หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

“ตะกะโป่” อาหารเพื่อสุขภาพของชาวปกาเกอะญอ


“ตะกะโป่” อาหารเพื่อสุขภาพของชาวปกาเกอะญอ

วิถีของชาวปกาเกอะญอถือว่า ข้าว เป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำคัญยิ่งกว่า เงิน มีนิทานโบราณเล่าสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคนเรื่องจ้าวข้าวกับจ้าวเงิน ที่สุดท้ายคนต้องพึ่งข้าว ต้องกินข้าว คนกินเงินไม่ได้ ทำนองเดียวกับคำกล่าว เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง

ข้าวของชาวปกาเกอะญอมิใช่เป็นเพียงวัตถุอาหารเท่านั้น ข้าวเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ กิจกรรมในไร่หมุนเวียนที่ต้องใช้เวลาเกือบทั้งปี ผลิตผลหลักที่ได้ก็คือข้าวนั่นเอง ข้าวที่ได้จากไร่จะนำมาบริโภคในครอบครัว นำมาหมักเหล้า ตำข้าวปุ๊กและห่อข้าวต้มใช้ในประเพณีหนี่ซอโข่และลาคุปูซึ่งเป็นพิธีกรรมที่สำคัญของชุมชน รวมทั้งใช้ทำ ตะกะโป่ หรือ ข้าวเบ๊อะ ที่นอกจากจะเป็นอาหารในชีวิตประจำวันแล้ว ในโอกาสพิเศษยังใช้เป็นอาหารในพิธีกรรมซึ่งชาวบ้านจะปรุง ตะกะโป่ อย่างบรรจงวิจิตร

ใครที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านปกาเกอะญอ และชาวบ้านมีโอกาสได้เลี้ยงอาหารตามธรรมเนียมเรียกแขกกินข้าว คงได้เคยลิ้มรส ตะกะโป่ มาบ้างแล้ว

ผมเคยฟังคนเฒ่าแก่เล่าให้ฟังว่า สมัยหนึ่งข้าวยากหมากแพง ข้าวมีน้อยและหายาก เพื่อที่จะให้ทุกคนได้กินข้าวต้องหาส่วนประกอบต่าง ๆ มาผสมกับข้าว เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารให้มากพอที่จะเลี้ยงทุกคนได้ นี่แหละครับคือที่มาของ ตะกะโป่ อาหารที่มีข้าวเป็นส่วนประกอบหลัก ปรุงผสมกับพืชและสัตว์อื่นอีกหลายชนิด ดูไปคล้ายกับข้าวต้มทรงเครื่องของคนเมือง เพียงแต่ว่าตะกะโป่ของชาวปกาเกอะญอกินเป็นกับข้าว

ตะกะโป่ ในฐานะกับข้าวมื้อปกติของครัวเรือน ส่วนประกอบของอาหารจะไม่ยุ่งยากนัก มีข้าวที่เป็นส่วนประกอบหลักผสมกับพืชผักตามฤดูกาล เนื้อสัตว์ตามแต่ละมีและหาได้ ไม่มีก็ไม่ใส่ ใส่พริกใส่เกลือก็เป็นกับข้าวชั้นเลิศของมื้อนั้น

กระนั้น ตะกะโป่ ก็มิใช่กับข้าวของอาหารทุกมื้อของชาวปกาเกอะญอ มึซาโต๊ะ หรือ น้ำพริก ต่างหากที่เป็นกับข้าวยืนพื้น ไว้วันหลังหากมีโอกาสจะเล่าเรื่อง มึซาโต๊ะ ให้ฟังครับ

หากจะใช้ ตะกะโป่ เป็นอาหารเลี้ยงแขกตามธรรมเนียมเรียกแขกกินข้าว การปรุงอาหารชนิดนี้จะพิถีพิถันขึ้นมาหน่อย และมักจะมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบด้วย

ความพิถีพิถันในการทำตะกะโป่จะเพิ่มขึ้น หากจะใช้เป็นอาหารในพิธีกรรมของชาวปกาเกอะญอ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมระดับครอบครัวหรือชุมชน เช่น ประเพณีหนี่ซอโข่ (มัดมือต้นปี) ประเพณีลาคุปู (มัดมือกลางปี) ประเพณีแต่งงาน เป็นต้น

ความพิถีพิถันขั้นสุดยอดของการทำตะกะโป่ คือการทำเพื่อเป็นอาหารที่ใช้ในประเพณีกินข้าวใหม่ ในพิธีกรรมนี้ ตะกะโป่ ถือว่าเป็นพระเอกของงานก็ว่าได้ กระบวนการทำต้องพิถีพิถันมาก และวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมนั้นจะต้องร่วมกันทำทั้งชุมชน  ตะกะโป่ มีความหมายมากที่สุดในวัฒนธรรมปกาเกอะญอ ก็ในพิธีกรรมนี่แหละครับ

หน่อมึ หญิงสาวชาวปกาเกอะญอบ้านทีจอชี ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก เล่ากระบวนการทำ ตะกะโป่ ในพิธีกรรมกินข้าวใหม่ให้ผมฟังว่า

ก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวในไร่หมุนเวียนของปกาเกอะญอ ชาวบ้านจะทำพิธีกรรมกินข้าวใหม่ ซึ่งหัวหน้าหมู่บ้านจะเป็นผู้กำหนดวันเวลา โดยดูจากข้าวในไร่ของลูกบ้านว่าพร้อมเก็บเกี่ยวหรือยัง รู้วันแน่นอนแล้ว ลูกบ้านโดยเฉพาะพ่อบ้านและเยาวชนชายจะเข้าป่าไปหาส่วนประกอบอาหารที่สำคัญ ได้แก่ ตุ่น อ้น นกคุ่ม เต่า หอย กบขาสั้น ปู ปลา กุ้ง ฯลฯ ส่วนแม่บ้านก็จะออกไปเก็บหาอาหารจำพวกพืชในไร่ข้าว ป่าและริมลำธาร ได้แก่ เผือก มัน ถั่ว ผักกาด มะเขือเทศ ผักชี กระเพราแดง คะไคร้ ฟักทอง แตงกวา พริก ยอดฟักทอง ขมิ้น หน่อไม้ หน่อหวาย ผักกูด ฯลฯ

ของที่ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารมีหลายอย่าง แต่ที่ขาดไม่ได้โดยเด็ดขาดนอกจากข้าวแล้ว คือ อ้นหรือตุ่น หอย และนกคุ่ม

ที่ใส่อ้นหรือตุ่น เพราะชาวบ้านเชื่อว่า อ้นหรือตุ่นเป็นสัตว์ที่ขยัน อดทน สามารถขุดรูได้เยอะ เป็นการเตือนสติว่าเกิดเป็นคนต้องขยันเหมือนอ้นเหมือนตุ่น

สำหรับหอย หน่อมึบอกว่า หอยเป็นสัตว์ที่เดินช้า เคลื่อนที่ไปมาช้า การนำหอยมาใส่เป็นส่วนประกอบในตะกะโป่ เชื่อกันว่าข้าวที่ผลิตได้จะหมดช้า มีกินไปตลอดปีหรือข้ามปี

ส่วนนกคุ่ม เชื่อกันว่าช่วยปกป้องคุ้มภัยร้ายต่าง ๆ ทั้งคุ้มครองไร่ การทำมาหากิน และชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข

ชาวบ้านใช้เวลาเตรียมตัวหาส่วนประกอบต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๒ ๓ วัน หลังจากได้ของและถึงวันทำพิธีแล้ว ก็จะเอาของไปรวมกันที่บ้านชาวบ้านหลังใดหลังหนึ่งตามแต่จะตกลงกัน ตั้งแต่ตอนเช้าตรู่ยังไม่ทันที่พระอาทิตย์จะขึ้น

ก่อไฟบนก้อนเส้าเอาหม้อตั้งเอาน้ำใส่ เอาข้าวใส่ เอาส่วนประกอบต่าง ๆ ที่หามาได้ใส่รวมกัน สุมไฟแรงจนความร้อนทำให้อาหารในหม้อสุก จึงค่อยยกลงจากเตา

ตะกะโป่ที่สุกและยกลงจากก้อนเส้าแล้ว หญิงอาวุโสคนหนึ่งจะเป็นผู้ตักแล้วไปถวายแก่ก้อนเส้า ระลึกถึงความอดทนของก้อนเส้าที่ต้องทนความร้อนจากฟืนไฟ ซึ่งชาวบ้านใช้หุงหาประกอบอาหารวันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า

จากนั้นชาวบ้านก็ตัก ตะกะโป่ มากินกับข้าวร่วมกัน กินกันไปคุยกันไป บ้างก็หารือการทำงานของแต่ละครัวเรือน บ้างก็คุยงานส่วนรวมของชุมชน

หน่อมึ บอกกับผมว่า ดั้งเดิมการทำตะกะโป่ของบ้านทีจอชีจะทำรวมกันทั้งหมู่บ้าน แต่ระยะยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้แยกกันทำแต่ละบ้าน แต่เมื่อสองปีที่ผ่านมาได้กลับมาทำรวมกันอีกครั้ง เพราะการหาวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบหายากมากขึ้น โดยเฉพาะตุ่นและอ้น

ผมพอจะนึกภาพออกว่าตุ่นและอ้นทำไมจึงได้หายาก ปกติแล้วตุ่นและอ้นจะอาศัยขุดกอไผ่กินเป็นอาหาร กอไผ่ที่สัตว์เหล่านี้ชอบก็คือกอไผ่ที่มีอายุราว ๓ ๔ ปี ซึ่งจะพบได้ในไร่เหล่าปีที่ ๓ - ๔ ของชาวบ้าน

ผมขอออกนอกเรื่องเล่าเรื่องไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอนิดนึง

วิถีการผลิตหลักของชาวปกาเกอะญอคือการทำไร่หมุนเวียน ผลผลิตที่ได้นอกจากจะเป็นข้าวแล้วยังมีพืชผักที่เป็นอาหารและสมุนไพรมากมาย ผมเคยเข้าไปสำรวจพืชผักในไร่หมุนเวียนที่บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กับพะตีปรีชา ระยะเวลาสั้น ๆ เพียงราว ๑ ชั่วโมง ผมกับพะตีสำรวจพืชพันธุ์ได้มากกว่า ๔๐ ชนิด

การใช้พื้นที่ปลูกข้าว ชาวปกาเกอะญอจะเพียงแค่ ๑ ปี ปีถัดไปจะไปทำพื้นที่อื่นจนครบ ๗ ปี จึงจะวนกลับมาทำที่เดิม ชาวปกาเกอะญอให้เหตุผลในการหมุนเวียนใช้ที่ดินแบบนี้ว่า ไร่ที่ถูกปล่อยให้พื้นตัวเอง ๗ ปี จะให้ข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากผืนดินได้สะสมแร่ธาตุสำหรับเป็นอาหารแก่พืชผักที่เพาะปลูกอย่างเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องพึ่งปุ๋ย รวมทั้งไม่มีศัตรูพืชมารบกวนมากนัก

ไร่ที่ถูกปล่อยให้พักฟื้นปีที่ ๒ ๔ ชาวบ้านยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตที่หลงเหลือได้ รวมทั้งยังเป็นที่หลบซ่อนและที่พักอาศัยของสัตว์เล็กสัตว์น้อยจำพวกนก หนู ไก่ป่า รวมทั้งอ้นและตุ่นด้วย ไร่ปีที่ ๔ ๗ ป่าเริ่มฟื้นตัว เป็นที่อยู่อาศัยและหลบฝนพายุของสัตว์ใหญ่ จำพวก เก้ง กวาง หมูป่า รวมทั้งยังเป็นที่เก็บหาหน่อไม้ หน่อหวาย และผลไม้บางชนิดของชาวบ้านด้วย

กลับมาที่บ้านทีจอชี ...

หน่อมึเล่าว่า เมื่อเกือบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ทางราชการได้ประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง พื้นที่ดังกล่าวทับพื้นที่ไร่เหล่าของชาวบ้านจำนวนมาก เจ้าหน้าที่เริ่มเข้มงวดกับการทำไร่ของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านต้องปรับตัวลดรอบไร่หมุนเวียนที่เคยใช้เวลาหมุนราว ๗ ปี เหลือเพียง ๒ ๓ ปี ข้าวผลผลิตหลักจากไร่ลดปริมาณลงมาก เพื่อให้ได้ผลผลิตมากเพียงพอต่อการบริโภคในครอบครัวต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช

การลดรอบการทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน ส่งผลต่อการลดจำนวนอ้นและตุ่น ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ตะกะโป่

เล่ามาจนจะจบแล้ว ยังไม่เข้าเรื่องสุขภาพตามที่จั่วหัวไว้ อธิบายสักหน่อยนะครับ

ถ้าเรานิยามว่าสุขภาพหรือสุขภาวะคือความสมบูรณ์ ๔ ด้านอย่างเป็นองค์รวม ทั้ง กาย ใจ สังคม/สิ่งแวดล้อม และปัญญา/จิตวิญญาณ

อย่างหยาบที่สุด ตะกะโป่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพทางกายอย่างไม่ต้องสงสัย ในวิถีชีวิตปกาเกอะญอการกินอาหารโปรตีนมีไม่บ่อยนัก การกินตะกะโป่ของชาวบ้านจึงเป็นการเสริมสารอาหารจำพวกโปรตีนได้ทางหนึ่ง ส่วนประกอบอื่น ๆ ของอาหารหลายชนิดล้วนมีคุณค่าเป็นสารอาหารและเป็นยาในคราวเดียวกัน ยิ่งกินยิ่งแข็ง...แข็งแรง

ขยับมาอีกขั้น ตะกะโป่ ถือว่าเป็นอาหารหน้าหมู่ ในพิธีกินข้าวใหม่ชาวบ้านต้องพร้อมอกพร้อมใจกันออกไปหาส่วนประกอบอาหารนานาชนิดสำหรับมาทำในวันประกอบพิธี วันประกอบพิธีชาวบ้านต้องเอาของมารวมกัน ช่วยกันทำ ทำเสร็จถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วก็ตักมากินด้วยกัน คนหมู่มากลงว่าทำอะไรพร้อมเพรียงกันทำ พร้อมเพรียงกันเลิก นี่มีแต่ความเจริญ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นหลักธรรมข้อหนึ่งในอปริยหานิยธรรม ส่วนนี่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นสุขภาพทางสังคม

ในแง่สุขภาพด้านสิ่งแวดล้อม การที่มีส่วนประกอบในการทำตะกะโป่ครบถ้วน และหาไม่ยากลำบากนักก็สะท้อนว่าธรรมชาติยังค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าหากว่าการหาส่วนประกอบในการทำตะกะโป่ยากขึ้น มีน้อยลง นั่นเป็นการฟ้องว่าธรรมชาติป่าเขาเริ่มแย่แล้ว ถึงเวลาต้องมาเยียวยาแก้ไปให้กลับคืนมาสมบูรณ์ดังเดิม

ในมิติสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ตะกะโป เป็นวัตถุเครื่องบูชาที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติหรือสิ่งสูงสุดของชาวปกาเกอะญอ ตะกะโปเป็นอาหารที่ขาดไม่ได้ในหลายพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีกินข้าวใหม่

สำหรับมิติทางปัญญา อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นภูมิปัญญาที่ล้ำลึกของชาวปกาเกอะญอที่ออกแบบให้ ตะกะโป เป็นมากกว่าอาหาร เป็นเครื่องร้อยรัดชุมชนให้อยู่ร่วมกัน เป็นอาหารเชื่อมโยงคนกับคน เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และเป็นอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย...

มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านปกาเกอะญอคราวหน้าอย่าขอลืมชิม ตะกะโป่ นะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 291646เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2009 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มาเรียนรู้ข้าว ตะกะโป่ ค่ะ
  • ขอบพระคุณที่แบ่งปันประสบการณ์ค่ะ
  • เรื่องที่ถามไป....ตอบในบันทึกและยกมาที่นี่ด้วย
  •  สวัสดีค่ะ คุณหนานเกียรติ ขอบพระคุณในความมีน้ำใจดีนะคะ ลักษณะโครงการ เป็นการบริจาคสิ่งของ และปรับปรุงอาคารเรียน และโรงอาหาร ตามรายการที่น้องๆจัดซื้อไปสร้างตามรายการข้างบนน่ะค่ะ  ความจริงคุณครูต้องการอาคารเรียน ห้องน้ำ หรือโรงอาหาร ค่ะ แต่ ชมรมมีงบน้อย แค่สามหมื่นกว่าบาท จึงได้แค่ซ่อมแซมค่ะ สิ่งของเด็กๆต้องการเสื้อกันหนาว รองเท้า เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน รร.นี้เป็นโรงเรียนสาขา อยู่ในหุบเขา จะเเต่งชุดนักเรียนวันจันทร์วันเดียว เพราะชุดไม่มี  เรื่องกิจกรรมจะมีน้องๆของมหาลัยในสาขาอื่นๆ ให้ความรู้ด้านวิชาการให้เด็กๆด้วยค่ะ  และ คำตอบที่สาม เนื่องจากได้ประสานงานขอความช่วยเหลือไปหลายแห่ง และประชาสัมพันธ์แล้ว น้องๆ ของชมรมยินดีต้อนรับผู้ร่วมงานทุกคนค่ะ ไม่ว่าจะจากที่ไหนก็ตาม อ้อ ข้อสอง...แล้วแต่จะสะดวกที่จะบริจาค หรือสนับสนุนได้ที่ไหนค่ะ

    นายชุมแพร ชูชื่น (เล็ก)
    ประธานชมรม
    เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ 0834119052


    นายประเทียบ พรมสีนอง
    ตำแหน่ง อาจารย์ที่ปรึกษาชมรม
    เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ 0896442710

  • ดิฉัน มนัสนันท์ อ่ำพูล ครูสอนเด็กประถมในจ.พิษณุโลก 0872109930 ค่่ะ

P คุณครู ลีลาวดี ครับ

ขอบคุณที่แวะมาอ่านครับ

ปีใหม่ปีนี้ต้ังใจจะไปร่วมงานกินข้าวใหม่ที่ทีจอชีครับ

ไม่ได้ไปมาหลายปีแล้ว

คิดถึงชาวบ้านและมิตรสหายที่นั่น

.

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

จะพยายามปลีกเวลาเพื่อไปร่วมครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท