พอเข้าใจ......แบบพอเพียง


รู้เรื่องเศษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยหลังจากฟัง ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย เล่าในการประชุม 30 ปี RDI

 

ในโอกาสครบรอบ  30 ปี สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการประชุมในหัวข้อเรื่อง ทศวรรษใหม่....วิจัยเพื่อสังคม ขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2552 ที่โรงแรมพูลแมน จังหวัดขอนแก่น (ชื่อเดิม โซฟิเทล ราชาออคิด)

ช่วงเช้าที่ผ่านมาเป็นการเปิดงาน และกล่าวปาฐกถาเรื่อง สร้างดุลยภาพแห่งสังคมไทย.....ด้วยการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียงโดย ศ.นพ. เกษม วัฒนชัย องคมนตรี น่าเสียดายที่ตังเองไปช้า เพราะเมมื่อไปถึงอาจารย์ได้เริ่มกล่าวเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจไปเยอะแล้ว แต่ที่โชคดีคือเข้าไปทันฟังเรื่อง ผลจากการเกิดโลกร้อนร้อน เราจะได้อะไร อาจารย์บอกว่าเมื่อโลกร้อนขึ้น ความเสียหายจากภัยธรรมชาติจะมากขึ้นอย่างที่เราทราบๆ กัน แต่เดชะบุญประเทศไทยเราได้รับผลดี เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากขึ้น ฝนตกทั้งปี ซึ่งปีที่ผ่านมามีจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสานได้ทำนาปีนั้นสองครั้ง ที่จริงอาจารย์บอกชื่อจังหวัดด้วย แต่จำไม่ได้เอง  อันนี้เป็นความรู้ใหม่ ที่ได้ทราบในวันนี้เอง

                อาจารย์พูดหลายเรื่อง หลายหัวข้อ แต่ละหัวข้อที่พูดอาจารย์จะยกตัวอย่างประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างที่อาจารย์จากสื่อหนังสือพิมพ์ จากการพูดคุยกับผู้รู้ ผู้อยู่ในเหตุการณ์  ฟังๆ อาจารย์คุยไปถึงได้รู้ว่า การได้ฟังคนเก่งและรู้จริงพูดนั้นเป็นสิ่งที่ดียิ่งนัก แม้ว่าสื่อการพูดจะมีเพียงกระดาษขาวและเครื่องฉายแผ่นทึบ แต่เนื้อหาที่พูดมีความน่าสนใจกว่าสื่อที่ใช้มากนัก การใช้สื่อเป็นแค่เครื่องมือประกอบการพูดเท่านั้นเอง              

ก่อนจะเข้าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อาจารย์ได้พูดเรื่องแนวคิดของการขายที่ดินให้ประเทศอื่นๆ มีที่มาจากประเทศร่ำรวยมองเห็นว่าเรื่องอาหารนี้ต่อไปจะเป็นปัญหาในประเทศของเขาแน่ๆ จึงมีแนวคิดไปซื้อที่ดินประเทศอื่นๆ แล้วผลิตข้าวส่งกลับไปประเทศตัวเอง โชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่ทราบที่แหล่งปลูกข้าวในโลกที่ได้ผลดี มีที่ลุ่มน้ำอิระวดีในพม่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในไทย  และลุ่มน้ำโขง ที่ดินแถวนี้จึงเป็นที่หมายปองของชาวต่างชาติ อาจารย์ฝากเรื่องนี้ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมไปเผยแพร่ต่อด้วยว่าเราควรรักษาแผ่นดินไว้อาจารย์บอกว่าที่มาวันนี้ ตั้งใจจะมาคุยเรื่องนี้ ดังนั้นวันนี้คุ้มแล้ว

อาจารย์ให้แนวคิดเรื่องการทำเกษตรกรรมไว้อย่างน่าสนใจว่า การทำเกษตรกรรมในอนาคตจะมี 3 วัตถุประสงค์คือ

1.       เพื่อเป็นอาหารคน  (Food)

2.       เพื่อเป็นอาหารสัตว์ (Feed)

3.       เพื่อเป็นพลังงาน (Fuel)

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา แต่บางท่านที่อยู่ในแวดวงวิจัยและพัฒนาคงเคยได้ยินมาแล้ว แต่ถ้าถามว่าแล้ไม่เคยได้ยินเหรอว่า ทำเกษตรมีประโยชน์สามอย่าง- ต้องตอบว่าได้ยินตลอด แต่เมื่อขึ้นต้นด้วยประโยชน์ของการทำเกษตรสามอย่างนี้ และต้องชั่งน้ำหนักว่าจะไปด้านใดนั้นเป็นเรื่องใหม่

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอาจารย์กล่าวว่าประกอบด้วยสามอย่างคือ

1.                          ทำอะไรให้พอเพียงตามอัตภาพ ยกตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วมีหนี้สามแสน แต่ปีนี้หมดหนี้ ดังนั้นการซื้อกระเป๋าถือตามอัตภาพของปีที่ที่แล้วและของปีนี้ย่อมแตกต่างกัน- เข้าใจง่ายดี

2.                          มีเหตุมีผลอธิบายได้ตามหลักวิชาการ หลักกฎหมาย

3.                          มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก  ภูมิคุ้มสี่ด้านที่ต้องคำนึงถึงได้แก่ เรื่องวัตถุ เรื่องสังคม  เรื่องของสิ่งแวดล้อม และเรื่องของวัฒนธรรม

 

การใช้เศรษฐกิจพอเพียงมีสามเงื่อนไข คือ

1.       มีความรู้

2.       มีคุณธรรม

3.       มีการใช้ชีวิตที่ดี

 

เมื่อใช้เศรษฐกิจพอเพียงแล้วได้อะไร ได้สามอย่างคือ

1.       ชีวิตสมดุล

2.       ชุมชนสมดุล

3.       รับการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกได้

 

มีนักวิชาการต่างประเทศได้นำเอาทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงไปกล่าวให้ประเทศอื่นๆ ฟังว่าทฤษฏีนี้มีความสามารถ 5 อย่างคือ

1.       หลักการเศรษฐกิจพอเพียงขจัดความยากจนและลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

2.       หลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานการสร้างพลังอำนาจของประชาชน

3.       หลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการยกระดับความรับผิดชอบของบริษัทเอกชน

4.       หลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการปรับปรุงมาตรฐานธรรมภิบาลขององค์กร

5.       หลักการเศรษฐกิจพอเพียงใช้เพื่อปรับปรุงนโยบายของรัฐบาลเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน

 

ทั้งหมดเป็นเรื่องหลักการเศรษฐกิจพอเพียงที่คิดว่าตัวเองเข้าใจมากขึ้น ก่อนหน้านี้พอได้ยินมักจะมาสะดุดและหยุดอยู่ที่ พอเพียง และพอเพียง  และคิดว่ามีแค่นั้น แต่เมื่อได้ฟังปาฐกถาจบลง ก็รู้แล้วว่าที่ผ่านมาที่เราได้ยินคำว่า พอเพียงนั้น เราไม่ได้เข้าใจอะไรเลย  แต่คิดว่ารู้แล้ว คิดเห็นแต่พอเพียงเป็นคนใส่เสื้อผ้าฝ้าย สะพายย่าม พูดเรื่องเพื่อชีวิต อันนั้นเป็นภาพที่เกิดในใจเสมอมา

แต่อีกด้านหนึ่งของความคิด เมื่อเข้าใจมากขึ้น ยิ่งเห็นว่าการใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงให้สัมฤทธิ์ผลนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะทำให้ครบวงจร แต่ถ้าไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ วันหน้าก็สายไป เราจะเจ็บหนักกว่านี้

สุดท้ายขอบคุณสถาบันวิจัยและพัฒนาที่จัดการประชุมที่ดีมีประโยชน์นี้ขึ้น กำลังคิดว่าจะนำความรู้ที่ได้วันนี้ไปขยายผลต่อได้อย่างไรต่อไป

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 290590เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท