจะไม่ใช่เพียงแค่มีความหมายว่ารำเป็นหมู่ หรือรำมากกว่าสองคน ตามที่เข้าใจกัน

รำ สันนิษฐานว่าเป็นคำที่ไทยเรายืมมาใช้ จากภาษาอื่น เท่าที่ทราบกันว่าเป็นคำที่มาจากภาษา ขอม หรือเขมร ชาติไทยเรานั้นยืมมาใช้ตั้งแต่เมื่อใด เรื่องนี้คงอธิบายได้ไม่รู้จบ เพราะ มีความเกี่ยวเนื่องกันในทาง มานุษยวิทยาและสังคมวิทยา อย่างชนิดที่ว่าคงจะเท้าความ ตามหาประวัติศาสตร์กันยืดยาว แต่กระนั้นอาจจะสรุปง่ายๆพอสังเขปได้ดังนี้

รำ เป็นคำคำเดียวกับ ภาษา เขมร ที่ออกเสียงว่า เรือม มีการใช้คำว่า รำ หรือ เรือม นี้อย่างแพร่หลาย ทั้งเขมรที่อยู่ในประเทศไทยแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และชาวเขมรที่อยู่ในประเทศกัมพูชา มีผู้ที่ให้ความหมายคำว่ารำนี้ มาก แต่ก็มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ว่าหมายถึง การแสดงออกทางร่างกายมนุษย์ และมีการประกอบจังหวะหรือแสดงกริยาประกอบเครื่องดนตรี
สาเหตุใดจึงมีการนำคำว่า รำ นี้มาใช้ในกลุ่มของคนไทย เรื่องนี้คงจะตอบได้พอสังเขปว่า ไทยเรารับเอาวัฒนธรรมขอม มาใช้ กับคนไทยนับเป็นเวลา พอๆกับการที่มีการเริ่มสร้างบ้านแปลงเมือง เพราะวิทยาการของชาติขอม หรือเขมรนั้น เจริญมาก่อนเรา แบบอย่างทางวัฒนธรรม จึงมีการเรียนรู้และถ่ายทอดกันเรื่อยมา ที่สำคัญเรารับลัทธิความเชื่อตามหลักศาสนา
พราหมณ์-ฮินดู (วัฒนธรรมอินเดียในแบบขอม) มาใช้ในราชสำนักที่เป็นศูนย์กลางอำนาจของกลุ่มคนไทยในขณะนั้น (อาจจะย้อนไปก่อน ๗๐๐ ปี ก่อนสร้างกรุงสุโขทัยด้วยซ้ำ) การใช้คำว่า รำ อาจสันนิษฐานได้ว่า ใช้เรียกในการแสดงประกอบพิธีกรรม ทาง พราหมณ์-ฮินดู ที่ราชสำนักกลุ่มคนไทย นำมาปฏิบัติตามแบบขอม ซึ่งมีการปฏิบัติต่อๆกันมา ใน ราชสำนักสุโขทัย ราชสำนักอยุธยา ที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ตามเอกสารโบราณที่มีอยู่ อาทิ ไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น แต่คำว่า รำ นั้นยังใช้ควบคู่ กับคำคำหนึ่งที่ราชบัณฑิตย์แปลความหมายในทำนองเดียวกัน คำนั้นคือ ฟ้อน ว่าไปแล้วอาจดูแปลก ที่การให้ความหมายของคำว่า รำ กับ ฟ้อน นั้นเหมือนกัน เพราะยังไม่ทันได้หาที่มาของคำก็ด่วนสรุปเอาว่ามีความหมายเดียวกันเสียแล้ว หากจะให้ผู้เขียนได้อธิบายคำว่าฟ้อน ในเชิงความหมายอีก ผู้เขียนเห็นว่าขออนุญาตท่านผู้อ่าน แยกหัวข้อของคำว่า ฟ้อน ออกจากคำว่า รำ เพื่อความเข้าใจอย่างง่าย และมีความชัดเจน ตามความคิดผู้เขียนเอง

ฟ้อน เป็นคำคำเดียวที่มีการใช้แพร่หลายมากที่สุดในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต หรือลาว ซึ่งเราถือได้ว่ามีชาติกำเนิดเชื้อสายเดียวกัน มาแต่อดีต ซึ่งใช้ในความหมายในการแสดงออกทางร่างกายประกอบดนตรี เช่นเดียวกับคำว่า รำ คำว่า ฟ้อน ปรากฏหลักฐานอยู่ทั่วไปในจารึกบันทึก อีกทั้งวรรณกรรม ของสายตระกูลไท-ลาว อาทิ โคลงท้างฮุ่งขุนเจือง โคลงนิราศหริภุญชัย ไตรภูมิพระร่วง และยังมีวรรณกรรมอีกมากมาย ที่ใช้ตระกูลภาษาไทยในการสื่อสาร นอกจากนั้นเรายังพบคำว่าฟ้อนในปัจจุบันว่ายังเป็นที่นิยม เรียกการแสดงท่าทางทางร่างกายประกอบดนตรีนี้ ในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว อาทิ ชาวไทยยวน(ล้านนา) ในภาคเหนือของไทย ชาวไทดำในเวียดนาม ชาวไทดำ-ไทแดง ชาวลาว ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และชาติพันธุ์ไท ที่อพยพถิ่นฐาน มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย ยังใช้คำว่า ฟ้อน ในความหมายเดียวกันทั้งหมด อาทิ ชาวภูไท ในแถบจังหวัดภาคอีสาน ชาวไททรงดำในแถบจังหวัดเพชรบุรี ชาวไทครั่งในจังหวัดอุทัยธานี ไทยวนจังหวัดสระบุรี เป็นต้น
เรายังพบคำว่าฟ้อน ในสมัยรัตน์โกสินทร์ตอนต้น ที่มีการบันทึกตำรา ทาง นาฏศาสตร์แบบราชสำนักสยาม ในชื่อว่า ตำราฟ้อนรำ หรือ เราพบการพิมพ์ ตำราฟ้อนรำขึ้นอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังมีหลักฐานปรากฏและเก็บรักษาไว้ในหอสมุด สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นั่นก็แปลว่า คำว่าฟ้อนไม่ได้มีความหมายแค่เป็นการแสดงทางภาคเหนือ หรือ ภาคอีสาน ตามหลักสูตรการศึกษานาฏศิลป์ของสถาบันการศึกษาต่างๆที่เข้าใจกันอยู่ในขณะนี้
จากการศึกษาแสดงว่าคำว่า รำ และคำว่า ฟ้อน นั้น อาจจะใช้เป็นเป็นคำเรียกในทางที่มีความหมายเดียวกัน หากแต่มีที่มาของคำต่างกัน คำว่า รำ นั้นอาจจะเรียกในการแสดงออกทางร่างกายประกอบดนตรีเฉพาะในราชสำนักที่ยึดถือรูปพิธีกรรม พราหมณ์-ฮินดู คำว่าฟ้อนนั้นอาจหมายรวมไปถึงการแสดงออกทางร่างกายประกอบดนตรีของกลุ่มไทอื่นๆที่ไม่นำวิถี พิธีกรรม ทางลัทธิ พราหมณ์-ฮินดู เข้ามาเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวข้องน้อยมาก หากแต่เป็นไปแบบพิธีกรรมท้องถิ่นในชาติพันธุ์ ไท-ลาวที่นับถือผีอยู่แต่เดิมนั่นเอง) คำว่าฟ้อนกับคำว่ารำ จึงเป็นคำที่เรียกติดปากคนไทยและเรียกพร้อมติดต่อกันไป เป็นคำว่า ฟ้อนรำ ด้วยมีความหมายในทิศทางเดียวกันนั่นเอง
ฉะนั้น การระบำ รำ ฟ้อน จึงแตงต่างกัน ในเชิงการให้ความหมายที่กล่าวมาข้างต้น หากจะมีการนำมาแยกประเภทของ ระบำ รำ ฟ้อน ต่างๆ ผู้เขียนเห็นว่า ให้เป็นไปตามความหมายที่ สรุปมาให้ท่านผู้อ่าน จึงน่าจะง่าย ต่อการศึกษาวิจัย ถึงประเด็นดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น โอกาสต่อไปผู้เขียนจะจำแนกประเภท ของ ระบำ รำ ฟ้อน ตามความเข้าใจของผู้เขียนให้ผู้อ่านได้วิจัยวิจารณ์อีกครั้ง ความผิดพลาดใดใดที่เกิดจากบทความของผู้เขียน ผู้เขียนขอรับผิดชอบทั้งหมดทั้งสิ้น ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
สำหรับ ท่านผู้อ่านที่อ่านแล้ว มีความสงสัย ในข้อมูล ผู้เขียนนั้นเขียนเป็นบทความ ตามที่ได้ศึกษา เอกสารดังกล่าวที่มีหลักฐานโบราณ และจากการสัมภาษณ์ ผู้นำชุมชนชาติพันธุ์ ต่างๆ ที่ได้กล่าวมานั้นจริง และเป็นข้อมูลที่วิเคราะห์ใหม่ตีความใหม่ตามความเห็นของผู้เขียนทั้งหมด บรรณานุกรมนั้นจะไม่ขอแสดงเพราะท่านผู้อ่านควรศึกษาข้อมูลทางอื่นก่อนที่จะมาอ่านของผู้เขียน และอีกประการหนึ่งในบทความ ถ้าท่านผู้อ่าน ได้อ่านด้วยความเข้าใจถ่องแท้แล้ว จะทราบว่าผู้เขียนได้สอดแทรกข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ไว้ในบทความแล้ว ส่วนที่เหลือจากการอ้างอิงนั้น เป็นภูมิปัญญาพอมีของผู้เขียนที่สรุปมาให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณา
คัดลอกจาก http://kritteam-naka.blogspot.com/
คำสำคัญ (Tags): #ระบำ รำ ฟ้อน
หมายเลขบันทึก: 291872เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2009 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่นำบทความของผมออกเผยแพร่ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท