มารู้จักกันเถอะ : บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ


NON – RESIDENT BAHT ACCOUNT

มารู้จักเถอะ : บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ [1]

(NON - RESIDENT BAHT ACCOUNT)

 

บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ

          คือ การเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารในประเทศไทยเป็นสกุลเงินบาท โดยธนาคารในประเทศไทยที่รับเปิดบัญชีจะเรียกบัญชีนี้ว่า "NON - RESIDENT BAHT ACCOUNT"

          การเปิดบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ (1) บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่น (NON - RESIDENT BAHT ACCOUNT FOR SECURITIES) เช่น หลักทรัพย์ พันธบัตร สัญญาล่วงหน้า ดอกเบี้ยรับจากการลงทุน หรือ เงินประกันที่เกี่ยวข้องกับสัญญาล่วงหน้า และ (2) บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป (NON - RESIDENT BAHT ACCOUNT: NRBA) เช่น ค่าสินค้า, บริการ, เงินลงทุนโดยตรง, การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์, เงินกู้ยืม หรือ เงินเพื่อการชำระธุรกรรมอื่นๆ

 

ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ  (NON - RESIDENT)[2]

          "ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ" ที่จะเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารในประเทศไทยในรูปแบบบัญชีที่เรียกว่า "NON - RESIDENT BAHT ACCOUNT" นั้นหมายถึง

  • (1) กิจการ สถาบัน กองทุน สถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทย
  • (2) องค์กรของรัฐบาลต่างประเทศที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทย
  • (3) สำนักงานสาขาและตัวแทนของนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศซึ่งตั้งอยู่นอกประเทศไทย
  • (4) บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย และไม่มีใบต่างด้าวหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

          ทั้งนี้ ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ไม่รวมถึง

  • (1) สถานทูตไทย สถานกงสุลไทย หรือหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทย
  • (2) สถานทูตต่างประเทศ สถานกงสุล ทบวงการชำนัญพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ องค์การหรือสถาบันระหว่างประเทศที่ประจำการในประเทศไทย
  • (3) สำนักงานสาขาและตัวแทนนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย

          อนึ่ง กรณี "บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย และไม่มีใบต่างด้าวหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย" นั้นหมายถึง คนต่างด้าวในกรณีใดบ้าง ? กล่าวคือ หมายถึงเฉพาะ "คนต่างด้าวที่เข้าเมืองชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวอยู่ในประเทศไทย" หรือหมายความรวมถึง "คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว" หรือคนต่างด้าวกรณีอื่นๆ

          และ "บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย และไม่มีใบต่างด้าวหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย" หากจะเปิดบัญชีเงินฝากเหมือนเช่นคนไทยหรือคนสัญชาติไทยสามารถของเปิดบัญชีดังกล่าวได้หรือไม่ โดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.77/2551 เรื่องการกำหนดให้สถาบันการเงินปฏิบัติในเรื่องการรับฝากหรือรับเงินจากประชาชน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2551

          ...ข้อที่ 5.3 สถาบันการเงินต้องจัดให้มีเอกสารแสดงตน หรือสำเนาเอกสารดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการขอเปิดบัญชีเงินฝากอย่างน้อยดังต่อไปนี้ และต้องให้ลูกค้าลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารหลักฐานดังกล่าวไว้ด้วย...

          ...ข้อที่ 5.3.5 สำหรับลูกค้าที่ไม่ใช่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย หรือไม่ใช่นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย เอกสารที่ต้องมีได้แก่ หนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือเอกสารหลักฐานแสดงตนที่ออกหรือรับรองโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ

          เอกสารแสดงตนตามที่กล่าวข้างต้น ให้หมายความรวมถึง ใบแทน หรือบัตรชั่วคราวที่ใช้ระหว่างรอการออกเอกสารดังกล่าวด้วย...

          ทั้งนี้ เพราะ "เอกสารหลักฐานแสดงตนที่ออกหรือรับรองโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ" ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.77/2551 นี้อาจจะหมายถึง เอกสารของ "คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว" หรือคนต่างด้าวกรณีอื่นๆก็ได้

 

บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ[3]

          บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวคือ (1) บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่น (NON - RESIDENT BAHT ACCOUNT FOR SECURITIES) และ (2) บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป (NON - RESIDENT BAHT ACCOUNT: NRBA) มีรายละเอียดสำคัญๆดังนี้

          (1) บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่น (NON - RESIDENT BAHT ACCOUNT FOR SECURITIES)

          ก. การเปิดบัญชี NRBS ให้เปิดเป็นบัญชีประเภทเงินฝากกระแสรายวันหรือเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น

          ข. ให้สถาบันการเงินงดการจ่ายดอกเบี้ยบัญชี NRBS เว้นแต่กรณีที่เจ้าของบัญชีเป็นธนาคารกลางของประเทศอื่นหรือได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณี

          ค. ให้สถาบันการเงินคุมบัญชี NRBS ให้มียอดคงค้าง ณ สิ้นวันไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อราย โดยให้นับรวมบัญชี NRBS ทุกประเภทของ NR รายนั้นที่มีอยู่กับสถาบันการเงินในประเทศทุกแห่งเว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณี

          ง. ให้สถาบันการเงินจัดเตรียมข้อมูลไว้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถจะเข้าตรวจสอบได้ตลอดเวลาและขอให้สถาบันการเงินกำกับดูแลให้การใช้บัญชี NRBS เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกรรมการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่น ตามที่ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินกำหนดเท่านั้น

          (2)บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป (NON - RESIDENT BAHT ACCOUNT: NRBA)

          ก. ในการเปิดบัญชี NRBA เพื่อวัตถุประสงค์ในการ settlement ของ NR ให้เปิดเป็นบัญชีประเภทเงินฝากกระแสรายวันหรือเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น สำหรับการเปิดบัญชีเพื่อการอื่นให้เปิดเป็นบัญชีเงินฝากประจำอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป

          ข. ให้สถาบันการเงินงดการจ่ายดอกเบี้ยบัญชี NRBA ประเภทเงินฝากกระแสรายวันหรือเงินฝากออมทรัพย์เว้นแต่กรณีที่เจ้าของบัญชีเป็นธนาคารกลางของประเทศอื่นหรือได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณี[4]

          ค. ให้สถาบันการเงินคุมบัญชี NRBA ให้มียอดคงค้าง ณ สิ้นวันไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อราย โดยให้นับรวมบัญชี NRBA ทุกประเภทของ NR รายนั้นที่มีอยู่กับสถาบันการเงินในประเทศทุกแห่งเว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณี

          ง. ให้สถาบันการเงินจัดเตรียมข้อมูลไว้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถจะเข้าตรวจสอบได้ตลอดเวลาและขอให้สถาบันการเงินกำกับดูแลให้การใช้บัญชี NRBA เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกรรมการค้าและการลงทุนในประเทศไทย ตามที่ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินกำหนดเท่านั้น

 

ข้อส่งท้าย

          เงินฝากในบัญชีประเภทบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ หรือ NON - RESIDENT BAHT ACCOUNT จะได้รับการคุ้มครองเงินฝากตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 หรือไม่ ... คำตอบ??? ...

 


[1] อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุลและอาจารย์สิทธิพร ภู่นริศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

[2] หนังสือเวียนที่ ธปท.ฝกช.(02)ว.37/2551 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 เรื่อง ขอความร่วมมือสถาบันการเงินปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินจัดทำรายงานการทำธุรกรรมกับผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident: NR)

[3] อ้างแล้ว

[4] บัญชีเงินฝากประจำอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป จ่ายดอกเบี้ยได้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ

หมายเลขบันทึก: 289091เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2009 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท