Journey in America : Chapter 4 the Bus


อยากให้รถเมล์ไทยเป็นแบบนี้บ้าง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างทำให้ผมคิดว่า อีก 100 ปี ก็คงทำไม่ได้ แต่การห้อยโหนบนรถเมล์ไทยก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง

ในเขตลอสแองเจลิส ถ้าคุณไม่อยู่ในดาวทาวน์ คุณก็จะประสบปัญหาในการเดินทางแน่นอน เพราะอะไรต่อมิอะไรมันอยู่ไกลแสนไกลเหลือเกิน การเดินทางของคนส่วนใหญ่จึงต้องมีรถส่วนตัว ซึ่งตรงนี้ญาติผมได้บอกกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้ว ผมจึงเตรียมเงินมาจำนวนหนึ่งเพื่อซื้อรถ แต่ขั้นตอนก่อนนั้น คือทำใบขับขี่ ซึ่งผมจะเล่าในรายละเอียดต่อไป

ในช่วงแรกนั้น ผมก็ต้องอาศัยรถเมล์ไปเรียน รถเมล์ที่นี่จะแบ่งตามเขต แต่ละเขตจะมีบริษัทรถเมล์ของตัวเอง โดยจะมีรถเมล์สายยาวที่วิ่งเข้าไปถึงในเมือง L.A. เรียกว่า MTA ซึ่งเข้าถึงในทุกๆ เขต (หมายถึงออกมารับคนที่เมืองรอบนอก แล้วขับมุ่งกลับไปในดาวทาว์น).... เพราะฉะนั้นถึงคุณจะนั่งรถเมล์ไกลแค่ไหน คุณก็สามารถวางแผนการเดินทางของคุณได้ไม่ยาก เพราะนอกจากหนังสือที่ระบุเวลาที่รถจอดแต่ละป้ายที่แจกฟรีบนรถแต่ละสายแล้ว เรายังสามารถเข้าไปดูข้อมูลการเดินทางในอินเตอร์เนตได้อีกด้วย ผมเองในช่วงแรก อย่างที่บอกคือยังไม่มีเนตที่บ้าน จึงอาศัยหนังสือตารางเวลารถ และคำบอกเล่าของเพื่อนที่อยู่ที่นี่

การไปโรงเรียนภาษาของผมในแต่ละวันก็จะเริ่มตั้งแต่ 6 โมง ที่ผมจะต้องตื่นมาทำอะไรต่อมิอะไรให้เสร็จ และไปยืนรอรถเมล์ที่จะมาจอดป้ายหน้าบ้าน ในเวลา 7.05 น. ซึ่งมาตรงมากๆ + - ไม่เกิน 3 นาที ถ้าเราไปไม่ทันคันถัดไปก็จะมาในอีกครึ่ง ชม. แต่ผมคงรอไม่ได้ เพราะผมต้องไปต่อรถเมล์อีกคัน ที่จะมาจอดที่ป้ายที่ผมต้องไปรอในเวลา 7.45 น. ซึ่งถ้าพลาดคันนี้ก็คือไปสาย โรงเรียนผมเข้า 9 โมงครึ่ง ซึ่งหมายความว่า ผมต้องนั่งรถเมล์คันที่ผมต้องขึ้นต่อร่วมๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งก็นานอักโข เพียงแต่ว่ามันก็ไม่ต้องเบียดเสียดอย่างเมืองไทย มีที่นั่งเหลือเฟือ แถมแอร์เย็นเจี๊ยบ ดังนั้นผมก็ได้อาศัยมานอนต่อบนรถนี่เอง

เกี่ยวกับค่าโดยสาร อัตราปกติก็คือ 1 ดอลลาร์ ซึ่งสามารถขอตั๋วต่อรถ เพื่อไปต่อได้อีก 1 สาย เรียกว่า transfer ticket แต่ราคานี้ก็จะเปลี่ยนไปตามบริษัทรถตามเขตเมืองต่าง แต่ก็ถือว่าไม่แพงมากสำหรับคนทั่วไปที่อาศัยรถประจำทาง การจ่ายเงินก็ง่าย คล้ายๆ microbus สมัยก่อน คือเอาเหรียญเทลงในกล่อง หรือถ้าจะใช้ธนบัตรก็ได้ เพียงแต่ต้องเตรียมให้พอดี เพราะพนักงานบนรถจะไม่ทอนเงินให้.....เวลาคุณจะลงก็ลักษณะเดียวกับการกดกริ่งแบบเมืองไทย เพียงแต่มันไม่ใช่กริ่ง แต่เป็นสายสลิงที่โยงอยู่ที่ขอบหน้าต่างรถ พอคุณจะลงก็ดึงสายสลิงนั่น มันก็จะมีเสียงตุ๊ง แล้วคนขับก็จะทราบว่าจะมีคนลง แล้วเวลาเขาจอดให้ลงนี่สุดๆ แล้ว คือขับไปแนบทางเท้าซะจนล้อแทบจะสี ต่างกับของคนไทยที่ต้องลงกลางสี่แยก นี่ยังไม่พูดถึงระบบอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นที่เก็บจักรยานหน้ารถ และระบบการขนถ่ายคนพิการขึ้นลงนะครับ

การเดินทางบนรถเมล์ที่นี่ ผมก็ได้ฝึกภาษาไปด้วยในตัว.....เพราะชาวอเมริกันนี่ชอบชวนคุย ไม่เข้าใจว่าจะนั่งเฉยๆ กันไม่ได้หรืออย่างไร แต่ก็ดี ทำให้ผมได้ งูๆ ปลาๆไปวันๆ เพื่อฝึกภาษา การเดินทางร่วม 2 ชั่วโมงไป กลับของผมแต่ละวัน จึงไม่เปล่าประโยชน์แต่อย่างใด

ย้อนกลับไปถึงเรื่องความตรงต่อเวลาของรถเมล์..... การที่ผมต้องนั่ง 2 ต่อ มันก็ทำให้ผมเกิดปัญหา เพราะในขากลับบ้าน รถเมล์คันแรก จะมาถึงเวลาเดียวกับรถเมล์ที่ผมต้องนั่งต่อพอดี ซึ่งถ้าคันใดล่าช้า หรือมาเร็วไป นั่นหมายความว่าผมต้องรออีก 1 ชม. เพื่อรอรอบต่อไป ก็ได้อย่างเสียอย่าง ที่ว่าได้ก็คือตรงป้ายรถนั้น มีตลาด (ลักษณะคล้ายๆ บิ๊กซี) อยู่พอดี ทำให้ผมไปเดินฆ่าเวลาได้ ซึ่งนี่ก็คือข้อเสีย เพราะบางทีก็เดินเพลิน กลับมาไม่ทันคันต่อไปอยู่ดี 555 จำได้ว่ามีอยู่วันนึง ต้องรอถึง 3 ชม.เพราะมัวเดินเล่นอยู่ในตลาดนั่นเอง กว่าจะถึงบ้านก็มืดค่ำ

อยากให้รถเมล์ไทยเป็นแบบนี้บ้าง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างทำให้ผมคิดว่า อีก 100 ปี ก็คงทำไม่ได้ แต่การห้อยโหนบนรถเมล์ไทยก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งไปแล้ว กลับเมืองไทยคราวก่อน ผมอยากโหนรถเมล์มากถึงขนาดเลือกคันแน่นๆ ขึ้นเลย จะได้คิดถึงบรรยากาศเก่า 555 เชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติก็คงทึ่งเหมือนกัน ..... แต่อย่างไรก็ตามความปลอดภัยก็ต้องมาก่อน ผมเห็นคนโดนรถเมล์ทับตาย หรือตกลงมาตายบ่อยมาก เห็นแล้วก็น่าสลดใจ และหวังว่าอย่างน้อยถ้าจะต้องเบียดกัน ก็ขอให้เบียดกันอย่างปลอดภัยบ้างก็ดี...ค่าโดยสารก็ขึ้นเอาๆ เซ็งจิตครับ..

ผมนั่งรถเมล์อยู่ประมาณเกือบปี ก่อนที่จะได้ซื้อรถคันแรกในชีวิต แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องรถ ในคราวต่อไปผมก็จะขอเล่าถึงบรรยากาศของโรงเรียนภาษาของผมก่อนครับ....

เขียนที่ Covina, California, U.S.A. 15 พฤษภาคม 2548

                 

คำสำคัญ (Tags): #บันทึก
หมายเลขบันทึก: 290229เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2009 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท