"ยุงลาย"เปลี่ยนพฤติกรรมหากิน กัดไม่ยั้งถึง5ทุ่ม-แพร่เชื้อ"เดงกี" |
ผศ.นพ.เผด็จ สิริยะเสถียร ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการสำรวจเพื่อป้องกันโรคหลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่ภาคใต้ พบว่ายุงลายตัวผู้ในธรรมชาติมีเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่ายุงลายตัวผู้จะได้รับไวรัสนี้มาจากคน เนื่องจากยุงลายตัวผู้จะไม่กินเลือดคน แต่จะกินน้ำหวานจากพืช ดังนั้น จึงนำไปสู่การศึกษาว่ายุงลายตัวผู้ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีมาจากแหล่งใด
ผศ.นพ.เผด็จกล่าวว่า จากการศึกษาพบว่ายุงลายตัวผู้ได้รับเชื้อนี้มาจากแม่ยุงลายที่ติดเชื้อผ่านทางไข่ และยุงลายตัวผู้ที่ติดเชื้อก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกีไปยังตัวเมียที่มาผสมพันธุ์ได้ ซึ่งในธรรมชาติยุงตัวผู้ผสมพันธุ์ได้หลายครั้งจึงมีโอกาสแพร่เชื้อได้มาก และตัวเมียที่ได้รับเชื้อมาจากตัวผู้ก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสเดงกีที่ได้รับจากตัวผู้ไปให้กับลูกได้ แต่ยุงลายตัวเมียจะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อนี้ให้กับยุงลายตัวผู้ที่มาผสมพันธุ์ได้ ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ว่าไวรัสเดงกีถ่ายทอดผ่านน้ำเชื้อของยุงลายตัวผู้ นอกจากนี้ ในการศึกษาครั้งนี้ยังตรวจพบเชื้อไวรัสเดงกีในลูกน้ำยุงลายอีกด้วย
"หลังจากที่แยกยุงลายตัวผู้ซึ่งจะมีลักษณะเด่นที่ขนบริเวณหนวดจะมีมากและฟูกว่ายุงลายตัวเมียมาแล้ว จะนำมาสกัดเอาเชื้อไวรัสเดงกีที่อยู่ในตัวยุงลายตัวผู้ออกมาศึกษาด้วยวิธี อาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจแบบพิเศษก็พบว่ายุงลายตัวผู้บางตัวมีเชื้อไวรัสเดงกี 2 สายพันธุ์ในตัวเดียวอีกด้วย" ผศ.นพ.เผด็จกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังสำรวจพบว่าพฤติกรรมการหากินของยุงลายในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่จะหากินในช่วงเวลากลางวัน ก็ขยายเวลาไปถึง 5 ทุ่ม ทั้งนี้ จากเดิมในช่วงเวลาตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงดึกนั้นยุงที่ออกหากินส่วนใหญ่จะเป็นยุงรำคาญ ดังนั้น ประชาชนควรจะระมัดระวังไม่ให้ยุงกัดในช่วงหัวค่ำถึงกลางดึกเพราะยุงลายออกหากินเช่นกัน
ผศ.นพ.เผด็จกล่าวว่า การค้นพบนี้เป็นการค้นพบเนื่องจากประมาณ 4-5 เดือน ก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาอัตราการติดเชื้อไวรัสเดงกีของยุงลายก่อนที่จะมีการระบาดของไข้เลือดออก เพื่อศึกษาแนวทางการควบคุมการระบาดของไข้เลือดออก ซึ่งจากการศึกษานั้นแสดงให้รู้ว่าจะต้องกำจัดและควบคุมยุงลายทั้งปี ไม่ใช่รอให้มีการระบาดก่อนแล้วค่อยมากำจัดยุงลายทีหลัง
"จากการสำรวจเราพบยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีในช่วงฤดูแล้งประมาณ 5% ส่วนในฤดูฝนจะพบยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีประมาณ 20-30% ของยุงลายที่นำมาตรวจ ในฤดูฝนนั้นยุงลายมีจำนวนมากขึ้นกว่าฤดูอื่น เกิดจากการที่หน้าฝนมีแหล่งเพาะพันธุ์เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีความชื้นสูงซึ่งไปกระตุ้นให้ยุงลายตัวเมียมีอัตราการวางไข่มากขึ้น หากเป็นหน้าแล้งที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับการฟักตัวของไข่ พบว่าไข่ยุงลายก็จะทนแล้งได้เป็นปี และเมื่อสภาพอากาศพร้อมไข่ก็จะฟักเป็นตัวได้ทันที จึงทำให้ในหน้าฝนนั้นนอกจากไข่ของยุงลายที่วางไข่ตามปกติแล้วยังมีการฟักเป็นตัวของไข่ยุงลายที่ตกค้างมาจากหน้าแล้งด้วย" ผศ.นพ.เผด็จกล่าว
ยิ่งหน้าฝนมาเร็วกว่าทุกปี ฝนตกกระหน่ำไม่เว้นแต่ละวัน ทำเอาน้ำท่วมขัง จากฝนเก่ายังไม่ทันแห้ง ฝนใหม่ก็ตกลงมา ซ้ำเติมอีกระลอก ทำให้ “ยุงลาย”ฆาตกรร้ายที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัส “เดงกี่” dengue virus ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกมาสู่คนมีโอกาสแพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นอีกไม่รู้กี่เท่า สภาพสิ่งแวดล้อมยิ่งเหมือนเป็นใจให้กับยุงลายสามารถวางไข่ แพร่พันธุ์ออกลูกออกหลานได้มากขึ้น ซ้ำร้ายล่าสุดข้อมูลทางวิชาการยังระบุด้วยว่าไข้เลือดออกในระยะหลังๆ นี้ ไม่ได้ระบาด เฉพาะในหน้าฝนเท่านั้น แต่ยังระบาดในช่วงหน้าร้อนและหน้าหนาวอีกด้วย
กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบ จึงต้องเร่งดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อกำจัด “ยุงลาย” เช่น โครงการบ้านนี้ปลอดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งให้ อสม. เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ทุกบ้าน ทุกครัวเรือนในประเทศไทย ปลอดจากแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยการส่งทีมเข้าไปตรวจลูกน้ำเดือนละ 1 ครั้ง ด้วยกลยุทธ์สร้างแรงจูงใจว่า บ้านที่ดูแลกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายดีเยี่ยม มีสิทธิ์ได้รับรางวัลจากทางกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการตั้งเป้าให้มีบ้านปลอดยุงลายถึง 17.5 ล้านหลังคาเรือนภายในปี 2546 หรือโครงการสร้าง “มือปราบน้อยตามรอยลูกน้ำยุงลาย” ที่พุ่งเป้าขยายไปยัง โรงเรียนต่างๆ ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ยุงลาย เพื่อป้องกันไข้เลือดออก ไปจนถึงโครงการ “รณรงค์ให้ทุกบ้านกำจัด ลูกน้ำยุงลายทุกวันศุกร์”
ข้อมูลที่สำคัญก็คือ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก 80% มาจากในบ้าน บรรดาภาชนะใส่น้ำต่างๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น โอ่งน้ำ อ่างน้ำ น้ำในแจกัน จานรองขาตู้กับข้าว ไปจนถึง อ่างบัว หรืออ่างไม้น้ำ สารพัดที่ชาวบ้านนิยมปลูก ไว้เพื่อความสวยงาม ล้วนเป็นแหล่ง เพาะพันธุ์ยุงลายที่ดีที่สุดทั้งสิ้น สำหรับบ้านเรา ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกนั้นมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ ยุงลายบ้าน และ ยุงลายสวน ซึ่งทั้ง 2 ชนิด จะชุกชุมและแพร่พันธุ์มากที่สุดในหน้าฝน
การติดต่อของโรคเกิดจากยุงลาย โดยเฉพาะยุงลายตัวเมีย ซึ่งจะดูดเลือด ขณะที่ ตัวผู้จะดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เมื่อยุงลาย ตัวเมียดูดเลือดของคนที่ป่วย หรือมีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกอยู่ในตัว เชื้อก็จะเข้าไปอยู่ในกระเพาะของยุง และแบ่งตัว เพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อยุงลายตัวเดิมไปกัดคนอื่นต่อ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็น การกัดในเวลากลางวัน ก็จะปล่อยเชื้อทำให้ป่วยเป็นโรคได้
นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการใหม่ที่จะปราบยุงลายให้สิ้นซากถึงในบ้านด้วยการกำหนดปฏิบัติการควบคุมโรค ที่เรียกว่า 3 ป. หรือ ป.ป.ป. ขึ้นประกอบด้วย
- ป.ปิด หมายถึง การปิดฝาโอ่ง ฝาอ่าง และภาชนะ ใส่น้ำในบ้าน เพื่อไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ได้
- ป.เปลี่ยน หมายถึง การเปลี่ยนน้ำในแจกัน ภาชนะที่ปลูกต้นไม้ในบ้าน เช่น พลูด่าง รวมทั้งเปลี่ยนน้ำในที่รองขาตู้กับข้าว อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
- ป.ปล่อย คือ ปล่อยปลาหางนกยูงลง ในอ่างบัวหรือกระถางไม้น้ำ เพื่อปลาจะได้คอยกินลูกน้ำ ไม่ให้กลายเป็นตัวยุงไปกัดคนได้
น.ส. ปวีณา ทองเกร็ด 46315800
น.ส. วรรณภา ชัยชลอ 46315883
น.ส. เสาวลักษณ์ พลอยงาม 46316022