ตาเหลิม
นาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

12. กาลครั้งหนึ่ง ความเงียบ// บทความหนึ่ง ที่ซึ้งถึงหัวใจ ...


หาลูกโป่งมากอดไว้ซักลูก แล้วจะได้ยินเสียงที่เราอยากแบ่งปัน

.

.

. ปกติ ผมมีสามอีเมล์ 

อันนึงไว้รับเรื่องทั่วไปเท่านั้น 

อันนึงไว้รับแอดจากเว็บไซต์เครือข่ายสังคมต่างๆ อาทิ Facebook, Hi5 เป็นต้น 

และอีกอันสำหรับงานๆ 

 

ผมเปิดอ่านอีเมล์ที่ว่าด้วยเรื่องทั่วไป ที่ไม่ค่อยได้อ่านนัก 

มีจดหมายกว่า สี่พันฉบับ 

หนึ่งในนั้น คือจดหมายฉบับนี้ จากน้องคนหนึ่ง(น้องกิ๊บ) ที่เพื่อนเขาส่งต่อความรู้สึกมาให้...

 

Dear My Dream



 
 
 
สวัสดีค่ะ 
เช้าวันนี้ฉันได้รับอีเมลล์ฉบับหนึ่งจากเพื่อน

ตามปกติแล้ว เช้าๆฉันจะดูปริมาณเนื้อหาของอีเมลล์เป็นอันดับแรก
ทว่ามันดูเยอะแบบนี้ฉันจะเลือกเก็บมันเอาไว้อ่านวันหลัง
(แล้วสุดท้ายจะลืมที่จะอ่านมัน)

 
แต่เมื่อฉันเลื่อนสกอบาร์ลงมาเจอหัวข้อเรื่องว่า "กาลครั้งหนึ่ง ความเงียบ " ) 
ทำให้ฉันคิดว่าจะต้องอ่านเมลล์นี้ซะแล้ว
ด้วยอารมณ์หงุด ๆ หงิด ๆ นิดๆในใจว่า

ไอ้นี่มันอึดอัดเรื่องอะไรมาอีกแล้วว่ะ (55+)
 
อ่านไปในบรรทัด ที่ 1 2 3 4 ....ฉันเริ่มยิ้มกับตัวเอง
และเข้าใจในความสุขที่มันล้นอกของเพื่อน
จนอยากแป่งบันเรื่องราวดีดี  ไอเดียดีดีของ'love is hear concert' ครั้งนี้
 
หากอ่านแล้วไม่ได้รู้สึกอะไร
แนะนำค่ะว่าให้เข้าไปในห้องเงียบๆคนเดียว
เปิดเพลงเสียงในความเงียบ - คิว Flure วงฟลัวร์(แนบไฟล์มาให้แล้วนะค่ะ^^)

ปิดไฟซะ แล้วหาลูกโป่งมากอดไว้ซักลูก
แล้วจะได้ยินเสียงที่เราอยากแบ่งปั่นค่ะ
 
 
ขอความสุขอยู่กับทุกคน...
 
 
กิ๊บ

 



 โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง  กลิ้ง

 

กาลครั้งหนึ่ง ความเงียบ

 

“ในความเงียบนั้น ถ้าเธอยังอยากจะได้ยินเสียง ”

                ท่อนหนึ่งในบทเพลง เสียงในความเงียบ ที่พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ เป็นคนเขียนเนื้อร้อง ดังขึ้นภายในโรงหนังสกาล่าในงาน love is hear ทำให้ผมรู้สึกประหลาดอย่างบอกไม่ถูก ด้วยคอนเซปต์ของงานนี้ที่เอาคนหูดีมาฟังดนตรีกับคนหูหนวก “แล้วมันจะเข้าใจกันได้ไงว่ะ”-ผมคิด ตั้งแต่เช้าของวันที่ผมได้มีโอกาสมาช่วยงานพี่ๆ ที่โรงหนังสกาล่า ผมเห็นน้องๆ ที่หมดสมรรถภาพการได้ยินยกมือชี้นิ้ว โน้น นี่ นั่น ไม่หยุดหย่อน ในระหว่างนั้นเท่าที่ตั้งใจฟัง ก็ไม่มีเสียงที่เล็ดลอดออกมาปากเขาเหล่านั้นจริงๆ เงียบ   เงียบจนนึกหวั่นใจว่าคืนนี้เขาเหล่านั้นจะสนุกกับเราได้นานแค่ไหนกัน เงียบจนผมรู้สึกกลัว ว่าบางประโยคที่ขึ้นบนหน้าจอเท่าที่ผมรู้นั้น จะสร้างความเจ็บปวดร้าวฉานต่อน้องเขาขนาดไหน

 

“คุณรู้สึกถึงดนตรีหรือปล่าว?

                ประโยคนี้ลอยเด่นบนจอภาพยนต์ คล้ายเพื่อถามใครบางคน แต่ถ้าโดยส่วนตัว ผมจะรู้สึกไม่ได้ทว่าไม่ได้ยิน ผมเชื่ออย่างนั้นมาตลอด ความเชื่อนั้นนำพาสายตาผมไปจับจ้องกลุ่มเด็กที่ขึ้นชื่อว่าหูหนวก ภาพที่เห็นคือ เขาเหล่านั้นก็ยังคงเงียบตามเดิม แต่ไม่ได้นิ่งเฉยหรือไม่รับรู้อะไร เพราะในขณะที่เสียงดนตรีดัง ตูม ตาม ตูม ตาม บางเสียงร้อนรน บางเสียงอ่อนไหว บางเสียงขี้เล่น บางเสียงแข็งกร้าว คล้ายเขารับรู้ แต่หาใช่ด้วยการได้ยินไม่ ทว่ามันคือการสัมผัส สัมผัสด้วยสายตา สัมผัสด้วยมือ สัมผัสด้วยกาย และสัมผัสด้วยใจ ใจของเพื่อนที่ต่างก็ส่งอารมณ์กันไปมา และอย่างที่กล่าวไปข้างต้น การที่เขาจะสัมผัสด้วยมือหรือกายจำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์บางชนิด ซึ่งทางทีมงานเห็นว่ามันต้องเป็น ลูกโป่ง การสั่นสะเทือนของมันนั่นแหละคือการได้ยินของน้องๆ  และของเรา หากใครได้ไปชมคอนเสิร์ต แล้วพลาดที่จะกอดลูกโป่งไว้แน่น หลับตาด้วยกาย หลับหูด้วยใจ แล้วตั้งใจฟังบทเพลงผ่านลูกโป่งล่ะก็ ผมว่าท่านเหล่านั้นพลาดแล้ว เพราะหากคุณไม่เป็นเขา คุณจะรู้ได้อย่างไร ว่าวันนี้เขาฟังเพลงได้เพราะเช่นไร และซาบซึ้งในน้ำใจของพวกคุณขนาดไหน ที่แน่ๆ น้ำใจในวันนี้คงไม่ใช่เพียงเงินทองทุกบาททุกสตางค์ที่ให้กับพวกเขา หากแต่มันคืออะไรบางอย่างที่ผมก็บอกไม่ถูก


“ติดหัวใจส่งต่อความรักกันน่ะค่ะ”

                หัวใจหลากสีสัน ติดเต็มตัวของผู้เข้างานรวมถึงทีมงานยันไปนักร้อง นักแสดง “ว่าแล้ว โดนกันหมด” ผมคิด นับว่าเป็นความคิดที่ไม่เลวเลย กับหัวใจดวงน้อยๆ นับเป็นร้อยๆ ดวงที่นำมาติดตามเนื้อตามตัวตามแขนตามขา บ้างเอามาติดแว่น บ้างติดตูด คล้ายกับความรักในงานมันฟูฟ่อง อบอวล และแผดกลิ่นไอของมันออกมาผ่านสติ๊กเกอร์รูปหัวใจหลากสี บ้างเอามาเรียงร้อยกันเป็นแถวยาวเหยียด บ้างเอามาแปะให้เป็นหัวใจอีกดวงที่ใหญ่ขึ้น บ้างแปะให้กันและกัน บ้างให้ บ้างรับ กลายเป็นกิจกรรมหนึ่งก่อนเริ่มงานคอนเสิร์ตที่ทำให้คนดู รู้สึกได้ถึงรัก และ การให้ ที่มีต่อน้องๆ ในงานครั้งนี้

 

“อะ  พี่ให้”

                ชายลึกลับซึ่งซื้อบัตรได้ที่นั่งในราคาไม่แพงมาก บรรจงวาดรูปรอยยิ้มกับตาหยีๆ บนลูกโป่งยื่นให้เด็กหญิงหูหนวกที่เดินผ่านหลังจากเธอทำธุระที่ห้องน้ำเสร็จสรรพ ภาพนั้นติดตาผมเพราะเด็กหญิงคนนั้นบรรจงไหว้ชายลึกลับกลับเช่นกัน ทั้งคู่ยิ้มให้กันและกัน เธอหยุดตัวชั่วครู่ทำท่าทางประหลาดๆ ก่อนเดินจากไป ชายคนนั้นยิ้มรับโดยไม่โต้ตอบสักคำหรือท่าทางสักอย่าง ผมได้มารู้ทีหลัง เธอบอกว่า “ขอบคุณค่ะ”(เป็นภาษามือ)

 

“วันนี้ เพลงนี้เป็นเพลงที่ยากสำหรับผมที่สุดเลยครับ”

                พี่บอย ตรัย ภูมิรัตน เสียบไมค์เข้ากับขาตั้งไมค์ ทำสองมือให้ว่างเข้าไว้ เตรียมพร้อมสำหรับร้องเพลง พื้นที่เล็กๆ ให้น้องๆ ฟัง ผ่านภาษามือที่พวกเขาถนัด ทว่าพี่บอยกลับไม่ถนัดตาม ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าน้องๆ เหล่านั้นจะเข้าใจในภาษามือที่เก้ๆ กังๆ และเขินๆ ของพี่บอยได้หรือปล่าว หากแต่เพลงนั้นได้เรียกเสียงปรบมือได้ดังเป็นอันดับสองรองจากเพลงหนึ่งในหลากบทเพลงในงานครั้งนี้ เรียกได้ว่าเกรียวกราวเชียวแหละ มันเป็นบทพิสูจน์ได้ดีทีเดียว ว่าการพยายามให้บทเพลงเพราะผ่านท่าทางของพี่บอย ทำให้พวกเรารู้สึกอบอุ่นตื้นตันอย่างบอกไม่ถูกเช่นไร ผมเชื่อว่ามันน่าจะไปถึงน้องๆ ด้วย ซึ่งพวกเขาอาจจะไม่เข้าใจด้วยท่าทางที่น่ารักๆ ของพี่บอย ทว่าคงจะสัมผัสได้ด้วยหัวใจ ...หัวใจที่ไม่มีตัวตน

 

กลิ่นไรอะ กลิ่นไรอะ 

                เป็นเสียงที่ผมอยากจะได้ยิน หลังจากที่ทำภารกิจครั้งสุดท้ายในคอนเสิร์ตครั้งนี้ ด้วยการฉีดน้ำหอมชนิดหนึ่งทั่วงาน จากความตั้งใจของทีมงาน ด้วยอยากให้บทเพลงเพราะๆ ของวง อีทีซี มีกลิ่นของน้ำหอมแบบหวานๆ น่าจะทำให้ผู้ชมรวมถึงน้องๆ ได้รับอรรถรสที่แตกต่างไปจากเดิมและสัมผัสได้ด้วยจมูก หลังจากกลิ่นจางหายได้ไม่นานนัก บทเพลงที่เรียกเสียงกรี๊ดและปรบมือที่ดังที่สุดในงานครั้งนี้ก็ได้เกิดขึ้น เพลงเสียงในความเงียบ ดังกึกก้องสยบผู้ชมทั่วโรงภาพยนตร์สกาล่าให้มาสนใจ ด้วยลีลาน้ำเสียงที่ชวนให้ขนลุกของพี่คิวจาก วงฟลัวร์ และเซอร์ไพร์ทเล็กๆ ที่ทีมงานจัดเตรียมไว้ให้ โดยที่ บริษัทจอกว้างฟิล์มเป็นผู้ถ่ายทำภาพยนต์ประกอบเพลง ด้วยภาษามือของดาราหลายๆ คนที่เป็นขวัญใจของคนไทยทั้งประเทศ ช่วงนั้นได้รับเสียงปรบมือและกรี๊ดกร๊าดทั่วไป ทว่าจะเทียบไม่ได้เมื่อเทียบกับเสียงของบุคคลสุดท้ายที่มาแปลบทเพลงเป็นภาษามือเพื่อให้น้องๆ รับฟัง หากผมจำไม่ผิดท่อนนั้นร้องว่า เสียงที่ดังมาจากดวงใจของคนที่รักเธอจริง ด้วยท่าทางการแปลบทเพลงของท่าน นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผมก็เป็นหนึ่งในเสียงปรบมือและเสียงกรี๊ดจนคอผมแหบแห้งไปพร้อมกับหลายๆ คน

               

         คอนเสิร์ตจบลงแล้ว ผู้ชมทยอยกันกลับ ด้วยเวลาและบรรยากาศที่กำลังพอดี ทุกคนเอายิ้มกลับไปบ้าน พร้อมด้วยบุญก้อนโตที่เราร่วมสร้างกันขึ้นมา ผมร่ำลาชายที่เป็นทั้งครูและพี่ที่แสนดี พี่วิภว์ บูรพาเดชะ และพี่ๆ ทีมงานhappening ก่อนเดินออกจากโรงภาพยนตร์ผมแอบหยิบลูกโป่งที่ติดตามเก้าอี้มาด้วยหนึ่งลูก ปล่อยลมมันออก เก็บใส่กระเป๋ากางเกงแล้วจึงกลับบ้านด้วยอารมณ์คั่งค้างบางอย่าง อาจเป็นเพราะเพลงเสียงในความเงียบก็ได้ ที่มันสะกิดต่อมอารมณ์ ผมซื้อบัตรบีทีเอส เพื่อที่จะไปขึ้นรถตู้ที่หมอชิต ก่อนประตูรถไฟฟ้าจะปิดลง ผมหันกลับไปทางโรงภาพยนต์สกาล่า คล้ายลืมบางสิ่งไว้ ผมคิดในใจ จะระบายมันออกมาอย่างไรดี

 

ถึงห้องแล้ว เหนื่อยชิบหาย” –ผมบ่นพึมพำกับตัวเอง เพราะด้วยระยะทางจากสยามถึงรามอินทรา มันยาวนานเกินกว่าที่คนบ้านอยู่ราชเทวีจะเข้าใจ ผมเปิดไฟ เปิดคอม แล้วไปอาบน้ำอาบท่า พร้อมเข้านอน หลังจากเสร็จสรรพจากการอาบน้ำ ผมก็ไปรื้อเอาซีดีออกจากดงของที่ระลึกในถุงผ้าสีสวยในงาน ใส่ไปในเครื่องเล่นซีดี นั่งฟังเพลง เสียงในความเงียบ ให้เพลงมันเล่นวนอยู่อย่างนั้น เผื่อจะคิดหาเอาอะไรมาระบายความรู้สึกบางอย่าง ฟังอย่างตั้งใจได้สักพักจึงนึกขึ้นได้ เลยเดินไปหยิบลูกโป่งในกางเกงที่ตากผึ่งอยู่ระเบียงหลังห้อง มานั่งเป่าพอดีไม่ให้มันแตกแล้วกอดมันอย่างหลวมๆ จากนั่งกลายเป็นนอน จากนอนเล่นๆ เป็นนอนอย่างจริงจัง ผมเผลอหลับไปไม่รู้ตัว   ...ตื่นขึ้นมาอีกที ไฟที่เปิดอยู่กลับปิด แอร์ที่เย็นอยู่กลับไม่ทำงาน คอมที่เปิดอยู่กลับปิด เสียงที่เคยได้ยินกลับไม่ได้ยิน พบว่าไฟดับครับ ลูกโป่งสีขาวยังถูกผมกอดเดินไปมาเพราะความกระวนกระวายจากความร้อน ขณะนี้ห้องผมเงียบกริบ เงียบ เงียบจนผมได้ยินเสียงหัวใจตนเองจากความสั่นของลูกโป่งที่ผมกอด จากนั้นหัวผมก็กลับไปคิดเรื่องงานคอนเสิร์ตครั้งนี้ ผมเงื้อมมือไปหยิบสมุดเล่มเล็กๆ วาดภาพลูกโป่งสีขาวพร้อมกับตัวโน๊ตมากมาย ใต้ภาพผมเขียนว่า ได้ยินจากการสัมผัส ได้รักจากกำลังใจ


จากนั้นผมตัดสินใจที่จะนั่งเขียนเรื่องเล่าเกี่ยวกับคอนเสิร์ตครั้งนี้ ด้วยหวังว่าจะแบ่งปันความรู้สึกอัดอั้นหลังจากงานจบ ผมเดินไปที่ปลายเตียงพร้อมแสงจากโทรศัพท์มือถือ ไปหยิบเทียน ไฟแช้ค กระดาษเปล่า ดินสอ และยางลบ ก่อนเขียนผมจุดเทียนเพื่อให้มีแสงเพียงพอไม่ให้การเรียงร้อยถ้อยคำครั้งนี้ทำให้ผมปวดตามากนัก ผมทำสมาธิก่อนที่จะลงมือเขียนมัน แต่ก็ต้องบ่นพืมพำกับตัวเองว่าจะเริ่มงานเขียนชิ้นนี้ด้วยข้อความอะไร จึงจะสะกิดให้ผู้คนอยากจะติดตามอ่านต่อดี คิดอยู่ได้ชั่วครู่...

ไฟที่ดับอยู่ก็ตื่นขึ้นพร้อมแสงสว่าง เครื่องเล่นซีดีทำงานอัตโนมัติตามกระแสไฟที่ไหลผ่านมัน บทเพลงที่เคยได้ยินก่อนหลับดังขึ้น ลูกโป่งสีขาวที่ผมกอดสั่นทะเทือนจากความดังสูง-ต่ำของบทเพลง ด้วยตอนนั้นคล้ายมีแรงบันดาลใจทิ่มแทงหัวใจผม จนมันเต้นเร้าๆ ผมเริ่มบรรจงด้วยประโยคแรกจนถึงคำสุดท้าย ย้อนกลับมามองลูกโป่งแล้วผมก็ตั้งชื่องานเขียนชิ้นนี้ว่า กาลครั้งหนึ่ง ความเงียบ

 

ในความเงียบนั้น ถ้าเธอยังอยากจะได้ยินเสียง

ขอเพียงเธอเปิดใจไว้ หัวใจเธอจะได้ยิน

มันอาจเป็นเสียงที่เธอไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน

เสียงนั้นดังมาจากความงามแท้จริง

ผู้คนมากมายโหยหวนครวญคร่ำพึมพำร่ำร้อง

เสียงดังขันแข็งแย่งฟ้องตะโกนบ่นกันไม่ฟัง

จะมีบ้างไหมใช้ความเงียบมาพูดกันสักครั้งหนึ่ง

แล้วลองฟังดูว่าข้างในได้ยินเป็นเสียงอะไร

ซุ่มเสียงดังเบาร้อยเรียงถ้อยคำ

สูงๆ ต่ำๆ เกิดทำนองของเพลง

แต่เสียงที่เพราะหนักหนา

งดงามยิ่งกว่าทุกสรรพสำเนียง

นั้นก็คือเสียงที่ดังจากหัวใจ

ในความเงียบนั้น ถ้าเธอยังอยากจะได้ยินเสียง

ขอเพียงเธอเปิดใจไว้ หัวใจเธอจะได้ยิน

อยากให้ฟังเสียงที่เธอไม่เคยได้ยินสักครั้งหนึ่ง

เสียงที่ดังมาจากดวงตาของคนที่เขาจริงใจ

                                                                                                                                                        เสียงที่ดังมาจากดวงใจของคนที่รักเธอจริง
 

 


 

ผมไม่รู้จักกลิ้ง เป็นการส่วนตัว แต่ผมรู้สึกได้ว่า ณ ตอนนี้ เรากับน้องที่ไม่ได้ยิน ไม่ได้แตกต่างกันในความรู้สึกของคนอีกหนึ่งคน

ผมไม่เคยรู้สึกว่า ใครพิการ... เพียงแค่เรามีไม่เท่ากัน 

คำพูดหนึ่งของ โอโตทาเกะ ฮิโรทาดะ "ผมหวังว่านักเรียนของผมจะยอมรับ  และรู้สึกว่าธรรมชาติสร้างให้แต่ละคนเกิดมาต่างกัน ผมผ่านชีวิตมาไกลบนพื้นฐานความคิดง่ายๆ ว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ผมท้าทายตัวเองให้ทำในสิ่งที่อยากทำ  และผมอยากให้สังคมเลิกมองแค่ความพิกลพิการของผม แต่อยากให้ยอมรับความพิการนั้น"

 "ฌ็อง-โดมินิก โบบี้"   (Jean-Dominique Bauby) นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และบรรณาธิการของนิตยสาร ELLE ผู้ที่เคยเป็นที่ยอมรับของสังคม จนเมื่อวันที่วันที่ 8 ธันวาคม 1995 จู่ๆ เขาก็เกิดอาการเส้นเลือดสมองแตก ทำให้ก้านสมองเสียหาย และเมื่อฟื้นขึ้นมาเขาก็พบว่าตัวเองไม่สามารถพูดได้ และเป็นอัมพาตเกือบทั้งตัว เขาสามารถเคลื่อนไหวศีรษะได้เพียงเล็กน้อย ส่งเสียงอืออาและกระพริบตาซ้ายได้เท่านั้น  

 แต่ในระหว่างที่เขาตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น เขากลับมีแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือที่ชื่อว่า Le Scaphandre et Le Papillon (แปลเป็นภาษาไทยชื่อชุดประดาน้ำและผีเสื้อ) เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ให้กับลูกของเขา โดยให้คนท่องชุดตัวอักษรที่เรียงตามความถี่ในการใช้ในภาษาฝรั่งเศส และฌ็อง-โดมินิก โบบี้จะกระพริบตาเมื่อถึงตัวอักษรที่เขาต้องการ ซึ่งหนังสือของเขาวางขายในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2540 และขายได้ถึง 150000 เล่มในสัปดาห์แรก แต่อีกสามวันต่อมาเขาเสียชีวิต ซึ่งไม่มีการเปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตของเขา 

"ชีวิตในสภาพที่ไม่สมศักดิ์ศรี ไม่อาจลดค่าความเป็นมนุษย์ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความหวังลงได้ แม้ทุกวินาทีที่มีชีวิตอยู่เพียงแค่เพื่อขยับเปลือกตา แต่ไม่มีสักเสี้ยวที่ผมจะร้องขอให้ปลิดชีวิต ปลดปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง" ฌ็อง-โดมินิก โบบี้ เคยกล่าวไว้

 

 แรงบันดาลใจ และกำลังใจในการใช้ชีวิตสำคัญอย่างยิ่ง คนที่มีความพิการทางกาย ไม่ได้หมายความว่า จะต้องการสงสารเสมอไป เขาเองก็ต้องการการยอมรับ ในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง 

ในญี่ปุ่น คนพิารจะถูกมองเป็นมนุษย์คนหนึ่งเท่าเทียมกับมนุษย์คนอื่น จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ถ้าคนพิการไม่ร้องขอ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เชื่อได้ว่า คนญี่ปุ่นให้คุณค่ากับคนพิการเท่ากับคนอื่นๆ แต่ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีสวัสดิการสำหรับคนพิการ ดีมาก ประเทศหนึ่งโลก แทบทุกที่ มีทางขึ้นลงสำหรับรถเข็น มีทางสำหรับคนตาบอด (ไอ้พื้นปุ่มๆที่เราอาจจะเห็นตามสวนสาธารณะ เช่น สวนสันติ)

รถไฟฟ้าใต้ดินในญี่ปุ่น ก็จะมีป้ายอักษรเบลล์ สำหรับคนพิการ เท่ มั้ยล่ะ

สำหรับประเทศไทย คนพิการจะอยู่สะพานลอย ร้องเพลงบ้าง ขายลอตเตอรี่บ้าง ทางเดินคนพิการไม่มี หรือมีน้อยถึงน้อยที่สุด

แล้วเราจะอำนวยให้คนพิการ ดำรงชีวิตได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีศักดิ์ศรีอย่างเต็มภาคภูมิได้อย่างไร

อันนี้ต้องฝากคิดกันทุกคนนะครับ ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง นั่นคือสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ    ที่ต้องคิดด้วยว่าจะส่งเสริมความเท่าเทียมในให้คนมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ได้เท่ากัน อย่างไร? 

...วันหนึ่งผมกับแฟนเดินบนสะพานรถไฟฟ้าตรงอนุสาวรีย์ชัย

มองเห็นชายตาบอดคนหนึ่ง เดินด้วยไม้เท้าประจำกาย

ระหว่างที่กำลังมองอยู่นั้น ชายคนนั้นกำลังเดินตรงไป ได้รับการหลบให้คนคนรอบๆ คาดว่าเขาจะไปยังรถไฟฟ้า เรามองเห็นเขาเดินตรงไป เดินตรงไปและชนสันของป้ายโฆษณาที่อยู่บนทางเดิน  

เราไม่ได้ช่วยเหลือเขา แต่ภาพนั้นยังติดตา... 

 

ยังมีคนพิการอีกหลายคน ที่ทำให้เราเห็นว่า ความพิการทางกายไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต

เขาได้พยายามใช้ชีวิต พยายามปกติ พยายามไม่เป็นภาระของใคร 

แต่ความพิการทางใจของคนเราต่างหากครับ ที่ทำให้เราอยู่ด้วยกันได้อย่างยากลำบาก 

 

จงมอง ยอมรับ และให้โอกาสคนพิการ ในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพคนหนึ่ง 

ไม่ใช่สงสาร เพราะเขาพิการ 

 

วันไหนนะ ที่รัฐไทยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการในประเทศเราได้ดีกว่าเป็นอยู่

 

ข้อมูลอ้างอิง

หมายเลขบันทึก: 289097เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2009 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

แพ้กอค่ะ กอมีตั้งสี่เมล์ อิอิ

โอ้โห คุณตาเหลิม

ยายลายหมดแล้วค่ะ ไปตัดแว่นก่อนน่ะค่ะ อิอิ แล้วมาอ่านใหม่

คนพิการก็ยังเป้นปัญหาใหญ่ที่ไม่รู้ว่า

เมื่อไหร่...

จะได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจังซักที่

นักเรียนในโรงเรียน ก็พิการ(ทางใจ) หลายคนครับ

ขอบคุณครับ

สำหรับการลงบทความให้ครั้งนี้

: )

กลิ้ง

(แบ่งปันความสุขกันครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท