หุ่นเล็กคนเล็ก เสมา-โจหลุยส์


หุ่นเล็กคนเล็ก เสมา-โจหลุยส์

หุ่นเล็กคนเล็ก เสมา-โจหลุยส์

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

ปฤษณา กองวงค์



ช่วงปิดเทอมเพื่อนๆ หลายคนเลือกหากิจกรรมเพิ่มพูนทักษะความรู้ มีทั้งออกค่ายต่างจังหวัด ค่ายศิลปะ ดนตรี ประดิษฐ์งานฝีมือ

ส่วนเพื่อนๆ หลากวัยกลุ่มนี้ขอเพิ่มความรู้ศิลปะไทย ในสาขาหุ่นสายและหุ่นละครเล็ก

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) จัด "โครงการส่งเสริมสุนทรียะและการรับรู้ทางศิลปะ" เปิดอบรมศิลปะการเชิดหุ่นสาย และหุ่นละครเล็ก สอนโดยพี่ๆ จากคณะสายเสมา และคณะนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์)

งานนี้มีน้องๆ เข้าร่วมอบรมกว่า 50 คน ส่วนใหญ่เลือกเรียนทั้ง 2 อย่าง

วิชาความรู้ที่พี่ๆ หุ่นสายเสมานำมามอบให้ เริ่มจากประวัติหุ่นสายโลก ก่อนจะชวนน้องๆ ลงมือประดิษฐ์หุ่นจริง เริ่มจากร่างแบบลงบนกระดาษ นำดินน้ำมันมาปั้นเป็นส่วนประกอบต่างๆ ของตัวหุ่น เข้าเฝือกอ่อน ปิดทับด้วยกระดาษสีน้ำตาล วาดลวดลายให้สวยงามด้วยสีอะครีลิก นำหุ่นมาเจาะ ใส่นอตและร้อยเชือก สวมใส่เสื้อผ้า ตกแต่งด้วยเครื่องประดับให้สวยงามตามคาแร็กเตอร์หุ่นแต่ละตัว

ขณะที่พี่ๆ สอนประดิษฐ์หุ่นไป ก็จะฝึกให้น้องๆ เรียนรู้พื้นฐานการเชิดหุ่นสายไปด้วย ก่อนจะพาน้องๆ ไปเยี่ยมบ้านหุ่นสายเสมาภายใต้บรรยากาศร่มรื่น บนถนน วิภาวดี 58 เพื่อฝึกพากย์เสียง ซ้อมเชิดหุ่นและทำพิธีไหว้ครู

ขณะที่การฝึกหุ่นละครเล็ก พี่ๆ จากคณะหุ่นโจหลุยส์มามอบวิชาการเชิดหุ่นที่ต้องอาศัยใจเป็นหนึ่งเดียวของผู้เชิดหุ่นทั้ง 3 คน เพื่อให้การเคลื่อนไหวงดงาม แม้เด็กๆ จะไม่ได้ลงมือทำหุ่นจริง แต่ก็ได้สัมผัสความงามของศิลปะไทยที่แตกต่างในแขนงนี้



ณิ เจมส์ และ ณัฐ น.ส.ณิชา รีย์ ด.ช.จิรพัฒน์ และ ด.ญ.ณัฐชา ฤกษะสุต สามพี่น้องจากโรงเรียนสารสาสน์วิเทศร่มเกล้า ยกขบวนมาร่วมเรียนรู้ในวันปิดเทอม

ณัฐที่สนุกอยู่กับการระบายสี บอกว่าหนูได้ระบายสีค่ะ แม่ชมว่าสวยมาก ปกติหนูชอบ ระบายสีแต่พี่หนูระบายได้สวยกว่า น้องสาวตัวน้อยออกปากชมพี่สาวที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ขณะที่พี่ชายเจมส์กำลังร้อยเชือกหุ่นอยู่อีกมุมหนึ่งอย่างตั้งใจ

"น้องเขาสนุกที่ได้เจอกับเพื่อนใหม่และอยากมาเรียนทุกวัน นอกจากนี้ ยังมีสมาธิมากขึ้น การทำหุ่นเป็นเหมือนการฝึกฝนตัวเอง" ณิ พี่สาวเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของน้องวัยซน

ณิ มีพื้นฐานการรำจึงตัดสินใจเลือกเรียนหุ่นละครเล็กเพื่อจะได้ช่วยพัฒนาต่อยอดได้ไวขึ้น ณิบอกว่าปกติเรียนวิชาการอย่างเดียวทำให้เครียด การอบรมหุ่นทำให้เราผ่อนคลาย สมองไม่ล้า และหุ่นก็มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ถ้าเราไม่เรียนรู้ก็จะสูญหาย ในปัจจุบันเด็กไทยเริ่มเรียนนาฏศิลป์น้อยลง หันไปเรียนเต้นฮิพฮอพ ไม่ค่อยสนใจอะไรที่เป็นไทยๆ การได้เข้ามาเรียนตรงนี้ทำให้ซึมซับและรักวัฒนธรรมไทยมากขึ้น

ด้าน น้องสอง ด.ญ.ธนวรรณ สถิรบุตร อายุ 12 ปี ชั้นป.6 โรงเรียนแย้มจาดวิชชานุสรณ์ ที่ตั้งใจเลือกเรียนหุ่นละครเล็กโดยเฉพาะเล่าว่า แม่แนะนำให้มาค่ะ ปกติปิดเทอมอยู่บ้านก็จะซ้อมดนตรี ดูทีวีหรือทำศิลปะประดิษฐ์ต่างๆ มาปีนี้ได้รู้จักการเชิดหุ่นมากขึ้นและรู้จักประวัติครูสาคร ยังเขียวสด ด้วย ตอนมาครั้งแรกครูที่สอนจะสอนประวัติและสอนดัดมือ การจัดมือ เท้า ส่วนตอนแสดงผลงานหนูได้เชิดปลา ซึ่งยากและหนักด้วย ครูบอกว่าต้องวิ่งร่วมกับปลาตัวเล็กๆ อย่าว่ายอยู่กับที่จะดูไม่สวย


สองบอกอีกว่า "อยากแสดงเป็นตัวนาง แบบพี่ๆ บ้าง เพราะเห็นพี่ๆ เชิดแล้วสวย ถ้าเปิดอบรมใหม่ปีหน้าก็จะมาเรียนอีกจะได้รู้จักวรรณกรรมไทยและหุ่นมากขึ้น"

อาร์ม ว่าที่ร.ต.จตุพร ภักดี วัย 21 ปี ชั้นปี 4 สาขานาฏศิลป์ไทย (โขน) วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม โจ๋ร่างเล็กใจรักศิลปะไทยเต็มร้อย สนใจเรียนทั้งหุ่นสายและหุ่นละครเล็ก ในการแสดงวันปิดค่ายอาร์มรับหน้าที่เชิดเป็นสุดสาครในหุ่นสาย โดยเล่นตั้งแต่กำเนิดสุดสาครจนถึงก่อนจับม้านิลมังกร ส่วนหุ่นละครเล็ก รับบทเป็นตัวหนุมานในการสาธิตท่ารำต่างๆ ที่หุ่นแสดงอารมณ์ออกมา เป็นผู้เชิดในตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉาร่วมกับพี่ๆ นาฏยศาลา และยังเป็นตัวหลักอีกครั้งหนึ่งในการนำหนุมานมาเล่นกับคนดู

ขณะที่เพื่อนๆ สาธิตการแสดงอารมณ์โกรธ ดีใจ และมีความรักของตัวยักษ์ ลิง และตัวพระ ตามด้วยการแสดงละครเรื่องพระอภัยมณี ตอน กำเนิดสุดสาคร ปิดท้ายด้วยรามเกียรติ์ ชุดยกรบ และหนุมาน ตอนจับนางสุพรรณมัจฉา ด้านหุ่นสายก็ไม่น้อยหน้า ลูกศิษย์ตัวน้อยต่างโชว์ความสามารถในการเชิดหุ่นสายเรื่องสุดสาครให้ชมกัน

อาร์มซึ่งมีพื้นฐานโขนเล่าว่า ศิลปะการเล่นหุ่นสายและหุ่นละครเล็กไม่ต่างกันมาก เพราะอยู่ในพื้นฐานวัฒนธรรมและประเพณีไทย ต่างกันที่วิธีการเชิดและเครื่องแต่งกายหุ่น หุ่นสายใช้คันบังคับและใช้สายดึง ส่วนหุ่นละครเล็กจะเป็นการเชิดที่มีส่วนผสมของนาฏศิลป์ไทย หุ่นสายไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานนาฏศิลป์ และแม้ว่าเราจะมีพื้นฐานทางด้านนาฏศิลป์มาก่อนแต่ก็ไม่รู้ว่าหุ่นนั้นเชิดอย่างไร หรือมีกลไกบังคับอย่างไร

"ในฐานะคนที่รักศิลปะและได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ เป็นความภูมิใจ วันหนึ่งเราได้จับหุ่นละครเล็กและได้เชิดหุ่นสายถือว่าโชคดีมากครับ"

อาร์มที่มุ่งมั่นเรียนนาฏศิลป์ไทย เพราะอยากเป็นครูนาฏศิลป์ เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมไทยให้กับคนรุ่นหลังและอยากให้วัฒนธรรมไทยอยู่คู่กับชาติไทยต่อไป บอกด้วยว่า

"ผมอยากให้เยาวชนไทยหันมารักษาศิลปวัฒนธรรมไทยไว้ แม้เราจะรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา แต่ผมเชื่อว่าในใจของเยาวชนไทยก็ไม่ทิ้งศิลปวัฒนธรรมไทยตรงนี้ครับ"

หน้า 24

วันที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6762 ข่าวสดรายวัน

 

 

       ความภาคภูมิใจของผู้เขียนคือได้เข้าร่วมกิจกรรมดีๆ แบบนี้ ต้องขอขอบคุณพี่ตุ้ย สวช. (พี่กิตติพร  ใจบุญ)   คณะหุ่นสายเสมา  คณะนาฏญศาลาหุ่นละครเล็ก  และผู้ที่ให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา  สุดท้ายนี้ในนามของเยาวชนคนไทยขอร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยอันเป็นศิลปการแสดงชั้นสูงและเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยให้อยู่คู่ชาติไทยต่อไปตราบนานเท่านาน

 

                                                                                          ว่าที่ร้อยตรี จตุพร   ภักดี   ผู้ดูแล

 

 

                                               

หมายเลขบันทึก: 290727เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 07:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท