“บ้านนาหวาย” ชุมชนต้นแบบลดละเลิกเหล้า


จุดแตกหักอยู่ที่หมู่บ้าน ดังที่มักกล่าวกันว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นการปฏิวัติชุมชนของอีกชุมชนหนึ่งที่จะนำไปสู่ “ชุมชนปลอดเหล้า” ได้

 

ย่ำเดินทางออกไปอำเภอทางใต้สุดของจังหวัดน่าน ไป บ้านนาหวาย ต.บ่อแก้ว อ.นาหมื่น มีจำนวน ๑๔๒ หลังคาเรือน แบ่งออกเป็น ๕ คุ้มบ้าน เป็นหมู่บ้านชนบทที่ดำรงตนแบบเรียบง่ายตามวิถีชาวบ้านแบบชนบท ที่ทำมาหากินกับการทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ หาเลี้ยงครอบครัว มีการยึดถือวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านมาอย่างเหนียวแน่น โดยใช้ศรัทธาวัดนาหวายเป็นศูนย์รวมที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน และชุมชนข้างเคียง

ความเป็นอยู่ของชุมชนที่นี่ก็ไม่แตกต่างจากชุมชนชนบทอื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ อย่างหลากหลาย และในงานประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้ก็มีเหล้ายาปลาปิ้งเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเลี้ยงในงานบุญ งานประเพณีต่างๆ จะมีการเลี้ยงกันอย่างเอิกเหริก ทั้งล้มวัว ล้มควาย เลี้ยงเหล้า เป็นวิถีปฏิบัติที่สืบต่อกันมาช้านาน แม้กระทั่งงานศพก็จะมีการจัดเลี้ยงอาหารและเหล้ากันอย่างมาก รวมไปถึงมีการตั้งวงเล่นการพนันกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เรียกว่าเล่นแต่หัวค่ำยันสว่างเลยก็ว่าได้

และในงานเลี้ยงต่างๆ เหล่านี้เราก็มักจะเห็นภาพของคนที่ถูกเรียกว่าขี้เหล้าประจำหมู่บ้านเมาแอ๋ในงานอยู่เป็นประจำ นี่คือภาพของงานเลี้ยงที่มีเหล้าเป็นเครื่องบำเรอความสนุกสนานของแขกผู้เข้ามาร่วมงาน นี่คือสิ่งที่อาจเรียกว่าเป็นเรื่องปกติของชุมชนชนบท

จึงไม่แปลกที่ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ครอบครัวแตกแยก การไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่บ้าน การประชุมหมู่บ้านมีคนเมาเหล้าเข้ามาร่วมประชุม แล้วมาถกเถียงทะเลาะกันในที่ประชุม ทำให้การพัฒนาหมู่บ้านไม่เป็นไปดังที่คาดหวังไว้ นี่คือภาพอดีตของชุมชนบ้านนาหวายที่มิต่างไปจากชุมชนอื่นๆ

แรงบันดาลใจ

จากสภาพปัญหาดังกล่าว ในปี ๒๕๔๕ ทีมวิจัยชุมชนร่วมกับสภาวัฒนธรรมอำเภอนาหมื่นได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องพิธีกรรมในงานศพ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสกว.ได้มีการศึกษาในประเด็นการดื่มเหล้าในงานศพ และนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะในการลดละเลิกการเลี้ยงเหล้าในงานศพด้วย มีการสร้างกระแสการลดเลิกเหล้าในงานศพมาอย่างต่อเนื่อง

แต่สำหรับชุมชนบ้านนาหวายก็ยังไม่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งในปี ๒๕๔๖ พระปลัดอภินันท์ อภิปุญโญ เจ้าอาวาสวัดนาหวาย และพระผจญ ปภาโสซึ่งเป็นพระลูกวัด(ปัจจุบันได้ลาสิกขาแล้ว) ได้เข้าไปร่วมดำเนินการโครงการบ้านจุ้มเมืองเย็นของสถาบันโพธิยาลัย ที่ได้ดำเนินการในหลายๆ ชุมชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ได้นำโครงการนี้มาประชุมหารือกับคนในชุมชน ได้มีการจัดเวทีประชาคมเพื่อกำหนดหาแนวทางการพัฒนาหมู่บ้าน และได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านมาหลายด้าน ได้แก่

การทำความสะอาดหมู่บ้านและกวาดถนนในหมู่บ้าน เป็นระยะทางกว่า ๑.๕ กิโลเมตร เนื่องจากหมู่บ้านมีการเลี้ยงสัตว์ จำพวกวัว ควาย ไว้ในบ้าน ทำให้ถนนหนทางเป็นดิน เป็นขี้วัว ขี้ควาย ทำให้สกปรกไม่น่ามอง จึงได้มีการตกลงเป็นมติของหมู่บ้านว่า ทุกเย็นวันศุกร์ ประมาณ ๕ โมงเย็น แต่ละหลังคาเรือนต้องส่งตัวแทนอกมาช่วยกันกวาดถนน ทำความสะอาดในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่ไม่อยู่ก็ให้เด็กมาแทน ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการเปิดเสียงเพลงตามสายเป็นเพลงประจำที่หากทุกคนได้ยินจะรู้ว่าเป็นการรณรงค์ทำความสะอาดหมู่บ้าน

ต่อมาได้มีมติหมู่บ้านให้นำเอาสัตว์เลี้ยงประเภทวัว ควาย ไปไว้นอกหมู่บ้าน ห้ามนำมาเลี้ยงในหมู่บ้าน แต่การทำความสะอาดหมู่บ้านและกวาดถนนทุกวันศุกร์ก็ยังทำเป็นปกติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

และได้มีการจัดประกวดแข่งขันการจัดสิ่งแวดล้อมดีเด่นระหว่างคุ้ม ทำให้เกิดการพัฒนาหมู่บ้านให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย

การจัดแข่งขันกีฬาปลอดยาเสพติด โดยเป็นการแข่งกันระหว่างคุ้มทั้ง ๕ คุ้ม ในช่วงวันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นการเชื่อมความสามัคคีกันในชุมชน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีทั้งกีฬาพื้นบ้านและกีฬาสากล เน้นความสนุกสนานเชื่อมความสัมพันธ์กันในชุมชน โดยห้ามมีการกินเหล้า ขายเหล้าในงาน เป็นโอกาสทำให้ลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นได้มีโอกาสกลับมาร่วมงานในชุมชน ได้นำเอาผ้าป่าและระดมทุนมาช่วยเหลือหมู่บ้าน นับว่าบ้านนาหวายเป็นหมู่บ้านแรกที่มีการดำเนินการลักษณะนี้ในตำบล ผลของการดำเนินงานเป็นที่พึงพอใจของคนในชุมชน ทำให้หมู่บ้านอื่นได้เอาแบบอย่างไปดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีกหลายหมู่บ้าน

การงดเหล้าเข้าพรรษา ได้มีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาเป็นครั้งแรกของหมู่บ้าน มีคนสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน ๓๗ คน หลังจากออกพรรษามีผู้สูงอายุจำนวน ๒ คนที่ได้ปฏิญาณเลิกเหล้าไปตลอดชีวิต

นอกจากนี้ชุมชนยังได้ดำเนินการหมู่บ้านรณรงค์งดเหล้าและบุหรี่ในงานศพตามประกาศของสภาวัฒนธรรม ได้มีการขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ตามหมู่บ้าน และที่บ้านศพ แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง

ในปี ๒๕๔๗ ได้มีการดำเนินกิจกรรมเดิมต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และได้มีการจัดเวทีประชาคมทบทวนมาตรการของสภาวัฒนธรรม

ในปี ๒๕๔๘ ได้มีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องจากเดิม

และมีเหตุการณ์สำคัญที่กลายเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนหันมาคุยกันถึงการงดเหล้าในงานศพอย่างจริงจัง นั่นคือ ในงานศพงานหนึ่ง ซึ่งมีการเลี้ยงอาหาร เหล้า และเล่นการพนันกันเฉกเช่นกับงานศพที่ผ่านๆ มา แต่งานนี้ปรากฏว่า อาจารย์วัดซึ่งเป็นทั้งหมอสู่ขวัญและพิธีกรประจำงานในวันเผาศพนั้นได้กินเหล้าในปริมาณมากจนเมามาย ทำให้การทำหน้าที่พิธีกรเป็นไปแบบผิดๆ ถูกๆ หลังจากงานศพผ่านพ้นไปได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในหมู่บ้าน รวมถึงหมู่บ้านอื่นๆ ที่ได้มาร่วมงานศพนี้ ถึงความไม่เหมาะสมของพิธีกรและผลเสียของการเลี้ยงเหล้างานศพ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้พิธีกรคนดังกล่าวได้ประกาศเลิกเหล้าไปตลอดชีวิต และหมู่บ้านได้นำประเด็นดังกล่าวเข้ามาหารือในที่ประชุมประชาคมประจำหมู่บ้านและได้กำหนดมาตรการร่วมกันว่า

          ห้ามจัดเลี้ยงเหล้าในงานศพในขณะที่ตั้งศพ เว้นแต่กรณีหลังเผาศพแล้วที่เจ้าภาพบางรายอาจจะเลี้ยงญาติที่มาจากต่างถิ่นบ้าง แต่ไม่ให้ทำแบบเอิกเหริก

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมางานศพในหมู่บ้านจึงไม่มีการเลี้ยงเหล้าและการพนันอีกต่อไป และได้รับการดำเนินการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาต่อเนื่อง

และในปีนี้เองผู้ใหญ่บ้านได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านดีเด่นอันดับที่ ๓ ของอำเภอ

ในปี ๒๕๔๙ ได้มีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องจากเดิม และมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มีโครงการใหม่ๆ ขึ้นมาเพิ่มเติม

โครงการคาวานเสริมสร้างเด็กและเยาวชน โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุ ในด้านการประกอบชีพเสริมรายได้ การทำจัดทำอาหารและขนมพื้นบ้าน การทำไม้กวาด และการสอนเล่นดนตรีไทยโดยใช้ครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น คือ พอสวิง ยาธนะ เป็นผู้สอน ทำให้เกิดกลุ่มเยาวชนเล่นดนตรีไทย สามารถออกงานต่างๆ ในชุมชนและในอำเภอได้ เช่น งานศพ, งานประเพณีวัฒนธรรม เป็นต้น

โครงการครอบครัวอบอุ่น(เสริมสร้างสุขภาพใจในชุมชน) โดยโรงพยาบาลนาหมื่นร่วมกับอบต.ได้เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี ครอบครัวอบอุ่น โดยเด็กและเยาวชนได้มีการเขียนบัตรคำเรียกร้องให้พ่อเลิกเหล้า แม่เลิกบ่น เพื่อให้ครอบครัวมีความอบอุ่น

และชุมชนได้มีการดำเนินงานศพปลอดเหล้าและการพนันได้ ๑๐๐ % และได้รับการดำเนินการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาต่อเนื่อง

ในปี ๒๕๕๐ - ๒๕๕๑ ได้มีการดำเนินกิจกรรมเดิมต่อเนื่อง และได้ริเริ่มโครงการใหม่เพิ่มเติม ดังนี้

โครงการชาวนาหมื่นร่วมใจพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อลดละเลิกเหล้า บุหรี่ โดยการสนับสนุนจากสสส.และสภาวัฒนธรรมอำเภอนาหมื่น มีการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับอำเภอ มีการลงเปิดประชาคมอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน โดยใช้ข้อกำหนดวรรค ค. ของสภาวัฒนธรรมกำหนดให้วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ การบวชภาคฤดูร้อน งานศพ เป็นสถานที่และงานปลอดเหล้า ส่วนงานประเพณี, การแข่งขันกีฬาให้เป็นงานลดการดื่มเหล้า

ผลของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างจริงต่อเนื่อง และทำพร้อมๆ กันไปทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

สำหรับบ้านนาหวาย สามารถดำเนินการงานศพปลอดเหล้า, การบวชภาคฤดูร้อน, งานกีฬา, และงานประเพณีเทศน์มหาชาติของวัดนาหวายเป็นงานปลอดเหล้าได้

(ปกติประเพณีเทศน์มหาชาติของวัดนาหวายซึ่งกำหนดในวันเพ็ญเดือนสิบสองที่เป็นงานใหญ่ประจำปีที่ทำสืบต่อกันมา จะมีศรัทธาจากหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมงานกันมาก ชาวบ้านจะมีการห้างดา ล้มวัว ล้มควาย และเลี้ยงเหล้ากันอย่างมาก)

และในปีนี้ประธานเยาวชนบ้านนาหวายได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นและนักเรียนพระราชทาน และหมู่บ้านได้รับรางวัลที่ ๒ ในการปะกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นได้รับโล่และเกียรติบัตร

ในปี ๒๕๕๒ ได้มีการดำเนินกิจกรรมเดิมต่อเนื่อง และได้ริเริ่มโครงการใหม่เพิ่มเติม ดังนี้

โครงการชาวนาหมื่นปลอดภัยใส่ใจสุขาภิบาลอาหาร โดยการสนับสนุนจากสสส.,สภาวัฒนธรรมอำเภอนาหมื่น, อบต., กศน., และสาธารณสุข มีการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับอำเภอ มีการลงเปิดประชาคมอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน โดยใช้ข้อกำหนดวรรค ค. ของสภาวัฒนธรรมกำหนดห้ามจัดอาหารดิบในงานเลี้ยง เป็นผลทำให้มีการดื่มเหล้าในงานเลี้ยงลดลง

ดอกผลแห่งการขับเคลื่อนหมู่บ้านปลอดเหล้า

จากการขับเคลื่อนงานโครงการบ้านจุ้มเมืองเย็นต่อเนื่องมาและขยายไปยังกิจกรรม/โครงการอื่นๆ และมีสภาวัฒนธรรมอำเภอเข้าหนุนเสริม ทำให้การพัฒนาหมู่บ้านนาหวายเป็นไปด้วยดี มีความสำเร็จและความภาคภูมิใจเกิดขึ้นหลายอย่างได้แก่

๑. การดื่มเหล้าในชุมชนลดลง ดังจะเห็นได้จากสภาพเดิมงานศพที่มีการเลี้ยงเหล้าและเล่นการพนันกันอย่างมาก สามารถทำให้เป็นงานศพปลอดเหล้าและการพนันได้ ภาพของคนในชุมชนเมาแอ๋ในงานเลี้ยงต่างๆ หายไป

๒. สภาพปัญหาการทะเลาะวิวาทของคนในชุมชน การทะเลาะเบาะแว้งของคนในครอบครัวหายไป ไม่มีเป็นกรณีให้ผู้ใหญ่บ้านต้องมานั่งไกล่เกลี่ย

๓. การขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องของสภาวัฒนธรรมอำเภอและตำบลทำให้ประชาชนมีความเข้าใจ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

๔.ชุมชนอื่นๆ ที่ได้เข้ามาร่วมงานต่างๆ จะเอ่ยปากชมว่ามีการจัดการที่ดี มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีเหล้า บุหรี่ และอาหารดิบในงาน

๕. คนในครอบครัวและชุมชนมีความรักความผูกพันกัน ทำให้การพัฒนาหมู่บ้านเป็นไปด้วยดี ไม่ชะงักงัน

๖. หน่วยงาน/องค์กรต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจัยเงื่อนไขแห่งความสำเร็จ

ผลของการพัฒนาที่ต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้บ้านนาหวายได้รับการยอมรับว่าเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการขับเคลื่อนการลดละเลิกเหล้าหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอ ทั้งนี้มีปัจจัยเงื่อนไขแห่งความสำเร็จที่สำคัญได้แก่

๑. การมีสภาวัฒนธรรมเจ้าภาพบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

๒. ผู้นำและแกนนำมีความเข้มแข็ง เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนในชุมชน มีการตอบสนองต่อนโยบายดี มีการติดตามกำกับงานต่อเนื่อง

๓. การใช้ศรัทธาวัดและพระภิกษุเป็นจุดศูนย์รวมยึดเหนี่ยวและขับเคลื่อนการทำงาน

๔. คนในชุมชนมีความหนึ่งเดียว ร่วมไม้ร่วมมือกัน

๕. การจัดเวทีประชาคมต่อเนื่อง มีการทบทวนกิจกรรม มาตรการ และจัดกิจกรรมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องทุกปี

๖. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากหลายหน่วยงาน

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนชุมชนลดละเลิกเหล้าก็ยังประสบปัญหาที่ทำให้การทำงานไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ได้แก่

๑. นโยบายการผลิตเหล้าเสรี การควบคุมการผลิตและการขายยังไม่ดีพอ ทำให้มีการลักลอบผลิตและขายกันในพื้นที่ รวมทั้งในหมู่บ้านยังมีแหล่งจำหน่ายเหล้า ทำให้การขับเคลื่อนชุมชนลดละเลิกเหล้ายังมีปัญหาในจุดของแหล่งขาย

๒. การกินเหล้าในงานการเกษตรที่เป็นวิถีและค่านิยมกินกัน เพื่อแก้ปวดเอว ปวดข้อ และล้างกาย

๓. งานเลี้ยงต่างๆ ยังมีการเลี้ยงสุรา โดยเฉพาะเจ้าภาพที่มีฐานะการเงินดี

๔. ค่านิยมเด็กวัยรุ่นในการดื่มเหล้าฉลองในโอกาสต่างๆ

 

บทเรียนที่ได้รับ

จากการขับเคลื่อนชุมชนลดละเลิกเหล้ามาอย่างจริงและต่อเนื่อง ทำให้แกนนำและคนในชุมชนเรียนรู้ประสบการณ์และได้บทเรียนหลายประการ ที่สำคัญได้แก่

๑. การขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกหน่วยงาน ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทำให้การดำเนินงานมีพลังและสามารถดำเนินการได้เป็นรูปธรรม

๒. การใช้เวทีประชาคมในการแลกเปลี่ยนปัญหา กำหนดแนวทางและมาตรการ ทำให้เกิดการยอมรับและนำไปสู่การปฏิบัติได้

๓. ผู้นำต้องลงมือทำเป็นตัวอย่างจึงจะทำให้คนอื่นเชื่อและปฏิบัติตาม

๔. การประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง

๕. การขับเคลื่อนต้องใช้ความอดทนและเวลาในการดำเนินงาน เริ่มจากประเด็นเล็กๆ แล้วขยายผลออกไปสู่ประเด็นใหญ่ๆ ในวงกว้าง

บทเรียนของบ้านนาหวาย มีความโดดเด่นและน่าสนใจหลายประเด็น และที่สำคัญเป็นผลพวงของการขับเคลื่อนในระดับอำเภอลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในระดับหมู่บ้าน จุดแตกหักอยู่ที่หมู่บ้าน ดังที่มักกล่าวกันว่า คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นการปฏิวัติชุมชนของอีกชุมชนหนึ่งที่จะนำไปสู่ ชุมชนปลอดเหล้า ได้

............................................................

บันทึกเรื่องราวจากเวทีถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบลดละเลิกเหล้าสายใต้

วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๒ ณ วัดอรัญญาวาส ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน

ขอขอบคุณ

คุณสมหมาย เมฆแสน นักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาหมื่น

คุณนิศานาถ สารเถื่อนแก้ว พยาบาลวิชาชีพ รพ.นาหมื่น

ผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชุมชนบ้านนาหวาย ต.บ่อแก้ว อ.นาหมื่น จ.น่าน

และเรื่องราวดีดีจากเวทีเรียนรู้

หมายเลขบันทึก: 289424เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท