แนวติดพื้นฐานเกี่ยวกับเกณฑ์ในการประเมินรายการโทรทัศน์ของสถานีทีวีไทย ตอนที่ ๑


ในการพิจารณาคุณภาพของรายการโทรทัศน์ในสถานีทีวีไทย เป็นการประเมินเชิงคุณภาพในรายการแต่ละรายการ ดังนั้น การศึกษาหลักการและความจำเป็น ตลอดจน องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ที่ปรากฎในสังคมไทย จึเป้นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาเกณฑ์ในการประเมินเชิงคุณภาพที่มีประสิทธิภาพ

แนวติดพื้นฐานเกี่ยวกับเกณฑ์ในการประเมินรายการโทรทัศน์ของสถานีทีวีไทย (ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม)

โดย อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล

 

(๑)  ความเป็นมาของการยกร่างแนวคิดพื้นฐาน

หลังจากได้รับการประสานจากคุณโสภิต หวังวิวัฒนา จากทีวีไทย ในการเข้าร่วมเวทีวิชาการเพื่อสังเคราะห์เกณฑ์ในการประเมินคุณภาพของรายการโทรทัศน์ในสถานีทีวีไทย ซึ่งรับผิดชอบโครงการโดยสำนักเอแบคโพลล์ มหาวทิยาลัยอัสสัมชัญ โดยได้จัดเวทีวิชาการในวันเสาร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมชั้น ๑๓ สถานีทีวีไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิโดยเฉพาะหน่วยงานภาควิชาการและ ภาคประชาชน ในการประชุมวิชาการดังกล่าวทำให้เกิดการสังเคราะห์องค์ความรู้ในการประเมินเชิงคุณภาพของรายการโทรทัศน์ในสถานีทีวีไทย จึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อทำให้เห็นถึงหลักการและเหตุผล ตลอดจนการทบทวนองค์ความรู้พื้นฐาน อันนำไปสู่การพัฒนากรอบแนวคิดพื้นฐานในการประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ และ กลไกในการทำงานภายใต้การให้คำแนะนำของ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อทำให้เกิดการจัดทำเกณฑ์การประเมินรายการโทรทัศน์ฯในรายละเอียดต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(๒) หลักการและความจำเป็นเบื้องต้น

ความจำเป็นเบื้องต้นของการพัฒนาเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ในทีวีไทย เกิดขึ้นด้วยสาเหตุหลักจากพื้นฐานทางข้อบัญญัติทางกฎหมายแห่ง พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพ.ศ. ๒๕๕๑ ในมาตรา ๕๐[1] ที่ได้บัญญัติถึงแนวทางในการประเมินผลเชิงคุณภาพในด้านการทำงานขององค์การแพร่ภาพฯ ในสามส่วนหลักๆ กล่าวคือ (๑) ด้านประสิทธิผลในด้านประสิทธิภาพ ในด้านการพัฒนาองค์การ (๒) ในด้านการสนับสนุนจากประชาชน จำนวนและความพึงพอใจของผู้รับชมหรือรับฟังรายการ และ (๓) ในรายละเอียดอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายจะได้กำหนดเพิ่มเติมขึ้น

กล่าวโดยเฉพาะของด้านการสนับสนุนจากประชาชน ทั้งด้านจำนวน และความพึงพอใจ ของผู้รับชมหรือรับฟังรายการนั้น จำเป็นที่จะต้องพิเคราะห์ถึงทั้ง ส่วนของจำนวนผู้ชม หรือ ผู้ฟังโดยพิจารณาจากจำนวนเชิงปริมาณเป็นหลัก และ ส่วนของระดับความพึงพอใจของผู้ชมหรือผู้ฟัง

        ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ระดับความพึงพอใจนั้นหมายถึงอะไรบ้าง?  มีเกณฑ์ในการประเมินระดับความพึงพอใจอย่างไร? อีกทั้ง กระบวนการหรือวิธีการในการสำรวจะดับความพึงพอใจนั้นมีแนวคิดและกระบวนการอย่างไร ?

ในเบื้องต้นระดับความพึงพอใจของผู้ชมหรือผู้ฟังนั้นสามารถพิจารณาจากแนวคิดพื้นฐานหลัก ๓ ส่วน กล่าวคือ ส่วนแรก คุณภาพของรายการโทรทัศน์ในทีวีไทยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในฐานะพลเมืองหรือไม่ อย่างไร ? ส่วนที่ ๒ การกระจายโอกาสในการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองเจ้าของสิทธิในคลื่นความถี่ เท่าเทียมหรือไม่ มีโอกาสในความเป็นจริงหรือไม่อย่างไร ? ทั้งในแง่ของการเข้าถึง เข้าใช้บริการต่างๆของสถานีทีวีไทย โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสในสังคม[2]

เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปที่ประเด็นเรื่องของเนื้อหาและคุณค่าของรายการโทรทัศน์ในทีวีไทย ในกฎหมายฉบับนี้เองได้กำหนดเนื้อหาสาระและคุณค่าไว้ในมาตรา ๔๓ เอง ดังนั้น กรอบแนวคิดหลักในการประเมินคุณภาพของรายการโทรทัศน์ในทีวีไทยจึงประกอบด้วย เนื้อหาและคุณค่าของรายการใน ๖ หมวดหมู่  (๑) ข่าวสารที่มีผลกระทบต่อสาธารณะที่เสนออย่างเที่ยงตรง รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์รอบด้าน และเป็นธรรม ในสัดส่วนที่พอเพียงในช่วงที่มีผู้รับชมและรับฟังมาก (๒) รายการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่สำคัญต่อสาธารณะซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างกันในสังคม บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องมีสมดุลของความคิดเห็นฝ่ายต่าง ๆ และมีการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล (๓) รายการที่ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและรายการที่ส่งเสริมการศึกษาในวิทยาการสาขาต่าง ๆ และการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอย่างเพียงพอ โดยคำนึงถึงเวลาที่สะดวกต่อการรับชมและรับฟัง (๔) รายการกีฬา นันทนาการ และรายการที่ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน (๕) รายการที่ส่งเสริมเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสมานฉันท์ในสังคม ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมมีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข้อมูลของตน (๖) รายการบันเทิงที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมคุณค่าที่ดีงามของสังคม หรือยกระดับสุนทรียภาพของประชาชน

ในขณะเดียวกัน ยังอาจจะมีการประเมินภาพรวมของสถานีทางด้านคุณภาพในการบริการจัดการเพื่อกระจายโอกาสและความเท่าเทียมในการผลิตรายการโทรทัศน์หรือวิทยุ โดยปรากฎใน มาตรา ๔๓ (๗) กล่าวคือ รายการที่เป็นการสนับสนุนผู้ผลิตรายการอิสระ ซึ่งต้องจัดสรรเวลาให้อย่างเพียงพอการจัดทำผังรายการเป็นดุลยพินิจขององค์การ และต้องไม่มีลักษณะที่เอื้อประโยชน์หรือตอบแทนในเชิงพาณิชย์

โดยหลักใหญ่ใจความสำคัญแล้ว หากพิจารณาที่คุณภาพของรายการโทรทัศน์เป็นหลัก จำเป็นที่จะต้องพิจารณาบนพื้นฐานของเนื้อหาและคุณค่าของรายการใน ๖ หมวดหมู่ข้างต้นเป็นแก่นสำคัญ

(๓) หลักการและความจำเป็นที่แท้จริง

นอกเหนือไปจากหลักการและความจำเป็นเบื้องต้นที่ถูกพิจารณาบนตัวบทกฎหมายแล้ว หากพิเคราะห์ถึงเจตนารมย์ที่แท้จริงของจัดตั้งสถานีทีวีไทย โดยพิจารณาจากมาตรา ๗[3] แห่ง พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ จะพบว่าสถานีทีวีไทยมีวัตถุประสงค์หลักๆ ๓ ส่วน กล่าวคือ

ส่วนที่ ๑                ดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรม บนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยผ่านทางบริการข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้านสมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ

ส่วนที่ ๒                ผลิตรายการทางด้านข่าวสาร สารประโยชน์ทางด้านการศึกษา และสาระบันเทิง ที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลายในมิติต่าง ๆ โดยมุ่งดำเนินการอย่างปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ และยึดถือผลประโยชน์ “สาธารณะ” เป็นสำคัญ

ส่วนที่ ๓                สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดทิศทางการให้บริการขององค์การเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการบริหารจัดการเพื่อทำให้เกิดการกระจายโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึง เข้าใช้ บริการด้านโทรทัศน์ วิทยุให้กกับทุกคนในสังคมไทยในฐานะพลเมือง รวมทั้ง ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน

ดังนั้น เป้าหมายในเบื้องลึกที่แท้จริงในการประเมินคุณภาพของรายการโทรทัศน์ เพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่ทีวีเชิงพาณิชย์ไม่อาจตอบสนองได้ กล่าวคือ (๑) เพื่อเป็นกลไกที่สำคัญเพื่อนำไปสู่การพัฒนารายการโทรทัศน์เชิงคุณภาพมากขึ้น อันมีเนื้อหาสาระที่มีเป้าหมายเพื่อการสร้างความรู้ให้กับมนุษย์ในสังคมไทยในทุกๆด้าน อันส่งผลต่อการพัฒนา “คน” “ชุมชน” และ “สังคม” ในมิติต่างๆ ตลอดจน (๒) การกระจายโอกาสของการมีส่วนร่วมของผู้ชมผู้ฟังในฐานะพลเมืองในการร่วมเป็น “เจ้าของ” ที่แท้จริงในกิจการวิทยุโทรทัศน์เพื่อสาธารณะ

ที่สำคัญก็คือ การออกแบบในการประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์นั้น จำเป็นที่จะต้องออกแบบเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อคณภาพของรายการโทรทัศน์ทั้งในมิติของคุณภาพรายการ และ ในมิติของกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ชมผู้ฟังอย่างเท่าเทียม และ ผลของการฟังเสียงนั้นมีผลต่อการพิจารณารายการอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “เสียงที่ฟังแต่ไม่ได้ยิน”

(๔) องค์ความรู้ว้าด้วยการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ สู่ การประเมินเชิงคุณภาพ

เพื่อทำให้เกิดการจัดทำเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ในทีวีสาธารณะ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวน “องค์ความรู้” ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์ที่ปรากฎอยู่ในสังคมไทย และ สังคมต่างประเทศ พบว่า โดยทั่วไปแล้ว มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์อยู่ ๒ แนวคิดหลักๆกล่าวคือ

แนวคิดที่ ๑     การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ เป็นผลการศึกษาวิจัยของชุดโครงการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว[4] ประกอบกับการพัฒนาองค์ความรู้มาสู่การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ในฟรีทีวี ภายใต้การศึกษาในชุดโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ เกมคอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต[5] ภายใต้แนวคิดนี้ ได้จำแนกระบบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์เป็น ๒ ระบบ กล่าวคือ ระบบการประเมินเชิงคุณค่าของเนื้อหาสาระใน ๖ กลุ่ม และ ระบบการจำแนกเนื้อหาตามช่วงวัยของผู้ชม

ระบบการประเมินคุณค่าของเนื้อหาและสาระ ใน ๖ กลุ่ม สาระดังนี้

ประเด็นที่ ๑  เนื้อหาที่ส่งเสริมให้เกิดระบบวิธีคิด กล่าวคือ ระดับที่ ๑ ให้คิดเป็นตามความสามารถของสมองในแต่ละวัย  ตลอดจนการส่งเสริมด้านพัฒนาการทางสมองและสติปัญญา ให้สามารถ มีความรู้ มีความเข้าใจ  ระดับที่ ๒ มีความสามารถในการประยุกต์  วิเคราะห์  สังเคราะห์  และประเมินผลได้อย่างเป็นระบบ  ระดับที่ ๓ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  การวางแผนการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

ประเด็นที่ ๒  เนื้อหาที่ส่งเสริมความรู้ในเรื่องวิชาการ  ตลอดจนความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ   ระดับที่ ๑ ให้สามารถเรียนรู้วิชาการในศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ  ตลอดจน ระดับที่ ๒ ศาสตร์ประยุกต์ และศาสตร์ในเชิงบูรณาการ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้  เช่น  ความรู้ในด้านภาษาศาสตร์  ตรรกะและคณิตศาสตร์  ดนตรี  กีฬา  และ ระดับที่ ๓ ความรู้ในด้านวิชาชีพ รวมถึง การสร้างความรักในการเรียนรู้

ประเด็นที่ ๓  เนื้อหาที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านคุณธรรม และจริยธรรม ให้เกิด ระดับที่ ๑ การเรียนรู้และเข้าใจถึงคุณธรรมและจริยธรรม  ตลอดจน  ระดับที่ ๒ เกิดความรู้สึกนึกคิดและความเชื่อ ระดับที่ ๓ แรงบันดาลใจที่จะประพฤติปฎิบัติตามคุณธรรมและจริยธรรมในมาตรฐานของความเป็นมนุษย์และชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

ประเด็นที่ ๔  เนื้อหาที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะชีวิต ระดับที่ ๑ ให้รู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะในการใช้ชีวิตในสังคมที่เหมาะสมกับกาลและเทศะ  ระดับที่ ๒ ามารถนำทักษะดังกล่าวไปใช้ในชีวิตของตนเองได้  ระดับที่ ๓ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตนเองและผู้อื่นให้สามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตอย่างเหมาะสมได้

ประเด็นที่ ๕  เนื้อหาที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้  ยอมรับ เข้าใจ และชื่นชม ความหลากหลายในสังคม ทั้งในระดับที่ ๑ การเรียนรู้ความหลากหลายของสังคม  วัฒนธรรม  เชื้อชาติ  สัญชาติ  ภาษา  สถานะทางสังคม  เพศและวัย เป็นต้น  ระดับที่ ๒ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในความแตกต่างหลากหลาย และสามารถอยู่ร่วมกันกับความแตกต่างหลากหลายนั้นได้อย่างสันติ  ตลอดจน ระดับที่ ๓ ใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและขจัด ความขัดแย้งอันเกิดจากความแตกต่างหลากหลายนั้นได้

ประเด็นที่ ๖  เนื้อหาที่ส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว  และ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ระดับที่ ๑ ทำให้เกิดการเรียนรู้ในความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัว  ระดับที่ ๒ เรียนรู้และเข้าใจกันและกันของคนในครอบครัว  ตลอดจน ระดับที่ ๓ การทำให้เกิดศรัทธาและแรงบันดาลใจในสถาบันครอบครัว

ระบบการจำแนกเนื้อหาตามช่วงวัย พิจารณาจากภาพ  เสียง และเนื้อหาในรายการ ประกอบกับเจตนาในการผลิต  และการจัดทำ วัตถุประสงค์และวิธีการในการนำเสนอภาพหรือเสียง น้ำหนักของการดำเนินเรื่อง  รวมทั้ง มุมกล้องของการถ่ายทำ  ที่ทำให้ผู้ชมรับรู้ในทางที่ไม่เหมาะสม  และอาจมีผลต่อการพัฒนาค่านิยมและพฤติกรรมในด้านลบโดยพิจารณาใน  ๓ ประเด็น คือ  (๑) พฤติกรรมและความรุนแรง[6]  (๒) เรื่องทางเพศ[7]  และ (๓) ภาษา[8] อันนำไปสู่การจำแนกเนื้อหารายการโทรทัศน์ เป็น ๖ ช่วงวัย กล่าวคือ ป (๓ -๕) , ด (๖-๑๒) , ทุกวัย , น ๑๓ , น ๑๘ และ ฉ

        แนวคิดที่ ๒     การประเมินคุณภาพรายการโทรทัศน์สาธารณ จากการศึกษาวิจัยของโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ เพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ Media Monitor ได้ศึกษาวิเคราะห์ “คุณลักษณะ” เพื่อประโยชน์สาธารณะในรายการฟรีทีวี เป็นการศึกษาลักษณะ “คุณค่า” ในรายการโทรทัศน์ที่มองผู้ชมเป็นพลเมือง อีกทั้ง เป็นการศึกษาถึงคุณภาพของรายการโทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้จำแนกหมวดหมู่ของรายการทีวีเพื่อสาธารณะประโยชน์ไว้เป็น ๑๒ กลุ่ม กล่าวคือ (๑) ด้านประชาธิปไตย เพื่อส่งเสริมแนวคิดด้านประชาธิปไตย (๒) ด้านการมีส่วนร่วมของผู้ชมในรายการโทรทัศน์ (๓) ด้านความหลากหลายของรูปแบบในการนำเสนอ (๔) ด้านการให้พื้นที่แก่ครด้อยโอกาสและคนชายขอบ (๕) ด้านการสร้างพื้นที่สาธารณะ (๖) ด้านการรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนสังคม (๗) ด้านการผลิตเนื้อหาที่เข้าถึงคนส่วนมาก (๘) ด้านการจัดวางเน้อหารายการที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงได้อย่างเหมาะสม (๙) ด้านการส่งเสริมแนวคิดสมานฉันท์และบูรณาการสังคม (๑๐) ด้านการสอดส่องและเฝ้าระวังภัยให้กับสังคม (๑๑) ด้านการส่งเสริมเสรีภพาในการแสดงออก (๑๒) ด้านการสร้างความปลอดภัยให้กับมนุษย์

        แนวคิดที่ ๓    จริยธรรมวิชาชีพในการผลิตรายการ เพื่อเป็นกรอบพื้นฐานหลักในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ แล ควรกระทำในการผลิตรายการโทรทัศน์ แนวคิดดังกล่าวเติบโตจากการพัฒนาของ BBC อันเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ตกตะกอนหลักการพื้นฐานในรูปของลายลักษณ์อักษรโดยมีการจำแนกตามรูปแบบของรายการ เช่น รายการข่าวและ จำแนกผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับชมและรับฟัง เช่น กลุ่มผู้ชมเป็นเด็ก[9] เยาวชนคนด้อยโอกาส เป็นต้น

          หรือในกรณีของทีวีไทยเอง ในพรบ.องค์การฯก็ได้กำหนดเรื่องของจริยธรรมวิชาชีพไว้ในมาตรา ๔๒ วรรค ๒ ซึ่งได้กำหนดประเด็นพื้นฐานเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่จะไปสู่การจัดทำประมวลจริยธรรมวิชาชีพไว้ใน ๗ ประเด็นหลัก กล่าวคือ (๑) ความเที่ยงตรง ความเป็นกลาง และความเป็นธรรม (๒) ความเป็นอิสระของวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสาธารณชน(๓) การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นส่วนตัว และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล(๔) การคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากรายการที่แสดงออกถึงความรุนแรง การกระทำอันผิดกฎหมายหรือศีลธรรม อบายมุข และภาษาอันหยาบคาย(๕) การปฏิบัติต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและผู้ที่อยู่ในภาวะเศร้าโศก(๖) การจ่ายเงินแก่แหล่งข่าว การรับรางวัลหรือผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อให้เสนอข่าว หรือมีส่วนร่วมในการกระทำใดอันกระทำให้ขาดความเป็นธรรมและความเป็นอิสระของวิชาชีพ(๗) การปกป้องและปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม

        ในกรณีของงานด้านข่าว สามารถพิจารณาได้จากทั้งจรรยาบรรณวิชาชีพของสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ และยังสามารถเทียบเคียงกับข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๑ ที่ประกอบด้วยจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และ แนวปฏิบัติของหนังสือพิมพ์และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์

         อ่านต่อ ตอนที่ ๒

หมายเลขบันทึก: 289075เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2009 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท