ข้อเสนอเชิงแนวคิดพื้นฐานในการจัดทำเกณฑ์ในการประเมินรายการโทรทัศน์ในทีวีไทย


ในการพิจารณาคุณภาพของรายการโทรทัศน์ในสถานีทีวีไทย เป็นการประเมินเชิงคุณภาพในรายการแต่ละรายการที่ต้องอาศัยกระบวนการของการมีส่วนร่วมของผู้ชมผู้ฟัง นอกจากนั้นแล้ว ในแง่การประเมินภาพรวมของสถานีทีวีไทย ความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประเมินภาพรวมของการแบ่งปันพื้นที่ในการนำเสนอรายการที่ครอบคลุมในทุกมิติของเนื้อหาสาระอย่างมีเทคนิค

(๑)  ข้อเสนอเชิงแนวคิดพื้นฐานในการจัดทำเกณฑ์ในการประเมินรายการโทรทัศน์ในทีวีไทย

เพื่อตอบโจทย์ “ความเป็น” ของทีวีสาธารณะทั้งในเชิงเนื้อหาสาระ คุณค่า ตลอดจน การมีส่วนร่วมของประชาชนอันเป็น “อัตลักษณ์” เฉพาะของสถานีทีวีไทย ข้อเสนอเชิงแนวคิดพื้นฐานในการจัดทำเกณฑ์ในการประเมินรายการโทรทัศน์ในทีวีไทย โดยพิจารณาประเมินคุณภาพเนื้อหาของรายการโทรทัศน์จากแนวคิดพื้นฐานหลัก ๓ ส่วน

ส่วนที่ ๑        พิจารณาจำแนกกลุ่มเนื้อหาสาระของรายการโทรทัศน์แต่ละกลุ่ม ประเภท เช่น รายการข่าว รายการสาระประโยชน์ รายการบันเทิง โดยจะเป็นที่จะต้องพิจารณาการกระจายความเท่าเทียมของเนื้อหาสาระที่คลอบคลุมทั้ง ๖ กลุ่ม กล่าวคือ (๑) การสร้างเสริมระบบคิดเชิงปัญญา (๒) การสร้างเสริมความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆทั้งศาสตร์ธรรมชาติ ศาสตร์ประยุกต์ การเมือง การปกครอง (๓) การสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม (๔) การสร้างเสริมความรู้ในทักษะชีวิตให้กัลบคนกลุ่มต่างๆวัยต่างๆ (๕) การสร้างเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมาฉันท์บนความหลากหลายในทุกมิติ เช่น สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ และ (๖) การสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคนในสถาบันครอบครัว ชุมชน ประเทศ

ส่วนที่ ๒  การพิจารณาจากระดับคุณค่าของเนื้อหาสาระของรายการ โดยเสนอให้ประกอบด้วยเกณฑ์หลัก ๔ เรื่อง กล่าวคือ

เกณฑ์ที่ ๑ ระดับคุณค่าของเนื้อหาสาระ ซึ่งประกอบด้วย ๓ ระดับ กล่าวคือ ระดับรู้ ระดับเข้าใจและสามารถนำไปใช้ในชีวิต และ ระดับการสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในสังคม ตลอดจนเกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหา

เกณฑ์ที่ ๒        ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสรรค์รายการ ซึ่งจะต้องวางกรอบพื้นฐานจาก ๓ ส่วนหลัก (๑) เทคนิคในการสร้างสรรค์รายการเพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจ การติดตาม (๒) ความแปลกใหม่อย่างสร้างสรรค์ (๓) เทคนิคในการแปลงสารให้เข้าใจได้ง่ายกับผู้ชมทุกกลุ่ม

เกณฑ์ที่ ๓        การพิจารณากรอบพื้นฐานในการผลิตรายการในแต่ละประเภท ซึ่งจะต้องวางกรอบพื้นฐานจากจริยธรรมวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน ในรูปแบบรายการต่างๆ กล่าวคือ รายการข่าว รายการสำหรับเด็ก เยาวชน เป็นต้น

เกณฑ์ที่ ๔        การพิจารณาจากระดับการมีส่วนร่วมของผู้ชมผู้ฟัง ซึ่งจะต้องวางกรอบพื้นฐานใน ๓ ส่วน กล่าวคือ (๑) การกระจายโอกาสในการเข้าถึงในการรับชมรายการโทรทัศน์อย่างเท่าเทียม (๒) การเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมในการผลิต พัฒนารายการ และ (๓) การมีส่วนร่วมในการพัฒนารายการโดยการรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ชม ผู้ฟัง

ส่วนที่ ๓        กลไกการทำงานเพื่อประเมินระดับความพึงพอใจของผู้ชมผู้ฟัง ทั้งในระดับเชิงปริมาณและระดับเชิงคุณภาพซึ่งต้องเน้นการให้ผู้ชมผู้ฟังมีส่วนร่วมในฐานะกลไกในการประเมิน พื้นฐานที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ กลุ่มประชากรเป้าหมายของการประเมิน จำเป็นที่จะต้องพิจารณาในแง่ (๑) ภาพรวมที่ได้ผลลัพธ์จากการประเมินโดยผู้ชมผู้ฟัง และ (๒) การวิเคราะห์เชิงลึกจำแนกตามประเภทรายการและกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลเชิงวิเคราะห์จากผู้ชมผู้ฟังในกลุ่มเฉพาะที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของรายการ

(๒) ข้อสรุปและบทส่งท้าย

        ในการพิจารณาคุณภาพของรายการโทรทัศน์ในสถานีทีวีไทย เป็นการประเมินเชิงคุณภาพในรายการแต่ละรายการที่ต้องอาศัยกระบวนการของการมีส่วนร่วมของผู้ชมผู้ฟัง ที่สำคัญก็คือ การเชื่อมต่อระหว่างผลลัพธ์การประเมินกับกรรมการชุดต่างๆของสถานีและ สภาผู้ชม ผู้ฟัง เพื่อทำให้เกิดกระบวนการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ผลิต ผู้ชมผู้ฟัง และกรรมการของสถานี

        นอกจากนั้นแล้ว ในแง่การประเมินภาพรวมของสถานีทีวีไทย ความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประเมินภาพรวมของการแบ่งปันพื้นที่ในการนำเสนอรายการที่ครอบคลุมในทุกมิติของเนื้อหาสาระอย่างมีเทคนิค กล่าวคือ การแบ่งปันพื้นที่อย่างเท่าเทียม ทั้งความหลากหลายในเชิงกลุ่มบุคคล ความหลากหลายในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ หรือ อาจจะแบ่งปันพื้นที่อย่างมีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ หรือ เปลี่ยนแปลงสังคม หมายถึงอาจจะเน้นในเนื้อหาสาระด้านใดด้านหนึ่งโดยพิจารณาจากความต้องการของสังคม โดยเปิดโอกาสให้กับผู้ผลิตทั้งมืออาชีพ และ ผู้ผลิตหน้าใหม่ อีกทั้ง ผู้ผลิตจากเครือข่ายชุมชน เพื่อทำให้ภาพรวมของรายการโทรทัศน์ของทั้งสถานีตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมผู้ฟังอย่างเท่าเทียมในทุกกลุ่มในสังคมไทย

หมายเลขบันทึก: 289084เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2009 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 02:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท