ข้อมูลครั้งที่ 26: รายงานความคืบหน้ากรณี ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.... ถูกบรรจุในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) ในวันที่ 19 -21 สิงหาคม 2552 นี้แล้ว


ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. …ฉบับของกระทรวงแรงงานนี้ มีความแตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.... (ฉบับเครือข่ายแรงงานนอกระบบ , มีนาคม 2550) หลายประการ จึงทำให้กลุ่มเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมีโอกาสได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับอื่นๆที่ประชาชนได้ร่างขึ้นมาด้วยเช่นกัน

ข้อมูลส่งให้ทีมครั้งที่ 26: วันที่ 20 สิงหาคม 2552


ประเด็น : รายงานความคืบหน้ากรณี ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.... ถูกบรรจุในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) ในวันที่ 19 -21 สิงหาคม 2552 นี้แล้ว

 


นับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2552 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ….ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ในระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้รับหลักการต่อไปนั้น ล่าสุดร่าง พรบ. ดังกล่าวนี้ อยู่ในระหว่างการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และถูกบรรจุเป็นวาระที่ 6 เรื่องที่เสนอใหม่ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) ในวันที่ 19 -21 สิงหาคม 2552 นี้แล้ว

 


โดยมี 2 ร่างที่ถูกเสนอให้พิจารณาในการประชุมสัปดาห์นี้ คือ

(1)   ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ

(2)   ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ที่นายไพฑูรย์ แก้วทอง กับ คณะ เป็นผู้เสนอ[1]

 


อย่างไรก็ตาม พบว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ฉบับของกระทรวงแรงงานนี้ มีความแตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.... (ฉบับเครือข่ายแรงงานนอกระบบ , มีนาคม 2550) หลายประการ[2]  จึงทำให้กลุ่มเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมีโอกาสได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับอื่นๆที่ประชาชนได้ร่างขึ้นมาด้วยเช่นกัน


เพื่อเป็นการเท่าทันสถานการณ์ ทางฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงได้เรียบเรียงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ภายหลังวันที่ 23 มิถุนายน 2552 ว่าได้ดำเนินการต่อไปอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ได้กำหนด โดยเน้นไปที่กลุ่มเครือข่ายแรงงานนอกระบบที่นำโดยคุณสุจิน รุ่งสว่าง[3] และคุณสมคิด ด้วงเงิน ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นสำคัญ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

 

2 กรกฎาคม 2552

เสวนาแนวทางการผลักดันร่าง พรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.............ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ จัดโดย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเสวนาใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ กระบวนการและความก้าวหน้าการผลักดันร่าง พรบ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.......... และ กลยุทธ์การผลักดันร่าง พรบ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ... ในสภาผู้แทนราษฎร[4]


27 กรกฎาคม 2552

ทางมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet) จัดส่งร่าง พรบ. ฉบับเครือข่ายแรงงานนอกระบบให้นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อนำเข้าหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความสนใจร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างยิ่ง

 


5 กรกฎาคม 2552

ที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประจำเดือนกรกฎาคม หารือเรื่องแนวทางการผลักดันร่าง พรบ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ว่ากลุ่มแรงงานในระบบ กับ กลุ่มเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติ จะร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนกลุ่มแรงงานนอกระบบได้อย่างไรบ้าง ที่ประชุมมีมติให้คุณยงยุทธ เม่นตะเภา กรรมการอำนวยการ เป็นผู้รับผิดชอบและกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวร่วมกันต่อไป

 


สัปดาห์ที่ 2 เดือนสิงหาคม 52

คุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ประสานงานและหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดเวทีเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พรบ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ร่วมกัน


อ่านต่อได้ที่ :   http://gotoknow.org/file/ngaochan/26datalabour.doc

หมายเลขบันทึก: 289543เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท