จากฉันถึงเธอ 3 (วันที่โฉลมใจด้วยรางวัลก้าวแรก)


การหันมามองสังคมแล้วร่วมกันสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่น่าอยู่คงเป็นสิ่งที่ดี และคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงพวกเราที่เรียนในระดับอุดมศึกษานะครับ

คุยกันพาเพลิน

เมื่อครั้งที่เพิ่ม Blog ตอนที่ชื่อว่า “อรรถวุฒิเล่าเรื่อง” นั้นเป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่อยากจะเขียนเรื่องราวสบาย ๆ ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสหรือไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มาเล่าให้ท่านผู้อ่าน เพื่อว่าอย่างน้อยอาจจะเป็นเรื่องราวที่มีประโยชน์ต่อท่านผู้ท่านผู้อ่านไม่มากไม่น้อยไป  เขียนไปเขียนมาก็กลับมาดูสิ่งที่ได้เขียน ๆ ไปก็พบว่าผู้เขียนเองเขียนได้อยู่ 3 เรื่องราว ครั้งนี้ก็เลยเอาเลข 3 มาต่อท้ายชื่อเรื่องที่ตั้งไว้คือ “จากฉันถึงเธอ”

 

“จากฉันถึงเธอ” ก็คงมีความหมายในตัวมันเองแล้วว่า จากฉันคนเขียนส่งมอบให้เธอก็คือผู้อ่านนั้นเอง ส่วนที่ต่อท้ายมานั้นคงเป็นตอนหรืออารมณ์ของผู้เขียนต่อเรื่องที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นมา

เอาเป็นว่าพูดไปเสียยืดยาว...กลับมาเรื่องที่จะเล่าให้ท่านผู้อ่านดีกว่า 

 


 

เรื่องนี้เป็นการเดินทางไปประกวดโครงการกล้าใหม่..ใฝ่รู้ ครั้งที่ 4 ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งระหว่างการเดินทางหรือในขณะที่ประกวดแข่งขันเป็นเรื่องราวที่เติมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ มากมายและเป็นเรื่องราวที่มีคุณค่าอย่างมากที่ผู้เขียนไม่อาจละเลยจนไม่หยิบยกนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่าน

ส่วนแรกคงต้องพูดกันยาวเสียหน่อยดีกว่าว่าโครงการที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นเป็นมาและเป็นไปอย่างไร โครงการดังกล่าวธนาคารไทยพาณิชย์และมูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นผู้คิดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนของชาติได้มาประลองความคิดสร้างสรรค์กัน ซึ่งเปิดโอากสให้ตั้งแต่รุ่นเล็กอย่างประถมไปจนถึงรุ่นเดอะอย่างอุดมศึกษา ประถมศึกษาเป็นการประกวดวาดภาพ ถัดมานิดนึงก็เป็นมัธยมศึกษาเป็นการประลองด้านการตอบปัญหา ส่วนรุ่นสุดท้ายซึ่งอีกไม่นานก็จะโผบินเข้าสู่สังคมอันกว้างใหญ่ทางธนาคารก็เลยให้โอกาสได้คิดโครงการอะไรก็ได้เพื่อการพัฒนาสังคม ตรงนี้ผู้เขียนคิดว่าดีนะครับจะได้เป็นการคืนอะไรให้กับสังคมบ้างเพราะ ทุกวันนี้เราต่างมองถึตัวเองกันมากจนเกินไป การหันมามองสังคมแล้วร่วมกันสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่น่าอยู่คงเป็นสิ่งที่ดี และคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงพวกเราที่เรียนในระดับอุดมศึกษานะครับ 

การเตรียมตัวสำหรับโครงการดังกล่าวคงเริ่มจากคิดและเขียนความคิดดังกล่าวออกมาเป็นระบบ เอาเป็นว่าพูดเสียงงคือ ทำให้ความคิดของเราออกมาเป็นตัวหนังสืออะไรประมาณนั้น แต่ที่สำคัญสิ่งที่คิดต้องเป็นการคิดเพื่อสังคม คิดว่าจะทำอย่างไรในสังคม ชุมชนมีการพัฒนา และควรเป็นการพัฒนาบนฐานทรัพยากรที่ชุมชนนั้นมีอยู่ ไปคิดอะไรเว่อ ๆ มาก ๆ ก็ดูเสียจะไม่ดี ซึ่งผู้เขียนเองได้ส่งโครงการชื่อว่า มือเล็ก ๆ สร้างสรรค์สื่อและกิจกรรมเพื่อการบริโภคอย่างพอเพียง พอดีเป็นงานถนัดและมีประสบการณ์มาก่อน และด้วยความฝันเล็ก ๆที่เก็บไว้ในใจตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัยแล้วว่าอยากทำโครงการอะไรที่ต่อยอดงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่ตัวผู้เขียนเคยทำมาให้มีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์มากที่สุด และฝันนั้นก็มาถึงความจริง เมื่อได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว 

จะว่าผู้เขียนบ้าก็ว่าได้เพราะคนที่อยู่ชั้นปีสุดท้ายใคร ๆ เขาคงไม่อยากทำอะไรไปมากกว่าทำให้จบให้เร็ว แต่สำหรับความบ้าของผู้เขียนนั้น จบไม่จบนั้นไม่สำคัญ แต่จบแล้วประวัติศาสตร์เขาได้เขียนอะไรถึงเราไว้ จะให้เขียนว่านาย หรือ นางสาว คนนี้เคยจบการศึกษาจากที่นี้เท่านั้นหรือ มันไม่ดีกว่าหรือครับให้คนเขาเขียนว่า นาย คนนี้เคยสร้างคุณประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยต่อชุมชน นั่นเป็นส่วนเกียรติที่ได้แต่นอกจากเกียรติคงเป็นความภาคภูมิใจเสียกระมั้ง ที่เราได้คืนอะไรให้สังคมบ้าง 

เมื่อเขียนโครงการดังกล่าวเสร็จก็ส่งไปทางธนาคารเพื่อให้เขาพิจารณาเป็นลำดับถัดไป และเมื่อโครงการได้รับการพิจารณาก็ต้องไปนำเสอนให้กรรมการเขาฟังว่าเรามีแนวคิดอย่างไร หรือ มีกระบวนการ ความรู้ความเข้าใจ ต่อโครงการที่เรากำลังจะทำอย่างไร ขั้นนี้ผู้เขียนได้ผ่านไปด้วยดี และเข้าจนถึงรอบปฏิบัติจริง และก็เป็นความโชคดีของผู้เขียนเองที่ทางธนาคารได้ให้อาวุธมา 2 สิ่งที่จะทำให้โครงการที่เขียนขึ้นเป็นได้จริง สิ่งแรกคือ ทุน ในการดำเนินโครงการ ส่วนที่สอง คือ ปัญญา ปัญญาที่ธนาคารและมูลนิธิให้คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้เราเข้าถึงตัวชุมชนได้อย่างแท้จริง เราเรียรู้เรื่องดังกล่าวเพื่อเป็นอาวุธทางปัญญากัน 2 วัน ที่หาดตะวันรอน พัทยา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทางธนาคารไทยพาณิชย์เขาไว้ใช้อบรมพนักงาน

เรื่องที่หาดตะวันรอนก็น่าสนใจนะครับ เพราะว่า เอาเป็นว่าอันดับแรกก่อนก็คือสถานที่ดังกล่าวได้ฟังจากทีมงานเขาบอกผู้เขียนว่าที่ดังกล่าวจะใช้ได้ก็เฉพาะทางธนาคารเท่านั้น คุณจะมีเงินมาเท่าไหร่บางครั้งอาจหมดสิทธิ์ที่จะใช้ได้ อันดับถัดมาก็คือ อาหารที่นี้เขาทอร่อยมาก ๆ อาหารทะเลสด อันนี้คงต้องวงเล็บเอาไว้ตามประสาคนเหนือกระมั้งที่ไม่ค่อยได้กินอาหารทะเลที่สด ๆ จำได้แม่นเลยครับว่า ยำใหญ่นี่เป็นอะไรที่อร่อยมาก ผักสลัดก็สด กุ้ง ปลาหมึกนี่สุดยอดไปเลยนะครับ และคงต้องชมการให้บริการด้วยประทับใจเหมือนกับสโลแกนธนาคารเลยนะครับ พูดเสียเรื่องกินกับที่พักที่ยืดยาวก็คงเป็นเพราะว่าอดไม่ไหวอยากเล่าจริง ๆ นะสิครับ

แม้เมื่อกี่พูดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาผู้เขียนก็วกเข้าไปเรื่องอาหารเสียได้ เอาหละมาพูดเรื่องอาวุธทางปัญญาต่อดีกว่าครับ คืนก่อนวันสุดท้ายนะครับทางผู้จัดได้เชิญลุงรินทร์ อันเป็นปราชญ์ชุมชนมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เรื่องราวที่คุณลุงเล่ามีประโยชน์มาก ท่านสอนวิธีการเข้าชุมชน รวมไปถึงจะทำงานกับชุมชนอย่างไร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพวกเรากล้าอ่อนแก่ ๆ ที่จะต้องไปทำโครงการซึ่งจะเป็นต้องเข้าไปสู่ชุมชนอย่างมาก 

เขียนมาเสียยืดยาวก็คงเป็นความสุขอันสุขล้ำที่ได้มา ณ ที่แห่งนี้ที่ได้เข้าประกวดในโครงการนี้ เอาเป็นว่าขอติดท่านผู้อ่านเอาไว้อีกนิดนึงนะครับ พบกันฉาก 2 ต่อ ดีกว่า วันนี้คงพอเท่านี้ก่อนนะครับ

 

วันนี้คงพอเท่านี้ก่อนพบกันใหม่อาทิตย์หน้า

** ตอนนี้ผู้เขียนได้เปิด Blog เพิ่มไว้ที่ www.okkid.net อีกที่หนึ่ง ไว้ว่าง ๆ ท่านผู้อ่านสามารถติดตามอ่านเรื่องราวได้ แต่ที่ใหม่คงเป็นการเขียนถึงเรื่องราวโครงการเสียมากกว่า หากท่านผู้อ่านสนใจโครงการของผู้เขียนก็ติดตามอ่านได้ แต่ถ้าชอบเรื่องราวทั่ว ๆ ไปผู้เขียนเองก็ยังคงเขียนลงที่ Go to know เหมือนเดิม 


คำสำคัญ (Tags): #การเดินทาง
หมายเลขบันทึก: 291356เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2009 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท